เกษียร เตชะพีระ : อ่านชาวนาการเมือง (3)

เกษียร เตชะพีระ
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอน 1 2

 

ประเด็นใหม่น่าสนใจประการที่ 3 ในหนังสือ ชาวนาการเมือง : อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย ของ Andrew Walker คือการใช้แนวคิดทฤษฎี “สังคมการเมือง” (political society) ของ ปาร์ธา ฌัตเตอร์จี มาประยุกต์วิเคราะห์ทำความเข้าใจสังคมชาวนารายได้ปานกลางของไทยปัจจุบัน

ปาร์ธา ฌัตเตอร์จี (Partha Chatterjee, ค.ศ.1947-ปัจจุบัน) เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านรัฐศาสตร์แห่งศูนย์ศึกษาสังคมศาสตร์ เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย และศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เขาเรียนจบรัฐศาสตร์ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกัลกัตตาและไปเรียนต่อจนจบรัฐศาสตร์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับอินเดียมาก่อตั้งศูนย์ศึกษาสังคมศาสตร์ที่กัลกัตตา และได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี ค.ศ.1979

เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มศึกษาผู้ถูกกดทับ (Subaltern Studies Collective) อันโด่งดังทั่วโลกเพื่อศึกษาวิจัยภาวะทันสมัยหลังยุคอาณานิคม (postcolonial modernity) จากจุดยืนของชนชั้นผู้ถูกกดทับ (subaltern classes) ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980

ฌัตเตอร์จีศึกษาวิจัยสังคมชาวนาและผู้ถูกกดทับของอินเดียในยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

พร้อมทั้งรวบยอดยกระดับข้อค้นพบของเขาเป็นแนวคิดทฤษฎีบนฐานประสบการณ์ของสังคมอาณานิคมและหลังอาณานิคมทั้งหลายที่แตกต่างออกไปจากโลกตะวันตก เพื่อสนทนาวิวาทะ วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นมาบนฐานประสบการณ์ของสังคมตะวันตกถ่ายเดียว ไม่ว่าทฤษฎีประชาสังคมหรือสังคมประชา (civil society) ของ ชาร์ลส เทย์เลอร์ หรือทฤษฎีลัทธิชาตินิยมของครูเบน แอนเดอร์สัน

สำหรับแนวคิดทฤษฎี “สังคมการเมือง” นี้ ฌัตเตอร์จีประมวลสรุปขึ้นจากประสบการณ์ของสังคมชาวนาอินเดียและนำเสนอเป็นครั้งแรกในชุดปาฐกถาอนุสรณ์แด่ Leonard Hastings Schoff ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อปี ค.ศ.2001 (ตีพิมพ์ใน The Politics of the Governed : Reflections on Popular Poliics in Most of the World, ค.ศ.2004)

และต่อมาเขาได้ขยายความประยุกต์ใช้อธิบายในขอบเขตกว้างขวางขึ้นอย่างเป็นระบบสำหรับสังคมชาวนาทั่วเอเชียในปาฐกถาหลักต่อที่ประชุมวัฒนธรรมศึกษาระหว่างภูมิภาคเอเชีย ณ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เมื่อปี ค.ศ.2007 (ตีพิมพ์เป็นบทความ “Peasant culures of the twenty-first century” ค.ศ.2008) และหนังสือ Lineages of Political Society : Studies in Postcolonial Democracy, ค.ศ.2011

ในฐานะสมาชิกกลุ่มศึกษาผู้ถูกกดทับ (Subaltern Studies Collective) ฌัตเตอร์จีได้วิจารณ์กลุ่มตัวเองว่าแนวทางศึกษาชาวนาแบบเดิมของกลุ่มนั้นไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์และใช้ไม่ได้แล้ว จนต้องรื้อโละเครื่องมือคิดวิเคราะห์สังคมชาวนาเอเชีย (โดยเฉพาะจีน อินเดีย เอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทย) ใหม่หมด ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เขาเอ่ยอ้างถึง ได้แก่ :-

1) รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ไม่ใช่ปัจจัยภายนอกอีกต่อไป

