พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : สำรวจสถานการณ์ “ทุนจีนบุกไทย” การเมืองเอื้อต่างชาติ เตะตัดขาคนในประเทศ

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่ากำหนดมากถึง 3 เดือน

บทสรุปจากข้อพิพาทแย่งชามข้าวกระทรวงเกรด-เกรดบีทั้งหลาย ทำให้งบประมาณอัดฉีดแต่ละภาคส่วนมีปัญหา กว่างบประมาณใหม่จะใช้ได้ก็น่าจะราวๆ ต้นปีหน้าเห็นจะได้ ภาคเอกชนได้รับผลกระทบโดยตรงต่อดัชนีความเชื่อมั่น รวมถึงการลงทุนจากต่างชาติเองก็มีอันต้องชะลอตัวไปตามๆ กัน

ถึงตอนนี้แม้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมายาวนานกว่าครึ่งทศวรรษจะยังไม่สลายหายไปในเร็ววัน

ซ้ำร้ายเศษซากเหล่านั้นยังค่อยๆ ทยอยปะทุขึ้นเรื่อยๆ จากเกมการเมืองที่รัฐบาลทหารตกอยู่ในฐานะไก่รองบ่อนของทุนข้ามชาติอย่างเสียไม่ได้

 

ข่าวทุนจีนบุกไทยถูกนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ทั้งการกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม จากบรรดาผู้ประกอบการจีนที่มีเงินลงทุนมหาศาล หรือในแง่ของผู้บริโภคเองตลาด

คอนโดฯ ไทยตอนนี้ก็เรียกว่าอยู่ในช่วง “เผาจริง” ไปแล้ว ซึ่งก็เป็นผลพวงจากกำลังซื้อที่ลดลง หลายรายกู้แบงก์ไม่ผ่านทำให้ยอดโอน-ยอดจองตกฮวบไปมาก จากเดิมที่เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย กลายเป็นกำลังซื้อของลูกค้าต่างชาติอย่างชาวจีนที่บรรดานักลงทุนอสังหาฯ ต่างกล่าวกันว่า ดีมานด์ของชาวจีนมีส่วนช่วยในการพยุงตลาดคอนโดฯ ได้เป็นอย่างดี

ด้านวงการการศึกษาเองก่อนหน้านี้มีหลายมหาวิทยาลัยในไทยเปิดรับนักศึกษาจีนเข้ามาแลกเปลี่ยนจำนวนมาก กระทั่งปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยประสบกับปัญหา “over supply” เยาวชนแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยรัฐกันดุเดือด ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพ-หลักสูตรหรืออะไรก็ตามแต่

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ มหาวิทยาลัยเอกชนขาดดุลจนบางแห่งตัดสินใจเจรจาร่วมกับทุนจีน ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐเช่นเดียวกัน

ส่วนที่ดูจะกระทบกับคนตัวเล็กตัวน้อยก็คือ ทุนจีนที่เริ่มรุกคืบยึดตลาดค้าปลีก-ภาคการเกษตร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่ ตลาดสำเพ็ง ย่านค้าส่ง-ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่มีมานานกว่า 70 ปี บรรดาพ่อค้าแม่ขายถึงกับเอ่ยปากว่า ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้เป็นวิกฤตของสำเพ็งที่ซบเซา-ขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่ย่านนี้ถือกำเนิดมา จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นทุนเดิม

บวกกับทุนจีนที่เข้ามากว้านซื้อหน้าร้านเปิดกิจการขายตัดราคาพ่อค้า-แม่ค้าชาวไทย ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักกว่าเดิม

และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้กับสินค้าเกษตรอย่างยางพาราที่ทุนจีนเข้ามา take over โรงงานยางหลายแห่ง ด้วยสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตั้งแต่ภาวะราคายางตกต่ำทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งไม่ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ เพราะธุรกิจดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับในห้วงช่วงเวลานี้เองที่ราคายางในตลาดโลกก็ตกต่ำมายาวนาน เมื่อผู้ผลิตและผู้ใช้ในอุตสาหกรรมยางรายใหญ่ระดับโลกอย่างจีนเข้ามาขอซื้อกิจการ ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ลังเลมากนัก เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่พึงได้รับแล้ว

เอาให้เห็นชัดๆ กันอีกสักตัวอย่างล่าสุดของล่าสุดกับการนำเข้าผัก-ผลไม้จีนมาขายในตลาดสดบ้านเรา ทุนจีนปรับตัวด้วยการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นขายให้ลูกค้ามารอซื้อกันแบบไม่ต้องผ่านแผงขายของในตลาด

