ฉัตรสุมาลย์ : ควรจะสอนนิพพานหรือไม่

ในกลุ่มเพื่อนเที่ยวของเรามีอยู่ด้วยกัน 10 คน

อาทิตย์นี้เรานัดไปเที่ยวด้วยกันอีกเช่นเคย เรานัดพบกันที่เชียงใหม่ แก้วกับก้อยจะเดินทางไปล่วงหน้า เพราะไปรถทัวร์ นอนสบายๆ ไปคืนหนึ่ง ถึงเชียงใหม่เช้าพอดี

พวกเราอีก 8 คน นัดกันบินไฟลต์เช้า ออกจากดอนเมือง 7 โมง ถึงสนามบินเชียงใหม่ 8 โมงเช้า พอดีไปสมทบกับแก้วและก้อย ซึ่งก็ถึงเวลาใกล้ๆ กัน

ถ้าเราทั้งสิบคนนัดหมายกันเป็นอย่างดี แต่ไม่กำหนดเป้าหมาย แล้วเราจะพบกันไหมเนี่ยะ

นิพพาน สำหรับเราชาวพุทธก็ประมาณนั้นเลย เป็นเป้าหมาย เป็นเส้นทางทางจิตวิญญาณที่เรามุ่งหวังที่เราตั้งเป้าจะไปให้ถึงเหมือนกัน

เราแต่ละคนมีทุนรอน มีความเพียรพยายามต่างกัน ไปช้า ไปเร็ว ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยเราจะมุ่งหน้าไปทิศทางเดียงกัน เช่น ถ้าไปเชียงใหม่ ออกจากกรุงเทพฯ ทิศทางก็จะเป็นเส้นทางขึ้นเหนือ บางคนอาจจะแวะกลางทาง เสียเวลาไปบ้าง แต่เป้าหมายเดิม

แต่ในความเป็นจริง ชาวพุทธในประเทศไทยนี้ ไม่รู้เป้าหมายมานานแล้ว น่าจะชั่วชีวิตคนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะพระท่านตัดสินใจว่า เรื่องพระนิพพานยากเกินไป ไม่ต้องสอน

สอนขึ้นบันไดขั้นหนึ่งไปก่อน คือ ทาน

 

ไปดูที่เชียงใหม่ จิตรกรรมฝาผนังในวัดในเมืองส่วนใหญ่ เน้นเรื่องเดียวคือ ทาน โดยให้บริบทเรื่องราวของพระเวสสันดรเป็นหลัก ทั้งๆ ที่มหาชาติ คือชาติใหญ่ๆ ของพระมหาโพธิสัตว์ ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีถึง 10 ชาติ เป็นตัวแทนของบารมี 10 ประการ

จึงไม่ประหลาดใจเลย ชาวไทยมุ่งทำบุญโดยการให้อย่างเดียว ไม่ค่อยสนใจในการพัฒนาตนเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ที่รุมล้อมอยู่

มีโยมที่นำของไปถวายเป็นสังฆทานเพราะเป็นวันเกิด พระท่านก็ตั้งท่าจะให้ศีล เพื่อให้ถึงพร้อมด้วยบุญกุศลที่สูงส่งยิ่งขึ้นในสามส่วน คือ ผู้ถวาย รักษาศีล ของถวายได้มาโดยบริสุทธิ์ และผู้รับซึ่งเป็นพระแม้ไม่ใช่อรหันต์ก็ยังเป็นสุปฏิปันโน คือ พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ปรากฏว่า โยมคนนี้ชี้ไปให้ลูกสาวที่มาด้วยเป็นผู้รับศีลแทน พระก็งง นึกว่าโยมที่มานั้นมาทำบุญวันเกิดของตัวเอง ทำไมจึงให้ลูกสาวเป็นผู้รับศีล

โยมเห็นท่าทางพระไปไม่ถูก ก็เลยอธิบายว่า

“บอกท่านตามตรงนะ ประเดี๋ยวจะออกไปดริ๊งก์กับเพื่อนๆ จึงรับศีลไม่ได้”

