ธุรกิจพอดีคำ : “กำแพง พระราชวัง ความมั่นคง”

นานมาแล้ว หลายร้อยปี

มีพระราชาองค์หนึ่ง ปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุข

ต้นไม้ พืชผล ผลิดออก ออกรวง ตามฤดูกาล

ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วทุกหย่อม ทุกตารางเมตรของเมืองแห่งนี้

ผู้คนต่างมีรอยยิ้ม ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ประชาชนอาศัยอยู่ในเมืองนี้ด้วยความรักสามัคคี

อยู่มาวันหนึ่ง

พระราชาใจดี ต้องการรับสมัคร “นายช่าง” เข้ามาทำงานภายใน “พระราชวัง”

มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ในพระราชวัง เหมือน “เสนาบดี” ข้างกาย

คอยซ่อมแซมพระราชวัง ให้อยู่ในสภาพ “งดงาม” อยู่เสมอ

 

พระราชาชื่นชอบ “บุคลากร” ที่ทำงานจริง

จึงตัดสินใจออกเดินไป “เสาะหา” นายช่างของพระองค์ ด้วยพระองค์เอง

ครั้นเดินออกไปนอกกำแพงพระราชวังที่กำลังซ่อมแซม

ในขณะที่เดินดูรอบๆ เพื่อเสาะหานายช่างฝีมือดี

ก็พบกับ “นายช่าง” สามคน กำลังก่ออิฐ สร้างกำแพง

ทั้งสามคน ก่ออิฐได้อย่างสวยงาม ไม่มีที่ติ

อิฐแต่ละก้อน ถูกวางเรียงกันเป็นชั้นๆ ด้วยความประณีต

ถ้าพูดถึงฝีมือแล้ว เรียกว่า เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่ง

จาก “ผลงาน” ที่เห็นอยู่ตรงหน้า

พระราชาจึงตัดสินใจถามคำถามแก่ทั้งสามคน

“พวกท่านกำลังทำอะไรอยู่หรือ”

ด้วยความแปลกใจ

นายช่างคนแรกตอบกลับไปด้วยน้ำเสียงงงๆ ประมาณว่า ไม่เห็นหรืออย่างไร

“ข้าพเจ้ากำลังสร้างกำแพงอยู่ขอรับ ท่านพระราชา”

 

ผมเองทำงานในแผนก แผนกลยุทธ์ หรือที่เรียกว่า Strategic Planning

อยู่ในองค์กรระดับชาติ มาเป็นเวลาเกือบสิบปี

ผมชอบเปรียบเทียบ ทึกทักเอาเองว่า

ถ้าองค์กรเปรียบเสมือนกองทัพของเล่าปี่ ในนวนิยาย “สามก๊ก”

นอกจากจะมีลูกน้องที่เก่งในด้านการต่อสู้ ฟาดฟัน

อย่างเช่น กวนอู เตียวหุย หรือ จูล่ง แล้ว

การมี “กุนซือ” อย่าง “ขงเบ้ง” ฝ่ายบุ๋น

คอยให้คำแนะนำว่า ใครควรจะอยู่จุดไหน เพื่ออะไร

มองภาพรวมของกองทัพ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในภาพรวม

ก็ “สำคัญ” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

“ฝ่ายแผนกลยุทธ์องค์กร” ก็ควรจะทำงานเป็น “ขงเบ้ง” ครับ

การที่ “ขงเบ้ง” สามารถทำงานได้

แม่ทัพที่เก่งกาจทุกคน ต่างเคารพนั้น

ก็เพราะพฤติกรรมของ “เล่าปี่” ที่ “สนับสนุน” ขงเบ้ง

จน “แม่ทัพ” ต่างเห็นความสำคัญของการ “มองภาพรวม” และจุดหมายใหญ่ของกองทัพ

ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

หากแต่ “ชีวิต” จริง ของการทำงานฝ่ายแผนกลยุทธ์นั้น ไม่ง่าย

 

การมองภาพรวม ในสายตาของ “คนทำงานหน้างาน”

อาจจะใกล้เคียงกับคำว่า “ไม่ทำอะไรเลย” ก็ได้

การศึกษา วิเคราะห์ตัวเอง วิเคราะห์คู่แข่ง

ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เป็นไปได้

สื่อสารให้ “ผู้บริหาร” เข้าใจ และพร้อมจะลุยไปด้วยกัน

แบ่ง “เป้าหมาย” ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้แต่ละส่วนงาน รับไปปฏิบัติ

จัดสรร กำลังเงิน กำลังคน ให้อย่างพอเพียง ไม่มาก ไม่น้อยจนเกิดพอดี

ตั้ง “ตัวชี้วัด” หรือที่เรียกว่า “Key Performance Indicator (KPI)”

โดยมั่นใจว่า ถ้าแต่ละส่วนงานบรรลุเป้าหมาย

องค์กรก็จะบรรลุเป้าหมายเช่นกัน

 

