โล่เงิน | ผ่าทางออก ปัญหา ตร.ฆ่าตัวตาย ผบ.ตร.เตรียมปัดฝุ่น “แท่ง พงส.” เปิดโยกย้าย สุดท้ายลมปาก?

ผ่าทางออก ตร.อัตวินิบาตกรรม ผบ.ตร.เตรียมปัดฝุ่น “แท่ง พงส.” เปิดโยกย้าย สุดท้ายลมปาก?

การแต่งตั้งที่ผิดฝั่งผิดฝา แต่งตั้งคนไม่ตรงกับสายงาน เอาคนจากฝ่ายปราบปราม-ฝ่ายสืบสวนมานั่งในตำแหน่งฝ่ายสอบสวน

บางคนทั้งชีวิตราชการยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดไม่เป็น เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจเหมือนถูกกลั่นแกล้งด้วยตำรวจด้วยกันเอง ตัดสินใจใช้อาวุธปืนคู่กายกระทำอัตวินิบาตกรรม

ขอไว้อาลัยให้กับดวงวิญญาณจากกรณีนี้ อาทิ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.มาบอำมฤต จ.ชุมพร, ร.ต.อ.สุรศักดิ์ สุวรรณศักดิ์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, ร.ต.อ.ทรงศักดิ์ ใจฉกรรจ์ รอง สวป. สภ.เมืองสิงห์บุรี ที่กำลังอบรมหลักสูตรวิชาชีพงานสอบสวน และ ร.ต.อ.สุพจน์ สุขเกษม รอง สว. (สอบสวน) สภ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร

แม้การสูญเสียในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาจะสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัว

แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้น

ผู้บังคับบัญชาเริ่มตื่นตัวลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง??

เสียงสะท้อนจาก “พนักงานสอบสวน” ระบุว่า งานสอบสวนต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องแก้ไขความทุกข์ยากให้ประชาชนให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการไม่ได้จบแค่วันเดียว ไม่เหมือนสายงานจราจร ปราบปราม หรือสืบสวน งานสอบสวนจึงเป็นงานที่ต้องมีการสะสมความรู้ความสามารถมาตั้งแต่ ร.ต.ต. หรือมีประสบการณ์เป็นร้อยเวรมาตลอด

ไม่ใช่อยู่ๆ เอาคนที่เคยผ่านงานสอบสวนแต่ทิ้งไปเป็น 10 ปี แล้วกลับมาทำใหม่ ซึ่งเขาล้าไปแล้วและไม่อยากกลับมาอยู่เพราะเห็นปัญหาของงานที่ต้องสร้างความขยันในตัวเองตลอด และก็พลาดไม่ได้

ถ้าพลาดก็จะถูกตั้งกรรมการสอบ หากพูดถึงความก้าวหน้าถึงแม้จะขยันแค่ไหน ไม่มีปัญญาที่จะไปวิ่งเต้นให้ผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุน ก็ไม่เจริญเติบโต

“ถ้าพูดถึงค่าตอบแทนก็ไม่คุ้มค่า ปกติรองสารวัตร (สว.) ได้ 12,000 บาท สว.ได้ 14,400 บาท รอง ผกก.ได้ 17,300 บาท ผกก.ได้ 20,800 บาท รอง ผบก.ได้ 25,000 บาท จริงๆ ก็อยากได้ค่าตอบแทนมากกว่านี้ เพราะเงินก็เป็นขวัญกำลังใจ เป็นการดึงดูดพนักงานสอบสวนให้อยู่ในหน้างานสอบสวน หากขวัญกำลังใจเต็มร้อย มีแต่คนอยากมา เงินจึงเป็นเครื่องจักรสำคัญที่สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้”

“ที่ตำรวจฆ่าตัวตายก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ไม่ได้มองดูความรู้ความสามารถหรือความพร้อมของตำรวจที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ เครียดเพราะโดนย้ายจากหน้างานที่ทำมาทั้งชีวิตแล้ว พอไปอบรมที่สถาบันส่งเสริมการสอบสวน ยังถูกกดดันจากอาจารย์ที่สอนว่าหากไม่ทำตามคำสั่งกรมตำรวจ ที่ 960/2537 เรื่องมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา จะโดนตั้งกรรมการสอบบ้าง โดนลงโทษทางวินัยบ้าง เขาก็เครียดเลยยิงตัวตาย”

“ตอนนี้ได้เห็นข้อความผ่านทางไลน์ว่าแต่งตั้งรอบนี้ใครสมัครใจออกนอกสายสอบสวนได้”

