มนัส สัตยารักษ์ | อำนาจพิเศษที่พิสดารหน่อย

อภิปรายทั่วไปในสภา เมื่อ 18-19 กันยายน 2562 ได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะดูจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

แม้จะไม่มีการลงมติว่าใครแพ้หรือชนะ ถึงกระนั้นแต่ละฝ่ายต่างก็พยายามโชว์ว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ เป็นภาพเดียวกับภาพนักมวยที่ชูมือตัวเองเสมือนชนะแล้วหลังจากสิ้นเสียงระฆัง ทั้งๆ ที่ถูกนับสั้น-นับยาวมาตลอดการชก เป็นการชูมือทั้งๆ ที่หน้าตาแตกยับเยินเป็นที่น่าเวทนา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็อยู่ในสภาพนั้นเช่นกัน

ตอบอภิปรายในประเด็น “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ด้วยการไม่ตอบ เผ่นหนีออกไปโดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบแทนก็ตอบอย่างลื่นไหลไม่ตรงคำถาม

ในวันถัดมา นายกฯ ไปเยี่ยมชาวบ้านน้ำท่วมที่อุบลราชธานี ผมดูคลิปข่าวจากช่อง 33 ท่านออกท่าทางทำตลกโชว์มุขขณะปราศรัยกับชาวบ้าน ถากถาง ส.ส.พรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านที่ไม่มา ผมดูท่าทางทำตลกและฟังคำพูดของนายกฯ แล้วรู้สึกผะอืดผะอม

เหมือนดูนักมวยหน้าตาบวมปูดชูมือเร่าๆ เพื่อเรียกคะแนน-อย่างไรอย่างนั้น

ต่อมาได้ดูคลิปของนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.เขต 10 อุบลราชธานี ตอกกลับว่า ส.ส.ในท้องที่มาก่อนน้ำท่วม ดูแลชาวบ้านมาตลอดเวลาหลายวัน ส่วนนายกฯ มาเมื่อน้ำกำลังจะแห้งอยู่แล้ว

ผมดูคลิปแล้วเวทนายิ่งนัก พร้อมกันนั้นก็นึกเป็นห่วงกังวลถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาโลก เพราะเรามีนายกรัฐมนตรีที่ไม่รับรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรจะพูดหรือไม่ควรพูด ในการกล่าวปราศรัย!

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าเรื่อง “พูดโกหกทำลายเครดิตผู้พูด” ในคอลัมน์ตรงนี้ เจตนาเพื่อบอกให้รู้ว่ารัฐบาลหรือทีมงานของนายกรัฐมนตรีผิดพลาดที่ปล่อยให้นายกฯ พูดโกหก

“ผมมีโอกาสเป็นผู้บังคับกองพันพยัคฆ์น้อยไปรบที่เกาหลีมา และภาคภูมิใจมาจนถึงวันนี้”

ต่อหน้าประธานาธิบดีเกาหลีและผู้ฟังกว่า 600 คน

อีกเจตนาหนึ่งก็เพื่อ “บอกใบ้” ถึงสาเหตุที่ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ซึ่งกำลังร้อนกันอยู่ในสังคมการเมือง เจตนาของผมเพื่อบอกเป็นนัยให้รู้ถึงอุปนิสัยและความคิดที่แท้จริงของนายกฯ ซึ่งกำลังเคลิ้มจนหลงกับ “อำนาจพิเศษที่จะพิสดารหน่อย” ซึ่ง ดร.วิษณุบัญญัติขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่านายกรัฐมนตรีจาก คสช. ไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อเบื้องลึกเป็นเช่นนี้ ทีมงานของนายกฯ จะต้องเป็นทีมที่มีคุณภาพและกล้าหาญพอที่จะไม่ให้นายกฯ ใช้อำนาจพิสดารมากเกินไป

ปกติในการปราศรัยของผู้นำไทยในที่ประชุมต่างประเทศหรือกับคนต่างประเทศ จะมีล่ามแปลถ่ายทอดไปตามจังหวะในทันที แต่ในกรณีของผู้นำไทยรายนี้อาจจะต้องใช้ล่ามแปลหลายคน กล่าวคือ แปลจากความเท็จเป็นความจริง แล้วจึงให้ล่ามแปลจากความจริงเป็นภาษาต่างชาติ และอาจจะต้องมีล่ามที่สามารถและกล้าหาญ “แปลง” คำปราศรัยอีกคนหนึ่ง

