เกษียร เตชะพีระ : อ่านชาวนาการเมือง (2)

เกษียร เตชะพีระ
ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอน 1

ประเด็นใหม่น่าสนใจประการที่ 2 ในหนังสือเรื่อง ชาวนาการเมือง : อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย ของ Professor Andrew Walker นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลีย ที่ อาจารย์จักรกริช สังขมณี แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แปลและเพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ จากต้นฉบับเรื่อง Thailand’s Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy (ค.ศ.2012)

ถัดจากประการแรกอันได้แก่ “ชาวนารายได้ปานกลางในประเทศรายได้ปานกลาง” คือ :

ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

2) ท่าทีความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับผีในฐานะตัวแบบจำลองความสัมพันธ์กับสถาบันอำนาจต่างๆ

แอนดรู วอล์คเกอร์ พุ่งเป้าสนใจศึกษาท่าทีความสัมพันธ์ของชาวบ้านในหมู่บ้าน “เทียม” จังหวัดเชียงใหม่กับผีในท้องถิ่น ตั้งแต่ “ผีปู่ย่า” ที่ชาวบ้าน “เฮือนเก่า” รุ่นเริ่มแรกก่อตั้งหมู่บ้านตั้งหิ้งบูชาไว้ในห้องนอนหลักบนเรือนตน, “ผีอาฮัก” ที่ชาวบ้าน “เฮือนเก่า” ตั้งศาลไว้ในบริเวณลานบ้าน และผีเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน (หรือ “ผีอาฮักบ้าน”) อันได้แก่ “เจ้านายต้นโชค” “เจ้านายวังเหนือ” และ “เจ้านายป่าเย็น” ซึ่งชาวบ้านร่วมกันตั้งศาลเจ้าของหมู่บ้านโดยรวมเอาไว้, รวมทั้งผีเจ้านายต่างๆ ที่ไต่ลำดับชั้นความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงระดับจังหวัดและประเทศเลียนแบบทำเนียบบริหารราชการแผ่นดิน (ดูบทนำ ชาวนา อำนาจ และสังคมการเมือง หน้า 26-29, 34-47; และ บทที่ 3 การดึงอำนาจเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว)

การสนใจศึกษาความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อง “ผี” ของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติวิสัยสำหรับนักมานุษยวิทยาแต่อย่างใด ทว่า ที่แปลกพิลึกมาก – อย่างน้อยก็สำหรับนักรัฐศาสตร์อย่างผม – อยู่ตรงการถือเอาท่าทีความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับ “ผี” ดังกล่าวเป็นแนวทางต้นแบบตัวแบบจำลอง (model) ในการทำความเข้าใจท่าทีความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับสถาบันอำนาจจากภายนอกหมู่บ้านต่างๆ ไม่ว่ารัฐ-ทุนเอกชน-หน่วยราชการ-เอ็นจีโอ โดยเฉพาะบรรดาอำนาจที่เข้าสู่หมู่บ้านด้วยความสนใจใฝ่หาและมุ่งส่งเสริมโครงการพัฒนาชุมชน-เศรษฐกิจพอเพียงที่ชาวบ้านคิดริเริ่มทั้งหลาย

ในทำนองว่าชาวบ้านคบ “ผี” อย่างไร ชาวบ้านก็คบ “รัฐ-ทุน-หน่วยราชการ-เอ็นจีโอ” อย่างนั้นนั่นแหละเพราะมันเป็น “อำนาจ” เหมือนกัน

ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ที่ว่าวิธีมองและศึกษาวิจัย “อำนาจ” ดังกล่าวนี้แปลกพิลึกสำหรับนักรัฐศาสตร์ทั่วไปก็เพราะวิชารัฐศาสตร์กระแสหลักคิดถึง “อำนาจ” ในแบบสมัยใหม่ อันมี 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) รัฐที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง (state centralization of power) และ 2) ระบบราชการสมัยใหม่ (modern bureaucracy) อันเป็นกลไกหลักที่ใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์ส่วนกลางนั้นบริหารปกครองประเทศ ดังที่เกิดขึ้นในสยามผ่านการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (อิงข้อคิดของ อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ใน Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, 2004)

