จัตวา กลิ่นสุนทร : ผู้สร้างผลงาน “ศิลปะ” ของแผ่นดิน 10 “บ้านศิลปินแห่งชาติ”

ประเทศเราจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปจนกระทั่งได้พรรคการเมืองจำนวนมากเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ดูเหมือนว่าคล้ายเป็นเพียงองค์ประกอบ ตัวบุคคลแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศเหมือนใช้มายากล เสกเป่าพลิกแพลง และใช้อภินิหารแบบแปลกประหลาดดึงดันแบบผิดๆ ถูกๆ ร่วมด้วยช่วยกันเอามาจนได้ ทั้งที่ประชาชนไม่ได้ศรัทธาทุ่มเทหนุนส่งมากพอ เหมือนกับความพยายามใช้เล่ห์กลจีบสาวทั้งๆ ที่ไม่ยินยอม สุดท้ายต้องใช้กำลังปลุกปล้ำเอา

นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คนหน้าเก่าๆ ช้ำๆ ได้นั่งประจำกับตำแหน่งเดิมๆ เข้ามาทำงานเหมือนเดิม แทบไม่ได้สร้างความศรัทธาแก่ประชาชน

เพราะท่านเหล่านี้บริหารประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยไม่มีใครคัดค้าน เรียกว่าไม่มีฝ่ายค้าน ต้องการจะทำอะไรก็ได้

ยิ่งกว่านั้นยังมี “กฎหมายพิเศษ” เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ไม่สามารถสร้างความเจริญให้กับสังคมประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “เศรษฐกิจ”

คิดว่ารัฐบาลไม่มีตัวเลือกสักเท่าไรกับบุคลากรที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อนั่งตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีนโยบายอะไรใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าเฉียบคมเพื่อทำงานบริหารประเทศ

 

กระทรวงวัฒนธรรมเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่แม้จะเป็น ส.ส. (สอบตก) แต่ดูเหมือนว่ากระทรวงนี้ นโยบายหลักๆ มันได้ชัดเจนอยู่แล้วโดยผู้เชี่ยวชาญ และข้าราชการประจำที่มีความสามารถเฉพาะทาง ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่รักษาทรัพย์สมบัติอันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของบ้านเราให้ดำรงคงอยู่ย่อมน่าเกินพอ

โครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” เริ่มต้นก่อตั้งสมัยที่ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ.2528 ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ก่อนโครงการจะมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จนถึงวันนี้รวมเวลากว่า 30 ปี ได้สานต่องานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้คัดเลือกสรรหา “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาต่างๆ มาแล้วจำนวนมาก

ขณะเดียวกันศิลปินแห่งชาติได้เสียชีวิตลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากว่าก่อนจะได้รับการเชิดชูเกียรติ หลายท่าน หลายสาขาเหล่านั้นมีอายุอยู่ในวัยที่สูงมากแล้ว

โครงการนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่แตกต่างจากโครงการต่างๆ ที่ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติธรรมดา

บางทีอาจเป็นไปแบบไม่ค่อยสุจริตใจ อาจมีผลประโยชน์บางสิ่งบางอย่างแอบแฝง

ในเวลาเดียวกันเคยได้ฝากข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายกลับไม่ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยังดำเนินไปเหมือนเช่นเดิม

โดยเฉพาะการค้นหาคัดสรรเพื่อเชิดชูเกียรติผู้สร้างงานศิลปะสาขาต่างๆ นั้นจะต้องเอามาจนครบทุกสาขาทุกปี ทั้งๆ ที่บางปีชื่อที่ประกาศออกมาไม่เป็นที่ยอมรับว่าสมควรจะขึ้นแท่นตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” ด้วยซ้ำ

 

ผู้อาวุโสระดับอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโครงการนี้เท่าที่เคยได้สนทนากับท่าน รวมทั้งตัวศิลปินแห่งชาติรุ่นก่อนๆ หลายคนล้วนเป็นห่วงด้วยกันทั้งนั้น และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถ้าหากว่าปีไหนบุคคลที่จะได้รับการเชิดชูเกียรติมีคุณสมบัติไม่เหมาะ ผลงานสร้างสรรค์ไม่ถึงขั้นจะเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ก็ควรเว้นไป โดยประกาศจำนวนเท่าที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องหาเอามาจนครบทุกสาขา

เกิดการนินทากันด้วยซ้ำไปว่า ที่ผ่านมามีการสนับสนุนผลักดันบางคน มีการวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อให้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เพราะต้องการได้ทั้งเกียรติยศและผลประโยชน์ ถ้าขืนมีการพูดคุยวิจารณ์กันอย่างนี้ ในที่สุดโครงการก็อาจเกิดความเสื่อมถอย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการเปิดบ้าน “ศิลปินแห่งชาติ” จำนวน 24 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ทางศิลป์ แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป

โดยในระยะแรกได้เปิด “10 บ้านศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) จำนวน 10 แห่ง 10 ท่าน ที่กล่าวกันว่าทุกท่านต้องไปเยือนให้เห็นกับตาสักครั้งหนึ่ง

 

