วอชเชอร์ : ความโกรธพลุ่งพล่าน ของ “เกรธา” และ “ประชาชนชาวไทย”

“กล้าดียังไง”! กลายเป็นถ้อยคำอันสะท้อนความขุ่นเคืองที่ดูง่าย ไม่ซับซ้อนจากความรู้สึกของเกรธ่า ทุนเบิร์ก นักเรียนสาวสวีดิชวัย 16 ที่โดดเรียนไปเคลื่อนไหวต่อปัญหาโลกร้อนหน้ารัฐสภาสวีเดนเพียงคนเดียว ผ่านมา 1 ปี มีคนทำแบบเดียวกันมากขึ้นเป็นล้านแล้ว

แน่่นอนว่า ความโกรธทั้งสีหน้าและถ้อยคำที่สื่อสารถึงผู้นำโลกในงานประชุม Climate Summit ที่นิวยอร์กเมื่อไม่นานมานี้ ก่อปฏิกิริยาทั้งเห็นด้วยที่ควรโกรธต่อความล่าช้า หรือเห็นต่างว่าทำให้ภาพของนักเคลื่อนไหวดูดื้อด้าน หรือก้าวร้าวจนไม่อาจชักจูงผู้มีอำนาจที่ครอบครองทรัพยากรยอมทำตาม

แต่ความโกรธของเด็กสาววัย 16 และเป็นเด็กสาวในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีการหล่อหลอมมุมมองและฝึกฝนให้เด็กระดับคุณภาพสูง การที่คนๆหนึ่ง ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและแสดงออกมาด้วยความแน่วแน่ที่สามารถเปลี่ยนข้อจำกัดของตัวเองให้เป็นจุดเด่่น และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนเป็นล้าน ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

พลังความโกรธถ้าใช้อย่างถูกวิธี ก็อาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการใช้วิธีพูดนอบน้อมหรืออ้อนวอนร้องขอแบบคนชั้นรองหรือผู้น้อยถึงผู้ใหญ่หรือเหนือกว่า

 

ยังมีความโกรธอีกอย่าง กำลังก่อตัวและขยายตัวเรื่อยๆ ในบรรดาประชาชนชาวไทย ไปยังบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแสดงออกแบบที่หลายคนคิดในฉับพลันเดียวกันว่า “กล้าดียังไง”

ไม่ว่า การเคลมผลงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทั้งๆที่ตัวเองพยายามยกเลิกโดยอ้างว่าเป็นภาระต่องบประมาณ แถมยกอ้างโดยไม่เอ่ยถึงบุคคลอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผู้ผลักดันให้ไอเดียของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นรูปร่างขึ้นมา

หรือการพูดต่อแขกต่างชาติที่เอเชีย โซไซตี้ ที่กล่าวว่า ตัวเองเป็นผู้บริหารต้องใช้กูเกิล แต่ประชาชนไม่ค่อยเปิดดู เลยเป็นปัญหาเพราะไม่รู้จักเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฎตรงกันข้ามคือ เกือบ 100% คนไทยใช้กูเกิลมากที่สุด การพูดเชิงดูถูกจึงเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟแห่งความขุ่นเคืองในตัวผู้นำของคน จนแสดงออกผ่านแฮชแท็ก #PrayutGetOut ให้กระหึ่มอีกครั้ง

เป็นความโกรธที่มากและมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดการเป็นผู้นำบริหารประเทศมา 5 ปีกว่า

 

“ความโกรธ” ของประชาชนต่อรัฐบาล หรือพลเมืองทั่วโลกต่อผู้นำในเวทีต่างประเทศ ย่อมเป็นเครื่องสะท้อนว่า ความคาดหวังและความไว้วางใจต่อคนที่ควรมีบทบาทในการจัดการ กำลังติดลบ

ทั้งความล่าช้าหรือปล่อยปละละเลย การไม่จัดลำดับความสำคัญ หรือแม้แต่ไม่ยอมรับข้อจำกัดของตัวเองและฝืนดันทุรัง

ความโกรธ นั้น อาจเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึก แต่สิ่งนี้ผลักดันให้คนลงมือกระทำได้

ยิ่งความเดือดดาลแบบไม่เสียดายและไม่กลัวตายด้วยแล้ว ใครก็หยุดอะไรไม่ได้ทั้งนั้น