ขณะที่แนวการมอง “อำนาจ” แบบมานุษยวิทยาของ แอนดรู วอล์คเกอร์ ในหนังสือ ชาวนาการเมือง เป็นการมอง “อำนาจ” แบบเก่า (หมายถึงก่อนสมัยใหม่หรือ premodern) ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับแนวคิดคำอธิบายเรื่องอำนาจในวัฒนธรรมชวาดั้งเดิมของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ในบทความลือชื่อของท่านเรื่อง “The Idea of Power in Javanese Culture” (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1972) ซึ่งสรุปรวบรัดได้ว่า (อ้างฉบับพิมพ์ใหม่ใน Benedict Anderson, Language and Power: Exploring Political Cultures in Indonesia, 1990, pp. 19-23) :-

ในทำนองเดียวกัน แอนดรู วอล์คเกอร์ ชี้ว่า “อำนาจ” ในสังคมการเมืองชาวนาไทยมีลักษณะ :

1) ซึมซ่านกระจาย 2) สามารถดึงเอามาใช้สอยสนองกิจส่วนตัวได้ ถ้ารู้จักประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับ “ฮีต” หรือจารีตของผี อย่าทำผิดผี โดยที่พึงเข้าใจว่า “ฮีต” ที่ว่านี้ย่อมเป็นคนละเรื่องกับศีลธรรมศาสนาและกฎหมายบ้านเมือง 3) กำกวม คาดเดายาก ให้ได้ทั้งคุณและโทษ แต่ก็อยู่ในวิสัยจะกล่อมเกลามันได้ หลอกใช้มันได้ เหมือนผู้มีวิชาอาคมเลี้ยงผีเลี้ยงกุมารทองไว้ใช้สอยคุ้มกันตัว (ชาวนาการเมือง, หัวข้อ “จุดเชื่อมต่ออันกระจัดกระจายของอำนาจ” หรือ “Dispersed Nodes of Power” น.26-29)

ดังนั้น ในความสัมพันธ์กับ “อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็น อำนาจของผี-รัฐ-ทุน-หน่วยราชการ-เอ็นจีโอก็ตาม ท่าทีของชาวบ้านจึงเป็นการหาทางดึงรั้งให้มันเข้ามาอยู่ในท้องที่พื้นถิ่น กล่อมเกลาเอาอกเอาใจเลี้ยงดูมันให้เชื่อง เพื่อหลอกฉวยใช้ประโยชน์จากมัน (localization & domestication of external powers)

โดยเน้นความสำคัญของจุดแลกเปลี่ยน (sites of exchange) ต่างๆ อันเป็นสถานที่ซึ่งอำนาจที่ซึมซ่านกระจัดกระจายนั้นเข้ามาเกาะจับรวมตัวกัน (congealed เหมือนเลือดที่งวดตัวเหือดข้น) ให้ชาวบ้านเข้าไปปฏิสัมพันธ์โดยตรงด้วยได้ อันได้แก่ ศาลเจ้าในกรณีอำนาจผี, ตลาดในกรณีอำนาจทุน, และโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ชาวบ้านริเริ่มก่อตัวจัดตั้งแล้วประสานขอความสนับสนุนช่วยเหลือจากภายนอกในกรณีอำนาจรัฐ/หน่วยราชการ/เอ็นจีโอ

อาทิ งานเทศกาลรื่นเริงสืบสานประเพณีล้านนา, การอนุรักษ์ป่าชุมชน, โรงสีและสหกรณ์ร้านค้าชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ

ชาวนามาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นศาลคดีจำนำข้าว
ชาวนามาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นศาลคดีจำนำข้าว

