เพ็ญสุภา สุขคตะ / นานาพิธีขอฝน : จากพระสุภูติ พระเจ้าฝนแสนห่า ถึงบูชาเสาอินทขีล

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ผู้อ่านอาจถามว่า หัวข้อบทความนี้เรียงลำดับรายชื่อพิธีขอฝนด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สลับกันหรือเปล่า
ไยจึงเอา “เสาอินทขีล” ไปไว้เป็นลำดับสุดท้าย

ก็ไหนสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งจะกล่าวว่าพัฒนาการเรื่องพิธีขอฝนต้องเริ่มจากความเชื่อใน Power ที่มองไม่เห็น หรือที่เรียกกันว่าลัทธิผีสางบรรพชน Animism ไง?

แล้วไฉนจึงไม่เอาเรื่องการบูชา “เสาอินทขีล” ไปไว้ในกลุ่มแรกตั้งแต่ฉบับก่อน? ทำไมจึงเอามาต่อท้ายเป็นพิธีขอฝนประเภทล่าสุด

เรื่องนี้มีคำเฉลย ผู้อ่านโปรดค่อยๆ ติดตามไล่เรียงไปเรื่อยๆ

 

พระสุภูติ แนวคิดจากนิกายธรรมยุต

ไม่ปรากฏเรื่องราวของพระอรหันต์ที่ชื่อว่า “สุภูติ” ในพิธีพิรุณศาสตร์ หรือพิธีเรียกฝนในเอกสารบันทึกสมัยอยุธยา

แต่เพิ่งมาพบครั้งแรกในพิธีพิรุณศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น

โดยพระองค์ทรงระบุว่าเป็นการรับคติความเชื่อมาจากประเพณีมอญ ตามที่พระองค์ทรงศรัทธาวัตรปฏิบัติของพระภิกษุชาวมอญ จนกระทั่งได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นมา

พระภิกษุมอญได้สรรเสริญวีรกรรมของพระอรหันต์ “สุภูติ” ให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบว่า มีความสามารถพิเศษในการ “เรียกฝน” หรือ “บันดาลฝน” ให้ตกลงมาได้อย่างอัศจรรย์

ประวัติของพระสุภูติปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 “ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา”
ขอนำมาย่อคร่าวๆ ดังนี้

ท่านเป็นบุตรของสุมนเศรษฐี ซึ่งเป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี (ผู้สร้างวัดเชตวันอันโด่งดัง)

กล่าวให้ง่ายคือ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นลุงของสุภูติ

อิทธิฤทธิ์ในการเรียกฝนของพระสุภูติปรากฏขึ้นเนื่องในเหตุการณ์ตอนหนึ่ง คือคราวที่พระเจ้าพิมพิสารได้นิมนต์ให้พระสุภูติมาจำพรรษาที่แคว้นมคธ แต่ความที่พระองค์มีพระราชกิจมาก จึงลืมรับสั่งให้บ่าวไพร่จัดเสนาสนะที่พักถวายแด่พระสุภูติ ทำให้ต้องนอนกลางแจ้ง

แม้นไม่มีที่กำบัง แต่ด้วยอำนาจแห่งคุณและศีลของพระสุภูติ จึงดลให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน กล่าวคือ ฝนก็ไม่ตก แดดก็ไม่ออก จนชาวเมืองเดือดร้อนไปทั่ว พระเจ้าพิมพิสารทรงตรึกดูความวิปริตก็ระลึกขึ้นได้ว่า เหตุที่ฝนไม่ตกคงจะเป็นด้วยเพราะพระองค์ปล่อยให้พระเถระอยู่ในที่แจ้ง ไม่มีที่บังแดดฝนนั่นเอง
พระเจ้าพิมพิสารจึงให้บริวารรีบสร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้ถวายพระสุภูติโดยด่วน

เมื่อท่านเข้ากุฏิแล้ว ฝนก็เริ่มตกลงมาปรอยๆ และหนักขึ้นๆ ชาวเมืองต่างพากันดีใจ ความทุกข์ความเดือดร้อนค่อยๆ หายไป

