อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : มลายูปริทัศน์ และ Review สื่อสิ่งพิมพ์ นำเสนอเรื่องอิสลาม มุสลิม มลายูแห่งวันวาน

การอุบัติของ The Melayu Review หรือ มลายูปริทัศน์ ในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) และดำเนินต่อเนื่องมาจวบ พ.ศ.2562 (ค.ศ.2019)

ซึ่งทางกองบรรณาธิการที่มีซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ชาวมุสลิมประจำปี พ.ศ.2553 เป็นหัวเรือใหญ่จัดพิมพ์หนังสือออกมาแล้วจำนวนสองเล่มนั้น

จะว่าไปคือมูลเหตุให้ผมบังเกิดความคิดร้อยเรียงตัวอักษรเป็นบทความชิ้นนี้ขึ้นมา

ก็ด้วยชื่อวารสารนั่นแหละ ผู้ได้ฟังคงไพล่นึกว่าต้องมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องมลายูและชาวมุสลิมภาคใต้เป็นแก่นหลักๆ แน่แท้

หลายท่านยังอาจรู้สึกสงสัยสมทบเข้าอีก สื่อสิ่งพิมพ์นำเสนอเรื่องอิสลาม มุสลิม และมลายูในสังคมไทยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?

มักแว่วยินข้อเสนอและข้อสรุปของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สื่อสิ่งพิมพ์นำเสนอความรู้เรื่องอิสลาม มุสลิมและมลายูในสังคมไทยทำนองว่า สิ่งพิมพ์ประเภทนี้เดิมทีล้วนจัดทำขึ้นโดยชาวไทยพุทธ

ถ้าไม่นับหนังสืออย่าง พงศาวดารญวนและประวัติพระนาบีมหะหมัด ที่เผยแพร่ปี พ.ศ.2408 (ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของอามีน ลอนาเสนอว่าเป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่กล่าวถึงศาสนาอิสลาม)

พอช่วงทศวรรษ 2460 ก็จะมีงานของพระยาประชากิจกรจักร์ ส่วนช่วงทศวรรษ 2470 เป็นต้นไปก็เฉกเช่นงานของหลวงวิจิตรวาทการ

เพิ่งจะมามีสิ่งพิมพ์ที่จัดทำโดยชาวมุสลิมเองราวๆ ทศวรรษ 2490

อย่างไรก็ดี ผมกลับเจอหลักฐานที่พอจะยืนยันได้ว่าปรากฏสื่อสิ่งพิมพ์นำเสนอความรู้เรื่องอิสลาม มุสลิมและมลายูที่จัดทำโดยชาวมุสลิมพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2460 แล้ว

หรือในปี พ.ศ.2478 ก็มีหนังสือ รั้วซุนนีแห่งสยาม อันแปลและเรียบเรียงโดยท่านจุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสน์ จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์ย้งหลี เชิงสะพานเสาชิงช้า รวมทั้งหนังสือเล่มอื่นๆ อีกมากมาย

 

กรณีของสิ่งพิมพ์นิตยสารและวารสาร ย้อนไปช่วง พ.ศ.2468-2469 วารสารรายเดือน (ตอนนั้นเรียกขานว่า “หนังสือพิมพ์”) ชื่อ อัลบิดายะห์ หรือ EL-BIDAYAH ออกเผยแพร่สู่สายตานักอ่าน โดยมุฮำมัด ซอลิฮี รั้งตำแหน่งเจ้าของ บรรณาธิการและผู้จัดการ

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 1254 ตำบลโรงเรียนราชการุญ คลองบางกอกน้อย ธนบุรี

แต่หอบต้นฉบับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์จันทราคาร ถนนบำรุงเมือง เชิงสะพานช้างโรงสี พระนคร

คำว่า “อัลบิดายะห์” มาจากชื่อโรงเรียนอัลบิดายะห์กระทุ่มราย อำเภอหนองจอก จังหวัดมีนบุรี

กระนั้น ผมมิวายผ่อนคลายความเคลือบแคลง จึงสอบถามซะการีย์ยา อมตยา เพิ่มเติมถึงความหมายของ “อัลบิดายะห์” หรือ EL-BIDAYAH

ซึ่งซะการีย์ยาแจกแจงคำแปลของถ้อยคำนี้ว่า “การเริ่มต้น”