น่าสนใจว่าด้วยแรงบันดาลใจจากงานเรื่อง ชาวนาการเมือง ของ Andrew Walker เล่มนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ประยุกต์แนวคิดมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏสอดรับกัน เช่น “อ่านออก” (visible/legible), “เมื่อไรที่พูดถึงผี เรากำลังพูดถึงการจัดการอำนาจ” เป็นต้น มาวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับการปรากฎขึ้นของ “ศาลอาฮักบ้าน” แบบใหม่ตามหมู่บ้านที่อยู่ติดเมืองเชียงใหม่หลายแห่งในปัจจุบันว่าศาลเหล่านี้มีที่มา ความหมายและบทบาทหน้าที่อย่างไร ในบทความเมื่อเร็วๆ นี้เรื่อง หมู่บ้านที่อ่านไม่ออก, มติชนสุดสัปดาห์, 37 : 1892 (18-24 พ.ย. 2559), 30-31)

อ.นิธิ ตั้งข้อสังเกตว่าในหมู่บ้านเหล่านี้ ชาวบ้านหยุดทำเกษตรไปหมดแล้ว แต่ทั้งหมดทำงานนอกภาคเกษตรอันหลากหลาย ความเป็น “ชุมชน” หมู่บ้านจึงไม่มีเหลือจริงในชีวิตเศรษฐกิจสังคมอีกแล้ว และยังมีประชากร “คนนอก” ซึ่งมีฐานะคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปอาศัยปะปนแซมอยู่ในหมู่บ้าน โดยบ้างก็เข้ามาซื้อที่ปลูกบ้านจากภายนอกและบ้างก็เป็นลูกหลาน “คนใน” เองที่ยกระดับการศึกษาและฐานะของตนสูงขึ้น “คนนอก” ที่อยู่ในหมู่บ้านเหล่านี้สัมพันธ์กับโลกข้างนอกเป็นหลัก โดยแทบไม่ได้เข้าร่วมชีวิตกิจกรรมของหมู่บ้านด้วยกันเลย

อาจารย์บรรยายวิเคราะห์ว่า “ศาลอาฮักบ้าน” แบบใหม่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่ทำพิธีเซ่นไหว้แบบเก่านี้ ถูกชาวบ้าน “คนใน” ริเริ่มปลูกสร้างขึ้นมาเพื่อจับจองเป็นพื้นที่ “การเมือง” ของพวกตนแต่ฝ่ายเดียว (ไม่ใช่ของ “คนนอก”) และเพื่อฉวยใช้ “อัตลักษณ์ชุมชน” ที่อิงแอบ “ศาลอาฮักบ้าน” มาเกื้อกูลอุดหนุนประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง-สังคมแก่ตน ชดเชยฐานะที่ด้อยกว่าหรือไม่มั่นคงเท่า “คนนอก” ของ “คนใน” จำนวนมาก

อ.นิธิ สรุปว่า “ศาลอาฮักบ้าน” มีบทบาทหน้าที่ 2 ด้าน ด้านภายในหมู่บ้าน มันเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูอำนาจ “คนใน” ทั้งในแง่อัตลักษณ์และสิทธิเหนือทรัพยากรสาธารณะของชุมชน โดยอิงวัฒนธรรมชุมชน (ไม่ว่าเดิมทีจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม) มาช่วยเสริม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพวกเขากับ “คนนอก” ในหมู่บ้านเดียวกัน

พร้อมกันนั้น สำหรับด้านภายนอกหมู่บ้าน “ศาลอาฮักบ้าน” (รวมทั้งซุ้มประตูป่าสูงใหญ่ทำด้วยปูนปากทางเข้าหมู่บ้านต่างๆ) ก็เหมือนป้ายยี่ห้อบ่งบอกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นไทย” ที่รัฐยอมรับในการติดต่อสัมพันธ์ของหมู่บ้านกับรัฐภายนอก เพื่อให้รัฐอ่านพวกเขาออก-มองพวกเขาเห็นเป็นอัตลักษณ์กลุ่มก้อนชุมชนรวมหมู่ และเหนี่ยวดึงเอาบริการงบประมาณทรัพยากรสาธารณะต่างๆ จากรัฐมาให้แก่หมู่บ้านอย่างค่อนข้างเสมอภาค

(ต่อสัปดาห์หน้า)