คำ ผกา | อีกกี่ทศวรรษจะสูญหาย

คำ ผกา

ร้านกาแฟเล็กๆ ที่ฉันอุดหนุนอย่างสม่ำเสมอบอกข่าวร้ายว่า

“ผมขายถึงสิ้นเดือนนี้จะเลิกแล้วนะครับ”

ถามว่าเพราะอะไร ลุงตอบว่า ไปต่อไม่ไหว คนน้อยลง ลูกค้าน้อยลง อยู่ไม่ได้

ร้านของลุงเป็นร้านใต้ถุนแฟลตแห่งหนึ่งที่แหล่งชุมชนหนาแน่น

ตั้งแต่แกเปิดร้านมาก็มีลูกค้าอุดหนุนหนาแน่น กาแฟของลุงเป็นกาแฟคุณภาพดี ชงอย่างประณีต

เคาน์เตอร์เล็กๆ นั้นสามารถบริหารได้ตามลำพัง ไม่ต้องมีลูกจ้าง ลุงขายกาแฟแก้วละ 45 บาทถูกกว่ากาแฟแบรนด์ดังหลายเจ้าในคุณภาพ รสชาติที่ดีกว่าด้วยซ้ำ

ชามะนาวของลุงนั้นใช้มะนาวแท้ๆ ในฤดูที่มะนาวลูกละสิบบาท สิบห้าบาท ลุงก็ยืนยันใช้มะนาวแท้

แกเคยบอกว่าก็ถัวๆ กำไรไปกับตอนที่มะนาวราคาถูก

ตั้งแต่อุดหนุนคุณลุงมาก็เห็นแกมีลูกค้าทั้งขาจรขาประจำอยู่ จึงไม่คิดว่าจะเจอกับข่าวร้าย แต่แกก็ยืนยันว่า

“ทำไปก็ไม่คุ้มจริงๆ จะลดคุณภาพก็ทำใจไม่ได้ จะขึ้นราคาลูกค้าก็สู้ไม่ไหว ดันทุรังทำไปก็เหนื่อยเปล่า”

ระหว่างที่ชงกาแฟไปคุยกันไป ฉันก็นั่งทะเลาะกับตัวเองว่า เวลาคนบ่นเรื่องเศรษฐกิจแย่ๆ นี่เราอคติกับรัฐบาลหรือเปล่า เราไม่ชอบรัฐบาลนี้ เราไม่ชอบนายกฯ คนนี้ เราจึงเลือกจะฟังแต่เสียงของคนที่บ่นอุบว่า ค้าขายยากขึ้น เพื่อนที่ทำธุรกิจอันพอจะมีฐานะบ้างเดี๋ยวนี้ก็หน้าแห้งหน้าเหี่ยวว่าเดี๋ยวนี้กว่าจะได้กำไรสักบาทสักสลึงมันยากเย็นเหลือใจ

เดินตลาดแม่ค้าก็บ่นว่าเงียบ ขึ้นแท็กซี่ แท็กซี่ก็บ่นว่าคนหายไปไหนกันหมด

หันไปดูภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นปีที่มีปัญหากันทั้งราคาข้าว ราคายาง ราคาสับปะรด มังคุด ลำไย ราคาก็ตกลงมากันถ้วนหน้า

ถัดจากราคาพืชผลทางการเกษตรตก เราก็เจอกับภัยแล้ง

ต่อจากภัยแล้งมาเจอราคาข้าวเหนียวแพงขึ้นถึงสอง-สามเท่า ทั้งที่ชาวนาขายข้าวเปลือกไม่ได้ราคา

พ้นจากเรื่องข้าวเหนียวแพง เราก็มาเจอภัยน้ำท่วม อันต้องจินตนาการถึงนาข้าวที่จมหายไปกับสายน้ำหรือคนเลี้ยงปลากระชังที่เงินหลายแสนคงหายวับไปกับตาเช่นกัน

น้ำท่วมอุบลฯ แล้ว ที่สุรินทร์ซึ่งแล้งมาตลอดจนต้องสูบน้ำเข้านา

สูบน้ำเข้านายังไม่พ้นคืนฝนตกหนักน้ำท่วมนาที่ผ่านแล้งไปหมาดๆ ไอ้ที่ลงแรงใส่ปุ๋ยสูบน้ำเข้า ลงทุนไปเยอะแยะ ก็มีอันต้องสูญเปล่า

เพียงเท่านี้ก็พอจะจินตนาการได้ว่า ภาคชนบท ภาคการเกษตรของเราบอบช้ำและคงจะอ่อนแอไปอีกนับปี กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ใหม่