และยังมีการวางกลยุทธ์ให้ไทยเป็นฮับในการส่งออกผักผลไม้จีนไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ ของสถานการณ์ในบ้านเรา ณ ขณะนี้ ซึ่งนอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีฟากธุรกิจท่องเที่ยวที่ทุนจีนเล็งเห็นถึงโอกาส เข้ามารวบซื้อกิจการบ้านพัก-คอนโดมิเนียม รวมถึงแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูกผ่านเว็บไซต์เช่นกัน

มองแบบนี้ดูเหมือนว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับผลประโยชน์จากการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน-กระตุ้นเศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วน

ทว่า แท้ที่จริงแล้วการหว่านเม็ดเงินในลักษณะนี้ประเทศไทยแทบจะไม่ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเลย

ย้อนกลับไปในอดีตจีนถูกฉายภาพจากค่ายอเมริกาในฐานะของประเทศคอมมิวนิสต์ที่เป็นภัยต่อสังคมโลก

แต่ภายหลังการตัดสินใจเปิดประเทศมานานกว่า 5 ทศวรรษ จีนก็ทำการรุกคืบขยายตัว-สร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่นๆ โดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบเซาท์อีสต์เอเชียที่ปัจจุบันจีนเข้าไปขยายการค้าการลงทุนด้วยการอัดฉีดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ประกอบกับจีนมีวิธีการที่ละมุนละม่อมกว่าอเมริกาในการเข้าหา-เจรจาหลายเท่าตัว

ในขณะที่ภาพลักษณ์ของตะวันตก คือ ตำรวจโลกที่คอยจับผิด-แย่งยึด-ชี้ถูกชี้ผิด แต่จีนกลับมาในรูปแบบของมิตรสหาย-เพื่อนคู่คิดที่ใจกว้างถึงพร้อมด้วยเม็ดเงิน การต่อรอง และวิธีการที่น่าคบหามากกว่า

กระนั้นเม็ดเงินที่ว่าก็ไม่ได้ตกมาถึงรากหญ้า หรือชนชั้นกลาง ในการแก้ปัญหาปากท้องที่เราๆ เรียกร้องแต่อย่างใด

ผลประโยชน์แห่งลงทุนกลับเกาะกลุ่มอยู่ที่พีระมิดของกลุ่มนักธุรกิจนักลงทุน และแน่นอนที่สุดคือ กลุ่มก้อนอีลีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแชร์ริ่งผลประโยชน์ระหว่างอำนาจรัฐ ทุนผูกขาดในประเทศ และทุนข้ามชาติ

 

หากให้เปรียบเทียบการลงทุนของจีนในไทยตอนนี้แล้วก็คงคล้ายกับแนวคิดจักรวรรดินิยมในอดีต ยิ่งอีลีตไทยเอื้อให้ทุนจีนเข้ามาลงทุนมากเท่าไหร่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ gap ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นในไทยที่จะยิ่งขยายกว้างมากเท่านั้น เพราะผลประกอบการหรือกำไรที่ได้จากการลงทุนไม่ได้ถูกถ่ายโอนสู่พลเมืองในรัฐในรูปแบบความมั่นคง โครงสร้างพื้นฐาน หรือการแก้ปัญหาปากท้องใดๆ ในประเทศทั้งนั้น

มองอย่างคร่าวๆ โดยสรุปแล้วตอนนี้จีนเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่การศึกษา อาชีพ การลงทุนในระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และแว่วว่าตอนนี้จีนยังสนใจในธุรกิจโรงพยาบาลของไทยอีกด้วย การค่อยๆ เข้ามาบ่มเพาะความเป็นจีนทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ผู้นำไทยเองก็ไม่ได้ชั่งตวงวัดผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือคนรุ่นหลังเป็นแก่นแกน ในการพิจารณาการลงทุนก็ยิ่งสะท้อนว่า รัฐที่ปกครองแบบรัฐทหารไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสมการของพวกท่านๆ เลยแม้แต่น้อย

รัฐไทยที่กำลังเป็นหนี้จีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันกับที่ทุนจีนก็กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในไทยก็คงไม่ผิดนักที่ผู้เขียนจะมองว่า ไทยกำลังเข้าสู่สภาวะอันใกล้กับการเป็นจักรวรรดินิยมของจีนไปแล้วจริงๆ