หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “ชอเกียม ตรุงปะ” : โอบกอดความเป็นมนุษย์ (จบ)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “ชอเกียม ตรุงปะ” : โอบกอดความเป็นมนุษย์ (1)

1″ชัมบาลา” คืออะไร

ตรุงปะตอบลูกศิษย์ว่า “ชัมบาลา คือสังคมอริยะซึ่งปราศจากความรุนแรง มันตั้งอยู่ทางแถบเอเชียกลาง ใจกลางทวีปเอเชีย สังคมชัมบาลาสามารถแปรเปลี่ยนความก้าวร้าวให้กลายเป็นความรัก ผลก็คือ ทุกคนในชัมบาลาได้บรรลุธรรมสิ้น จึงไม่จำเป็นต้องดูแลฝูงสัตว์เลี้ยง และหามีผู้ใดก่อสงครามไม่ ในที่สุด ผู้คนทั้งหมดทั่วทั้งอาณาจักร รวมถึงสิ่งก่อสร้างทั้งมวลก็ได้สาบสูญไปจากโลก มิได้ดำรงอยู่ในมิติภาวะนี้อีกต่อไป นี่คือเรื่องราวของชัมบาลา”

นั่นคือเรื่องราวของชัมบาลาที่ตรุงปะตอบลูกศิษย์ แต่ลึกๆ ในใจเขามีความต้องการสร้างชัมบาลาขึ้นมาด้วย

ประมาณกันว่า อาณาจักรชัมบาลาน่าจะอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย แถบเทือกเขาหิมาลัย เหนือแม่น้ำสีดา

ซึ่งบริเวณดังกล่าวปัจจุบันคือ เตอร์กีสถานตะวันออก

แต่ถ้าตามคำบอกเล่าของตรุงปะ อาณาจักรนี้ก็ควรตั้งอยู่ “กลางทวีปเอเชีย ตรงใจกลางหรือหัวใจของตะวันออก” มันคืออาณาจักรที่เป็นแกนกลางของโลกใบนี้ ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ ทุกคนที่นั่นทุ่มเทเวลาให้กับการทำสมาธิภาวนา

เมืองนี้คล้ายมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเข้าไปในเมืองแล้วจะดูกว้างใหญ่อย่างประมาณขอบเขตมิได้

หากบุคคลสามัญได้ไปถึงที่นั่น สิ่งที่พวกเขาแลเห็นจะเป็นเพียงหุบเขารกร้างว่างเปล่า ไร้ผู้คน ห้อมล้อมไปด้วยภูผาที่น่าสะพรึงกลัว

นอกเสียจากว่าพวกเขาต้องชำระล้างหัวใจให้บริสุทธิ์ และตั้งจิตอยู่ในภาวะอันเป็นสัปปายะ ผู้จาริกจึงจะบรรลุถึงดินแดนแห่งนี้ได้ อาณาจักรแห่งนี้เป็นอิสระอยู่บนการตั้งเจตนาที่ถูกต้อง

เช่นนี้เอง ตรุงปะจึงไม่เคยปฏิเสธที่จะตอบคำถามประเภท อาณาจักรชัมบาลามีอยู่จริงไหม?

มันอยู่ที่ไหนสักแห่งในโลกนี้ใช่หรือไม่?

มันซ่อนอยู่ในมิติอื่นของความเป็นจริงใช่ไหม?

คำถามเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันของมนุษย์ที่อยากจะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่แท้จริง ซึ่งเป็นความปรารถนาในส่วนลึกของผู้คนที่ควรค่าแก่การตระหนักถึง

ชัมบาลา แสดงให้เห็นถึงการผสานระหว่างทัศนะทางศาสนธรรมกับชีวิตทางสังคม

ตรุงปะเชื่อว่า “ศาสนธรรมเป็นของปุถุชนทั่วไป คือการจัดการกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องเหมาะสม โลกอันมหัศจรรย์ของชัมบาลาอยู่บนรากฐานของการเข้าไปสัมพันธ์กับชีวิตของตัวคุณเองอย่างจริงจัง ทั้งกับร่างกาย อาหารที่กินดื่มเข้าไป การครองเรือน สถานะชีวิตสมรส ลมหายใจ สภาพแวดล้อม และบรรยากาศของคุณ”

ศาสนาส่วนใหญ่มักสนับสนุนให้ผู้คนถือบวชเป็นพระหรือชี หรือละโลกเพื่อบำเพ็ญตน แต่ทัศนะแบบชัมบาลากลับเชื้อเชิญให้ผู้คนทั้งหลายมาสร้างอาณาจักรร่วมกัน