หันมาดูในเมืองเมื่อเศรษฐกิจมันทรงๆ ทรุดๆ บรรยากาศการค้าขายโดยรวมมันเงียบเหงาไปโดยปริยาย

อย่าว่าแต่ตลาดสด เดินเข้าไปในห้าง เคาน์เตอร์เครื่องสำอางของเกือบทุกห้างนี่พนักงานนั่งตบยุงกันหมด ร้างเสียยิ่งกว่าร้าง

สอดคล้องกับที่เขาบอกว่า อัตราการว่างงานสูงขึ้น การยุบเลิก ปิดกิจการ โรงงาน ข่าวการเลิกจ้างพนักงานมีให้ได้ยินกันเนืองๆ หนี้ครัวเรือนก็พุ่ง

ชีวิตชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางในเมืองก็ต้องเผชิญกับภาวะปากกัดตีนถีบ ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างวันไหน ค่าครองชีพก็สูง ไหนจะค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ไหนจะภาระผ่อนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

เคยไหมในคืนวันฝนตกที่เราเห็นคนทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก วัยรุ่น ยืนออกันที่ป้ายรถเมล์อย่างเบียดเสียด บ้างยังอยู่ในเครื่องแบบพนักงาน บ้างหอบถุงกับข้าวรุงรัง เกือบทุกคนเหงื่อซึมไปทั้งร่าง เปียกชื้นจากอากาศ เหนื่อยล้าจากการทำงาน การเดินทาง

สามทุ่ม สี่ทุ่มก็ยังต้องแออัด เบียดเสียดอยู่ตามป้ายรถเมล์ ท่ารถตู้ บ้างก็ต้องอาศัยวินมอเตอร์ไซค์

ถ้าเราจะสังเกตสักนิด เราจะเห็นแววตาทดท้อ อ่อนโรย ไร้ซึ่งความหวัง ไร้ซึ่งความฝันถึงอนาคต เหลือเพียงดวงตาแห้งๆ ล้าๆ กับคำถามที่กึกก้องอยู่ในหัวว่า เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน เมื่อไหร่จะได้กินข้าว เมือไหร่จะได้นอน นอนแล้วจะเหลือเวลาอีกกี่ชั่วโมงที่จะได้หลับ เพราะตีสี่ ตีห้าก็ต้องออกมาผจญภัยบนถนนกับการเดินทางอันแสนสาหัสนี้อีก

เพราะคนจนเกือบทุกคนในเมืองไม่มีปัญญาหาที่อยู่อาศัยให้มันใกล้กับที่ทำงานของตัวเองหรอก

แล้วก็นั่นแหละในหลายโอกาส เราก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนที่อ่อนระโหยโรยแรงและสิ้นหวัง

เป็นคนที่ต้องเดินลุยน้ำท่วม ลุยฝน ฝ่าฝูงแมลงสาบและหนูในยามค่ำคืนเพื่อจะคลำหาทางกลับบ้าน และอย่างไม่น่าเชื่อ กรุงเทพฯ เมืองฟ้าในยุคนี้สมัยนี้จะหาถนนและซอยที่ไฟบนถนนติดสว่างครบถ้วนทุกดวงช่างยากเย็น

หรือบางครั้งดวงไฟก็มัวซัวเสียจนฉันคิดว่าเป็นนโยบายลดโลกร้อนของรัฐบาลและ กทม.หรือเปล่า

ในสภาวะแบบนี้เราเห็นอะไรในอนาคตของประเทศไทย

ตัวฉันเองเคยมีความหวังอยู่ลึกๆ ว่า นโยบายการสนับสนุนเอสเอ็มอี นโยบายจำนำข้าว นโยบายกองทุนหมู่บ้าน การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคู่ไปกับการโปรโมตสินค้าโอท็อป ทั้งหมดนี้ที่ขนานไปกับการกระจายอำนาจ สิ่งที่รอประเทศไทยอยู่ข้างหน้าคือ ประเทศไทยที่สังคมเกษตรและสิ่งที่เรียกว่าสังคม “ชนบท” จะค่อยๆ หายไป เพราะทุกๆ จังหวัดและทุกๆ อำเภอของประเทศไทยจะถูกยกระดับไปเป็น “เมือง” และเป็น “เมืองใหญ่”

อบต.จะกลายเป็นเทศบาล เทศบาลจะหลายเป็นเทศบาลเมือง

การปกครองส่วนภูมิภาคจะถูกลดบทบาทลงไปให้กลายเป็นเพียงส่วนงานธุรการ หน้าที่ของผู้ว่าฯ ก็คงเหลือแต่ไปเป็นประธานทอดกฐิน ผ้าป่า เพราะงานพัฒนา “เมือง” งานบริหารจัดการ “เมือง” จะเป็นงานของ “ผู้บริหาร” ที่ประชาชนเลือกมา

