มุกดา สุวรรณชาติ : 13 ปี รัฐประหาร 2549 ประชาธิปไตยถอยหลังไป 40 ปี

มุกดา สุวรรณชาติ

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ไม่เพียงถอยแค่ 3 ก้าว

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทุกคนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ยังมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจด้วยวิธีการรัฐประหารและด้วยวิธีให้ประชาชนเลือก สลับกันไปมาหลายครั้ง

ตามหลักแล้วความขัดแย้งทางการเมืองควรพัฒนาเข้าหาระบอบประชาธิปไตยสากลมากกว่านี้

แต่มีปัจจัยพิเศษและอำนาจพิเศษในประเทศนี้ทำให้ความขัดแย้งกลับเปลี่ยนเป็นซับซ้อนกว่าเดิม โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2549 ของกลุ่ม โดยถือฤกษ์ 19 เดือน 9 ปี 2549 ผบ.ทบ.บอกว่าถึงตายก็ไม่ตอบว่าใครอยู่เบื้องหลัง

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งองคมนตรีต้องลาออกเพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

การรัฐประหารปี 2549 มีผลเพียงสามารถขับทักษิณ ชินวัตร ออกไปนอกประเทศได้เพียงคนเดียว แต่พลังประชาธิปไตยยังอยู่ และก็ไม่สามารถหยุดบทบาททางการเมืองของทักษิณได้ เพราะระบบการสื่อสารสมัยใหม่

การรัฐประหารของกลุ่มอำนาจเก่า อ้างว่าเพื่อหยุดการแตกแยกของสังคมไทยและกำจัดรัฐบาลทุนนิยมที่โกงกิน

ต้องยอมถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้บ้านเมืองก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม

ถอยหนึ่งก้าวเพื่อข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง

ถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้การเมืองไทยก้าวไปสู่ธรรมาภิบาล มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ และคุณธรรม (รวมแล้วถอยไป 3 ก้าว)

แต่ถึงวันนี้ ผ่านไป 13 ปี เรามีการเลือกตั้งแบบถดถอยตามรัฐธรรมนูญในปี 2550 และ 2554 ล่าสุด ในปี 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ผลที่ได้ คล้ายกับการเลือกตั้ง 2522 คือ ส.ว.แต่งตั้งเป็นคนเลือกนายกฯ ประชาชนแค่เลือก ส.ส.ไปประดับสภา เพื่อให้ดูว่าประเทศนี้มีสภาผู้แทนฯ

ในสภาพจริง เป็น 13 ปีที่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยเลย ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

 

การพัฒนาประชาธิปไตย
ต้องพัฒนาอะไรบ้าง

1.ต้องพัฒนารัฐธรรมนูญและกฎหมาย การร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายควรถูกทำให้ก้าวหน้าขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นั่นหมายถึง การที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกำหนดทิศทางเดินของประเทศได้ อำนาจของประชาชนจะถูกใช้โดยตัวแทนที่ประชาชนเลือก เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน

แต่ 13 ปีที่ผ่านมายิ่งทำยิ่งถอยหลัง เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ก้าวหน้าที่สุด ถูกฉีก ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมาเองให้ล้าหลังกว่า แล้วก็ฉีกทิ้งอีก จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาแทน ซึ่งเป็นฉบับที่ถอยหลังลงคลองไปเลย

2. ต้องพัฒนาองค์กรหลัก คือ รัฐสภา รัฐบาล ศาล พรรคการเมือง และนักการเมือง

13 ปีที่ผ่านมารัฐสภาไม่เพียงล้าหลังตามรัฐธรรมนูญ แต่การเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อเป็นฝ่ายบริหาร เป็นนายกฯ กลับมีคนพยายามไม่ผ่านระบบการเลือกตั้งจากประชาชน การตัดสิน การตรวจสอบไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย

ไม่ใช้ระบบรัฐสภา อำนาจฝ่ายบริหารมีอิทธิพลมาก

อำนาจฝ่ายตุลาการก็สามารถชี้ถูกผิด ปลดทุกตำแหน่ง ทุกฝ่ายได้ มาตรฐานความยุติธรรมก็ไม่มี

ในขณะที่ฝ่ายตุลาการไม่มีที่มาที่ยึดโยงกับเสียงของประชาชนเลย กลับมีอำนาจเหนือทุกฝ่าย

ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งประชาชนเลือกมาก็มีอำนาจน้อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมี ส.ว.แต่งตั้งมาแย่งบทบาทไป พรรคการเมืองไม่มีโอกาสพัฒนา สภาพของนักการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป

ทุกฝ่ายถอยหลังจนสร้างปัญหากับชีวิตของประชาชน

3. ต้องพัฒนากลไกของรัฐ คือข้าราชการพลเรือนและทหาร ให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบเจ้าขุนมูลนาย

การพัฒนาด้านนี้ยังไม่มีให้เห็นในรอบ 13 ปี การบริการประชาชนที่ดี ควรมาจากกลไกนี้ แต่ความหวังที่จะเห็นความสุจริตไม่มีคอร์รัปชั่น คงเป็นไปไม่ได้ มีการโกงกินทุกระดับ ทั้งรถไฟ เรือเหาะ ขุดลอกคูคลอง พยุงราคาพืชผล อาหารเด็ก เงินคนแก่ สารพัดโครงการตั้งแต่สิบล้านยันแสนล้าน ต้องผ่านมือข้าราชการ

ทหารที่เคยหายไปจากวงการเมืองก็กลับมาอยู่วงการเมือง หลัง 2549

4. ต้องพัฒนาประชาชนทั้งความรู้ความคิดและการปฏิบัติจริง คือ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ในความเป็นจริงตลอด 13 ปี แม้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าเดิม แต่สังคมไทยยิ่งแตกแยกกว่าเดิม เพราะมิได้ยึดหลักประชาธิปไตย แต่ยึดว่าชอบใคร เชียร์ใคร จึงมีสีเสื้อเหมือนแข่งกีฬาสี

นักวิชาการและสื่อก็แบ่งค่ายกันตามแนวคิดและผลประโยชน์

การเลือกตั้งท้องถิ่นก็หยุดชะงัก อำนาจยังรวมศูนย์ ผู้มีอำนาจไม่อยากและยังไม่รู้จักการกระจายอำนาจ

ระบอบประชาธิปไตยของเราจึงล้าหลัง และประชาชนจะได้ประโยชน์น้อยมาก หลังรัฐประหาร 2557 การเลือกตั้งท้องถิ่นก็หยุดไปเฉยๆ

5. ต้องพัฒนาการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้และสวัสดิการออกไปยังคนชั้นล่าง แต่จะเห็นว่าตลอด 13 ปี ธุรกิจใหญ่ยิ่งเติบโต รวยขึ้น ขยายมากขึ้น ธุรกิจคนชั้นล่างทรุดลงจำนวนมากก็ล้มหายตายจากไป เกษตรกรยังจนเหมือนเดิม ตอนนี้สะเทือนไปถึงคนค้าขายเล็กๆ เพราะกำลังซื้อทั้งจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมหดหายไป การช่วยเหลือของรัฐบาลคือให้บัตรคนจน หรือบัตรวณิพก

สรุปว่า 13 ปีที่ผ่านมาการพัฒนาทั้ง 5 ด้านไม่เคยเกิดขึ้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเดินไปได้ช้ามากหรือบางช่วงหยุดชะงัก ถูกทำลาย อำนาจตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่ม แม้แต่รัฐธรรมนูญก็เป็นกฎที่ผู้ปกครองสร้างขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ หรือได้เปรียบ

 

คําถามคือ เราสูญเสียอะไรไปบ้างในขณะที่ประเทศอื่นพัฒนา ก้าวหน้าไปเรื่อย

เสียโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตยที่ควรจะต่อเนื่องถึง 28 ปี

15 ปีที่ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าเองได้มาถูกทำลายเพราะรัฐประหาร 2549

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 รสช.ถูกโค่นอำนาจลง มีการเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ จาก ปชป.คือ นายชวน หลีกภัย มีการยุบสภา หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีที่ดิน ส.ป.ก. เลือกตั้งใหม่ได้นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยเป็นนายกฯ อยู่ถึง 27 กันยายน พ.ศ.2539 ก็ยุบสภาเพราะถูก ปชป.อภิปรายไม่ไว้วางใจ เลือกตั้งใหม่ในขณะเดียวกันก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่เป็นนายกฯ ถึงเดือนตุลาคม 2540 ก็ลาออกจากวิกฤตเศรษฐกิจ นายชวนได้เป็นนายกฯ ต่อ โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่ได้งูเห่าหนุน

กว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2540 ก็มีรัฐบาลที่บริหารประเทศต่อเนื่องมาถึง 4 ชุด มีการเลือกตั้งใหม่ 6 มกราคม 2544 ถึงยุคที่นายกฯ ทักษิณจากไทยรักไทยเข้ามาบริหารและสามารถอยู่จนครบวาระ 4 ปี ถือว่าเป็นสภาและรัฐบาลชุดแรกที่อยู่จนครบวาระเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 คราวนี้ได้ ส.ส.ถึง 377 เสียงจาก 500 เสียง คิดเป็น 75% สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

เป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มอำนาจคิดแผนอื่นขึ้นมาต่อสู้ จึงเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ใช้งาน 8 ปีกับอีก 11 เดือน รวมแล้วมีช่วงเวลาที่ได้พัฒนาประชาธิปไตยให้เต็มใบเกือบ 15 ปี 6 รัฐบาล

น่าเสียดายที่ 13 ปี เราควรพัฒนาต่อเนื่องไล่ตามเกาหลีไป แต่กลับมาจมปลักของความขัดแย้ง กลุ่มอำนาจเก่ายิ่งดิ้นยิ่งยุ่ง ยิ่งถลำลึก ต้องรัฐประหารซ้ำอีก นี่ยังไม่รู้ว่าจะทำอีกหรือไม่

 

ประชาชนเสียสิทธิ์
เกิดความไม่เท่าเทียม
ถูกจำกัดเสรีภาพ

การมีประชาธิปไตยเต็มใบ หมายถึง การที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกำหนดทิศทางเดินของประเทศได้ อำนาจของประชาชนจะถูกใช้โดยตัวแทนที่ประชาชนเลือก เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลุ่มอำนาจเก่าและคนที่มีความคิดอนุรักษนิยมยังรับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ก็ต้องมาจากการเลือกของประชาชน การต่อสู้เพื่อต้องการพัฒนา กับการต่อสู้เพื่อรักษาสถานะ ความได้เปรียบในสังคมจึงเกิดขึ้น

ความคิดที่ว่าคนไม่ควรมีสิทธิเท่ากัน…ยังดำรงอยู่

เรื่องคนไม่เท่าเทียมกัน เป็นความคิดดั้งเดิมแต่โบราณแล้ว ระบบที่สังคมมีไพร่เป็นผู้รับใช้ มีมานานนับ 1,000 ปี แต่ความคิดที่ว่าคนเท่าเทียมกัน เพิ่งจะมีขึ้นเพียง 100 ปีมานี่เอง

วันนี้ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจหลายระดับ จึงยังพยายามต่อสู้ให้คนไม่เท่าเทียมกัน

ยอมรับไม่ได้ที่คนชั้นล่างซึ่งเคยสยบ นบนอบมายาวนาน ใน 20 ปีหลังนี้กลับค่อยๆ ลุกยืนขึ้น ออกความเห็น ตั้งคำถาม ใช้สิทธิทางการเมือง หลายคนเลื่อนฐานะทางสังคมสูงขึ้น และในอนาคตข้างหน้าบางคนบางกลุ่มอาจพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง

ปัจจุบันคน 90% ต้องการระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีคนบางกลุ่มต้องการขยายขอบเขตเสรีภาพของตนเองให้กว้างกว่า

ต้องการความเสมอภาคที่เหนือกว่า

ต้องการความยุติธรรมที่ได้เปรียบ

คนกลุ่มนี้จึงต้องโฆษณาว่า พวกเขาดีกว่า เก่งกว่า ซื่อสัตย์กว่า เป็นสายเลือดผู้ดี ที่ไม่มีวันทำชั่ว เหมาะจะเป็นผู้ปกครองตลอดไป ตลอดกาล

นอกจากการโฆษณา ก็ยังจะต้องมีอำนาจหนุนจากปืนและกฎหมายมาเสริมจึงจะคงอำนาจไว้ได้

การต่อสู้ใน 13 ปีหลัง เพื่อความเสมอภาค จึงเป็นเกมที่ซับซ้อนกว่าเดิม ใช้ทุกอย่าง ทุกองค์กร มากดดันคนที่ไม่เห็นด้วย ทั้งโดยกฎหมาย มีการจับกุมคุมขัง มีการใช้อาวุธปราบปราม

 

กองทัพและฝ่ายตุลาการ
ถูกดึงเข้ามายุ่งกับการเมือง

ความซับซ้อนของวงจรชิงอำนาจยุคใหม่ ต้องดึงฝ่ายตุลาการ นักวิชาการมาหนุน มีองค์กรที่สร้างขึ้นมาปกป้องและสนับสนุนอำนาจจากรัฐประหารมากมาย และตั้งอยู่บนฐานทางกฎหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่ การรัฐประหาร 2549 และตุลาการภิวัฒน์ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา บทบาทขององค์กรอิสระ บทบาทของนักวิชาการ ล้วนแล้วแต่อยู่ในวงจรอำนาจที่คณะรัฐประหารวางหมากไว้แล้ว

ส่วนฝ่ายตุลาการของไทยก็ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ทำการล้มอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ (สภา) และฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะทุกครั้งจะไม่ล้มฝ่ายตุลาการ

13 ปีที่ผ่านมา คำตัดสินฝ่ายตุลาการสามารถล้มรัฐบาลได้ตลอด เช่น รัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ การชุมนุมต่อต้านล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่ทำให้เกิดการยุบสภา ซึ่งก็เลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ที่จะชิงอำนาจไม่กล้าให้ประชาชนเลือกใหม่ กลัวแพ้ ก็ต้องหาทางก่อกวน ขัดขวาง

การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีการกระทำแบบนี้ และจบเหมือนกันโดยฝ่ายตุลาการตัดสินว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ…ถ้าเลือกตั้งใหม่ก็จะแพ้อีก

ก็ต้องจบด้วยการดึงกองทัพเข้ามารัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง

 

ความผิดพลาด ความโง่เขลาจะวนกลับมา
ก่อความทุกข์ให้ประชาชนไปอีกกี่ปี

พลังฝ่ายก้าวหน้าพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่การสื่อสารพัฒนาเร็วมาก แต่พลังฝ่ายล้าหลัง ก็ยังมุ่งที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจผลกระทบต่อชีวิตชาวบ้าน กลุ่มอำนาจเก่าตัดสินใจผิดพลาดหลายครั้งซ้อน ยิ่งแก้ยิ่งผิด ความขัดแย้งยิ่งขยาย จากบางคนไปสู่บางกลุ่ม และสุดท้ายขยายไปทั่วประเทศ

1. ความผิดพลาดขั้นแรกของกลุ่มอำนาจเก่า คือแยกมิตรแยกศัตรูไม่เป็น ไปกำหนดให้ทักษิณเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด เมื่อทักษิณเสนอนโยบายที่ตอบสนองคนส่วนใหญ่ได้ดีกว่า กลับมองว่าเป็นอันตราย

2. ความผิดพลาดขั้นที่ 2 คือใช้แนวทาง ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจด้วยอาวุธในเดือนกันยายน 2549 แต่ผลที่ออกมา ประชาชนก็ไม่ยอมรับ จึงต้องรีบเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็แพ้เหมือนเดิม

3. ความผิดพลาดขั้นที่ 3 คือการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ในปลายปี 2551 เพื่อโค่นรัฐบาลและยุบพรรคพลังประชาชน ชิงอำนาจรัฐ ทำให้ความยุติธรรมไร้มาตรฐาน ประชาชนจึงแบ่งตามสี ตามฝ่าย ความเคารพเชื่อถือก็หายไป

4. ความผิดพลาดขั้นที่ 4 คือการปราบประชาชนด้วยอาวุธสงคราม สิ่งที่ติดมาด้วยคือความคับแค้นและความเกลียดชังกัน

5. ความผิดพลาดขั้นที่ 5 คือ เมื่อแพ้เลือกตั้งได้รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่มีคนเลือกเกินครึ่ง ก็ยังวนกลับไปทำผิดพลาด ด้วยการยึดอำนาจ 2557 ตามสูตรเดิม ที่ใช้ม็อบตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร แต่หนักกว่าเก่าตรงที่กลัวแพ้มาก เลยต้องใช้ ส.ว.ช่วย แถมเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งใหม่

วันนี้แม้จะใช้ทุกองค์กรช่วยจนได้เป็นรัฐบาล เสียงปริ่มน้ำ แต่จะอยู่ได้นานเท่าใด

สภาพการเมืองตอนนี้ เป็นรัฐบาลผสม มี ส.ว.ช่วยให้เป็นนายกฯ คล้ายรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หลังเลือกตั้ง 2522 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์อยู่ได้ 9 เดือน

ถ้ามีปัญหาแล้วจะทำอย่างไร หรือจะรัฐประหารอีกตามแบบที่จอมพลถนอมเคยทำมาแล้ว

13 ปีไม่เพียงได้รัฐธรรมนูญถอยหลัง ชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ก็ถอยหลัง พ่อค้าเจ๊ง คนชั้นรากหญ้าได้บัตรคนจน และบัตรวณิพก มีแต่กลุ่มทุนใหญ่ และผู้มีอำนาจที่รวยเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองแบบไร้กติกา สามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญถอยหลังไปถึง 40 ปี เท่ากับถอยไป 40 ก้าว ไม่ใช่ 3 ก้าว