เป็นการใช้ชีวิตอย่างมีธรรมอยู่ในสังคมปกติ สร้างสังคมแห่งความรู้แจ้งร่วมกัน

และตราบใดที่หัวใจของผู้คนยังมีความปรารถนาที่จะเข้าถึงอาณาจักรชัมบาลา นั่นหมายความว่า อาณาจักรชัมบาลานั้นมีอยู่จริง ที่อยู่ของอาณาจักรแห่งนี้ก็คือภายในจิตใจทุกคนนั่นเอง

2″นาทีที่กองทัพคอมมิวนิสต์บุกเข้ามาในเขตอารามเซอร์มัง ผมคิดว่าสังคมพุทธธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่านี้สามารถสร้างขึ้นมาได้ เราสามารถนำวิสัยทัศน์อันกว้างไกลนี้มาปฏิบัติได้ ตั้งแต่นั้นมาญาณทัศนะชัมบาลาก็ไม่เคยจางหายไปไหน”

น่าสนใจยิ่งนัก นี่คือปากคำและความคิดของผู้ที่ถูกกองทัพจีนขับไล่ออกจากดินแดนที่เป็นบ้านเกิดของตนเอง จากดินแดนอันสุขสงบสู่อนาคตอันว่างเปล่า แทนที่จะคิดโกรธแค้น อยากแก้แค้น หรือคิดเอาชนะ ตรุงปะกลับคิดที่จะสร้างอาณาจักรอันสงบสุขขึ้นมาแทน

เพียงแค่ความคิดนี้ก็นับได้ว่า พื้นที่เล็กของอาณาจักรชัมบาลาได้ปรากฏขึ้นในใจของเขาแล้ว…อาณาจักรที่เปลี่ยนความก้าวร้าวให้กลายเป็นความรัก

สำหรับตรุงปะแล้ว ความคิดดีๆ ต้องสามารถเจริญงอกงามได้ในสังคมปกติ มิใช่วัดวาอารามห่างไกลผู้คน และจะต้องงอกงามขึ้นในตัวผู้คนด้วย ถึงขั้นกล่าวว่า “สังคมอริยะนั้นย่อมงอกเงยขึ้นมาจากอ่างล้างจานในครัว จากห้องนอน หาไม่ก็จะไม่มีสังคมอริยะ”

เช่นนี้แล้ว ท่านจึงต้องการสร้างอาณาจักรที่ซึ่งจิตวิญญาณและการเมืองไม่ถูกแยกออกจากกัน

3ครั้งหนึ่ง อัลเลน กินสเบิร์ก กวียุคบุปผาชน ผู้เคยมีบทบาทต่อต้านสงครามเวียดนาม ในฐานะที่เป็นชาวพุทธผู้กระตือรือร้นคนหนึ่ง เขาได้ประท้วงต่อต้านโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ร็อกกี้แฟลตส์ ด้วยการนั่งสมาธิบนรางรถไฟเพื่อกั้นทางลำเลียงวัตถุนิวเคลียร์ที่จะมาส่งยังโรงงาน

ตรุงปะคิดว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นการสร้างปัญหา

ท่านบอกว่า “อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเมือง หรือปัญหาจิตใจ พึงแปรเปลี่ยนให้กลับกลายเป็นการตื่นรู้หรือโพธิ…มีคนจำนวนหนึ่งได้แรงบันดาลใจในการเขียนกวีนิพนธ์และแสดงบทบาทในการอุทิศชีวิตให้กับสังคม แต่งานของพวกเขาไม่ได้อยู่บนหลักการของมหายาน พวกเขาเพียงมีปฏิกิริยาต่อต้านโลกที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย พวกเขาไม่สามารถแปรเปลี่ยนความเลวร้ายมาสู่วิถีแห่งโพธิ”

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการประท้วงแบบนี้มักเต็มไปด้วยโทสะ ซึ่งไม่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างแท้จริง ตรุงปะจึงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติกับการเมืองอย่างถูกต้อง

4พวกเราล้วนอยู่ในยุคสมัยที่ขับเน้นความสำคัญของปัจเจกบุคคล เรามีชีวิตอยู่แบบตัวใครตัวมัน พึ่งพากันและกันน้อยลง เรารักที่จะมีอิสระ ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นและยึดมั่นในอัตตาตัวตนของตัวเอง เราต่างแข่งขันกันเพื่อเอาชนะ และนี่คือสาเหตุของความทุกข์และความรู้สึกแปลกแยก

