วอชเชอร์ : ความตายของ “บิลลี่” บอกอะไรกับสังคมไทย

ข่าวการอุ้มหายของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานและนักต่อสู้เพื่อสิทธิป่าชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ หลังผ่านมา 5 ปี การเปิดเผยการค้นพบหลักฐานที่เป็นชิ้นส่วนกระโหลกในซากถังน้ำมัน 200 ลิตรที่จมอยู่ใต้น้ำ เมื่อวานนี้

บ่งบอกว่าชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ระบุตัวตนได้เป็นของบิลลี่ ทำให้คนที่ใจสลายที่สุดคือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ที่รู้ว่าสามีไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว

ความสะเทือนใจอีกอย่างตามมาคือ การต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง มีราคาต้องจ่ายสูงมากถึงขั้นเอาชีวิต แม้แต่ความยุติธรรมก็มีสภาพไม่ต่างกับอากาศธาตุที่ให้กับผู้สูญเสีย

นี่คืออีกด้านที่น่ากลัวของสังคมไทย

 

เรื่องการอุ้มหายหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนสิทธิมนุษยชนถึงขั้นเอาชีวิตนี้ เกิดขึ้นในสังคมไทยมานักต่อนัก แม้หลักฐานจะเชื่อมโยงจนน่าเชื่อถือ ก็ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดโดยเฉพาะผู้มีอำนาจในโครงสร้างการเมืองไทย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับโทษตามความผิด มีเพียงแต่ได้เข้าไปและกลับออกมาอยู่อย่างสบาย

บ่อยเข้า ก็พัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ให้ผู้คนที่สูญเสียต้องชอกช้ำกล้ำกลืนใจ ไม่พยายามสู้ต่อเพราะเชื่อว่ายังไงก็เอาผิดพวกเขาไม่ได้ และลืมเรื่องราวนั้นไปจากชีวิตเหมือนไม่เคยไม่เกิดขึ้น

ส่วนผู้มีอำนาจที่ทำผิดแต่กลับหลุดรอด ก็ได้ดิบได้ดี อยู่สบาย ไม่ต้องเข้าคุกรับโทษใดๆ

 

การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศนี้ จริงๆก็ปรากฎชัดตลอด 5 ปี ภายใต้ยุค คสช. แม้จนถึงตอนนี้ ตลอดหลายครั้ง ผู้มีอำนาจจะพร่ำต่อประชาชนหรือนานาประเทศว่า ประเทศไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

แต่ทางปฏิบัตินั้น การส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปหาบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล การปิดเวทีเสวนาวิชาการ ห้ามเนื้อหาที่วิจารณ์ คสช. ห้ามชาวบ้านชุมนุมคัดค้านเรื่องที่ดินและทรัพยากร การจับกุมคุมขังโดยไม่ให้เข้าถึงทนายหรือครอบครัว การบังคับให้สูญหาย หรือแม้แต่การฟ้องเพื่อปิดปากอีกหลายคดีกับชาวบ้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน

การกระทำที่สวนทาง ทำให้คำพูดไม่มีราคาให้น่าเชื่อถือ ความยุติธรรมเองก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจนกังวลว่า ยังมีความเชื่อถือและเป็นหลักประกันให้กับทุกคนได้หรือไม่

ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่คนพูดกันว่า ประเทศไทย มีทุกอย่าง ยกเว้น ‘ความยุติธรรม’