“สุดท้ายก็เข้าวังวนเดิม เด็กนายได้ดีก่อนเสมอ ที่บอกว่าจะพิจารณาก็เหมือนเป็นการยื้อเวลาเท่านั้น”

เมื่อปัญหาเริ่มหยั่งรากลึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดสัมมนาพนักงานสอบสวน เพื่อระดมความคิดเห็น รับฟังปัญหาในการปฏิบัติงาน โดยมีพนักงานสอบสวนจากทั่วประเทศกว่า 300 นายเข้าร่วมกิจกรรมถอดบทเรียนที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 กระบวนการสรรหาบุคลากรเพื่อทำหน้าที่พนักงานสอบสวนทุกระดับ

กลุ่มที่ 2 การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานสอบสวน

กลุ่มที่ 3 ระบบสนับสนุนงานสอบสวนและการสร้างแรงจูงใจ

กลุ่มที่ 4 การหมุนเวียนพนักงานสอบสวนไปทำหน้าที่อื่น

สิ่งที่ตกผลึกบางส่วนจากการแบ่งกลุ่มสัมมนา นำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา

อาทิ เรื่องการสรรหาบุคลากรระดับ สว.-ผกก. โดยการเลื่อนตำแหน่งจาก รอง สว.สอบสวน (ประเมิน) 7 ปี มีคุณวุฒิเนติบัณฑิต หรือปริญญาโททางนิติศาสตร์ ให้เหลือ 6 ปี เลื่อนสูงขึ้นดำรงตำแหน่ง สว. (สอบสวน), เลื่อนสูงขึ้นดำรงตำแหน่งรอง ผกก. 6 ปี, เลื่อนสูงขึ้นดำรงตำแหน่ง ผกก. 4 ปี, เก็บสำนวนขั้นต่ำและเพิ่มคะแนนให้กับจำนวนสำนวน (มีปริมาณสำนวนมากได้คะแนนเพิ่ม), คุณภาพของสำนวน, กำหนดคุณสมบัติพิเศษโดยไม่ต้องสอบ (เช่น ปริมาณสำนวนถึง 2,000 เลื่อนตำแหน่งได้เลย) การเพิ่มค่าตอบแทน ให้เทียบเท่ากับดีเอสไอ-ปปท.-ป.ป.ช.

และที่สำคัญ ขอให้มี “แท่งพนักงานสอบสวน” ไว้

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ฟังเสียงสะท้อนแล้วมอบหมายให้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. รีบสรุปผลการพูดคุย เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนทั่วประเทศ โดยวางแนวทางการแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

สำหรับระยะเร่งด่วน คือการแก้เรื่องงานสอบสวน และการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผิดฝั่งผิดฝา รวมถึงพนักงานสอบสวนเองก็มีการร้องขอให้มี “แท่งพนักงานสอบสวน” ไว้ ก็ต้องนำเรื่องนี้มาปัดฝุ่น เมื่อปัญหาเกิดก็ต้องลงมาแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในวาระการแต่งตั้ง สว.-รอง ผบก. ที่จะถึงนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้มีหนังสือวิทยุในราชการด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 กันยายน ถึง ผบช.น. ภ.1-9 ก. ปส. สตม. และ สกพ. จตช. รอง ผบ.ตร. และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ใจความระบุว่าให้ทุกหน่วยสำรวจรายชื่อข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรสายงานสอบสวนในสังกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากสายงานอื่น รวมทั้งสอบถามข้าราชการตำรวจดังกล่าว ว่ามีผู้ใดสมัครใจขอรับการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งนอกสายงาน

โดยให้ส่งบัญชีรายชื่อพร้อมบันทึกสมัครใจขอรับการแต่งตั้งมายัง ตร. ผ่านสำนักงานกำลังพล (สกพ.) ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือโทรสาร 0-2205-1290

ภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้

เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กับการแต่งตั้ง สว.-รอง ผบก. ประจำปี 2562

ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เจ้าของวลี “ผู้บังคับบัญชาจงเป็นปุ๋ย ไปที่ไหนก็เจริญงอกงาม ไม่ใช่เป็นยาฆ่าแมลง ที่ไปที่ไหนที่นั่นตาย”

สร้างความหวังจะแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนให้หลุดพ้นจากวังวนแต่งตั้งผิดฝั่งผิดฝาได้

แต่เป็นแค่ลมปากหรือไม่ เวลาพิสูจน์ได้