“สังคมอริยะ” ที่ทุกคนฝันถึงต้องเริ่มจากการที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ ในสภาพเช่นนั้น ส่วนรวมย่อมสำคัญกว่าส่วนย่อย ผู้คนทุกคนในสังคมรวมกันย่อมสำคัญกว่าตัวของใครคนใดคนหนึ่ง

แต่สังคมเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเริ่มจากการวางอัตตาของตัวเองลงก่อน มองเห็นความเชื่อมโยงของตัวเรากับเพื่อนร่วมสังคม ว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สิ่งที่เราทำย่อมกระทบคนอื่น และสิ่งที่คนอื่นทำก็ย่อมกระทบเรา

ตรุงปะบอกว่า เมื่อมีปัญหา เราไม่ควรโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมคือธุระของเรา และทุกคนล้วนมีความสำคัญและมีค่า

สำหรับตรุงปะ ความหมายที่แท้จริงของการเมืองคือการรับใช้ผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนอยู่เสมอ ถ้าเราไม่ตระหนักความจริงข้อนี้ เราอาจเผลอทำให้การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน ซึ่งเป็นหนทางในการเสริมสร้างอัตตาให้กล้าแข็งขึ้น

แล้วสุดท้าย การต่อสู้ทางการเมืองก็อาจเคลื่อนไปสู่การต่อสู้ กับอำนาจด้วยอำนาจ หรือเพื่อแย่งชิงอำนาจ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างอัตตากับอัตตาอันจะนำไปสู่ความเกลียด-โกรธ-กลัวในท้ายที่สุด

แล้วการต่อสู้เช่นนี้ก็จะเป็นวงจรแย่งชิงอำนาจไม่รู้จบ

5ตรุงปะแนะนำให้ใช้ความอ่อนโยนในการเยียวยาความก้าวร้าว ซึ่งความอ่อนโยนนี้มีอำนาจในตัวมันเอง ความอ่อนโยนสามารถทำลายอัตตาซึ่งเป็นต้นเหตุของความรุนแรงทั้งปวงได้ ทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง

ความอ่อนโยนเกิดจากความเชื่อมั่นในความดีงามพื้นฐานที่ดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ที่คือหัวใจของการเมืองสำหรับตรุงปะ

การจัดการทางการเมืองจึงดำเนินควบคู่ไปกับการจัดการตัวเอง จัดการสภาวะจิตใจของตัวเอง ขณะที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโลกก็ต้องหมั่นตรวจสอบด้วยว่า ตัวเราเองรับรู้โลกอย่างไร เป็นอคติ หรือคิดไปเองหรือเปล่า

นี่คือสองสิ่งสำคัญที่ตรุงปะเน้นย้ำและพยายามทำให้เห็น หนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับส่วนรวม ตามแนวทางพระโพธิสัตว์ สองคือ คอยตรวจสอบและจัดการจิตใจตัวเอง เผชิญความจริงด้วยความกล้าหาญ ซื่อตรงต่อหัวใจตนเอง และหาหนทางภายในเพื่อกลับคืนสู่บ้านหรือ “ความดีงามพื้นฐาน” ที่มีอยู่ในตัวทุกคน นั่นคือภาวะบริสุทธิ์ เปิดกว้าง เป็นอิสระ จิตใจในวินาทีก่อนที่จะใช้ความคิดมาตัดสินถูก-ผิด

คำถามสำคัญก็คือ เราจะปฏิบัติตนในโลกใบนี้ทั้งในแง่พฤติกรรม การใช้ชีวิต และการงานอย่างไร จึงจะช่วยส่งเสริมให้โลกโดยรวมมีความสุขสงบขึ้น หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

แม้ถูกกระทำอย่างก้าวร้าวรุนแรง แต่ตรุงปะก็ไม่คิดต่อสู้กับกองทัพคอมมิวนิสต์ แต่กลับมุ่งสร้างอาณาจักรทางจิตวิญญาณขึ้นมา นั่นคืออาณาจักรชัมบาลา

ส่วนคำตอบว่า อาณาจักรอันสุขสงบแห่งนี้มีจริงหรือไม่

คำตอบอยู่ในจิตใจของผู้ถาม

อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “ตรุงปะ” ฟาบริซ มิดัล เขียน / พินทุสร ติวุตานนท์ แปล / สนพ.สวนเงินมีมา