‘อย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้’ นิทรรศการศิลปะที่สำรวจคุณค่าของเวลา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่แปลกใหม่และน่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

อย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้ Don”t Wait Until Tomorrow

โดยเจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ กับผลงานศิลปะคอนเซ็ปช่วลที่ได้แรงบันดาลใจจากคติพจน์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

ซึ่งเป็นคำกล่าวเตือนสตินักศึกษาให้มีความขยันในการทำงานและเล็งเห็นคุณค่าของเวลา

โดยเจษฎานำประโยคที่ว่านี้มาตีความ และประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานภายใต้กรอบคิดเรื่อง “เวลา” ในประเภทต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น เวลาที่เฉพาะเจาะจง, การเลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ, กาลเวลาของช่วงชีวิต, การให้ความสำคัญกับปัจจุบัน, ความล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด ตลอดจนการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จากการสังเกตการณ์ผ่านห้วงเวลา

นอกจากนิทรรศการนี้จะเปิดในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่ถูกสถาปนาให้เป็นวันศิลป์ พีระศรี ตัวเลขของวันที่และเดือนนี้ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงานศิลปะในนิทรรศการอีกด้วย

โดยเจษฎากล่าวถึงที่มาของนิทรรศการนี้ว่า

“จริงๆ นิทรรศการนี้วางแผนจะแสดงในปีที่แล้ว แต่บังเอิญชนกับนิทรรศการอื่นก็เลยต้องเลื่อนมาปีนี้แทน พอดีตารางวันเปิดนิทรรศการของปีที่แล้วตรงกับวันที่ 15 กันยายน ผมก็นึกถึงวันศิลป์ พีระศรีขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เลยทำงานในประเด็นเกี่ยวกับคำพูดของอาจารย์ศิลป์ที่ว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ที่ผมสนใจคำนี้เพราะเป็นคำที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” คืออย่ารอจนถึงพรุ่งนี้ อยากทำอะไรก็รีบทำเลย”

“ชื่อนิทรรศการ “อย่ารอให้ถึงวันพรุ่งนี้” เป็นสถานการณ์ที่เจอในชีวิต อย่างวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเดินอยู่ข้างถนน พอดีฝนตก พื้นลื่น ผมก็ลื่นล้ม ตอนล้มเอามือยันพื้น มือซ้น เส้นเอ็นอักเสบ ทำให้ขี่รถไม่ได้ คลิกเมาส์ไม่ได้ งานก็ต้องเร่งทำ”

“แล้วจะทำยังไงดี?”

“เลยทำให้คิดว่า บางทีอะไรก็เกิดขึ้นได้ในเวลาแป๊บเดียว แผนที่เราวางไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ก็อาจจะทำไม่ได้”

“ส่วนหนึ่งของงานในนิทรรศการนี้ก็พูดถึงการผัดวันประกันพรุ่ง คือกว่าจะถึงพรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว เพราะเราผัดไปเรื่อยๆ”

นิทรรศการ “อย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้” ประกอบด้วยผลงานสามส่วน เริ่มต้นที่ส่วนแรกคือ “อาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้” ผลงานวิดีโอจัดวางที่ร้อยเรียงจากภาพนิ่งประกอบภาพเคลื่อนไหวและเสียง แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ จำนวน 9 ตอน ภายในระยะเวลา 15 นาที

คงเดากันไม่ยากว่าตัวเลขทั้งสองนี้สัมพันธ์กับวันศิลป์ พีระศรี นั่นเอง

“วัตถุดิบที่ใช้ทำงานส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่ผมถ่ายเก็บเอาไว้หลายปี โดยเลือกมาจากช่วงปี 2013 จนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเปลี่ยนหลายอย่าง จากที่สอนอยู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนออกไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และลาออกมาอีก”

“ผมชอบถ่ายรูปและคลิปวิดีโอบันทึกสิ่งต่างๆ ที่ผมสนใจเก็บเอาไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนใหญ่ เหมือนบางคนที่บันทึกด้วยการจดลงสมุด แต่ผมบันทึกด้วยการถ่ายภาพแทน”

