จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Podcast ถึง Radio Garden “วิทยุ” สื่อสุดท้ายยุค Disruption

“วิทยุ” ก็เหมือนกับ “ไฟฟ้า” หรือ “คอมพิวเตอร์” และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่กว่าสิ่งประดิษฐ์แต่ละชิ้นจะลงตัว และใช้งานได้อย่างคงที่คงทน ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากนักคิดหลากยุคหลายสมัย

และบางครั้ง ความร่วมมืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และหลายหนก็ไม่ใช่ความร่วมมือ แต่เป็นการชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบกันในสมรภูมิไอเดีย

หากเอาข้อมูลจากตำราทั่วไป ที่มักเขียนว่า ผู้ให้กำเนิด “วิทยุ” คือ Guglielmo Marconi ที่นำ “วิทยุ” ออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อต้นทศวรรษ 1890

ทั้งที่อันที่จริงแล้ว Guglielmo Marconi ได้นำแนวคิดการประดิษฐ์วิทยุจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ที่เคยค้นคว้าก่อนหน้าเขามาปรับประยุกต์เป็น “วิทยุ” ในโฉมหน้าที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ซึ่งหากสืบสาวราวเรื่องกันอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า การประดิษฐ์ “วิทยุ” ของ Guglielmo Marconi นั้น ต่อยอดมาจากแนวคิดของเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็น James Clerk Maxwell, Henrich Rudolf Hertz, Lee de Forest รวมถึง Samual Morse

 

ยุคทองของ “วิทยุ” นั้นอยู่ในห้วงทศวรรษที่ 1900 ซึ่งตีคู่มากับรุ่นพี่ คือสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ด้วยปรัชญาที่แตกต่างทำให้ “วิทยุ” ได้รับความนิยมในวงกว้างมากกว่า ในยุคที่ปริมาณคนไม่รู้หนังสืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีมาก “การฟัง” จึงเป็นสื่อ Classic ที่สุด

เพราะ “การฟัง” เป็นทักษะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการพูด การอ่าน และการเขียน นอกจากนี้ “การฟัง” ยังเป็นทักษะการใช้ภาษาที่ใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน และเป็นทักษะทางการสื่อสารที่เป็นพื้นฐานในการรับสารเกือบทุกชนิด

แม้ว่าในประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชน สิ่งพิมพ์จะเป็นสื่อแรกที่ปรากฏโฉม ทว่า ในยุคโบราณเรื่องเล่ามุขปาฐะ นิทานปรัมปรา และการกระจายข่าวสารแบบปากต่อปาก คือการสื่อสารเก่าแก่ และส่งทอดประสิทธิภาพต่อไปยังเทคโนโลยี “วิทยุ” ในที่สุด

“ข่าว” คือ Content พื้นฐานของ “วิทยุ” ทุกยุคทุกสมัยทุกชาติทุกภาษา การผลิตข่าววิทยุทำได้รวดเร็วกว่าสิ่งพิมพ์ การกระจายเสียงข่าวญี่ปุ่นถล่ม Pearl Harbor ได้รับความสนใจไม่แพ้การถ่ายทอดสด Neil Armstrong เหยียบดวงจันทร์ทางโทรทัศน์

โดยเฉพาะเกษตรกรและชาวประมงที่ต้องคอยเฝ้าฟังพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนการทำมาหากิน

นอกจากนี้ “วิทยุ” ยังเป็นสื่อที่สอดคล้องต้องกันที่สุดกับวงการเพลง ในยุครุ่งเรือง ศิลปินระดับ Top ของโลก ต้องมาแสดงดนตรีและร้องเพลงสดๆ ที่สถานีวิทยุ

ยังไม่นับหลายคนที่รอคอยการเปิดแผ่นเสียงเพลงใหม่ๆ ออกอากาศ เพราะคนยากคนจนไม่มีปัญญาซื้อเครื่องเล่นและแผ่นเสียง “วิทยุ” จึงเป็นสื่อราคาถูกที่เข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางมาก

 

นอกจากจะสอดคล้องกับความฉับไวในสนามข่าว และสุนทรียภาพจากการฟังเพลงแล้ว ปรัชญาสูงสุดของ “วิทยุ” คือสื่อโสตประสาท ที่ไม่ว่าจะเปิดฟังอย่างจริงจัง หรือเพียงต้องการได้ยินเสียงขับกล่อมบรรยากาศ เราไม่ต้องใช้อวัยวะอื่นๆ คือมือ (จับหนังสือ) หรือตา (ดูจอภาพ)

ทำให้การฟัง “วิทยุ” มีสมาธิมากกว่าสำหรับทำสิ่งต่างๆ ไปด้วย เช่น ขับรถ อ่านหนังสือ ทำการบ้าน รดน้ำต้นไม้ ล้างห้องน้ำ ฯลฯ

แม้จะถูก Disruption มาหลายรอบ แต่ “วิทยุ” ก็ยังไม่ตายครับ

ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ ร้านเช่าวิดีโอ ที่แย่งชิงความสนใจจาก “วิทยุ” ไปได้มากในยุคสมัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาถึงของกองทัพสื่อ Digital โดยมี Internet เป็นหัวหอก สมทบด้วย Social Media ทำให้บางเวลาหลายคนได้หลงลืม “วิทยุ” ไปแล้ว

แม้กราฟความนิยมของ “วิทยุ” จะขึ้นๆ ลงๆ ไปตามยุคสมัย และแม้ “วิทยุ” จะผ่าน “ยุคทอง” มานานแล้ว ทว่า สถานีวิทยุยังคงมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศ “คลื่นวิทยุ” ยังเป็นของรัฐ เช่น ไทย แต่ในอีกหลายประเทศ “วิทยุ” ก็มีอิสรภาพอยู่พอสมควร

 

หลังผ่าน “ยุคทอง” อันรุ่งเรือง “วิทยุ” พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการสร้างระบบ “วิทยุอินเตอร์เน็ต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาถึงของ iPod ที่สร้างช่องทางใหม่ให้กับ “วิทยุ” นั่นคือ Podcast

Podcast หรือ Podcasting มีที่มาจากชื่อผลิตภัณฑ์ของ Apple คือ iPod ที่คิดค้นโดย Steve Jobs โดย iPod เป็นเครื่องเล่นไฟล์เสียงชนิด MP3 ที่นอกจากจะฟังเพลง หรือฟังหนังสือเสียง iPod หลายรุ่นยังรับฟัง “วิทยุ” ระบบ Podcast ได้

Podcast คือรายการวิทยุที่ออกอากาศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เกิดขึ้นราวต้นทศวรรษ 2000 โดย Adam Curry ผู้ได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่ง Podcast”

Adam Curry สร้างชื่อเสียงมาจากการเป็นผู้ประกาศข่าวทางวิทยุ และพิธีกรรายการโทรทัศน์ รวมถึงการเป็นเจ้าของบริษัทสื่อมาก่อนที่จะโด่งดังในฐานะ Podcaster ตัวพ่อ

Podcast มีให้เลือก 2 ช่องทาง คือการรับฟังเสียงผ่านแพลตฟอร์ม MP3 หรือผ่านระบบ Feed ที่จะทำการดาวน์โหลดไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา เช่น iPod หรือ MP3 Player แบบอัตโนมัติ

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจ Podcast กันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกตะวันตกอย่างอเมริกาและยุโรป ในบ้านเรา Podcast ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย

 

เสน่ห์ของ Podcast ในแง่รูปแบบนั้น อยู่ที่ฝีไม้ลายมือของ Podcaster ซึ่งเทียบได้กับ DJ หรือ “นักเล่าข่าววิทยุ” ผู้มีทักษะการสื่อสาร พูดคุย เล่าเรื่อง สนทนาเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกันเอง ส่วนในด้านเนื้อหา คนฟัง Podcast เป็นผู้เลือก ว่าอยากจะฟัง Podcaster ที่เชี่ยวชาญในเรื่องใด ก็จะติดตามฟังกันไปเป็นคนคน

ไม่ต้องง้อโฆษณา (มีก็ดี) ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานคลื่นความถี่ และนำเสนออิสรภาพทางความคิดอย่างเต็มที่ นี่คือปรัชญาของ Podcast ครับ

ดังที่กล่าวไป ในปัจจุบัน นอกจาก Podcast ซึ่งก็คือสถานีวิทยุรูปแบบหนึ่ง วงการ “วิทยุ” ในความหมายดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ และยังออกอากาศกันอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศ

พิสูจน์ได้จากข้อมูลในเว็บไซต์ https://radio.garden ที่เป็นการรวบรวมสถานีวิทยุจากทั่วทุกมุมโลก สร้างเป็น “จุดเขียว” คือสถานีแม่ข่าย บนภาพแผนที่ลูกโลกของเรา หากเข้าไปดู จะพบ “จุดเขียว” มากมายทีเดียว

เมื่อเราลากนิ้วผ่านหน้าจอมือถือ หรือเลื่อนเมาส์ตามหน้าจอคอมพ์ไปหยุดบน “จุดเขียว” ตรงพื้นที่ไหน ก็จะได้รับฟังรายการวิทยุช่องนั้น

 

เรื่องราว “วิทยุ” ทั้งรายละเอียดของ Podcast และเว็บไซต์ Radio Garden เป็นบทพิสูจน์สำคัญว่า สื่อโบราณอย่าง “วิทยุ” ยังคงอยู่รอด แถมอยู่อย่างสบายในหลายคลื่นเสียด้วย

แม้ในยุค Disruption จะมีสื่อมากมายที่คอยแย่งพื้นที่ความสนใจ และความนิยมจาก “วิทยุ”

จนอาจสามารถฟันธงตรงนี้ได้ว่า “วิทยุ” คือสื่อโบราณตัวสุดท้าย ที่สามารถอยู่รอดได้ในยุค Disruption ครับ