จำนวนเกษตรกรของเราจะลดลง และคนใน “ชนบท” ที่กลายเป็น “เมือง” ไปเรียบร้อยแล้วนั้นจะยกระดับตัวเองมาเป็น “ผู้ประกอบการ”

เมืองทุกหนทุกแห่งกลายสภาพมาเป็นเมือง เป็นศูนย์กลางความเจริญของตนเอง

ทางเลือกของคนวัยทำงานที่จะเลือกลงหลักปักฐานอยู่บ้านเกิดก็จะมากขึ้น เพราะเมืองที่เขาอยู่มีหนทางทำมาค้าขาย

เห็นช่องทางในการทำมาหากิน เห็นเม็ดเงินที่สะพัด

เห็นโอกาสให้ไขว่คว้าอยู่เต็มไปหมด

ถ้าพวกเขามีลูก ก็มีโรงเรียนที่ไม่แย่นักให้เล่าเรียน

และลองคิดดูว่า ถ้าประชากรส่วนใหญ่ของท้องถิ่นอยู่ที่ท้องถิ่น และพวกเขาได้เลือกตั้งนายกฯ เล็กของพวกเขา การผลักดันให้พัฒนาคุณภาพโรงเรียนและ facility สำหรับเด็กก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพโรงเรียน การสร้างห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ สนามกีฬาต่างๆ ปัญหายาเสพติดก็ต้องถูกติดตามโดยผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะนี่คืออนาคตลูกหลานของพวกเขา

ครอบครัวไม่ต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ที่พ่อแม่ไปทำงานกันคนละทางสองทางแล้วปล่อยให้ลูกเล็กเด็กแดงอยู่ภายใต้การดูแลของปู่ย่าตายาย

เมื่อจำนวนเกษตรกรลดลง พื้นที่ทำการเกษตรลดลง (เมื่อชนบทกลายเป็นเมือง การใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรอาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เจ้าที่ดินที่นาอาจแบ่งขายที่ดินของตนบางส่วนแล้วใช้เงินนั้นไปลงทุนเพื่อเปลี่ยนอาชีพ และผันตัวเองไปสู่อาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ๆ หรือลงทุนกับการศึกษาของลูกหลานได้เต็มที่ขึ้น)

สิ่งที่ตามมาคือ ผลผลิตทางการเกษตรจะมีราคาสูงขึ้น

คนที่ยังคงเลือกจะเป็นเกษตรกรย่อมสามารถลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีในการทำการเกษตรของพวกเขา เช่น การใช้ที่ดินน้อยลงเพื่อผลผลิตที่สูงขึ้น

การวางแผนการเพาะปลูกที่มีเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยเพื่อความแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มกำไร

หรือแม้กระทั่งทำสองอาชีพ เป็นทั้งผู้ประกอบการ เป็นทั้งเกษตรกร บริหารจัดการที่ดินให้เกิดผลกำไรสูงสุดแก่ตนเองได้

อนาคตที่เราจะยกระดับการเกษตรของเราให้เป็นเกษตรปลอดภัยก็อยู่แค่เอื้อม

นี่คืออนาคตของประเทศไทยที่ฉันจินตนาการเอาไว้เมื่อสิบห้าปีที่แล้วบนตรรกะง่ายๆ ว่า ประเทศไทยไม่อาจกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเทียบชั้นสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้เลย ถ้าเราจะปล่อยให้อีก 76 จังหวัดของประเทศไทยอยู่ในสภาพ “ต่างจังหวัด” หรือเป็นเพียง “ชนบท”

แล้วให้ความเจริญมากระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และอีกไม่กี่เมืองในภาคตะวันออกในฐานะที่เป็น “นิคมอุตสาหกรรม”

ประเทศไทยจะกลายป็นประเทศที่เจริญได้ก็ต้องเมื่ออย่างน้อยที่สุด 40 จังหวัดของประเทศไทยต้องกลายเป็น “เมือง” สิ้นสภาพความเป็นชนบท เป็นศูนย์กลางการค้า เป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นศูนย์กลางการวิจัย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ทางการท่องเที่ยว ทางการบริโภค ศูนย์กลางการกีฬา เป็นศูนย์กลางเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ชนเผ่า เป็นศูนย์กลางการศึกษาเรื่องแพทย์แผนไทย เป็นศูนย์ผลิตเหล้าพื้นบ้าน เป็นเมืองไวน์ เมืองเบียร์ เมืองกัญชา หรืออะไรสักอย่างขึ้นมาให้ได้ พูดง่ายๆ ทุกจังหวัดสามารถเป็นศูนย์กลางการค้า เศรษฐกิจ เป็นจุดผลิตเงินของตนเองได้

