วิเคราะห์ : การแลกตัวนักโทษ จุดเริ่มต้นฟื้นสัมพันธ์ยูเครน-รัสเซีย

วันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ยูเครนและรัสเซียได้ดำเนินการแลกตัวผู้ต้องขังจำนวน 35 คนระหว่างกัน

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่จับตาจากประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในยูเครน ที่มีการถ่ายทอดสดวินาทีที่ผู้ต้องขังชาวยูเครน

รวมไปถึง “โอเลก เซนต์ซอฟ” ผู้กำกับชาวยูเครน ที่เคยถูกทางการรัสเซียควบคุมตัวเอาไว้เดินทางมาถึงสนามบินในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

โดยทั้งหมดได้รับการต้อนรับกลับบ้านราวกับฮีโร่

การแลกตัวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่ทรุดลงถึงจุดต่ำสุดหลังแคว้นไครเมียของยูเครน ทำประชามติแสดงความต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย

ต่อมาเกิดกองกำลังกบฏแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนโดยรัฐบาลรัสเซีย ลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง

จนสุดท้ายรัสเซียตัดสินใจควบรวมเอาแคว้นไครเมียกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2014

ความขัดแย้งรุนแรงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 13,000 คน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

ก้าวย่างดังกล่าวของสองประเทศได้รับเสียงชื่นชมจากหลายชาติในตะวันตก ยกเว้นเนเธอร์แลนด์ เมื่อหนึ่งใน 35 นักโทษที่ยูเครนส่งตัวคืนให้กับรัสเซียคือ “โวโลดิมีร์ เซมักห์” ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยิงเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน “เอ็มเอช 17” ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ที่เดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัมไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ตกในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏทางตะวันออกของยูเครนเมื่อปี 2014 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 298 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เผยแพร่แถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกับการปล่อยตัวนายเซมักห์ ระบุว่า เนเธอร์แลนด์ “เสียใจอย่างยิ่งที่นายเซมักห์เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเลือกในการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ ผลจากการกดดันจากประเทศรัสเซีย”

ขณะที่สื่อเยอรมนีอย่าง “บิลด์” ระบุถึงการแลกตัวนักโทษในครั้งนี้ว่าเป็น “ชัยชนะ 2 ต่อ” ของนายวลาดิมีร์ ปูติน โดยระบุว่า นอกจากปูตินจะได้ตัวนักโทษที่เป็นผู้ต้องสงสัยคนเดียวในคดียิงเอ็มเอช 17 ตกแล้ว

รัสเซียยังได้ประโยชน์จากการที่ยูเครนสูญเสียความเชื่อมั่นจากยุโรป โดยเฉพาะการปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากเนเธอร์แลนด์

 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลยูเครนก็ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครนอย่าง “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” ที่เพิ่งคว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอย่างเหนือความคาดหมาย

กล่าวคือ เป็นการลบคำสบประมาทกับคำถามที่ว่า อดีตนักแสดงตลกล้อเลียนการเมืองอย่าง “เซเลนสกี” นั้นจะทำงานการเมืองในระดับประเทศได้จริงหรือไม่

การยุติสงครามระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มกบฏในพื้นที่ตะวันตกของประเทศเป็นนโยบายหลักที่เซเลนสกีใช้หาเสียงและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ

เนื่องด้วยความรุนแรงซึ่งทำให้ยูเครนสูญเสียทรัพยากรมหาศาล ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศให้ตกต่ำ ขณะที่ประชาชนต้องไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน

ในการหาเสียงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เซเลนสกีประกาศชัดเจนว่าตนจะยุติความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้สองฝ่ายจะมีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงอย่าง “ข้อตกลงมินสก์” กันตั้งแต่ปี 2015

ด้านรัฐบาลรัสเซียเผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า ประธานาธิบดีปูตินได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเกี่ยวกับการแลกตัวนักโทษโดยการพูดคุยเป็นไปในเชิงบวก

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำเรื่องมนุษยธรรมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี” แถลงการณ์ของทางการรัสเซียระบุ

 

ด้านรัฐบาลยูเครนระบุในแถลงการณ์ด้วยเช่นกันว่า ทั้งปูตินและเซเลนสกีเห็นพ้องที่จะหารือร่วมกับกลุ่มประเทศ “นอร์มังดี ฟอร์แมต” กลุ่มประเทศเจรจาสันติภาพในยูเครนตะวันออก อย่างรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนีในเดือนนี้ เพื่อทำให้ข้อตกลงหยุดยิงที่เคยลงนามไปแล้วมีผลบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ล่าสุดรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสได้เดินทางไปยังกรุงมอสโกเพื่อหารือในเรื่องนี้กับรัฐบาลรัสเซียแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข้อตกลงดังกล่าวนอกจากเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ ด้วยการถอนอาวุธหนักออกจากแนวหน้า มีการแลกเปลี่ยนนักโทษ จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และเปิดทางให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่แล้ว

ยังมีการแก้รัฐธรรมนูญยูเครนเพื่อให้อำนาจกับรัฐบาลท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสลายกองกำลังกบฏในพื้นที่

แม้ข้อเรียกร้องของยูเครนที่ต้องการให้ไครเมียกลับมาอยู่ใต้ปกครองของยูเครนอีกครั้งจะยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัสเซียในเวลานี้ แต่การแลกตัวประกันครั้งนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกที่จะเดินหน้าไปสู่สันติภาพได้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐทวีตข้อความแสดงความยินดีกับสองประเทศโดยระบุว่า เป็นก้าวใหญ่ก้าวแรกที่จะเดินหน้าไปสู่สันติภาพได้

ขณะที่นายฌอง อีฟส์ เลอ แดรง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ชาติที่พยายามผลักดันให้เกิดการหารือระดับผู้นำสูงสุดเพื่อยุติความขัดแย้ง ระบุว่าการแลกเปลี่ยนผู้ต้องขังครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและความต้องการที่จะเจรจาของสองฝ่ายที่พัฒนาขึ้น

“ประชาชนสามารถมีความหวังได้อีกครั้งว่าความขัดแย้งที่กินเวลานาน 5 ปี และคร่าชีวิตคนจำนวนมากทุกๆ เดือนจะสิ้นสุดลง” รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสระบุ