รายงานพิเศษ/จับตา คสช.ภาคสอง บทบาทแฝง กอ.รมน. แจ้งจับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ปฏิบัติการคุ้มกัน รธน.

ในประเทศ

จับตา คสช.ภาคสอง

บทบาทแฝง กอ.รมน.

แจ้งจับ 7 พรรคฝ่ายค้าน

ปฏิบัติการคุ้มกัน รธน.

รัฐบาล-ฝ่ายค้านเปิดศึกตะลุมบอน
พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับมอบอำนาจ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เข้าแจ้งความเอาผิด 12 แกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการ
ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯ สมช. ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสมพงษ์ สระกวี อดีต ส.ว. นายมุข สุไลมาน นายรักชาติ สุวรรณ นางอสมา มังกรชัย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ
จากการจัดเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน
อ้างว่ามีเนื้อหาข้อมูลบิดเบือนให้ประชาชนหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นความผิด
ตามกฎหมายอาญามาตรา 116
กรณี ดร.ชลิตา 1 ใน 12 ผู้ถูกกล่าวหาแสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1
ในวันเดียวกันกับ พล.ต.บุรินทร์ นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้เข้ายื่นอัยการสูงสุด ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่ง ดร.ชลิตา และฝ่ายค้านเลิกรณรงค์แก้ไขมาตรา 1 เนื่องจากสุ่มเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ดร.ชลิตาชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวมีการตัดตอนเนื้อหาที่ตนเองบรรยาย ในลักษณะไม่ตรงเจตนาและความตั้งใจนำเสนอ นำไปสู่การตีความออกมหาสมุทรและจับแพะชนแกะ พร้อมทั้งถอดเทปและโพสต์คลิปเสวนาถึงรายละเอียดที่บรรยาย
แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินการของฝ่ายผู้มีอำนาจ

“ถ้าแก้กฎหมายแบบนี้ถือว่าผิด เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือประเทศไทย” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงการดำเนินการของ กอ.รมน.ในกรณีดังกล่าว พร้อมปฏิเสธว่าไม่มีใบสั่งจากนายกฯ หรือรัฐบาล
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การพูดของ ดร.ชลิตา เป็นความเห็นทางวิชาการ ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านจะไม่แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ มีการประเมินว่ารัฐบาลต้องการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้กระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ขยายวงกว้างมากไปกว่านี้
จากการที่ 7 พรรคฝ่ายค้านเดินสายสัญจรไปทั่วประเทศ โหมกระแสรองรับการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งแน่ชัดว่าจะมีการพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายพรรคยื่นญัตติค้างไว้ พรรคพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน
ฝ่ายค้านวางกรอบเคลื่อนไหว สร้างการรับรู้ของประชาชนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร มีผลกระทบถึงปัญหาปากท้องอย่างไร เพื่อสร้างฉันทามติกดดันให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.หันมาร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จากการเดินสายเสวนาและเปิดเวทีปราศรัยต่อเนื่อง ประชาชนเริ่มตื่นตัวคล้อยตามฝ่ายค้าน
รวมถึงกลุ่มนักวิชาการซีกประชาธิปไตยที่มีพร้อมร่วมเคลื่อนไหว อาทิ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับภาคประชาชน นักวิชาการและนักศึกษา 28 เครือข่าย
กลุ่มภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่มีนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ นายโคทม อารียา และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร 2 อดีต กกต. ร่วมเป็นแกนนำ คาดว่าจะเปิดตัวเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญภายในเดือนนี้
“การเปิดตัวเราต้องการให้มีการคิกออฟแรงๆ เพื่อทำให้เกิดกระแส เหมือนที่สังคมไทยเคยร่วมรณรงค์ตอนที่เราสร้างกระแสธงเขียว ตอนช่วงโหวตผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เราต้องการให้เกิดเช่นนั้น” นายอนุสรณ์ระบุ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงกรณี กอ.รมน.แจ้งเอาผิด 12 แกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการว่า เป็นความพยายามใช้ช่องทางกฎหมายปิดปากบุคคลที่ต้องการแสดงความคิดเห็น ไม่ต่างกับการสืบทอดอำนาจ คสช.
เปรียบเสมือน “คสช.ภาค 2”
ทั้งยังเชื่อว่าการแจ้งความเอาผิดครั้งนี้มี 2 เหตุผลคือ กลบเกลื่อน “ขาลง” รัฐบาล การบริหารงานผิดพลาด ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่แก้ไข กลบเกลื่อนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สังคมเริ่มตอบรับ
ฝ่ายค้านเองก็ไม่ยอมอยู่เป็นเป้านิ่ง
7 พรรค นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เข้าแจ้งความกองปราบฯ เอาผิด พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ฐานใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตและแจ้งความเท็จ
พร้อมออกแถลงการณ์ยืนยันการจัดเสวนารณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย อันเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด
นอกจาก พล.ท.พรศักดิ์ และ พล.ต.บุรินทร์ ฝ่ายค้านยังขอให้สอบสวนดำเนินคดีกับผู้บังคับบัญชาและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน.
ซึ่งต่อมานายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.รมน. ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 137, 172, 173 และ 174
เข้าทำนองแรงมาก็แรงไป
น่าสนใจคือ ความเคลื่อนไหวของนายนพดล อมรเวช เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายรักษ์สยาม อดีตหัวหน้าพรรครวมใจไทย เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.ให้ตรวจสอบและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบ 7 พรรคฝ่ายค้าน
ฐานร่วมรู้เห็นสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 เข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีเจตนาล้มล้างการปกครอง และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
สอดรับกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐ ประกาศล่าชื่อ 50 ส.ส.ยื่นต่อประธานสภา เพื่อส่ง ป.ป.ช.ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทั้ง 5 คน กรณีไม่ทักท้วงข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1
เท่ากับรู้เห็นเป็นใจ ละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงบทบาทของ กอ.รมน.กรณีนี้ว่า
คสช.เป็นองค์กรที่หายไปแล้วหลังเลือกตั้ง แต่วันนี้ยังแฝงตัวอยู่ในรัฐบาล บางส่วนแฝงอยู่ใน กอ.รมน.รูปแบบใหม่ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น
“หลังๆ มานี้ผมชักงง ไม่รู้ว่าจะต้องไล่คุณประยุทธ์ก่อนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าไม่ไล่คุณประยุทธ์ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ หรือถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ไล่คุณประยุทธ์ไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าจะเอาอะไรก่อนดี”
ส่วนเรื่องฝ่ายค้านถูกแจ้งจับ นายธนาธรเชื่อว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าจะมีความผิดตามตัวบทกฎหมายจริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฐานอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หากไม่แก้ก็ไม่สามารถล้มเผด็จการได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลอยู่เบื้องหลังสั่งการ หรือส่งสัญญาณให้ กอ.รมน.ดำเนินการอย่างที่มีหลายคนตั้งข้อสงสัยหรือไม่ และนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. ได้รับรู้การกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อนหรือไม่
ไม่ว่าจะอย่างไร สั่งการหรือไม่สั่งการ รู้หรือไม่รู้ ผลแห่งการปฏิบัติของ กอ.รมน.ไม่เพียงกระทบถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังทำให้สังคมมองเห็นแจ่มชัดถึงเป้าหมายของการไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
ในทางกลับกัน การแจ้งจับ 12 นักการเมืองและนักวิชาการ ก็สะท้อนถึงความหวั่นไหวต่อกระแสแก้ไขรัฐธรร,นูญ
ที่เริ่มจุดติดโดย 7 พรรคฝ่ายค้านแล้วนั่นเอง