จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Uncanny Valley ถึง Virtual Human กับความหมายของคำว่า “มนุษย์”

ท่านที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง Up in the Air คงพอจะจำกันได้ถึงอาชีพพระเอกในท้องเรื่อง ซึ่งอาจแปลกใหม่ไปมากในบริบทสังคมไทย นั่นคืองานรับจ้างไล่คนออกจากบริษัท

การที่อาชีพนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงหลายคนหน้าบางเกินไป หรือไม่ก็ไม่อยากเผชิญสถานการณ์ล่อแหลมเมื่อต้องนั่งลงเจรจากับพนักงานที่กำลังจะถูกไล่ออก

Ryan Bingham (รับบทโดย George Clooney) จึงมีงานทำด้วยการทำหน้าที่ไล่คนออกจากงาน

หมอนี่มีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม สามารถเปลี่ยนอารมณ์โกรธแค้นของคนที่กำลังจะตกงาน แปรเปลี่ยนเป็นพลังให้ยืนหยัดได้ต่อไปในโลกอันแสนโหดร้าย

ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง มีหลายบริษัทที่ทำธุรกิจ “รับจ้างไล่ออก” หรือ Employment Termination Assistance มีบรรษัทใหญ่ๆ เป็นลูกค้าขาประจำจำนวนมาก

แต่สำหรับองค์กรขนาดเล็กที่ไม่มีเงินจ้างคนนอกให้มาทำหน้าที่แบบนี้ หนังหน้าไฟก็คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บริษัทหลายแห่งจึงพยายามหาทางช่วยโดยส่งเจ้าหน้าที่บุคคลไปอบรมศิลปะการพูดโน้มน้าวเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

และบางบริษัทก็ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่าง Virtual Human จัดคอร์ส “การไล่ออกอย่างนุ่มนวล” สอนกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

 

การใช้ Virtual Human ในการฝึกอบรมศิลปะโน้มน้าวใจ จะว่าไปก็ไม่ต่างไปจากการใช้โปรแกรม Simulation จำลองการฝึกขับเครื่องบินผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

เพราะ Virtual Human จะปรากฏตัวในรูปแบบ Animation คุณลุง Barry ผู้ใจดีของ Talespin มาทำหน้าที่สอนทักษะการพูดที่นิ่มนวลให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่ต้องไปเจรจาไล่พนักงานออกจากบริษัท

นอกจากลุง Barry แล้ว Microsoft เคยสร้าง Virtual Human หนูน้อย Milo ที่มาในรูปแบบเกมคอมพิวเตอร์เลียนแบบท่าทางและคำพูดคำจาของคน

ตัวอย่างของ Virtual Human อีกอันหนึ่ง สำหรับท่านที่ใช้ iPhone ก็คงคุ้นเคยกับแอพพ์ Siri “โปรแกรมเสียง” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกบนโทรศัพท์มือถือ สามารถตอบคำถามต่างๆ ที่เราสงสัยได้ทุกเรื่องเสมือนมีหุ่นยนต์เลขานุการติดตัวไปด้วยทุกที่

ทั้ง Siri และคุณลุง Barry รวมถึงหนูน้อย Milo คือลักษณะการทำงานที่เรียกว่า A.I. Assistants ครับ

 

Virtual Human ในรูปลักษณ์ทั้งของ Siri ที่ปรากฏตัวในรูปแบบ “เสียง” และลุง Barry กับคุณหลาน Milo ที่เป็น Animation คือการลดทอนความสะพรึงกลัวที่ “มนุษย์” มีต่อ “หุ่นยนต์” ตามทฤษฎี Uncanny Valley

ศาสตราจารย์ ดร. Jonathan Gratch แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ผู้เชี่ยวชาญ Virtual Human กล่าวว่า Uncanny Valley คือปฏิกิริยาทางชีววิทยาของมนุษย์ยามเมื่อเผชิญหน้ากับ “สิ่งคล้ายมนุษย์” เช่น หุ่นยนต์ที่หน้าตาเหมือนคนทุกประการ

“ผลจากการวิจัย ผมคิดว่า ยิ่งเราพยายามพัฒนาหุ่นยนต์ให้เหมือนคนมากเท่าไหร่ มนุษย์เราก็จะยิ่งจับผิดหุ่นยนต์มากขึ้น และนับวันก็จะยิ่งมีความรู้สึกในทางลบกับหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ”

Jonathan Gratch กล่าวต่อไปว่า ยิ่งหุ่นยนต์มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์มากขึ้นก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกกลัว ว่า “ความเป็นมนุษย์” กำลังถูกคุกคาม โดยเฉพาะการถูกแย่งงานทำ ซึ่งเป็นความกลัวที่เริ่มปรากฏให้เห็น

“แรกเริ่มเดิมที มนุษย์ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีความฉลาด แต่มาถึงตอนนี้ เรามีข้อมูลมากขึ้น ว่ามีสัตว์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากซึ่งสามารถทำสิ่งที่คนเราทำได้ โดยเฉพาะในปัจจุบัน เทคโนโลยี A.I. (Artificial Intelligent) ที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก”

A.I. Assistants ที่ปรากฏในรูปโฉมหุ่นยนต์รูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ทุกประการจึงสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่คนตามทฤษฎี Uncanny Valley

โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่วงการ A.I. ได้มีการพัฒนาให้หุ่นยนต์เริ่มมีความรู้สึกทางอารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ

 

Uncanny Valley คือทฤษฎีที่ใช้ทดสอบความกลัวเมื่อคนเราเผชิญหน้ากับ “สิ่งคล้ายมนุษย์” ซึ่งมี 8 ระดับ ประกอบด้วย 1.แขนกลในโรงงานอุตสาหกรรม 2.หุ่นยนต์ Humanoid เช่น ASIMO 3.หุ่นขี้ผึ้งหรือตุ๊กตา 4.ศพมนุษย์ 5.ซอมบี้ 6.แขนเทียม 7.หุ่นละครเล็ก และ 8.คนจริงๆ

Uncanny Valley พบว่า หากไม่นับคนจริงๆ ที่มนุษย์ย่อมมีความรู้สึกด้านบวกมากกว่าหุ่นยนต์อยู่แล้ว เมื่อคนเราเผชิญหน้ากับหุ่นยนต์ Humanoid อย่าง ASIMO รวมถึงหุ่นขี้ผึ้งและหุ่นละครเล็ก มนุษย์จะมีความรู้สึกด้านบวก

ขณะที่ ถ้าเราพบเห็นหุ่นยนต์ประเภทแขนกลในโรงงานอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์อื่นๆ ที่มีโครงสร้างคล้ายมนุษย์แต่ไม่มีผิวหนังหุ้ม หรือเผยให้เห็นกลไกภายใน คนเราจะมีความรู้สึกกลางๆ คือเฉยๆ ประมาณว่า ก็ OK นะ

แต่หากมนุษย์เผชิญหน้ากับซากศพคนด้วยกันหรือผีดิบ (ในหนัง) และแขนเทียม โดยรวมคือหากคนเราพบเห็นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตา โดยเฉพาะผิวหนังที่เหมือนมนุษย์ เราจะมีความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นในทันที

ซึ่ง Uncanny Valley ก็คือ พื้นที่กราฟซึ่งหล่นวูบลงไปด้านล่าง ใต้ขีดความรู้สึกเป็นมิตร ยามเมื่อคนเราเผชิญหน้ากับ “สิ่งคล้ายมนุษย์” นั่นเอง

 

ทฤษฎี Uncanny Valley เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1970 จากการตั้งข้อสังเกตของศาสตราจารย์ Masahiro Mori นักหุ่นยนต์วิทยาชาวญี่ปุ่น ผู้บุกเบิกวงการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ได้ศึกษาถึงระดับความเหมือนจริงของหุ่นยนต์ว่าจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มากน้อยเพียงใด

งานวิจัยของ Masahiro Mori ชี้ให้เห็นถึงการตอบสนองทางอารมณ์ของมนุษย์ที่มีต่อ “สิ่งคล้ายมนุษย์” อย่างชัดแจ้ง ดังปรากฏในกราฟ โดย Masahiro Mori คือปรมาจารย์ของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหุ่นยนต์ ASIMO ของ Honda

ศาสตราจารย์ ดร. Jonathan Gratch ได้กล่าวสรุปถึงทฤษฎี Uncanny Valley เอาไว้ว่า ณ ขณะนี้ เหลือเพียงความรู้สึกทางอารมณ์เท่านั้นที่ทำให้คนมีความแตกต่างจากหุ่นยนต์

“หุ่นยนต์ที่เหมือนคนมากเกินไป มักทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ แม้ในหมู่นักวิจัยด้านหุ่นยนต์เองก็เถอะ” Jonathan Gratch กระชุ่น

“พวกนักวิจัยหุ่นยนต์ต่างรู้ดีว่า A.I. มีกลไกการทำงานอย่างไร และทราบดีว่า A.I. เหล่านี้เป็นเพียงหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ความที่พวกมันมีรูปร่างหน้าตาคล้ายมนุษย์มากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกัน การที่พวกมันยังแสดงกิริยาอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สีหน้าและแววตาที่ไม่เหมือนคน 100% มันจึงทำให้พวกเขารู้สึกแปลกๆ”

 

ดังนั้น A.I. Assistants ในรูปลักษณ์ของ Siri และคุณลุง Barry รวมถึงหนูน้อย Milo ซึ่งรวมเรียกว่า Virtual Human หรือ “มนุษย์เสมือน” จึงคล้ายผู้ทำหน้าที่ลดทอนอาการกลัวหุ่นยนต์ หรืออาจถึงขั้นหักล้างทฤษฎี Uncanny Valley

เพราะความหมายแรกของคำว่า “มนุษย์” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่แปลว่า “สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล” นั้น อาจไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างคนกับหุ่นยนต์ในยุคปัจจุบันเสียแล้ว

ความหมายที่สองของคำว่า “มนุษย์” ต่างหาก ที่ทำให้เราแตกต่างจากทั้ง A.I. และ Virtual Human โดยไม่ต้องแคร์ทฤษฎี Uncanny Valley

ความหมายที่ว่าก็คือ “สัตว์ที่มีจิตใจสูง” นั่นเองครับ