ถ้าอย่างน้อย 40 จังหวัดของประเทศกลายเป็น “เมือง” ที่มีเศรษฐกิจอันเข้มแข็ง คึกคัก มีความเจริญ มีห้างสรรพสินค้าอันใหญ่โต มีโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย เป็นของตนเอง

จำนวนคนในกรุงเทพฯ อาจจะลดลงเกือบครึ่ง ถ้าคนในกรุงเทพฯ ลดลงจากสิบล้านคนเป็นห้าล้านคน ฉันก็เชื่อว่า กรุงเทพฯ จะบริหารจัดการง่ายกว่านี้อีกมาก

และกรุงเทพฯ จะน่าอยู่กว่านี้

อนิจจาสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ไม่เกิด มีคนไทยจำนวนหนึ่งไม่เชื่อชนบทควรจะถูกเปลี่ยนให้เป็น “เมือง” พวกเขาคิดว่า ชนบทควรจะ “เรียบง่าย งดงาม” อยู่เช่นนั้น

และน่าขำมาก คนเหล่านี้มีภาพมายาอยู่ในสมองว่า เมืองคือความชั่วร้าย ชนบทคือความดีงาม บริสุทธ์ ไม่ควรให้ชนบทต้องแปดเปื้อนจากความเป็น “เมือง” แต่ทุกคนที่คิดแบบนี้ล้วนอาศัยอยู่ใน “เมือง”

ทั้งที่ในความเป็นจริง “เมือง” ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับความอัปลักษณ์ คำว่า “เมือง” หมายถึงระดับของเศรษฐกิจ การพัฒนา คุณภาพของสาธารณูปโภค ที่สามารถมาพร้อมกับป่า ภูเขา ต้นไม้ ลำธารน้ำใส

ไม่ต้องดูอื่นไกล เมืองอย่างเกียวโต ก็เป็น “เมือง” ที่มีกวาง มีหมูป่า มาเพ่นพ่านอยู่ในเมืองได้บ่อย เพราะมันถูกโอบล้อมไปด้วยป่า แม่น้ำ ลำธาร ขุนเขา

หรือเมืองอย่างเบอร์ลินก็มีป่าอยู่ใจกลางเมือง จะว่าไป เมืองในหลายประเทศล้วนมีป่ามีธรรมชาติ ลำคลอง หนองบึงที่อุมสมบูรณ์ทั้งสิ้น

ไม่เพียงแต่คิดไม่ได้ว่าประเทศจะพัฒนา พื้นที่ร้อยละห้าถึงหกสิบของประเทศต้องกลายเป็น “เมือง” พวกเขายังไม่ค่อยพอใจที่เห็นชนบทเติบโต พัฒนา ไม่พอใจที่คนในต่างจังหวัดเข้มแข็ง

หนักกว่านั้นพวกเขาเริ่มไม่พอใจนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัด

ถอนหายใจไปอีกสอง-สามปี

นับจากวันที่ฉันฝันและเห็นความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยทั้งประเทศจะพัฒนากลายเป็น “เมือง”

หรือพูดภาษาโบราณว่าเกิดการ “กระจายความเจริญ”

รัฐบาลทหารที่เป็นผลผลิตของการทำรัฐประหารนับตั้งแต่ปี 2549 ได้นำพาประเทศไทยกลับไปในยุคที่เราเพิ่งจะเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 กันอีกครั้ง

เครื่องมือใดๆ ที่จะทำให้ “ประชาชน” ส่วนใหญ่ของประเทศเข้มแข็ง มีศักดิ์มีศรีได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น และสิ่งแรกที่พวกเขาพรากไปจากประชาชนคือ “เงิน”

คงไม่ต้องลงในรายละเอียดว่า ตั้งแต่ปี 2549 คนไทยค่อยๆ ยากจนลงอย่างไร ด้วยเครื่องมืออะไรบ้าง