ด้วยเหตุนี้ พิธีพิรุณศาสตร์ในรัชกาลที่ 4 จึงกำหนดให้ย้ายสถานที่จากเมื่อครั้งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเคยทำในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกไปจัดที่พลับพลาท้องสนามหลวง แม้จะมีการประดิษฐาน “พระพุทธคันธารราษฎร์” ของรัชกาลที่ 1 เป็นประธานในปะรำพิธี

แต่ที่หน้าพลับพลากลางแจ้งโปรดให้ขุดสระสี่เหลี่ยม กว้างสี่ศอก ยาวสี่ศอก ลึกหนึ่งศอก พูนดินเป็นคันรอบสูงศอกหนึ่ง ปั้นรูปพระสุภูตินั่งริมฝั่งสระหันหน้าไปข้างเหนือ เนื้อตัวทาสีเทาคราม หน้าทาเสน ผ้าห่มสีเหลือง นั่งขัดสมาธิแหงนหน้าดูฟ้า

ที่กลางสระมีรูปพระอินทร์ และพญาปลาช่อนพร้อมบริวาร

จากนั้นผู้ประกอบพิธีสวด “สุภูติเถรคาถา” ดังนี้

“ได้ยินว่า ท่านพระสุภูติเถระได้ภาษิตคาถาไว้อย่างนี้ว่า ดูกรฝน กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีเครื่องป้องกันอันสบายมิดชิดดี ท่านจงตกลงมาตามสะดวกเถิด จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง เราเป็นผู้มีความเพียรอยู่ เชิญตกลงมาเถิดฝน”

หลักฐานเรื่องการอัญเชิญรูปปั้นพระสุภูติและพญาปลาช่อนมาร่วมในพิธีพิรุณศาสตร์พบที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ในช่องของภาพประกอบพระราชพิธีเดือนเก้า
พบว่าความเชื่อเรื่อง “พญาปลาช่อน” ที่อิงมาจากพุทธประวัติว่า “สามารถเรียกฝนได้” ได้รับความนิยมกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค แม้แต่ในราชสำนักสยาม ทั้งๆ ที่มีการทำรูปพระพุทธคันธารราษฎร์หรือพระสุภูติแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ยังพบประติมากรรมรูปพระสุภูติ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นภิกษุร่างอ้วนพุงพลุ้ย ดูเผินๆ ละม้ายกับพระสังกัจจายน์หรือพระอุปคุต แต่ยกมือขึ้นเรียกฝน ทำให้ทราบได้ว่า นี่คือพระสุภูติ

การที่ช่างปั้นพระสุภูติด้วยร่างกายอวบอ้วนนั้น ผู้รู้อธิบายว่า หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่วนผิวกายที่สีดำ ก็แทนสีของก้อนเมฆที่ตั้งเค้าเตรียมจะหลั่งเม็ดฝน ซึ่งไม่เกี่ยวอันใดกับพระสังกัจจายน์หรือพระอุปคุต

อย่างไรก็ดี ความนิยมนำ “พระสุภูติ” มาเป็นสัญลักษณ์เรื่องการขอฝนนั้น น่าจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้น เนื่องจากต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นมาใหม่อีกองค์หนึ่ง ดังที่กล่าวรายละเอียดไปในฉบับที่แล้ว

 

พระเจ้าฝนแสนห่า

เคียงคู่ขนานกันไปในรัฐล้านนาและล้านช้าง ก่อนถูกผนวกรวมกับรัฐสยามเมื่อ 200 ปีก่อน ได้ปรากฏว่ามีการใช้พระพุทธปฏิมามาเป็นสัญลักษณ์ในการแห่เพื่อขอฝนแล้ว

โดยมีชื่อเรียกว่าพระเจ้าฝน หรือพระเจ้าฝนแสนห่า (ปัจจุบันเมื่อมีพระภิกษุจากภาคกลางมาอยู่เมืองเหนือ หลายวัดได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “หลวงพ่อสายฝน”)