ทั้งหมดนี้คือ “งาน” โดยคร่าวๆ ของฝ่ายแผนกลยุทธ์

ซึ่งต้องยอมรับว่า “ไม่ได้ทำงาน” เองเลย

เป็นการบอกว่า “คนอื่น” ควรจะทำอะไร ผ่านการ “วิเคราะห์” ในแง่มุมต่างๆ

ถ้า “ซีอีโอ” ไม่ “สนับสนุน” หน่วยงานนี้อย่างจริงจัง

เหมือนที่ “เล่าปี่” คอยสนับสนุน “ขงเบ้ง” ฉันใดฉันนั้น

หน่วยงาน “แผนกลยุทธ์” ก็อาจจะไม่ต่างกับ “เลขาฯ” กองทัพ

คอยวิ่งวุ่น ประชุมกับคนนั้น คนนี้ เพื่อรับ “ความเห็น”

แต่กลับหา “จุดยืน” ของบริษัทไม่เจอ กลายเป็นงาน “ธุรการ” ไปโดยปริยาย

“ภาพใหญ่” ขององค์กร เป็นเรื่อง “สำคัญ”

ที่คนส่วนใหญ่ “มักมองข้าม”

 

พี่“จิก” ประภาส ชลศรานนท์ นักคิด นักเขียน

นักแต่งเพลง และผู้บริหารรุ่นเก๋าของบริษัท “เวิร์คพอยท์”

เจ้าของรายการทีวีชื่อดังค้ำประเทศมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น ชิงร้อยชิงล้าน แฟนพันธุ์แท้ ปริศนาฟ้าแลบ ฯลฯ

เคยเล่าให้ฟังว่า มีลูกน้องมาถาม ตอนยืนทำธุระในห้องน้ำ

“พี่ๆ ถ้าผมทำงานของผมได้ดีมากๆ แล้วไม่ยุ่งกับคนอื่นเลย ผมเป็นพนักงานที่ดีมั้ยพี่”

พี่จิก นิ่งคิดไปนิดนึง

แล้วตอบไปว่า

“เป็นพนักงานที่ดี แต่เป็นผู้บริหารที่ไม่ดี”

คนหนึ่งคนถ้าทำงานของตัวเองได้ดี ก็เปรียบเสมือน “นายทหาร”

ที่รับคำสั่งจาก “หัวหน้า” แล้วทำตามอย่างแข็งขัน

เป็น “นายทหาร” ที่ดี

ความท้าทายคือ เมื่อ “นายทหาร” คนนี้ ได้รับ “เลื่อนขั้น” เป็น “แม่ทัพ”

เขาจะรู้หรือไม่ว่า “ความสามารถ” เดิมๆ สำหรับ “นายทหาร”

อาจจะยังไม่พอ

เพราะ “แม่ทัพ” ที่ดีจะต้อง “ดูภาพรวม” เป็น

เห็น จุดแข็ง ปิดจุดอ่อน สร้าง “เป้าหมาย” องค์รวมให้กับกองทัพได้

จึงไม่แปลกอะไรที่ “พนักงานเก่งๆ” มากมาย ที่ใฝ่ฝันอยากจะ “เลื่อนขั้น” กัน

กลับ “ประสบปัญหา” คือ มี “ของ” ติดตัวมาเยอะ

ลงรายละเอียดมาก ชอบทำเอง ไม่ชอบสอน หรือสร้างจุดยืนร่วมกับลูกน้อง

ตรงกับชื่อหนังสือขายดีของโค้ชผู้บริหารระดับโลกอย่าง “มาร์แชล โกลด์สมิธ (Marshall Goldsmith)”

“What got you”re here won”t get your there”

(สิ่งที่พาคุณมาถึงจุดนี้ อาจจะไม่พาคุณไปถึงจุดต่อไป)

 

เป็นเหมือน “คำสาป” ของพนักงานเก่งๆ ในองค์กร

ที่ถ้ารู้ตัวเร็ว เริ่มสนใจ “บริบท” ขององค์กรบ้าง นอกจากงานของตัวเอง

ลองเปลี่ยน “แนวคิด” การทำงาน ก็อาจจะยังไม่สายเกินไป

กลับมาที่เรื่องราวของพระราชา

นายช่างคนแรก ตอบว่า “ผมก่ออิฐเพื่อสร้างกำแพงอยู่ขอรับ”

นายช่างคนที่สอง ตอบว่า “ผมกำลังสร้างพระราชวังอยู่ขอรับ”

นายช่างคนสุดท้าย ตอบว่า

“ผมกำลังสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย ให้กับบ้านเมืองของเราอยู่ขอรับ”

พระราชาทรงมี “รอยยิ้ม” ที่มุมปาก อย่างชัดเจน เมื่อได้ยินเช่นนั้น

“นายทหาร” ที่ดี ควรรู้ว่า “ฟาดฟัน” ศัตรูไปเพื่ออะไร

พนักงานที่ดี ต้องรู้ “เป้าหมาย” ขององค์กร

อีกเรื่องที่ พูดง่าย แต่ทำให้เกิดผล ไม่ง่าย ในการบริหารงาน