เมื่อยากจนลงเสียแล้ว เรี่ยวแรงที่จะเรียกร้องหาสิทธิทางการเมืองก็อ่อนล้าตาม

พอจนลงจนได้ที่ เขาก็เริ่มกระบวนการทำลายล้างศักดิ์ศรีของประชาชนด้วยการโครงการแจกเงินคนจนเสีย เขาเปลี่ยนคนสิบกว่าล้านคนที่เป็นผู้มีศักยภาพที่จะทำมาหากิน ทำมาค้าขายได้ด้วยตนเองให้กลายเป็นก้อนเนื้อปวกเปียกกับลมหายใจแผ่วๆ ผู้รอเงินสามร้อยห้าร้อยจากรัฐบาล

จากนั้น กระบวนการผลิตวาทกรรม โง่ จน เจ็บ ก็จะวนกลับมาอีกครั้ง

ดูสิ คนพวกนี้งอมืองอเท้า จน ขี้เกียจ ยิ่งรัฐบาลแจกเงินก็ยิ่งไม่ทำงาน วันๆ เอาแต่กินเหล้า นั่งเหงาหลับ มีลูกเต้าออกมาก็กลายเป็นแว้นเป็นสก๊อย ติดยา

ยากจนขึ้นมาก็โทษรัฐบาลอีก จะให้รัฐบาลช่วยอะไรนักหนา แค่นี้ก็หนักหนาสาหัสแล้ว เอะอะก็ด่าว่านายทุน เอาเปรียบ แล้วตัวเองวันๆ ก็กินเหล้า นอนเขลงไปเขลงมา เล่นหวย เล่นไก่

น่ารังเกียจจริงๆ

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น เรากำลังถูกทำให้กลายเป็นคนยากจนลงเรื่อยๆ เงินเราเหลือน้อยลงเรื่อยๆ และเราจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เหลือทางเลือกในชีวิตน้อยลง เรี่ยวแรงในการวิจารณ์รัฐบาลของเราก็แผ่วผิว

คนชั้นกลางที่พอจะเอาตัวรอดก็ต้องเลือกอยู่ในเซฟโซน หามุมสงบเล็กๆ ให้ตัวเองและครอบครัวมากกว่าจะคิดเรื่องส่วนรวมและสังคม แก้ไขความรู้สึกผิดให้ตัวเองด้วยการบริจาคเงินบ้างเป็นครั้งๆ

มีเงินนิดๆ ก็ส่งลูกเรียนและหาทางให้ลูกไปทำงานต่างประเทศเสีย

ส่วนคนจนที่ไม่มีทางเลือกอะไรก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อให้มีกินไปวันๆ ลูกเต้าจะได้เรียน ไม่ได้เรียน จะเสียคน จะติดยา จะท้องก่อนแต่งก็เหลือกำลังจะดูแลติดตาม ฝากไว้กับชะตากรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปก็แล้วกัน

ส่วนใครที่ไปไม่ไหวแต่ใจกล้าก็คือคนที่ชิงฆ่าตัวตายไปเสียนั่นล่ะ

ผู้เฒ่าในชนบทก็มีวัดและความเชื่อเรื่องบุญบาปเป็นที่พึ่ง

ชาตินี้เราจนเพราะทำบุญมาน้อย ตั้งหน้าตั้งตาไหว้พระ เผื่อชีวิตในชาติหน้าจะดีกว่านี้

ฉันออกจะเชื่อว่าเราคนไทยต้องอยู่กันไปอย่างนี้อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งทศวรรษหรือมากกว่านั้น

และฉันมองอะไรไม่เห็นนอกจากซากปรักหักพังแห่งความเหนื่อยล้ายากจนของคนค่อนประเทศ

เพราะเมื่อคนรุ่นหนึ่งอยู่กับความยากจนและอ่อนแอไปสามทศวรรษ

ความอ่อนแอยากจนจะถูกส่งต่อไปยังคนอีกเจเนอเรชั่นหนึ่งผ่านความขาดแคลนและความต้อยต่ำทางต้นทุนชีวิตอันเนื่องมาจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานถูกพรากไปจากชีวิตพวกเขาไปจนหมดสิ้น

เรียกได้ว่าเราถูกปล้นไปแม้กระทั่ง “เวลา” ในแต่ละวันที่ควรเป็นของเรา

สองทศวรรษข้างหน้าของประเทศไทยเราจะมีคนในวัยแรงงานที่ง่อยเปลี้ยเสียขา

สมองไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง (ไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตสำหรับการใช้สมองเชิงวิพากษ์ สร้างสรรค์ ตั้งคำถาม) มีวิกฤตเรื่องสุขภาพจิต ขาดความรู้พื้นฐานสำหรับตลาดแรงงานในโลกอนาคต พร้อมๆ กับที่ไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ

และทำเป็นเล่นไป ถึงวันนั้น เราก็ยังจะมีนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐนี่แหละ!