และยังเป็นชื่อของหนังสือเล่มลือเลื่องคือ Al-Bidayah wan Nihayah (ส่วนใหญ่นิยมใช้ Al-Bidayah มากกว่า El-Bidayah)

 

หนังสือพิมพ์อัลบิดายะห์ มุ่งถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและความเป็นไปของโลกอิสลามด้านต่างๆ

ในตัวเล่มมีการเขียนรีวิวข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งโลกอิสลาม

เช่น หยิบยกข่าวจากหนังสือพิมพ์ของอียิปต์ หนังสือพิมพ์ของตุรกีมารายงานพร้อมสอดแทรกข้อคิดเห็น แจ้งข่าวการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์

จึงทำให้นักอ่านที่เป็นพี่น้องชาวมุสลิมในเมืองไทยได้รับรู้ข่าวคราวต่างๆ นานาของประเทศอิสลามและชาวมุสลิมระดับสากล

“คำนำ” ของแต่ละฉบับจะเริ่มต้นย่อแรกคล้ายๆ กันว่า “ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ) เราเริ่มบรรยายคำพูดต่อไปนี้”

อัลบิดายะห์ยังมีข้อเขียนหรือคอลัมน์อธิบายความรู้เรื่องศาสนา รวมถึงการเสนอความเห็นต่อวิถีอิสลามที่สอดคล้องกับแนวคิดของสังคมไทย

ตัวอย่างข้อเขียนหนึ่งที่มิควรละเลยความสนใจคือ “เด็กมุสลิมกับธรรมจริยา” ที่ลงตีพิมพ์ติดต่อหลายฉบับ นับแต่อัลบิดายะห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 รบิอิ์ที่ 1 ฮ.ศ.1345 เดือนตุลาคม พ.ศ.2469 ไปเรื่อยๆ ราวกับคอลัมน์ประจำ

กระทั่งในอัลบิดายะห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 5 รยับ ฮ.ศ.1345 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 (นับเทียบตามศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2470) ก็ยังไม่มีทีท่าจะจบสิ้น

ในข้อเขียนอธิบายถึงเด็กที่ดีตามวิถีมุสลิม ขณะเดียวกันก็เหมือนจะเทียบเคียงหลักธรรมจริยาจนชวนให้หวนนึกถึงคำสอนในหนังสือธรรมจริยา ผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีและพระยาอนุกิจวิธูรที่ทางรัฐบาลสยามใช้ในการอบรมบ่มเพาะเด็กไทย

เช่นตอน “เด็กมุสลิมกับธรรมจริยา” บทที่ 12 เรื่องจริยวัตร์ต่อครูและอาจารย์ ลงพิมพ์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 ที่ตอกย้ำว่า

“หลังจากนักเรียนได้สำเร็จการเรียนแลได้ออกไปจากโรงเรียนแล้ว จงอย่าลืมความกรุณาธิคุณของครูและอาจารย์และหัวน่าหรือผู้บังคับบัญชาของตน โดยต้องรักษาหน้าที่ของตนเพื่อท่านเหล่านั้นไว้ทุกขณะที่ได้พบกันในกลางทาง จงอย่าเพิกเฉยหรือทำเมินเสียแต่ควรต้องกระทำการเคารพแลความรักใคร่นับถือเช่นเคยอย่างที่ตนอยู่ในโรงเรียน ถึงแม้ตนจะมีตำแหน่งหน้าที่สูงสักเพียงใดก็ตาม”

 

ความที่เป็นสิ่งพิมพ์จัดทำโดยสถาบันการเรียนการสอน กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายที่อัลบิดายะห์เน้นสื่อสารย่อมมิแคล้วเด็กๆ ดังความตอนหนึ่งใน “คำแถลงการของที่ปรึกษา อัล_บิดายะห์” ในเล่มปีที่ 2 ฉบับที่ 2 รบิอิ์ที่ 2 ฮ.ศ.1345 เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2469 ว่า

“ท่านทั้งหลายโปรดเก็บ อัล_บิดายะห์ไว้ให้ดี และครบจำนวน เพราะว่ามีเรื่องที่บุตร์หลานของท่านจำเปนจะต้องรู้ไว้ และเรื่องที่ต่อเนื่องกันอยู่มาก และเพื่อท่านจะได้เย็บเข้าเล่มเฉพาะปี ๑ๆ”

ผู้หญิงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ทางอัลบิดายะห์ให้ความสำคัญ ในหนังสือจึงแลเห็นข้อเขียนจำพวกค่านิยมความเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ดี ซึ่งจะต้องเอาธุระในการบ้านการเรือน โดยเล่าผ่านผู้หญิงชื่อสะมิระฮ์ และเสนอเรื่องสตรีกับการขับขี่รถยนต์ในต่างแดน เป็นต้น

คอลัมน์ประจำอันพึงติดตามในอัลบิดายะห์ คือ “การสนทนาระหว่างป๊ะหวังกับหวัง” ซึ่งเป็นบทสนทนาแนวคิดตามหลักศาสนาอิสลามผนวกเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งมีภาพวาดป๊ะหวังนั่งคุยกับหวังแนบข้อเขียนไว้

ผมมองว่า อัลบิดายะห์ก็คือนิตยสารจำพวก Review เพียงแต่ในยุคสมัยนั้น เป็นการ Review หรือประมวลข่าวสารทั่วๆ ไปมานำเสนอเสียมากกว่าเป้าประสงค์อื่นๆ

 

นอกเหนือจากอัลบิดายะห์แล้ว ผมใคร่ขอแนะนำอีกสักสื่อสิ่งพิมพ์มุสลิมยุคเก่าๆ ที่น่าศึกษามากๆ อย่าง มุสลิมสัปดาห์ หรือ The Muslim Weekly

ซึ่งพอล่วงเข้าปีใหม่ พ.ศ.2500 ก็พลันเผยโฉมในบรรณพิภพ ฉบับปฐมฤกษ์ออกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มกราคม จัดจำหน่ายราคาฉบับละ 2 บาท 50 สตางค์

ภายใต้การดำเนินงานของไพโรจน์ อาจวาริน เป็นผู้อำนวยการ เกษม กุลเกษม เป็นผู้จัดการ บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาคือ วิทยา ศรีสุวรรณ์

ส่วนอีกสองคนประจำกองบรรณาธิการได้แก่ ทวีศักดิ์ ดุลยพินิจ และราเชนทร์ กุลเกษม สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 20/2-3 ซอยโภคี สี่แยกมหานาค พระนคร

สำหรับเจตนารมณ์การออกหนังสือนั้น บรรณาธิการซึ่งก็น่าจะเป็นวิทยา ศรีสุวรรณ์ แถลงไว้ในหน้าสุดท้าย (หน้า 34) อย่างยืดยาว ความว่า

“ในขณะที่ “มุสลิม” ฉบับที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ อุบัติขึ้นมาสู่บรรณโลก ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนอย่างแท้จริง ความเหลวแหลกของสังคมปัจจุบันไม่มีอะไรดีขึ้นเพราะอะไร? ความหมายของสังคมมิได้หมายถึงสังคมบนฟลอร์เต้นรำหรือสังคมของท่านเศรษฐีมีทรัพย์เท่านั้นก็หาไม่ แต่ทว่าทุกคนที่อยู่ในโลกนี้ไม่ว่าจะทำงานประเภทใดหรือจะมีฐานะเป็นอย่างไร ต่างถือว่าเป็นที่อยู่ในสังคมทั้งสิ้น

“มุสลิม” ฉบับปฐมฤกษ์นี้เรายังมิอาจที่จะกล่าวต่อท่านผู้มีอุปการะว่าดีพร้อมทุกประการทั้งฉบับ เพราะผมในนามคณะผู้จัดทำถือว่า “มุสลิม” สัปดาห์เสมือนเด็กที่กำลังจะเจริญเติบโตต่อไปจากการอุปการะคุณของท่านๆ ที่มีเมตตา ฉนั้นหากจะมีสิ่งใดที่ขาดตกบกพร่องและผิดพลาดไปบ้างนั้น เรายินดีที่จะรับฟังข้อติชมจากท่านอยู่ตลอดเวลา

เมื่อโปสเต้อร์โฆษณาของ “มุสลิม” สัปดาห์ได้แพร่สพลัดไปทั่วทุกมุมเมืองแล้ว ทางคณะผู้จัดทำ “มุสลิม” รู้สึกอบอุ่นขึ้นมากจากจดหมายที่หลั่งไหลเข้ามาสู่สำนักงานตลอดมา ซึ่งเปรียบเสมือนโอสถขนานเอกที่ช่วยบำรุงศรัทธาของคณะผู้จัดทำให้แก่กล้า พร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของมวลชนต่อไปจนชีวิตจะหาไม่ สำหรับท่านที่กำลังคิดอยู่ว่าจะติหรือชม “มุสลิม” อย่างไร โปรดส่งข้อคิดเห็นของท่านมายังสำนักงาน “มุสลิม” เสียแต่วันนี้และผลนั้นจะบังเกิดขึ้นกับท่านและสังคมในวันหน้า