บ้าน “นายกมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2540 (จิตรกรรม + สื่อผสม) ใช้พื้นที่บ้านพักในซอยราษฎร์ร่วมเจริญ เขตคลองสาน (วงเวียนใหญ่) กรุงเทพฯ สร้างหอศิลป์ เป็นอาคาร 3 ชั้น สำหรับติดตั้งแสดงผลงาน จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ชิ้นงานเหล็ก Stainless Steel

ถ้าต้องการเข้าชมควรติดต่อล่วงหน้า

“หอศิลป์ บ้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2541 (จิตรกรรม + ภาพพิมพ์) เป็นหอศิลป์สไตล์ลักษณะสถาปัตยกรรมชนบท ของประเทศอิตาลี (Palazzo Pavone Art Gallery) ติดตั้งแสดงผลงานวาดเส้น งานภาพพิมพ์ แกะไม้ จิตรกรรมสีน้ำ รูปไก่ แม่อุ้มลูกสาว นกฮูก และแมว อันโด่งดังตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

“หอศิลป์ บ้านนายอินสนธิ์ วงศ์สาม” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2542 (ประติมากรรม) ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จัดตั้งเป็นอุทยานธรรมะแสดงผลงานศิลปะสอดแทรกเรื่องพุทธศาสนา บนพื้นที่สวนอันสวยงามสงบร่มรื่น ภายในเรือนไทยแสดงประวัติและผลงานจิตรกรรม

“บ้านนายถวัลย์ ดัชนี พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2544 (จิตรกรรม) เป็นกลุ่มบ้านศิลปะแบบล้านนาจำนวน 36 หลัง ทาด้วยสีดำทั้งหมด อันเป็นที่มาของคำว่า “บ้านดำ” อันโด่งดังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ จัดแสดงงานจิตรกรรม ประติมากรรม ไม้แกะสลัก เขี้ยวงา เขาสัตว์ต่างๆ เช่น เขากวาง เขาควาย และกระดูกช้าง รู้จักกันมานานแล้วในนาม “บ้านดำ นางแล” ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

“หอศิลป์ อาจารย์พิชัย นิรันต์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2546 (จิตรกรรม) เป็นบ้าน 2 หลัง ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ภายในเติมเต็มด้วยงานจิตรกรรมสีสันสวยงามจำนวนมาก ภาพดอกบัว และผลงานที่สอดแทรกเรื่องราวสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา บนพื้นที่ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นไม้อันร่มเย็น ติดต่อเข้าชมได้เสมอ

“บ้านนายทวี รัชนีกร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2548 (จิตรกรรม) เปิดเป็นหอศิลป์เต็มรูปแบบ ติดตั้งแสดงงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม เทคนิคผสม ถ่ายทอดเพื่อการศึกษาเรียนรู้ จัดบรรยาย อภิปราย เสวนาเรื่องศิลปะ จัดกิจกรรมประกวดวาดภาพแก่นักเรียน นักศึกษา “หอศิลป์ ทวี รัชนีกร” ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

“หอศิลป์ นายประเทือง เอมเจริญ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2548 (จิตรกรรม) จัดแสดงผลงานจิตรกรรม บทกวี ข้อเขียน จัดกิจกรรมการเรียนการสอน หอศิลป์แห่งนี้จึงเรียกว่าเป็นการทำบ้านให้รูปอยู่ ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี สามารถแวะไปเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ได้

“หอศิลป์ นายสุชาติ ทรัพย์สิน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ.2549 (การแสดงพื้นบ้าน) เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์รูปหนังตะลุงโบราณของไทยและต่างประเทศ อุปกรณ์การแสดงหนัง เครื่องดนตรี บ้านศิลปินแห่งชาติแห่งนี้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการแสดง การทำรูปหนังตะลุง ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“บ้านนางประนอม ทาแปง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประณีตศิลป์ (ศิลปะผ้าทอ) ปี พ.ศ.2553 เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องของผ้าจกเมืองลอง จัดแสดงผ้าจกเมืองลอง ถ่ายทอดวิธีการทอผ้าตั้งแต่ดอกฝ้ายจนถึงเป็นผืนผ้า เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้การทอผ้าครบวงจร อยู่ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่

“บ้านนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2554 (จิตรกรรม) พิพิธภัณฑ์วัดร่องขุ่น เป็นผลงานพุทธศิลปะแฝงด้วยหลักธรรมพระพุทธศาสนา พระอุโบสถสีขาวแต่งด้วยปูนปั้น ประดับกระจก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม อาคารแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีโดยทั่วไปไม่เฉพาะในประเทศ ชื่อเสียง ความงดงามเรื่องศิลปะโด่งดังไปทั่วโลก สำหรับคนไทยนิยมเรียกกันว่าวัดสีขาว

พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือ “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งนำมาเสนอเพียงแค่ 10 แห่งก่อนนั้น กระจายอยู่ในพื้นที่เกือบทุกภาคของประเทศไทย เหนือ อีสาน กลาง ใต้

ถ้าหากมีโอกาสควรจะต้องไปเยือนให้เห็นกับตากันสักครั้งหนึ่ง