“พระเจ้าฝนแสนห่า” นี้ไม่ใช่พระพุทธปฏิมาที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ เช่น ต้องยกพระหัตถ์เรียกฝนเหมือนกับพระพุทธคันธารราษฎร์หรือพระสุภูติของทางภาคกลาง ทั้งยังไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติตอนใด ผิดกับเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่เคยเสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน หรือการแห่ช้างเผือกของชาวกะเหรี่ยงที่แทนว่าเป็นช้างปัจจัยนาเคนทร์

นอกจากนี้ ยังไม่เคยพบ “จารึก” อักขระตัวเขียนคำว่า “พระเจ้าฝนแสนห่า” ใต้ฐานพระพุทธรูปองค์ใดทั้งสิ้นไม่ว่าทำด้วยสำริดหรือทำด้วยไม้

และยังพบว่ารูปลักษณ์ของ “พระเจ้าฝนแสนห่า” เองก็ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องนั่งขัดสมาธิเพชรหรือสมาธิราบ ปางมารวิชัยหรือปางสมาธิ สิงห์ 1 หรือสิงห์ 2 สิงห์ 3 ไม่มีข้อกำหนดตายตัวใดๆ

เพียงแต่ขอให้พระพุทธปฏิมาองค์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ คือเมื่อนำออกแห่แล้วบันดาลให้ฝนตกได้จริงๆ เท่านั้นพอ ด้วยเหตุนี้ในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้างเราจึงพบพระเจ้าฝนแสนห่าในพุทธลักษณะที่หลากหลาย และกระจายอยู่ตามวัดแทบทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล สุดแท้แต่ความเชื่อของคนในชุมชนนั้นๆ ก็ย่อมมีสิทธิ์ขนานนามพระพุทธรูปได้ว่า “พระเจ้าฝนแสนห่า”

อันที่จริงการแห่พระพุทธรูปออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำประจำปีในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่เมืองตอนกลางเดือนเมษายนนั้น ก็หวังผลอยู่แล้วในด้านการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ฤดูร้อนนี้อย่าได้แล้งฝนเลย

ซ้ำยังมีประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ของวัดบางแห่งในช่วงที่ไม่เกี่ยวกับปีใหม่เมือง ก็ยังแฝงความเชื่อเรื่องขอให้ฝนตกอีกด้วยอยู่แล้ว

เห็นได้ว่าความกลัวเรื่องภัยแล้งของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในก้นบึ้งดวงใจ

แม้จะสรงน้ำพระพุทธรูปช่วงปีใหม่เมืองก็แล้ว สรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ก็แล้ว น้ำฝนก็ยังไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม

ยังจำเป็นต้องบัญญัติ “พระเจ้าฝนแสนห่า” ขึ้นมาอีกเป็นการเฉพาะกิจ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าคติความเชื่อนี้เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ รัชสมัยใด อย่างไร ยุคหริภุญไชยมีแล้วหรือยัง ยุคต้นอาณาจักรล้านนาสมัยพระญามังรายมีหรือไม่

ทราบแต่ว่าอย่างน้อยที่สุดยุคพระเจ้าติโลกราชน่าจะมีแล้ว

พระเจ้าฝนแสนห่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักลำดับต้นๆ ในบรรดาพระเจ้าฝนแสนห่าทั้งปวงก็คือองค์ที่ประดิษฐาน ณ วัดช่างแต้ม อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามประวัติของวัดกล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชได้อัญเชิญมาจากเมืองลำพูน (แต่ไม่ได้บอกว่าวัดใดในลำพูน ดูตามรูปการณ์แล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นวัดพระธาตุหริภุญชัย)

โดยตำนานระบุว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธานุภาพในด้านป้องกันเพลิงไหม้จึงเรียก “พระเจ้าฝนแสนห่า”

พุทธลักษณะทำปางมารวิชัย ศิลปะล้านนารุ่นกลางราวพุทธศตวรรษที่ 20 หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 35 นิ้ว

 

การปะทะสังสรรค์ระหว่าง พุทธ-ผี
พระเจ้าฝนแสนห่า+เสาอินทขีล

เสาอินทขีลเป็นความเชื่อของชาวลัวะ กลุ่มชนดั้งเดิมในล้านนาตั้งแต่ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยเชื่อว่า พระอินทร์ได้ประทานเสามาต้นหนึ่งเพื่อเป็นหลักค้ำโลก