เรื่องในฉบับนั้น “มุสลิม” ได้พยายามที่สรรค์หาแต่เรื่องที่เข้มข้นและเป็นสาระมาเสนอสนองพระเดชพระคุณทั้งสิ้น ตลอดจนข่าวสารการเมืองโดยเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิม “มุสลิม” สัปดาห์ก็ได้จัดเรื่องเกี่ยวกับศาสนามาบรรจุไว้ เพื่อท่านจะได้ศึกษาและเก็บไว้เป็นสมบัติประจำห้องสมุด ให้สมกับท่านได้สละเงินสองบาทห้าสิบสตางค์มาอุปการะ

“มุสลิม” สัปดาห์ ฉบับต่อๆ ไปจะออกวางตลาดทุกเช้าวันศุกร์ และเพื่อท่านจะได้มี “มุสลิม” อ่านประจำก่อนที่หนังสือจะขาดตลาด โปรดควรจะบอกรับเป็นสมาชิกเสียก่อน”

 

หน้าปก มุสลิมสัปดาห์ ฉบับแรกสุดเป็นภาพท่านจุฬาราชมนตรี (ขณะนั้นคือท่านต่วน สุวรรณศาสน์) กำลังขอพรให้แก่บรรดาพี่น้องมุสลิมชาวปักษ์ใต้ที่เข้าเยี่ยมเนื่องในคราวมาทัศนาจรกรุงเทพฯ

ลองพลิกดูในเล่ม พบการนำเสนอสารพัดเนื้อหาความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิม เช่น บทสัมภาษณ์เรื่องมุสลิมภาคใต้ ขอแยกดินแดน, ข่าวการมาเยือนเมืองไทยของประมุขอิสลามแห่งฟิลิปปินส์, กรณีที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้วิ่งเต้นขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคมเรื่องสิทธิ์ในการลดค่าโดยสารรถไฟให้แก่กรรมการประจำมัสยิดครึ่งราคา และลงโฆษณาร้านตัดผมบุรุษ “มุสลิมบาร์เบอร์” ตรงเยื้องตรอกพระสวัสดิ์ (คิงค์ บาร์เบอร์เก่า) เลขที่ 67 ถนนสามเสน บางลำภู

สื่อสิ่งพิมพ์ปลายทศวรรษ 2490 และปีพุทธศักราช 2500 ถ้าปราศจากงานเขียนบันเทิงคดีคงดูจะขาดพร่องไป มุสลิมสัปดาห์ ก็นำเสนอ “เรื่องสั้น” เช่นกัน

ดังในฉบับปฐมฤกษ์หน้า 18-21 ลงพิมพ์เรื่อง “บังโก๊อยู่ที่ไหน” ของวิจิตร ฤดี บอกเล่าถึงการได้รับเอกราชของอินโดนีเซีย

 

อีกข้อสังเกตในมุสลิมสัปดาห์ คือมีการนำคำว่า “มนังคสิลา” มาเขียนเป็นภาษาอาหรับและอธิบายความหมายโดยพรหมทาษ ช้าดี มิหนำซ้ำ หลังหน้าปกยังลงพิมพ์ ส.ค.ส. ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะส่งมาอวยพรปีใหม่ชาวมุสลิมทั่วประเทศ พิจารณาตรงจุดนี้ก็เห็นว่าคล้องจองกับบริบทประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2500 อย่างลงตัว

เนื่องจากตอนนั้น จอมพล ป. กำลังพยายามหาเสียงในการเลือกตั้งกึ่งพุทธกาล ซึ่งกำหนดจะจัดในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน

จึงพอจะวิเคราะห์ได้ว่า จอมพล ป. ต้องการฐานเสียงจากชาวมุสลิมให้สนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