ตัวอย่างจากคำปราศรัยอันเป็นเท็จข้างต้น ทีมงานจะต้องตัดออกไปทั้งยวง หรือไม่ก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องว่า

“…เสียดายที่ผมเกิดไม่ทันสงครามเกาหลี มิฉะนั้นผมอาจจะได้เป็นผู้บังคับกองพันพยัคฆ์น้อยไปรบที่เกาหลี ซึ่งจะทำให้ผมภาคภูมิใจมากกว่านี้…” เป็นต้น

เมื่อเขียนถึงประเด็น “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมได้สันนิษฐานความน่าจะเป็นไปได้ไว้หลายแนวทาง ทางหนึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์เขียนบทปราศรัยขึ้นเอง

เมื่อผมได้ดูคลิปข่าวของทีวีช่อง 33 ซึ่งเป็นภาพนายกฯ กล่าวปราศรัยกับชาวบ้านน้ำท่วมที่อุบลราชธานี ผมสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถสร้างบทพูดขึ้นมาอย่างอัตโนมัติราวกับเป็นธรรมชาติ หรืออาจจะด้วยจิตใต้สำนึกของ “อำนาจพิเศษที่พิสดารหน่อย” ตามที่รองนายกฯ วิษณุวิเคราะห์และวิจารณ์

ดูคลิปข่าวนี้หนที่สอง ผมจับสังเกตได้ว่าไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่รู้สึก “ผะอืดผะอม” ชาวบ้านและข้าราชการบางราย หรือแม้แต่ลูกพี่เก่าของนายกฯ ก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน

ทำให้ผมอดเป็นกังวลไม่ได้ว่า นายกฯ ของเราจะไปปราศรัยในที่ประชุมสหประชาชาติด้วยบุคลิกของผู้มี “อำนาจพิเศษที่พิสดารหน่อย” หรือไม่?

การเดินทางไปสำนักงานสหประชาชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ มีวาระสำคัญ 2 ประการ คือ กล่าวปราศรัยในวาระรับคำยกย่องชื่นชมกรณี “ประเทศไทยบรรลุความสำเร็จในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

กับอีกวาระหนึ่งเข้าร่วมในที่ประชุมสหประชาชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะได้กล่าวปราศรัยในนามประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่อง “อาเซียนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในการประชุม United Nations Climate Action 2019

การปราศรัยในที่ประชุมนี้คงไม่มีปัญหา เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงกล่าวปราศรัยด้วยภาษาไทยและด้วยคำปราศรัยจากทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศหรืออาเซียนเตรียมไว้ ดูในภาพก็เห็นล่ามส่วนตัว “อาจารย์น้อง” รองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา นั่งขนาบอยู่ใกล้ๆ ก็เชื่อได้ว่าไม่มีปัญหาอะไร

ที่เป็นกังวลอยู่ก็คงเฉพาะเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เท่านั้นแหละ

พลันที่เอ่ยคำว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เราก็นึกถึง “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” อันเป็นโครงการที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (2495-2551) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นผู้ดำริขึ้น

เป็นโครงการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (นายชวน หลีกภัย) ปฏิเสธไม่รับและคัดค้านตลอดมาว่า “เป็นไปไม่ได้”

เป็นโครงการที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย (นายทักษิณ ชินวัตร) รับและดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จในทางปฏิบัติ ได้รับคำสรรเสริญยกย่องจากทั่วโลก ทำให้ “สาวก” ของระบบทักษิณ โมเมว่าเป็นไอเดียหรือความคิดของทักษิณ

เป็นโครงการที่รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์) เคยพูดท้วงติง อ้างว่า “งบประมาณสาธารณสุขไม่พอเพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”

แต่มาวันนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยได้รับคำยกย่องจากสหประชาชาติว่าบรรลุความสำเร็จในเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้า พล.อ.ประยุทธ์กลับพูดว่า “ไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้น”

มันมีทั้งความจริงและความเท็จอันสับสน เกาะติดอยู่กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค