ชาญณรงค์ บุญหนุน | จาก ‘พุทธรูปอุลตร้าแมน’ สู่ความมั่นคงทาง(พุทธ)ศาสนา ท่ามกลางกระแสคนยุคใหม่ไร้ศาสนา

ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่ากรณีภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนที่ปรากฏเป็นข่าวและวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของศาสนาโดยรวมทั้งหมด เพราะเราไม่ควรเอาศาสนาเป็นตัวตั้งในสังคม ประเทศไทยไม่ใช่เมืองพุทธและไม่ใช่รัฐศาสนาที่เราจะต้องเอาศาสนาเป็นตัวตั้งในการทำกิจกรรมบางอย่าง หมายความว่าถ้าศิลปินสร้างผลงานโดยอิสระมันก็เป็นผลประโยชน์โดยรวมของชาติ เช่น เมื่อมีคนทำงานแบบนี้เยอะๆ แล้วต่อไปในอนาคตก็สร้างชื่อเสียงให้ประเทศก็ได้ ในอนาคตถ้ามีคนมาทำงานในลักษณะนี้มากขึ้น ผมคิดว่ามันก็จะทำให้ชาวพุทธได้เรียนรู้ ได้คิดมากขึ้น มองในแง่ดีว่ามันทำให้มีแรงกระตุ้นพุทธศาสนิกชนในการศึกษาธรรมะอย่างจริงๆ จังๆ สมมุติว่าไม่ชอบคุณก็เอามาถกเถียงกันได้ ผมคิดว่าตัวภาพวาดมันไม่สามารถที่จะทำอะไรได้กับความมั่นคงทางศาสนาได้

นี่คือความเห็นของ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน จากภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีต่อกรณีดราม่าใหญ่โตในแวดวงศิลปะ-ศาสนา ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อ.ชาญณรงค์ชี้ว่า ถ้าเราสังเกตดูในปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่นับถือศาสนา ไม่ใช่เพราะว่าเขาเห็นภาพวาดนี้แล้วไม่ศรัทธา

แต่เขาไม่ศรัทธาศาสนา เพราะตัวสถาบันในศาสนาเองที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องที่มันซีเรียสกว่า หรือเรื่องในสังคมที่มันซีเรียสมากๆ

เช่น เรื่องที่ไปละเมิดรากฐานทางจริยธรรม คุณธรรมจริยธรรม สถาบันศาสนาเองกลับไม่เข้ามาสู่ประเด็นทางสังคมเหล่านี้ คนก็จะมองไม่เห็นว่าศาสนามีประโยชน์อะไร

ซึ่งคนจะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาก็ต่อเมื่อเขามองเห็นว่าศาสนาให้ประโยชน์แก่ชีวิตเขาด้วย

ฉะนั้น ภาพวาดภาพหนึ่งมันจะทำลายสังคมหรือไม่ มันก็อาจจะไม่ทำร้าย เพราะงานศิลปะมันมาเพียงแค่ยุคหนึ่งแล้วมันก็จะหายไป ซึ่งงานศิลปะไม่ควรมีเพดานที่จำกัด แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือว่าคนที่ทำงานศิลปะเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรมและศาสนาด้วย

กระแสคนไม่นับถือศาสนา

“กระแสการไม่นับถือศาสนาเกิดขึ้นทั่วโลก คนไม่นับถือศาสนาในแง่หนึ่งก็เพราะเขามองว่าศาสนาไม่ตอบโจทย์การดําเนินชีวิตของเขา หมายความได้ด้วยว่า ศาสนาก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนสมัยใหม่ อีกอย่างหนึ่งคนเหล่านี้อาจไม่ต้องการนับถือศาสนาในเชิงสถาบัน แต่คนที่นับถือและรักศาสนาก็เป็นเพราะศาสนายังตอบโจทย์ชีวิตเขาได้” อ.ชาญณรงค์ขยายความ

ฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา ต้องคิดร่วมกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างกันนี้อย่างไร โดยไม่สร้างความรุนแรงต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม

หมายความว่า สังคมต้องคํานึงว่าเราอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และปฏิบัติตามหลักคําสอนทางศาสนาตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

ชาวอนุรักษ์ก็ต้องพยายามรักษาสิ่งที่ตัวเองหวงแหนโดยการทําให้คนอื่นเห็นคุณค่า แต่ไม่ควรเอาเรื่องที่ตนหวงแหนไปฟาดทําร้ายผู้อื่น คนที่ไม่นับถือศาสนาก็เช่นกัน ไม่จําเป็นที่จะต้องไปทําร้ายเย้ยหยันผู้ที่เขานับถือศาสนา

ถ้าจําเป็นก็เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล และมีการวิพากษ์วิจารณ์กลับได้เช่นเดียวกัน

ปัจจัยสำคัญที่สุดของการดำรงอยู่และทะนุบำรุงศาสนา ผมมองว่ากลไกสำคัญคือ “ชุมชน” แต่ชุมชนในยุคปัจจุบันอาจจะกว้าง เช่น ปัจจุบันเราอาจจะสงสัยว่าทำไมวัดป่าในภาคอีสาน ยังมีคนนับถือและมีคนไปปฏิบัติธรรมอยู่มาก ทั้งๆ ที่ในชุมชนนั้นๆ คนหนุ่มสาวในพื้นที่อาจจะไม่ได้อยู่ ไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งกรณีอย่างนี้ คือคนจากพื้นที่อื่นสามารถเข้าถึงชุมชนนั้นได้ ก็สะท้อนโมเดลว่าวัดและศาสนาก็อยู่ได้ ฉะนั้น ศาสนาและวัดก็ไม่ได้หายไปในความหมายที่ว่าหายไปเลย

เด็กรุ่นใหม่บางคนที่เขายังนับถือศาสนาอยู่ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากครอบครัวที่เข้มแข็งให้ความสำคัญกับวัดวาอารามพอสมควร และศาสนายังสามารถตอบสนองความคิดของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้

ผมคิดว่าเขาก็ยังไงเขาก็นับถือ ในที่สุดแล้วเด็กก็ต้องพยายามหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง เข้ากับตัวเอง

แต่ที่บางคนเขาไม่สนใจศาสนา ไม่อยากพูดถึงศาสนาหรือไม่อยากเกี่ยวข้อง มันอาจจะมาจากการที่เขาเห็นว่าศาสนา เวลาที่เขาจะเข้ามาสัมพันธ์ด้วย โดยเฉพาะในภาคการศึกษาในโรงเรียน การเรียนการสอน มันกลับกลายเป็นเหมือนเขาจะต้องแบกรับภาระอะไรบางอย่างที่มันหนักหน่วงในชีวิตเขา แทนที่ศาสนาน่าจะต้องทำให้เด็กมีชีวิตที่เบาได้มากขึ้น

“ศาสนา” จะต้องถูกดิสรัปชั่นแน่ๆ ตราบใดที่ศาสนายังไม่สามารถ ปรับตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ หมายความว่าในยุคสมัยเดิมวัฒนธรรม คือเราอยู่ในสังคมเกษตรกรรม อยู่ในสังคมที่ค่อนข้างเป็นวัฒนธรรมเดี่ยว

ความทุกข์ของคนที่อยู่ในสังคมนั้นอาจจะไม่มากเท่าโลกปัจจุบันเพราะว่าปัจจุบันมันมีเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ มากมายสารพัด แล้วศาสนาก็ก้าวเข้าไปตอบสนองตรงนั้นไม่ได้ เช่น เรื่องโลกร้อนก็ตอบสนองไม่ได้ ถ้าคนที่เขาเห็นว่ามีปัญหาแล้วศาสนาไม่สนใจ คนก็จะมองว่าศาสนาไม่มีประโยชน์ในยุคปัจจุบัน

ในอดีตศาสนาพุทธก็ไม่มีคนนับถือ เราก็ต้องไปดูว่าพระพุทธเจ้าทำยังไงให้คนนับถือได้ เราก็ต้องไปเรียนรู้ตรงนั้น

ถ้าเราเป็นชาวพุทธ หรือคริสต์ศาสนา เขาทำยังไงให้คนศรัทธานับถือทั่วโลก เราก็ต้องไปดูว่าเขาดำรงอยู่อย่างไร

องค์กรทางศาสนาเขาทำหน้าที่อะไรบ้าง เขาไปตอบสนองในชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้อย่างไร

ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของคนที่นับถือและคนที่อยู่ในศาสนานั้นๆ ที่จะทำให้คนหันมาศรัทธา มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปตกใจอะไรมากมาย ต่อให้ไม่มีคนนับถือมากขึ้น ก็ต้องอยู่ให้ได้ เมื่อเราทำตัวเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์

พุทธแท้-พุทธเทียม

ผมคิดว่าการใช้คำเหล่านี้ในสังคมปัจจุบัน มันมีปัญหาพอสมควร เพราะว่าการใช้คำว่า “พุทธแท้” เสมือนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการเป็น “คนดี” แล้วกลายเป็นประเด็นทางการเมืองทันที อย่างที่มีคนล้อเลียนด้วยคำว่า “พุทโธเรียน” (ล้อเลียนผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็นพุทธแท้) แต่ในอีกบางมุมคนที่ซีเรียส คำว่าพุทธแท้อาจจะหมายความว่า คนที่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย แล้วมีคนจำนวนมากที่พยายามสร้างตนเอง ว่าเป็นมาตรฐานของชาวพุทธที่แท้จริง ตามหลักคำสอน

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อว่ามีของแท้ของเทียม คือมันบอกไม่ได้ว่าอันไหนแท้ อันไหนเทียม ที่ไม่สามารถบอกได้ คนอีกกลุ่มเขาก็คิดแบบนี้ เพราะว่าการศึกษาธรรมะ มันต้องผ่านการตีความ มันต้องผ่านกาลเวลามามากมายกว่าจะมาเป็นปัจจุบัน

ในแง่ญาณวิทยา มันบอกไม่ได้ว่าอันไหนแท้ ไหนเทียม แบบ 100% เพียงแต่ถ้าเอาตัวคำสอนว่าใครปฏิบัติตรงกับคำสอนข้อใด ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ผมจึงคิดว่าการอ้างตัวในสมัยนี้ว่าเป็นพุทธแท้ก็อ้างไป เพียงแต่อย่าไปทำให้ใครเดือดร้อน อย่าใช้ความเป็นพุทธแท้ไปจัดการกับคนอื่น ไปใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม

อ.ชาญณรงค์ย้ำว่า คำเหล่านี้มีความนัยเป็นการเมืองอยู่ เพราะว่าการบอกว่าตัวเองเป็นของแท้ เป็นการลดทอนคุณค่าของผู้อื่น เพราะเวลาที่เราพูดว่าตัวเองเป็นพุทธแท้ เรากำลังชี้ให้เห็นว่าบางสิ่งบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น มีอำนาจเหนือกว่า จึงเป็นความสัมพันธ์ในเชิงการเมืองที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการใช้อำนาจ คือพยายามสื่อสารว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่า อ้างตัวเองว่าเป็นพุทธแท้ ก็หมายถึงว่าคุณมีอำนาจเหนือคนอื่น

ซึ่งถ้าความเป็นผู้แท้ของคุณถูกสนับสนุนโดย “รัฐ” คุณก็อาจจะใช้รัฐเป็นเครื่องมือในจัดการกับคนอื่น หรือรัฐอาจจะใช้ความเป็นพุทธแท้ที่ตัวเองนับถือ ไปจัดการกับกลุ่มอื่น เช่น กรณีวัดพระธรรมกาย เป็นต้น

ฉะนั้น ความเป็นพุทธแท้มันจึงมีความหมายในการสัมพันธ์กับการใช้อำนาจและการเมือง ในความหมายนี้มีความเป็นการเมืองอยู่มาก ซึ่งในที่สุดแล้วมันจะไปโยงกับการใช้อำนาจบางอย่างในทางสังคม

ชมคลิปสัมภาษณ์ อ.ชาญณรงค์ เต็มๆ ได้ที่