และอาศัยหนังสือพิมพ์ มุสลิมสัปดาห์ ประหนึ่งกระบอกเสียง

ในหนังสือ เลือกตั้งกึ่งพุทธกาล เรียบเรียงโดยไทยน้อยและรุ่งโรจน์ ณ นคร (ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2500) รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 มกราคม จอมพล ป. พร้อมคณะพรรคเสรีมนังคศิลาได้ไปแสดงตัว ณ ชุมนุมสันนิบาตมุสลิมที่สนามกีฬาแห่งชาติ การปราศรัยของจอมพลครั้งนั้นเรียกเสียงเฮฮาเกรียวกราวเพราะเน้นพูดติดตลกตลอด

เขากล่าวว่า จะสนับสนุนศาสนาอิสลามเต็มที่และส่งเสริมชาวมุสลิมให้ได้ไปนครเมกกะ นอกจากนั้น จะช่วยเรื่องการจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านให้อยู่ จอมพล ป. ยังจัดข้าวหมกไก่มาแจกจ่ายแก่พี่น้องชาวมุสลิมด้วย ทั้งยังเอื้อนเอ่ยว่าที่ได้จัดข้าวหมกไก่มาเลี้ยงวันนี้ ก็เพื่อต้องการให้ทุกคนอยู่ดีกินดี เพราะข้าวหมกไก่กินแล้วจะมีสุขภาพดีนัก

มองเผินๆ มุสลิมสัปดาห์ก็เข้าข่ายนิตยสาร Review ข่าวสารปกติๆ

แต่หากฟังน้ำเสียงในตัวเล่มดีๆ อาจจัดสิ่งพิมพ์นี้เป็น “นิตยสารแนวการเมือง” เลยก็ว่าได้

 

หลังปี พ.ศ.2500 เรื่อยมาตราบปัจจุบัน สื่อสิ่งพิมพ์นำเสนอความรู้เรื่องอิสลาม มุสลิมและมลายูหลายหัวหลายฉบับยังคงตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเนืองๆ ทั้งที่จัดทำโดยชาวพุทธและชาวมุสลิมเอง

ดังเช่น ราวๆ ปี พ.ศ.2520 ก็มีนิตยสารรายปักษ์สำหรับชาวใต้อย่าง

ภาพข่าวทักษิณ ที่ในเล่มนำเสนอข่าวสารความเป็นไปในสังคมไทยต่างๆ นานา ซึ่งดูจะเน้นข่าวการเมืองและข่าวชายแดนภาคใต้ ผ่านสองภาษาคือ ภาษาไทย และภาษาอาหรับ ชื่อนิตยสารบนหน้าปกก็มีทั้งภาษาไทย และภาษาอาหรับที่อ่านได้ว่า “อูตูซันไทยสลาตัน” (ขอบคุณอามีนะห์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ช่วยถอดเสียงอ่าน)

เจ้าของและบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ภาพข่าวทักษิณ คือ สนิท ธนะจันทร์ มีสุรินทร์ เหมนุกูล เป็นบรรณาธิการผู้ช่วย

จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ

 

วกมายัง The Melayu Review ต้นทศวรรษ 2560 แม้แรกทีเดียวแอบคาดคิดอยู่บ้างว่า โดยชื่อวารสารจะทำให้เนื้อหายึดโยงอยู่กับนำเสนอความรู้ข่าวสารเรื่องอิสลาม มุสลิม และมลายูตามแนวทางของสิ่งพิมพ์ยุคเก่าๆ อย่างอัลบิดายะห์ และมุสลิมสัปดาห์

ครั้นลองจดจ่อสายตาและสูดดมข้อเขียนบนหน้ากระดาษตลอดทั้งเล่ม พลันสัมผัสกับการขยับขยายปริทัศน์ของ “มลายู” ผ่านแง่มุมที่กว้างขวางออกไป

ฤๅจะเป็นเพราะบรรณาธิการเยี่ยงซะการีย์ยา อมตยา สวมบทบาทนักกวีนักวรรณกรรมแจ่มจรัส เขาจึงพยายามใช้การ Review ในรูปแบบ “วารสารวรรณกรรม” เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เรื่องราวของ “มลายู” ได้อย่างเป็นสากล

อ้อ! ไหนๆ ผม Review สื่อสิ่งพิมพ์นำเสนอความรู้เรื่องอิสลาม มุสลิมและมลายูมาหลายฉบับแล้ว ขอแจ้งข่าวสารสักหน่อยเถอะ ยามบ่ายวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคมศกนี้ จะมีกิจกรรมเปิดตัว The Melayu Review ณ ร้าน In_t_af Cafe & Gallery ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี