จรัญ มะลูลีม : ปฏิกิริยาประชาคมระหว่างประเทศต่อข้อพิพาทแคชเมียร์

จรัญ มะลูลีม

การวิพากษ์ที่มาจากสหรัฐและรายงานของสื่อไม่พลาดที่จะให้ข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของอินเดียนั้นมีขึ้นหลังจากทรัมป์เสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐ-ปากีสถาน

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ปฏิเสธรายงานที่ปรากฏอยู่ในสื่อของอินเดียที่ว่าชัยชันกัร (S.Jaishankar) รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียได้บอกไมก์ ปอมปิโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐให้เตรียมพร้อมสำหรับการตัดสินใจของอินเดียที่จะยกเลิกสถานะพิเศษของแคชเมียร์

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ในเวลาต่อของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า การตัดสินใจของอินเดียในเรื่องแคชเมียร์อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาคได้

ดูเหมือนว่ารัฐบาลอินเดียค่อนข้างจะมั่นใจว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์จะไม่วิจารณ์การเคลื่อนไหวของอินเดียอย่างเปิดเผย

รัฐบาลฝ่ายขวาในกรุงนิวเดลีได้ลงนามการเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐและอินเดียมีบทบาททางยุทธศาสตร์ที่จะถ่วงดุลกับจีน

อินเดียกำลังอยู่ในช่วงของการลงนามครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายว่าด้วยพื้นฐานข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศกับสหรัฐ

ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบความร่วมมือกันในปฏิบัติการทางทหารอินเดีย-สหรัฐ

ทั้งนี้ อินเดียได้อนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพในประเทศของตนได้

 

สหรัฐในปัจจุบันเป็นประเทศที่ส่งอาวุธให้อินเดียมากที่สุด ฝ่ายบริหารของทรัมป์เวลานี้เรียกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า “Indo-Pacific” การเอนเอียงเข้าสู่ตะวันตกของอินเดียมีหลักฐานมากขึ้นไปอีกหากว่าอินเดียจะไม่ยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่หัวเว่ย (Hauwei) ของจีนทำข้อตกลง 5G กับอินเดีย

ตามที่โลกรับรู้ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ และรัฐบาลก่อนๆ ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนน้อยมาก ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธข้อเสนอการสอบสวนในเรื่องอาชญากรรมสงครามที่กระทำโดยอิสราเอลในฉนวนกาซ่าในขณะที่กาซาถูกอิสราเอลถล่มอย่างโหดเหี้ยมในปี 2014 โดยชาวปาเลสไตน์ 2,100 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ต้องจบชีวิตลง

อินเดียและประเทศยุโรปงดออกเสียงที่จะให้มีการสอบสวนในเรื่องนี้

เช่นเดียวกันกับกรณีของอิสราเอลและพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐ เช่น ซาอุดีอาระเบีย มาตรวัดที่แตกต่างกันได้ถูกนำมาใช้กับอินเดียในปัจจุบัน เมื่อมีประเด็นในเรื่องการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) และสิทธิมนุษยชน

ดูเหมือนอินเดียจะนำเอามาจากหน้าหนังสือของอิสราเอล ทั้งนี้ อะไรก็ตามที่อิสราเอลกระทำขึ้นในเวสต์แบงก์และกาซ่าได้ถูกลอกเลียนแบบมาใช้ในหุบเขาแคชเมียร์

ก้าวต่อไปก็คือการนำเอาโครงการตั้งถิ่นฐานอาณานิคมมาใช้ในแบบที่อิสราเอลได้กระทำต่อดินแดนยึดครอง ผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่คาดหมายว่าเป็นแค่เรื่องของเวลาเท่านั้น ก่อนที่แคชเมียร์จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวฮินดู ซึ่งเป็นการลอกแบบอย่างที่มีความใกล้เคียงกับอาณานิคมยิวที่เข้ายึดครองเวสต์แบงก์

กองกำลังความมั่นคงของอินเดียได้รับการฝึกฝน “การต่อต้านการก่อการร้าย” จากอิสราเอล

อิสราเอลและอินเดียต้องการให้โลกเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อการมีรัฐในปาเลสไตน์และการกำหนดใจตนเองในแคชเมียร์นั้นเป็นความหายนะแห่งการก่อการร้ายของอิสลาม

 

ปฏิกิริยาจากโลกมุสลิม

อิมรอน ข่าน โดยส่วนตัวได้เรียกร้องการสนับสนุนจากประเทศมุสลิมด้วยตัวเอง เขาพูดคุยกับเรเจพ แอร์โดอาน (Recep Erdogan) และมหฏิร โมฮัมหมัด (Mathir Mohammad) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองผู้นำได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเสนอทรรศนะของตนออกมาอย่างกว้างขวางเสมอ

แต่ทั้งสองก็ยังมิได้มีแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับแคชเมียร์ออกมา แม้ว่ารัฐบาลของประเทศทั้งสองจะแสดงความห่วงใยออกมาให้เห็นก็ตาม

จนถึงบัดนี้ พันธมิตรของปากีสถานอย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็ยังไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ

อะห์มัด อัล บันนา (Ahmad al Banna) ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของ UAE ประจำอินเดียกล่าวว่า เรื่องแคชเมียร์เป็น “เรื่องภายใน” ของอินเดีย

มกุฎราชกุมาร มุฮัมหมัด บินสัลมาน (Muhammad bin Salman) หรือ MBS มีความสนิทสนมกับโมดีถึงขั้นที่โมดีเรียกเขาว่า “น้องชาย” ถึงเวลานี้ ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลดความสำคัญของปาเลสไตน์ลง ปัญหาแคชเมียร์ก็เช่นกัน ได้ถูกลดความสำคัญจากประเทศทั้งสองลงไปได้ไม่นาน

อิหร่านซึ่งมีชายแดนติดกับปากีสถาน ก็ยังเงียบอยู่เนื่องจากกำลังยุ่งอยู่กับการเผชิญหน้ากับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ อะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ได้เคยเปรียบเทียบเหตุการณ์ในแคชเมียร์มาก่อนว่าเหมือนกับเหตุการณ์ในเยเมนและบาห์เรน

เขาได้กล่าวเอาไว้เมื่อปี 2017 ว่า แคชเมียร์ต้องการ “การสนับสนุนจากชาติมุสลิมทุกๆ ชาติ” องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ที่มีกลุ่มทำงานว่าด้วยแคชเมียร์ (OIC Contact Group on Kashmir) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1994 เพื่อประสานงานเกี่ยวกับนโยบายของ OIC ที่มีต่อแคชเมียร์ ได้ออกมาประณามการตัดสินใจยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย กลุ่มทำงานดังกล่าวมีอาเซอร์บัยญาน ซาอุดีอาระเบียไนเจอร์ ปากีสถานและตุรกีเป็นสมาชิก

OIC ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนของประเทศอิสลาม 57 ประเทศ และมีจุดยืนที่เข้มแข็งในการต่อต้านอินเดียในเรื่องนี้ กระนั้นอินเดียมองว่า OIC เป็นกลุ่มก้อนที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง

 

ในขณะที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International Commission of Jurists) หรือ ICJ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการยกเลิกเขตปกครองอิสระและสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ โดยการยกเลิกเขตปกครองดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิการเป็นตัวแทนและการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญของอินเดียและกฎหมายระหว่างประเทศ

ICI กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของรัฐบาลอินเดียเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนในรัฐและในอินเดีย ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ ICI ได้วิพากษ์รัฐบาลอินเดียที่ผลักดันผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งค้านกับมาตรฐานภายในประเทศและภายนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม ICI ก็แสดงความหวังว่าระบบศาลยุติธรรมของอินเดียจะติดตามอย่างใกล้ชิดในข้อเสนอของรัฐบาลที่จะยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย

แถลงการณ์ของ ICI ยังอ้างถึงรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงในหุบเขา

ICI ได้ตำหนิขั้นตอนทางกฎหมายที่นำมาใช้ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ และเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียปฏิบัติตามข้อแนะนำของสหประชาชาติ ทั้งนี้ รายงานของ UNHCR ได้สนับสนุนรัฐบาลอินเดียให้เคารพสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination) ของประชาชนชาวแคชเมียร์ ซึ่งได้รับการปกป้องโดยกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ในแถลงการณ์ของวันที่ 8 สิงหาคม 2019 เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนีโอ กูเตอร์เรสต์ (Antonio Guterrest) ได้เรียกร้องทุกฝ่ายให้หลีกเลี่ยงขั้นตอนที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อสถานะของจัมมูและแคชเมียร์

แถลงการณ์ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงจุดยืนของสหประชาชาติที่มีต่อแคชเมียร์ว่าวางอยู่บนกฎบัตรและมติของสภาความมั่นคงสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้

กูเตอร์เรสยังได้เรียกร้องให้อินเดียและปากีสถาน แสดงความอดกลั้นในประเด็นนี้อย่างที่สุด ในขณะที่มีการหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาดินแดนแคชเมียร์ที่มีมายาวนานมาถึง 70 ปี แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้