2) เนื่องจากเกิดการปฏิรูปโครงสร้างสินทรัพย์ภาคเกษตรใหม่ บัดนี้ชาวนาจึงไม่ได้เผชิญหน้าชนชั้นขูดรีด (เช่น เจ้าที่ดินศักดินา/กึ่งศักดินา) โดยตรงในหมู่บ้านอีกต่อไป

3) ในสภาพที่ภาษีที่นาลดความสำคัญลงสำหรับรัฐ รัฐจึงไม่ได้มารีดไถชาวนาโดยตรงอีกต่อไป

4) การที่ชาวนาชนบทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าเมืองและเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมนั้น หาใช่เพราะยากจน สิ้นหนทาง แต่เพราะพวกเขามองเห็นโอกาสยกระดับตัวเองทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จึงอยากเสี่ยงไปเองแม้รู้ว่าจะลำบากก็ตาม

5) หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่นั้นอยากเลิกเป็นชาวนา พวกเขาต้องการเข้าเมืองเพื่อเลื่อนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและปลดปล่อยตัวเองออกจากเอกลักษณ์เดิมต่างหาก

เพื่อยึดกุมทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของสังคมชาวนาในชนบทเอเชียดังกล่าวข้างต้น ปาร์ธา ฌัตเตอร์จี ใช้แนวคิดหลัก 4 ประการมาจัดระเบียบคัดกรองตีความข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ :-

1) การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (the primitive accumulation of capital)

2) ทุนที่ไม่ใช่เป็นของบรรษัท/ทุนนอกบรรษัท (non-corporate capital)

3) เศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) และ

4) สังคมการเมือง (political society) ซึ่งแนวคิดสุดท้ายนี้ Andrew Walker อ้างอิงมาประยุกต์ใช้เป็นหลักในหนังสือชาวนาการเมืองของเขา

ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKULผมขออธิบายโดยสังเขปไปตามลำดับ

1)การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (the primitive accumulation of capital)

นี่เป็นแนวคิดคลาสสิคของเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์ มาร์กซ์ใช้แนวคิดนี้อธิบายการก่อตัวระยะแรกของทุนนิยมผ่านการสะสมทุนขั้นปฐมโดยรวบรวม (ในความหมายสูบรีด โยกย้ายถ่ายโอน ปล้นชิง ฯลฯ) ส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาจากแหล่งต่างๆ โดยอาจผ่านกลไก อาทิ การกำหนดราคาค้าขายแบบเอารัดเอาเปรียบ (ที่เรียกกันในหมู่มาร์กซิสต์บางกลุ่มว่า “การแลกเปลี่ยนอย่างไม่เสมอภาค” หรือ unequal exchange) หรือเก็บภาษี เพื่อเอาส่วนเกินนั้นมาเป็นทุนประเดิมเริ่มแรกในการพัฒนาอุตสาหกรรม

เช่น ในยุคอาณานิคมระยะแรก กองเรือของยุโรปได้ปล้นชิงแร่ธาตุสินทรัพย์จากดินแดนอาณานิคมในละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชีย ทำให้ได้สะสมทุนมาใช้สร้างอุตสาหกรรมในประเทศเจ้าอาณานิคมต่างๆ

หรือในยุคพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติของไทย ก็ได้เกิดการสูบรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากภาคเกษตรชนบทมาหล่อเลี้ยงเมือง ในรูปการกดราคาผลผลิตเกษตรให้ต่ำ หรือเก็บค่าพรีเมียมสินค้าเกษตรส่งออก เช่น ข้าว ทำให้ได้สะสมทุนมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรม

หรือในประเทศสังคมนิยม กระบวนการเดียวกันก็เกิดขึ้นเพื่อโยกย้ายถ่ายโอนส่วนเกินเศรษฐกิจจากชนบทมาเมืองผ่านระบบนารวม (collectivization of agriculture) เช่น ในรัสเซียสมัยสตาลิน หรือแม้แต่ในจีนสมัยประธานเหมา เจ๋อ ตุง

หัวใจของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิในความเข้าใจของฌัตเตอร์จีคือ การพรากผู้ใช้แรงงานไปเสียจากปัจจัยการทํางาน (dissociation of the labourer from the means of labour) เช่น พรากชาวนาจากที่ดิน เป็นต้น อันเป็นการยกสลายสังคมชาวนาดั้งเดิม (gemeinschaft หรือ community) ที่มีห่วงเชื่อมสายสัมพันธ์สมานฉันท์ของชุมชนชนบทท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่บนฐานเอกภาพของแรงงานกับปัจจัยการทํางาน (the unity of labour with the means of labour) ไปเป็น→ สังคมสมัยใหม่หรือ gesellschaft แทน

นี่เป็นภาพความเปลี่ยนแปลงคลาสสิคที่เกิดกับชนบทเพราะฝีมือทุนนิยมแบบเดิม

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ทว่า ภายใต้ยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ได้เกิดปทัสถานใหม่/ความเข้าใจใหม่ที่กําหนดกะเกณฑ์เรียกร้องให้รัฐทั้งหลายโดยเฉพาะในประเทศกําลังพัฒนา พึงต้องมีหน้าที่ขั้นพื้นฐานตํ่าสุดในอันที่จะใช้เทคโนโลยีการบริหารปกครองในมือเข้าไปช่วยอุ้มชูประคับประคองชาวนาชนบทที่ถูกรวบริบลิดรอนปัจจัยการทํางาน (ที่ดิน) ไปในกระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (ซึ่งกําลังขยายตัวเร่งเร็วขึ้นพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดในยุคโลกาภิวัตน์) และหาช่องทางชดเชยให้ชาวนายังชีพอยู่ต่อไปได้ โดยสนองชีวปัจจัยขั้นพื้นฐานให้ผ่านเงินงบประมาณในรูปต่างๆ

หน้าที่ดังกล่าว นอกจากตกอยู่กับรัฐแล้ว ภาคเอ็นจีโอทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งองค์การระหว่างประเทศก็ยื่นมือเข้ามาช่วยทำด้วย การณ์กลับเป็นว่าการปล่อยให้ชาวนาสิ้นไร้ไม้ตอกไปในกระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิเหมือนดังที่เคยเกิดในยุคทุนนิยมคลาสสิค กลายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในโลกปัจจุบันอีกต่อไป

ผลก็คือภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ได้เกิดกระบวนการ 2 กระบวนที่ย้อนทวนสวนทางกัน ได้แก่ :-

→ กระบวนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิที่รวบริบลิดรอนปัจจัยการทํางานไปจากแรงงานชาวนาชนบท ซึ่งเร่งเร็วขึ้นพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มี…

← กระบวนการย้อนทวนสวนทางกลับตาลปัตรผลกระทบของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิดังกล่าว โดยรัฐเป็นตัวการหลัก และอุดหนุนโดยเอ็นจีโอและองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย ต่างพากันทุ่มงบประมาณสนองชีวปัจจัยขั้นพื้นฐานผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ให้แก่ชาวนาชนบทเหล่านั้นเพื่อโอบอุ้มประคับประคองพวกเขาไว้พร้อมกันไป

ผลลัพธ์คือสังคมชาวนาเปลี่ยนสภาพ จากเดิมที่เคยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านรอการแตกแยกสูญสลายเนื่องจากการพัฒนาทุนนิยมในขั้นตอนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (ริบทรัพยากรไปจากมือชาวนา) กลายไปเป็น → สังคมชาวนาดํารงอยู่ต่อไปโดยการอุ้มชูประคับประคองของรัฐและองค์กรอื่นๆ สนองชีวปัจจัยมูลฐานต่างๆ ให้อยู่รอดได้ พลิกกลับสวนทวนกระแสผลกระทบของการสะสมทุนขั้นปฐมภูมินั้น

แต่นี่เป็นการอยู่ต่อของชาวนาบนฐานการอุดหนุนคํ้าจุนของภาครัฐ และอยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจตลาดแบบทุนนิยมที่ผลิตเพื่อขายอย่างเต็มตัว

ไม่ใช่สังคมชาวนาแบบผลิตพึ่งตนเองเลี้ยงตนเองอย่างพอเพียงนอกตลาดดังก่อนอีกต่อไป