เอ่อ พระก็ประมาณนั้น ให้ศีลให้ลูกสาวรับไปตามระเบียบ

 

แม้แต่จะทำบุญให้กับตนเองก็ยังรักษาศีล 5 ไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการที่จะทำหน้าที่รักษาพระศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่พระพุทธองค์มุ่งหวังที่จะฝากฝังพระศาสนา

การมีเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องรู้เป้าหมาย และศรัทธายึดมั่นในเป้าหมายร่วมกัน จึงจะยึดโยงให้เราเป็นชาวพุทธร่วมกันได้

ส่วนทำได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราประกาศตนเป็นชาวพุทธ โดยรับไตรสรณาคมน์ คือ รับว่าเรายึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ขอพูดเฉพาะพระพุทธ พระพุทธที่เรารู้จัก คือสมณโคดมนี้เป็นมนุษย์ ตรงนี้สำคัญ เพราะท่านมาจากฐานเหมือนกับเรา คือเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องนิยาย ไม่ใช่เรื่องความเพ้อฝันในอดีต สามารถไปดูที่ที่ท่านประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมครั้งแรก และปรินิพพานได้

เราศรัทธาท่านตรงไหน ตรงที่ท่านตรัสรู้ เข้าถึงสัจธรรมที่ว่าด้วยธรรมที่เป็นจริงอยู่เสมอ ตลอดเวลา เราศรัทธาว่า การเข้าถึงธรรมนั้น ท่านเข้าถึงได้ และเราก็เข้าถึงได้เช่นกัน

ท่านเคยทุกข์มาก่อน เหมือนกับเรา แต่ท่านก้าวล่วงทุกข์ได้ เพราะท่านพบความจริง ว่า ธรรมทั้งหลายมันไม่เที่ยง มันไม่ทน และมันไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้

พระนิพพาน ไม่ใช่สถานที่อยู่บนสวรรค์อะไรประมาณนั้น แต่เป็นสภาวะทางจิตที่ล่วงทุกข์โดยสิ้นเชิง

พระนิพพานไม่ใช่เรื่องยากเกินความเข้าใจ หากเรารู้ทุกข์ ทำไมเราจึงไม่อยากก้าวล่วงออกจากทุกข์ ก็พระนิพพานนั่นแหละที่เป็นสภาวะจิตที่เป็นอิสระจากทุกข์ทั้งปวง

พระนิพพานนั่นแหละที่เป็นเป้าหมายในทางจิตวิญญาณของพวกเราชาวพุทธทุกคน

บริษัทที่เราสังกัดอยู่นี้ เรียกว่า พุทธบริษัท แต่บริษัทนี้ไม่มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดนานมากแล้ว บริษัทนี้น่าจะเจ๊งนะ

ก็คนงานในบริษัทนี้ ยังไม่มีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่ว่าไม่มีผลผลิตเท่านั้น แต่พนักงานในบริษัทไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บริษัทนี้ให้ผลิตอะไร

พูดในบริบทอย่างนี้ จะเข้าใจง่ายขึ้นไหมคะ

 

เมื่อมารมาทูลขอพระพุทธองค์ ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว สมประสงค์ที่ออกจากวังมาแสวงหา จนได้พบแล้ว บัดนี้ ทูลเชิญให้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเถิด

พระพุทธองค์กลับตรัสตอบมารว่า ยังก่อน เพราะพุทธองค์ทรงคิดถึงผู้ที่จะมาสานงานต่อ คือ พุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ตอนนั้น ยังไม่มีแม้พระภิกษุ ไม่ต้องพูดถึงพระภิกษุณี

เมื่อประดิษฐานพุทธบริษัท 4 แล้ว ไม่ใช่เพื่อความโก้เก๋อลังการ แต่เพื่อให้พุทธบริษัท 4 นี้ รับผิดชอบในการศึกษาพระธรรม และนำไปปฏิบัติ พุทธศาสนาเน้นเรื่องการปฏิบัติ แต่ต้องศึกษาก่อน มิฉะนั้น มีแต่ศรัทธา ก็จะปฏิบัติหลงทิศหลงทาง

จากนั้น หากมีคนนอกจ้วงจาบสามารถแก้ต่างได้ คือ สามารถตอบโต้และปกป้องคำสอนที่ถูกต้องได้ หากมีคนนอกศาสนาเข้าใจผิดและกล่าวโทษคำสอนของพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ คือ ชาวต่างชาติที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างผิวเผิน ติติงว่า พุทธศาสนานั้นเป็นทุกข์นิยม คือสอนอะไรก็เริ่มที่ทุกข์ เห็นชีวิตเป็นทุกข์

เป็นศาสนาที่ทำให้ผู้นับถือจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ ไม่เบิกบาน ไม่สามารถนำพาโลกให้ก้าวหน้าได้

 

ที่จริงการที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มต้นคำสอนในอริยสัจ 4 โดยเริ่มที่ทุกข์นั้น เป็นพระปรีชาของพระองค์โดยแท้ ทรงมีจิตวิทยาที่จะเริ่มพูดจากสิ่งที่ทุกตนมีประสบการณ์ นั่นคือ ทุกคนได้สัมผัสทุกข์แล้วในรูปแบบแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกาย หรือทางใจ

เมื่อผู้ฟังพยักหน้ารับ คือเริ่มจากฐานประสบการณ์ร่วมกัน จากนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสาวไปหาเหตุ ที่เรียกว่า สมุทัย

แปลว่า ศาสนาพุทธ ไม่ได้สอนให้เราเชื่อแบบโง่หลงงมงาย ทุกอย่างมีมาแต่เหตุ และเรานั้นเองเป็นผู้สร้างเหตุ

ทรงขยายความออกไปเป็นเปลาะๆ นำมาซึ่งพระนิพพาน ซึ่งเป็นอริยสัจองค์ที่สาม ซึ่งเป็นการตื่นรู้จากการที่เราถูกผูกมัดอยู่ในวัฏฏสังสาร ในตอนที่ตรัสรู้ จึงรับสั่งว่า “อเนกชาติสังสารัง…” เราเวียนตายเวียนเกิดมาเป็นอเนกชาติ บัดนี้ ท่านได้พบเหตุที่มาแห่งการผูกมัดท่านไว้ในสังสารวัฏแล้ว ท่านเป็นอิสระแล้วจากทุกข์ทั้งปวง

พระพุทธองค์มิได้พ้นทุกข์แล้วจากไปตามลำพังพระองค์ หากแต่ทรงมีพระเมตตาที่จะแสวงหาหนทางที่ทำอย่างไรที่จะนำสิ่งที่พระองค์พบนั้นมาอธิบายให้คนอื่นฟังด้วย

ทรงใช้เวลาพิจารณาทบทวนถึง 49 วัน ช่วงนี้ ท่านอยู่ภายใต้ต้นไม้ที่เคยให้ร่มเงาท่าน ต้นละ 7 วัน เป็นที่มาของตัวเลข 49 วัน

เมื่อชัดเจนในวิธีการที่ท่านจะสอนแล้ว จึงเสด็จไปโปรดปัญญจวัคคีย์ที่เคยดูแลท่านมาก่อน ในคำสอนนั้น ทรงชัดเจนที่จะอธิบายถึงวิธีการดำเนินการเพื่อก้าวล่วงทุกข์ด้วย เราเรียกว่า มรรค เป็นอริยสัจองค์ที่ 4

ทรงตรัสรู้ธรรมเมื่อพระชนม์ 35 อีก 45 ปีต่อมา ทรงนำความจริงที่ได้ค้นพบนั้นมาสอน ก็สอนเรื่องหนทางสู่พระนิพพานนั่นแหละ

แล้วเราไม่สอนเรื่องนิพพาน ประเทศเรามีชาวพุทธมากที่สุดในโลกนะ 95% แต่ประเทศเราไม่ได้สอนเรื่องพระนิพพาน

เมื่อเราไม่มีเป้าหมายร่วมกัน แล้วเราเป็นชาวพุทธได้อย่างไร

ปัญหามันเป็นประมาณนี้แหละ