“แต่ช่วงสองปีหลังเริ่มเบื่อ เลยลองเปลี่ยนมาเป็นการบันทึกเสียงบ้าง ตอนแรกก็บันทึกเสียงนก เพราะงานที่ทำในนิทรรศการก่อนหน้านี้เกี่ยวกับนก พอย้ายบ้านไปอยู่แวดล้อมที่เต็มไปด้วยเสียง เพราะข้างบ้านเป็นอู่รถสิบล้อ มีทั้งเสียงเครื่องยนต์ เสียงซ่อมรถ เสียงสตาร์ต เสียงแตร แถมตรงปากซอยเป็นโต๊ะสนุ้กเกอร์ กลางคืนเวลาเงียบๆ จะได้ยินเสียงลูกสนุ้กกระทบกันดังต็อกๆๆ หรือข้างบ้านจะซักผ้าตอนหกโมง ตอนแรกก็รำคาญ แต่ตอนหลังก็บันทึกเสียงกิจกรรมที่อยู่รอบบ้านเอาไว้ เอาสิ่งที่เคยรำคาญมาทำเป็นงานเสียเลย”

“เสียงที่บันทึกมาบางส่วน ถูกถอดออกมาเป็นข้อความประกอบภาพเคลื่อนไหว เพราะงานในส่วนแรกจะเป็นภาพนิ่งที่เรียงต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหวกับคลิปวิดีโอ พอดูไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเบื่อ ก็เลยต้องใส่ข้อความลงไปด้วย”

“โดยผมเล่นกับตัวเลขของวันและเดือน คือวันที่ 15 เดือน 9 เลยทำเป็นวิดีโอ 9 ตอน ความยาวทั้งหมด 15 นาที ในแต่ละตอนก็จะมีลูกเล่นเกี่ยวกับเรื่องของเวลา”

อย่างตอนหนึ่งของงานวิดีโอจัดวางคือ “ล่องเรือ” ผมได้แรงบันดาลใจจากเพลง Santa Lucia โดยความยาวของตอนเท่ากับความยาวของเพลงนี้ และใช้ภาพเส้นสายของเมืองแทนจังหวะและเส้นของคลื่น เพื่อให้เชื่อมโยงกับเนื้อหาของเพลงนี้ที่เกี่ยวกับท้องทะเล แสงดาว และคลื่นลม โดยใช้เสียงบทสนทนากับคนหาปลาจากจังหวัดกระบี่ประกอบเข้าไปด้วย

“การทำโปรเจ็กต์นี้ดีอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ทำให้ผมกลับมาดูชีวิตของตัวเอง เพราะผมใช้เวลาดู (ฟัง) และเลือกภาพ (เสียง) เป็นเดือน เลยทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง เป็นการย้อนกลับไปมองชีวิตที่ผ่านมาแทนที่จะมองไปแต่ข้างหน้า และการหยิบเอาข้อมูลตรงนี้มาใช้ทำงานก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว””

“เพราะถ้าไม่เอาข้อมูลพวกนี้มาใช้วันนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้เอามาใช้สักที”

ต่อด้วยส่วนที่สองของงานคือ “ผัดวันประกันพรุ่ง” ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยก้อนผงเรืองแสงเล็กๆ (จนแทบสังเกตไม่เห็น) แปะอยู่ทั่วผนังห้องแสดงงานมืดสลัว

แต่ละก้อนมีตัวเลขอะไรสักอย่างเขียนกำกับเอาไว้

เจษฎาอธิบายถึงงานส่วนนี้ให้ฟังว่า

“งานส่วนนี้ ผมสร้างงานขึ้นจากทักษะของทีมติดตั้งงาน ด้วยการให้พวกเขาหาระยะทาง 159 ซ.ม. โดยไม่ใช้เครื่องมืออย่างไม้บรรทัดหรือตลับเมตรในการวัด แต่ให้กะจากสายตาในการคำนวณหาระยะ แล้วเขียนเลขกำกับไว้ โดยให้ทำจากจุดเริ่มต้น ถ้าเขากะพลาด ก็ทำใหม่ จุดที่ว่านี้ก็จะเพิ่มขยายไปเรื่อยๆ ถ้าสังเกตจะเห็นว่ายิ่งเยอะ ตัวเลขจะยิ่งค่อยๆ ใกล้เคียงขึ้นเรื่อยๆ”

