วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /หนังสือพิมพ์ยุค พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

หนังสือพิมพ์ยุค พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484

 

การเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีความแตกต่างกัน

ว่าด้วยความหมายของคำว่า “บรรณาธิการ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (ฉบับพิมพ์ใหม่ล่าสุดคือ พ.ศ.2557 ความหมายของคำว่า “บรรณาธิการ” ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้)

อ่านว่า บันนาทิกาน – เป็นคำนาม

จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์; (กฎ) – หมายถึง “กฎหมาย” – บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์

พจนานุกรม ฉบับมติชน พ.ศ.2547 (ให้ความหมายสั้นๆ ว่า) ผู้คัดเลือก รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์

การเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ตามกฎหมายการพิมพ์ พ.ศ.2484 แก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง บัญญัติไว้ในส่วนที่ 3 หนังสือพิมพ์

มาตรา 23 หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรต้องมีผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของ

มาตรา 24 บุคคลใดจะเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้อง

(1) มีคุณสมบัติตามมาตรา 15

(2) ไม่เป็นผู้ไม่มีสิทธิหรือขาดสิทธิตามมาตรา 16

(3) มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย

(4) ทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาแห่งประเทศของตน หากจะมีภาษาอื่นปนอยู่บ้างก็เฉพาะเป็นการทวนความ หรือการกล่าวอ้างถ้อยคำหรือสำนวนเพียงเพื่อประกอบบทประพันธ์ หรือข้อความเกี่ยวกับการโฆษณาในทางการค้า หรือเป็นข้อความเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาภาษาโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องมีไม่มากเกินสมควร

(5) แจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ โดยใช้แบบพิมพ์ของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(ก) ชื่อ สัญชาติ อายุ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ และการงานที่ทำหรือเคยทำ

(ข) คำรับรองว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 15 และไม่เป็นผู้ไม่มีสิทธิหรือขาดสิทธิตามมาตรา 16

(ค) เป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ และในกรณีที่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือบรรณาธิการ มิใช่เจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องส่งหนังสือรับรองของเจ้าของหนังสือพิมพ์ไปพร้อมกัน

(ง) ชื่อหนังสือพิมพ์

(จ) วัตถุประสงค์และระยะเวลาออกหนังสือพิมพ์

(ฉ) ภาษาที่หนังสือพิมพ์จะออก

(ช) ที่ตั้งสำนักงานของหนังสือพิมพ์และที่ตั้งสำนักงานของผู้โฆษณา

(ซ) ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์

(6) ในกรณีแห่งบรรณธิการ ส่งรูปถ่ายของตนตามกำหนดไว้ในกฎกระทรวงแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์พร้อมคำแจ้งความ (7) (ยกเลิก) ฯลฯ

มาตรา 25 คำขออนุญาตเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์โดยใช้แบบพิมพ์ของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีรายการตามมาตรา 24 (5) และกรณีแห่งบรรณาธิการให้ส่งรูปถ่ายของตนตามกำหนดไว้ในกฎกระทรวงไปพร้อมกัน

มาตรา 26 ทุกห้าปีให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ส่งรูปถ่ายใหม่ของตนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

มาตรา 27 เมื่อเจ้าพนักงานการพิมพ์ได้รับคำขออันถูกต้องตามมาตรา 25 แล้ว ให้ออกใบอนุญาตภายในสามสิบวัน นับแต่วันรับคำขอ เว้นแต่การอนุญาตอาจจะมีผลขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ถ้าไม่อนุญาตแก่ผู้ใดให้เจ้าพนักงานการพิมพ์แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขออนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันรับคำขอ

มาตรา 28 ในกรณีที่ขออนุญาตเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มากกว่าหนึ่งฉบับ ถ้าเจ้าพนักงานการพิมพ์เห็นว่าผู้ขออนุญาตไม่น่าจะรับผิดชอบแต่ผู้เดียวได้ทุกฉบับตามที่ขอ จะสั่งอนุญาตแต่บางฉบับก็ได้

มาตรา 28 ทวิ (2) ยกเลิก

 

นอกจากนั้น ยังมีมาตราเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาการออกหนังสือพิมพ์ ถ้าเปลี่ยนแปลงรายการใดต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์ กรณีของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของต้องมีใบอนุญาตดังกล่าวจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์แล้ว ซึ่งจะอนุญาตหรือไม่ให้แจ้งเป็นหนังสือในสามสิบวัน

บรรดาชื่อที่ต้องแสดงตามวรรคก่อนให้ใช้ชื่อเต็ม

ห้ามโฆษณาความลับของทางราชการในหนังสือพิมพ์ก่อนได้รับอนุญาต เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้รักษาการแทนมีอำนาจออกคำสั่งชั่วคราวเป็นหนังสือแก่บุคคลใด หรือมีคำสั่งทั่วไปโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือหนังสือพิมพ์รายวัน ระบุห้ามโฆษณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับราชการทหารหรือการเมืองระหว่างประเทศ

การจะออกหนังสือพิมพ์ได้สักฉบับหนึ่ง แม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาสำคัญของเมื่อก่อนนั้น โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติ 2500 มีคำสั่งห้ามออกหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำไป ดังนั้น หัวหนังสือพิมพ์หลังจากนั้นจึงต้องมีการซื้อขายกันในราคาแพง ใครที่เป็นเจ้าของหัวหนังสือพิมพ์จึงนำไปซื้อขายกันได้

แม้หลังจากประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ หนังสือพิมพ์ระหว่างนั้นนำเสนอข่าวสารกันเต็มเหยียด

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงปิดหนังสือพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง

ในจำนวนนั้นมีหนังสือพิมพ์ “รวมประชาชาติ” อยู่ด้วย ซึ่งกว่าจะออกหนังสือพิมพ์มติชนได้ต้องผ่านพระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับนี้เช่นกัน