หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “ชอเกียม ตรุงปะ” : โอบกอดความเป็นมนุษย์ (1)

หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “ชอเกียม ตรุงปะ” : โอบกอดความเป็นมนุษย์ (จบ)

1คุณรู้สึกอย่างไรหากถูกไล่ออกจากบ้าน?

1 มกราคม 1950 จีนประกาศ “ปลดแอกทิเบตจากจักรวรรดินิยมต่างชาติ และรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศแม่” จากนั้นกองทัพมหึมาก็เคลื่อนพลเข้ามาในดินแดนหลังคาโลก

ปี 1955 จีนนำระบบนารวมมาใช้ และส่งกองทัพเข้ายึดอาวุธและทรัพย์สิน จัดการกับการถือครองทรัพย์สินทุกรูปแบบ ทหารจับพระสงฆ์และสามเณรมาฆ่าทิ้งกลางที่สาธารณะ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ชาวทิเบตต่างหนีตายด้วยวิธีต่างๆ นานา กระทั่งองค์ทะไลลามะเองก็ยังต้องเสด็จออกนอกประเทศ

ขณะนั้น เชอเกียม ตรุงปะ เพิ่งอายุ 19 ปี แต่ต้องรับบทบาทเป็นผู้นำผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่จำนวน 300 คน ท่านต้องเดินทางผ่านเส้นทางอันตรายและลำบากแสนสาหัส ต้องคอยหลบหนีจากการสอดส่องของทหารจีน บางครั้งก็ต้องเดินทางยามค่ำคืน

เวลากว่าสิบเดือนกับเส้นทางอันโหดร้ายทำให้อาหารของคณะเดินทางร่อยหรอ พวกเขาถึงขั้นต้องต้มรองเท้าหนังเพื่อกินกันตาย

นั่นทำให้ผู้ร่วมทางค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคน ทีละคน หลายคนเสียชีวิตเพราะป่วยไข้ บ้างเพราะความชราเกินกว่าจะมาเดินทางสมบุกสมบันเช่นนี้ อีกหลายคนถูกจับกุมระหว่างทาง

จาก 300 คนในตอนออกเดินทาง เหลือเพียง 13 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตถึงอินเดีย

ย่อมไม่ใช่ช่วงชีวิตที่ง่ายดาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจ หากบางคนถูกไล่ออกจากบ้านอาจรู้สึกเคียดแค้น ขบคิดแผนการเพื่อทำลายอีกฝ่าย เพลิงความโกรธและความทุกข์อาจเผาผลาญจิตใจกลายเป็นหมอกควันดำมืด

แต่เชอ เกียม ตรุงปะ รินโปเช มิได้เป็นเช่นนั้น แม้ในช่วงตกระกำลำบาก ท่านยังอธิบายกับคณะผู้ติดตามว่า

“นี่ถือเป็นโชคของเรา การเดินทางของเรายากลำบากและต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่กว่าการจาริกแสวงบุญในอดีต จากสิ่งเหล่านี้เราจะได้เรียนรู้และรับประโยชน์จากการเดินทางยิ่งขึ้น”

2ตรุงปะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธธรรมที่ไปงอกงามในดินแดนตะวันตก ท่ามกลางบรรยากาศโกลาหลอลหม่าน

เสียงอื้ออึงของการประท้วง เสียงขึงขังของการใช้อำนาจรัฐ สหรัฐอเมริกาขณะนั้นอยู่ระหว่างการปะทะกันของจิตวิญญาณเสรีของเหล่าบุปผาชนกับสถาบันต่างๆ ที่ยึดมั่นค่านิยมหลัก ทั้งครอบครัว ผู้ใหญ่ ทางการ บริษัท ระบบทุนนิยม กองทัพ โดยมีสงครามเวียดนามซึ่งกำลังคุกรุ่นเป็นฉากหลัง

ในบรรยากาศแห่งการแสวงหาของหนุ่มสาวผู้ตั้งคำถามกับสารพัดค่านิยมที่ผู้คนยึดถือ คุรุชาวทิเบตท่านหนึ่งค่อยๆ กลายเป็นผู้ตอบข้อสงสัยในชีวิตของผู้หิวโหยความหมายเหล่านั้น

แม้ฮิปปี้ทั้งหลายต่างมีคำขวัญประจำใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับ “ความรัก” และ “สันติภาพ”

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบรรยากาศโกลาหลเหล่านั้นก็มีความสับสนในความคิดของพวกเขาอยู่ด้วยเช่นกัน จะทำอย่างไรให้คุณค่าที่เรายึดไม่เป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูที่พูดพร่ำทำเท่ไปวันๆ

จากนักบวช ตรุงปะตัดสินใจถอดจีวรออก แล้วเข้าคลุกคลีใช้ชีวิตเป็นเนื้อเดียวกันกับชาวบุปผาชน แต่งตัวแบบเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน แถมยังร่วมวงดื่มเหล้าเมายากับบรรดาฮิปปี้หนุ่มสาวเหล่านั้นด้วย

หากตัดสินด้วยสายตาแบบ “คนดี” เราอาจชี้นิ้วไปที่ตรุงปะแล้วพิพากษาว่าเป็นอดีตนักบวชที่เลอะเทอะ ออกนอกลู่นอกทาง แทนที่จะทำตัวดีเพื่อเป็นแบบอย่างให้สมกับที่ครูบาอาจารย์ควรจะเป็น กลับลงไปเกลือกกลั้วกับกิเลสและอบายมุขเหล่านั้น

แต่ เชอเกียม ตรุงปะ กลับมองสถานะของ “อาจารย์” ต่างไป ท่านไม่ต้องการให้อาจารย์เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งอยู่บนแท่นบูชา กลับมองว่าอาจารย์ควรเป็นคนคนหนึ่งที่เข้าถึงง่าย ผูกมิตรด้วยได้ และใช้ชีวิตไปด้วยกัน

ด้วยท่าทีเช่นนี้ ตรุงปะจึงได้รับการอ้าแขนรับจากหมู่บุปผาชน

สำหรับท่านแล้ว จีวรกลับกลายเป็นกำแพงในการเข้าถึงความจริงของลูกศิษย์

ท่านสังเกตว่า เมื่อห่มจีวร ผู้คนจะศรัทธาและยกย่องในความเป็นนักบวชของท่าน ชาวตะวันตกอาจหลงใหลไปกับความวิจิตรพิสดารของวัฒนธรรมทิเบตซึ่งติดตัวท่านมา แต่นั่นเป็นแค่เปลือก

ตรงกันข้าม-การถอดจีวรออกแล้วดำเนินชีวิตตามวิถีฆารวาสต่างหากที่ทำให้ผู้คนฟังในสิ่งที่ท่านพูด สนใจในสิ่งที่ท่านสอนมากกว่าเปลือกนอกที่ห่อหุ้ม

นี่คือที่มาของ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ผู้นุ่งห่มร่างด้วยเสื้อฮาวายฉูดฉาด นุ่งกางเกงยีนส์ ก่อนที่จะค่อยๆ เปลี่ยนมาอยู่ในมาดชายหนุ่มใส่สูทผูกไท้เมื่อเวลาผ่านไป

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแบบไหน หรือกระทั่งวิถีชีวิตแบบไหน สำหรับตรุงปะแล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่เปลือก ไม่ใช่สาระสำคัญ

ตรุงปะไม่ติดอยู่กับความคาดหวังของผู้ใด เมื่อเห็นว่ากฎเกณฑ์ทั้งหลายตามประเพณีดั้งเดิมเป็นสิ่งไร้ความหมายในบริบทใหม่ของชีวิตที่อเมริกา ท่านก็สละบัลลังก์ บริวารรับใช้ และพิธีการทั้งหลายที่ผู้คนต้องปฏิบัติต่ออาจารย์ไปอย่างไม่ไยดี

การละวางจารีตปฏิบัติกลับทำให้สัมผัสหัวใจของผู้คนได้ง่ายขึ้น สำหรับท่านแล้ว ปรีชาญาณย่อมผุดขึ้นมาจากประสบการอันหมดจด ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะเป็นเยี่ยงใดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงใช้ชีวิต คลุกคลีกับผู้คนจริงๆ ติดดิน เผชิญความทุกข์ และยอมรับทุกสิ่งที่ต้องเผชิญ

นับเป็นการสอนผ่านชีวิตตนเอง

3ตรุงปะมองว่าศตวรรษที่ 20 คือยุคแห่งการพอกพูนอัตตา จริงอยู่ว่าฮิปปี้ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ในยุคสมัย และใฝ่หาเสรีภาพ กระนั้นตรุงปะก็ไม่เคยลังเลที่จะพูดสิ่งที่เขย่าความคิดของคนเหล่านั้น

ท่านเคยเรียกให้ทุกคนนำกัญชาที่มีติดตัวออกมากองรวมกันแล้วนำไปเผาทิ้ง เพราะเห็นว่าการเมายานั้นเป็นการแยกตัวเองออกจากสภาพความเป็นจริง เป้าหมายในการสอนของท่านคือถอนทำลายภาพหลอนเหล่านั้น แล้วให้หันกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง

การทำสมาธิภาวนาคือการพิจารณาดูว่าแท้จริงแล้วเราคือใคร มันจะช่วยให้เราเห็นสภาวะจิตของเราอย่างถ่องแท้เปลือยเปล่า โดยไม่พยายามบรรลุเป้าหมายใดเป็นพิเศษ

รู้จักตัวเอง และเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองเป็น

เสรีภาพและความรัก อาจไม่ใช่ความหมายเดียวกับที่บรรดาฮิปปี้เข้าใจ

การสอนของตรุงปะจึงมิใช่การบรรยายเพื่อให้ลูกศิษย์ซี้ดปากในความฉลาดแหลมคมของอาจารย์ แล้วก้มหน้าจดคำคมเอาไว้พร่ำพูดกัน สิ่งที่ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอคือการปฏิบัติภาวนา คือการมองเห็นและยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นโดยไม่เสแสร้ง

สิ่งนี้เองที่ท่านปฏิบัติให้เห็นตลอดชีวิต สิ่งที่แตกต่างจากคุรุท่านอื่นก็คือการแสดงออกที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ตรุงปะมิใช่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ มิใช่ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านมีภรรยา มีเซ็กซ์กับลูกศิษย์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และอธิบายอยู่เสมอว่า “อันตรายของศาสนธรรมก็คือการสร้างโลกที่แยกตัวออกมา เป็นโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีอะไรผูกพันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงของบุคคล ทัศนะสูงส่งเช่นนี้ไม่อาจช่วยเราได้อย่างแท้จริง มันเป็นอุดมคติที่ไม่อาจบรรลุถึง ทั้งจะทำให้ผู้คนรู้สึกต่ำต้อย และยิ่งทำให้เกิดวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”

สำหรับตรุงปะแล้ว ศาสนิกบางคนบริโภค “ความดี” ไม่ต่างจากข้าวของเครื่องใช้ เมื่อเราได้ครอบครองความดีที่ยึดถือ เรากลับชี้นิ้วตัดสินคนอื่นว่าสกปรกหรือเป็นคนเลว การยึดถือ “ความดี” ในลักษณะนี้ไม่ต่างอะไรกับการหลงใหลในวัตถุ เพียงแค่มันมาในรูปของความดีงามทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนดีต้องระมัดระวังให้มาก

ท่านกลับมองว่า การคลุกคลีอยู่ร่วมโลกซึ่งมีทุกสิ่งผสมกันทั้งดีร้ายโดยไม่ตัดตัวเองออกไปอยู่ในโลกที่มีแต่ความสะอาด สว่าง สงบ นี้เองที่เป็นปณิธานของพระโพธิสัตว์

อยู่ร่วมในเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกด้วยความกรุณา

เช่นนี้แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตอันโกลาหลก็คือเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติและตระหนักรู้ถึงความจริงในตัวเอง เมื่อสับสนก็จงยอมรับว่าสับสน เมื่อโกรธเกลียดกลัวก็เช่นกัน เมื่อมีความปรารถนาก็ตระหนักรู้แล้วไม่ผลักไสปฏิเสธด้วยการหุ้มห่อตัวเองไว้ด้วยเปลือกอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง

คำสอนของตรุงปะจึงมิได้มุ่งเน้นเพื่อทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์แบบ ตรงกันข้าม-ท่านกลับสอนให้ละวางความคาดหวังที่จะกลายไปเป็นผู้สมบูรณ์แบบ หรือผู้ที่สามารถพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง แต่จงโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบนั้นของตนเองและผู้อื่น ยอมรับว่านั่นคือความจริง และเชื่อมั่นใน “ความดีงามพื้นฐาน” ที่มีอยู่ในตัวของทุกคน

“ความดีงามพื้นฐาน” มิใช่ความดีที่ดีกว่าคนอื่น หากคือสิ่งที่เราทุกคนต่างมีร่วมกัน นั่นคือสภาวะก่อนการตัดสิน เป็นอิสระและเปิดกว้าง เป็นการรับรู้โดยตรงโดยปราศจากความคิดเห็นใดๆ เปรียบได้กับท้องฟ้า ที่แม้ถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกแห่งอารมณ์และความคิด แต่ท้องฟ้าก็มิอาจแปดเปื้อนจากสิ่งเหล่านั้น และยังคงมีท้องฟ้าโล่งๆ อยู่เบื้องหลังเมฆหมอกเหล่านี้เสมอ

นี่คือ “สภาวะเดิมแท้” ที่มีอยู่ในตัวทุกคน

4เหตุที่เราขาดความศรัทธาในความดีงามพื้นฐาน เพราะความกลัว ตรุงปะบอกว่าเราฝังตัวเองไว้ในรังดักแด้ พยายามเลี้ยงสันดานเก่าเอาไว้ สร้างนิสัยความเคยชินและความคิดขึ้นมาตลอดเวลา

เรารู้สึกปลอดภัยในสิ่งที่เคยชิน ในจุดอ้างอิงเดิมๆ ที่ใช้ตัดสินสิ่งต่างๆ มาโดยตลอด เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นในชีวิต การตัดสินว่ามันดีหรือร้าย บวกหรือลบ สวยงามหรือน่ารังเกียจนั้นทำให้ชีวิตง่ายกว่าการเผชิญหน้ากับมันอย่างที่มันเป็นโดยไม่ตัดสิน เพราะภาวะนั้นเราย่อมรู้สึกสับสน ไม่แน่นอน เหมือนเจอสิ่งของแล้วไม่รู้จะนิยามมันว่าอะไร

ความกลัวชนิดนี้เองที่ทำให้ตรุงปะสอนให้ลูกศิษย์มีคุณสมบัติของนักรบ-ผู้มีความกล้าหาญ ผู้ที่ต่อสู้กับกิเลสตัณหาเพื่อเอาชนะใจตัวเอง คือเอาชนะนิสัยที่ชอบตัดสินของใจ หัวใจที่ไม่ตัดสินนั้นย่อมอ่อนโยนกว่า มั่นคงกว่า

ที่สำคัญ ตรงแก่นกลางของหัวใจเช่นนี้คือ ความเศร้า

ตรุงปะบอกว่า นักรบที่แท้จริงควรจะมีใจเศร้าและอ่อนโยน

ใจเศร้าเช่นนี้เองที่จะสร้าง “ชัมบาลา” ขึ้นมาได้

(โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า)