“สุดท้ายเขาก็กะได้ถูกต้องจนได้”

ปิดท้ายด้วยส่วนที่สามคือ “มาทีหลัง” ที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ทางเดินเล็กๆ มืดๆ ให้เดินเข้าไปในห้องแสดงงานเล็กที่มืดมิด เมื่อลองส่องไฟดูก็พบว่าภายในห้องว่างเปล่า ไม่มีงานอะไรอยู่เลยสักชิ้น เมื่อเราออกมาถามไถ่ตัวศิลปิน เขาก็เฉลยข้อข้องใจให้เราฟังว่า

“งานส่วนนี้จะมาทีหลังตามชื่องานเลย แต่งานจะมาหรือไม่มานั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนดู ผมให้คนดูเป็นคนสร้างงาน แต่ยังไม่บอกว่าสร้างยังไง ถ้าคนดูทำพฤติกรรมนั้น งานนี้ก็จะเกิดขึ้นมา ถ้าคนดูไม่ทำ งานนี้ก็จะไม่เกิด แต่เราไม่บอกว่าพฤติกรรมที่ว่านั้นคืออะไร ให้เป็นเซอร์ไพรส์ก็แล้วกัน” (ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานเซอร์ไพรส์อีกชิ้น เป็นอะไรก็ไปดูเอาเองก็แล้วกัน)

กับคำถามที่ว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” อาจเป็นคำพูดที่ด่วนสรุปหรือตัดสินเกินไปไหม เพราะจริงๆ ก็มีสุภาษิตอิตาเลียนที่ว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว” อยู่เหมือนกัน และบางที อะไรที่เราไม่อาจทำให้เสร็จในวันนี้ ทำยังไงมันก็ไม่มีวันเสร็จวันนี้ได้อยู่ดี เจษฎาตอบเราว่า

“คำคำนี้น่าจะหมายถึง อย่ามัวแต่รีรอ ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ที่อาจารย์ศิลป์พูดน่าจะเป็นเรื่องของการ “ลงมือทำ” มากกว่า จะทำเสร็จหรือไม่เสร็จก็อีกเรื่องหนึ่ง”

“อีกอย่างผมสงสัยว่า คำว่า “พรุ่งนี้” มีจริงๆ ไหม? เพราะจริงๆ เราอยู่กับ “วันนี้” ตลอดเวลา เพราะ วันนี้คือ “ปัจจุบัน” พรุ่งนี้คือ “อนาคต” ที่ก้าวไปข้างหน้าก่อนเราเสมอ พอพรุ่งนี้มาถึงจริงๆ มันก็กลายเป็นวันนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริง เราไม่เคยก้าวไปถึงคำว่าพรุ่งนี้เลยด้วยซ้ำ เราไม่มีวันรู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่า เพราะถ้าวันนี้เราเกิดตายก่อน ก็จบ จริงไหม?”

เจษฎากล่าวทิ้งท้าย

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ก็คือ ถึงตัวงานทั้งหมดจะได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แถมยังเปิดงานในวันศิลป์ พีระศรี

แต่ตัวนิทรรศการก็ไม่มีองค์ประกอบอะไรที่เป็นการแสดงออกหรือรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้เราเห็นอย่างชัดแจ้งเลย

แต่โดยส่วนตัว เราคิดว่าผลงานในนิทรรศการนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการตอบสนองคำสั่งเสียของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่ว่า “นาย ถ้าฉันตาย นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน” ได้อย่างชัดเจนและเรียบง่ายอย่างแท้จริง

นิทรรศการ อย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้ Don”t Wait Until Tomorrow จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน – 26 ตุลาคม พ.ศ.2562 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์