อินท = พระอินทร์, ขีล = เสา ไม้ค้ำ

โดยพระอินทร์มอบหมายให้ยักษ์กุมภัณฑ์ 2 ตนคอยเฝ้าดูแล และทุกปีชาวลัวะต้องมีการทำพิธีบูชาเสาอินทขีลเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ซึ่งก็น่าจะรวมไปถึงการขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลไปด้วยโดยปริยาย

เสาอินทขีลปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง โดยพระญากาวิละได้ย้ายเสาแท่งนี้มาจากวัดอินทขีลที่อำเภอป่าซาง ลำพูน (หลักฐานปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์” ปี 246) แต่คนทั่วไปยังเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการย้ายมาจากวัดสะดือเมืองร้างกลางเวียงเชียงใหม่

เดิมพิธีบูชาเสาอินทขีลในยุคพระญามังรายก็ดี (720 กว่าปีก่อน) หรือยุคพระญากาวิละก็ดี (เกือบ 230 ปีก่อน) ไม่เคยมีการนำ “พระเจ้าฝนแสนห่า” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด

เหตุที่ “เสาอินทขีล” เป็นเรื่องของ “ผี” แต่ “พระเจ้าฝนแสนห่า” เป็นเรื่องของ “พุทธ”

พิธีกรรมหลักๆ ของการบูชาเสาอินทขีลในอดีตมีแค่ การฟ้อนหอกฟ้อนดาบบวงสรวงเทวดาอารักษ์-กุมภัณฑ์ และการใส่ขันดอกเท่านั้น ยังไม่มีการฟังเทศน์ธรรมหรือแห่พระเจ้าฝนแสนห่าแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ ปราชญ์ล้านนาผู้ล่วงลับ ได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมื่อปี 2548 ว่า

“บุคคลผู้มีบทบาทในการนำพิธีพุทธมา ‘ปะทะสังสรรค์’ กับพิธีของผี ก็คือครูบาอภิชัยขาวปี เพราะครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้ที่สร้างวิหารครอบเสาอินทขีล ราวปี 2510-2515 แต่เดิมเสาเคยตั้งอยู่กลางที่โล่งแจ้ง ทั้งยังไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้หญิงเข้าใกล้แต่อย่างใด เมื่อสร้างวิหารเสร็จ ราวปี 2515 เจ้าวงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่ ผู้เลื่อมใสศรัทธาครูบาอภิชัยขาวปีก็ได้สร้างพระพุทธรูปปางรำพึงองค์ที่เห็นปัจจุบันครอบทับเสาอินทขีล จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เกิดพิธีกรรมอัญเชิญพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ของเชียงใหม่มาแห่ในช่วงพิธีเข้าอินทขีล เช่นพระแก้วขาววัดเชียงหมั้น พระพุทธสิหิงค์วัดพระสิงห์ รวมทั้ง ‘พระเจ้าฝนแสนห่า’ จากวัดช่างแต้ม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์หลวง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีพิธีของพุทธ”

แต่ไปๆ มาๆ ในที่สุดก็ตัดพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ออกไปหมด เหลือเพียงพระเจ้าฝนแสนห่าแค่องค์เดียว

โดยยกเอาพิธีแห่และสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่าขึ้นมาเป็นพิธีเปิดงานวันแรกสุดของกิจกรรมอบรมสมโภชเสาอินทขีล (งานวันแรกเรียกวันเข้าอินทขีล) เริ่มจัดขึ้นในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน) พิธีมีทั้งสิ้น 8 วัน วันสุดท้ายเรียกวันออกอินทขีล ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ

เห็นได้ว่า ชาวล้านนาราวช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้เองได้มีการผนวกรวมพิธีกรรมที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขอฝนในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาจัดระเบียบใหม่ และถือปฏิบัติกันอย่างกลมกลืนโดยไม่แบ่งแยกลัทธิความเชื่อระหว่าง “ผี” หรือ “พุทธ”