การเสียชีวิต ของนายอับดุลเลาะ ที่ชายแดนใต้ ในมือหน่วยความมั่นคง สะเทือนทั้งในและนอกสภา

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวหน้าหนึ่งในชายแดนใต้น่าจะเป็นข่าวการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชาว จ.ปัตตานี เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม 2562 ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

หลังจาก 35 วันเป็นชายนิทรานอนรักษาตัวเพราะอาการสมองบวมอันเกิดขึ้นหลังจากที่เขาถูกเชิญตัวไปให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และต่อมากลายเป็นผู้ป่วยหนักในวันที่ 21 กรกฎาคม

ความที่คดีนี้ได้รับความสนใจในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

และสังคมตั้งคำถามมากมายถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะเขาได้รับบาดเจ็บขณะที่กำลังถูกสอบสวนในค่าย

แต่ผลของการแถลงข่าวทั้งแพทย์และคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเรื่องนี้ไม่สามารถตอบได้ว่า ช่วงเวลาถูกสอบสวนนั้น (ก่อนจะหมดสติ) มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

เพียงแต่แพทย์แถลงว่า ขาดอากาศหายใจ โดยไม่ตรวจพบการซ้อมทรมาน

กล่าวคือ คณะกรรมการที่ได้ประชุมกัน 3 ครั้ง พบว่าจากผลการตรวจของแพทย์ทั้ง 3 โรงพยาบาลที่ให้การรักษา ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย ไม่มีร่องรอยฟกช้ำ และไม่มีร่องรอยจากอุบัติเหตุ

ส่วนอาการสมองบวมของผู้ป่วย ทางคณะกรรมการได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากคณะแพทย์ สรุปว่าอาจเกิดได้จาก 3 ประเด็น คือ

1. สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ซึ่งคณะแพทย์ได้ชันสูตรในชั้นต้นแล้วไม่พบร่องรอยกระทบกระเทือนทางสมอง

2. อาจเกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง ที่คณะกรรมการยังไม่สามารถหาสาเหตุอย่างละเอียดชัดเจนได้ เพราะยังไม่สามารถเอ็กซเรย์ได้

3. ขาดอากาศหายใจหรือไม่มีออกซิเจนเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดได้หลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ หรือตัวผู้ป่วยหมดสติ และมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร

ส่วนรอยแผล 2 แผลที่พบบริเวณข้อพับแขนขวา พบว่าเป็นร่องรอยที่เกิดจากการรักษาอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย

ดังนั้น ในเรื่องลื่นล้มหรือเกิดอุบัติเหตุไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่มีร่องรอยฟกช้ำบนร่างกายตามรายงานแพทย์ ไม่มีรอยกระแทกบนสมอง คณะกรรมการจึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นสาเหตุของสมองบวมในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับหลอดเลือดโป่งพอง หรือการขาดออกซิเจนอันอาจเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น หรือจะเป็นจากการขาดสติและเกิดการปิดกั้นภาวะทางเดินหายใจเอง

ซึ่งทำให้คนชายแดนใต้อดคิดไม่ได้ว่าการตายของผู้คนที่ตากใบเมื่อ 14-15 ปีก่อน ในมือหน่วยความมั่นคงก็ขาดอากาศหายใจ “เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นในที่โล่ง กลางวันแสกๆ ก็ยังจับคนผิดมาลงโทษไม่ได้ จะไปหวังอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในค่ายทหารในตอนกลางคืน”

นี่คือคำที่เพื่อนมลายูมุสลิมของผู้เขียนสะท้อนออกมา

เพจดังชายแดนใต้อย่าง Patani NOTES รายงานว่า “การเสียชีวิตของอับดุลเลาะเรียกปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนบางคนเห็นว่า การเสียชีวิตนี้แม้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังระบุสาเหตุชัดเจนไม่ได้ แต่การป่วยที่เกิดขึ้นหลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารซึ่งเป็นพื้นที่ของทางราชการ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่หนีไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบ”

การเสียชีวิตของเขาในมือหน่วยความมั่นคงยังสะเทือน (คาดว่า) ในสภาด้วยเช่นกันเมื่อ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เคยพูดคุยกับญาติและภรรยาของนายอับดุลเลาะถึงกรณีดังกล่าว โดยทั้งหมดพูดเหมือนกันว่า เรื่องเงินทอง หรือการให้ความดูแลภายหลังการเกิดเหตุนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความจริงที่เกิดขึ้น และความเป็นธรรมที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติต่อนายอับดุลเลาะว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่เจ้าตัวถูกควบคุมตัว ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำซากอีก”

“แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 ชุด แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชี้แจงแต่อย่างใด และเราหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุการณ์สุดท้าย และจะไม่มีประชาชนทั้งในจังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่อื่นๆ ในประเทศพบกับเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ทางสภาไม่มีประชุม เมื่อมีการเปิดประชุมอีกครั้ง ทางเราจะตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ในที่ประชุมอีกครั้งแน่นอน”

“ที่ผ่านมา ไม่ใช่มีเพียงแค่กรณีของนายอับดุลเลาะเพียงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หลายคนได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการและเสียชีวิต แต่เรื่องดังกล่าวอาจไม่ได้รับความสนใจ เพราะประชาชนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าพวกเขาทำความผิดบางอย่าง หรือเป็นนักโทษถึงถูกคุมตัว ซึ่งเราต้องเรียนว่า การที่คนเหล่านี้ถูกคุมตัวนั้น พวกเขายังไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ เลย จึงอยากให้สังคมหันมาสนใจปัญหาเหล่านี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น” (https://voicetv.co.th/read/eJ6emlXx-…)

ในขณะที่นายมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะเบอร์ 1 ของ กอ.รมน. รมว.กลาโหม ในฐานะเบอร์ 1 ของการงานความมั่นคง ซึ่งประจวบเหมาะเป็นคนเดียวกัน ท่านจะเสียใจหรือไม่กับการจากไปของประชาชนชายแดนใต้คนนี้นั้นเป็นเรื่องความรู้สึกของท่าน ท่านจะทราบเรื่องนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คำตอบในการจัดการความไม่ชอบมาพากลหลายประการในกรณีนี้นั้นเป็นความรับผิดชอบต่อประชาชน เป็นกิจการสาธารณะ”

“ท่านควรพิจารณา ชี้แจง และสร้างความมั่นใจต่อสังคม ไม่ใช่สร้างความหวาดระแวง ผลักชาวบ้านไปตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกรณีนี้ ถือเป็นความบาดแผลทางใจอีกครั้งจากผลกระทบของกฎหมายไม่ปกติ”

นางสาว Rungrawee Chalermsripinyorat นักวิจัยความขัดแย้งชายแดนใต้ กล่าวว่า “ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวคุณอับดุลเลาะ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ได้มีการผ่าศพชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต แม้จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องความเชื่อทางศาสนา” (สำหรับผู้เขียนมีทัศนะว่าไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนาในกรณีการตายไม่ปกติ แต่เขาไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมซึ่งสอดคล้องกับทัศนะญาติของอับดุลเลาะ (โปรดดูบทความผู้เขียนเรื่องการผ่าพิสูจน์การนี้ตายไม่ปกติตามหลักการอิสลาม https://deepsouthwatch.org/th/node/86)

โดย The Reporters เพจดังเรื่องชายแดนใต้ รายงานว่า ญาติอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่อนุญาตให้ผ่าพิสูจน์ศพ เพราะเสียใจว่า 35 วันไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่เชื่อมั่นแล้วว่าจะได้ความเป็นธรรม “ครอบครัวเสียใจมากครับ แม้หมอพยายามบอกให้ทำใจ แต่พวกเรายังหวังว่าเขาจะดีขึ้น” “เป็นที่ทราบดีว่าภรรยาอับดุลเลาะเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีครั้งนายกรัฐมนตรีเยือนยะลา”

(โปรดดู https://www.matichonweekly.com/column/article_221896)

นายมะ ญาติอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เปิดเผยผ่าน The Reporters ว่า

“ตอนตี 2 แพทย์ได้โทรศัพท์ไปแจ้งว่านายอับดุลเลาะมีอาการทรุดหนักจากอาการปอดอักเสบ ใช้การไม่ได้ ความดันลดลง ผมจึงแจ้งภรรยาของอับดุลเลาะรีบไปโรงพยาบาล ทันได้ดูใจตอนตี 4 ตอนนี้ครอบครัวเสียใจมาก มีหลายฝ่ายขอให้มีการผ่าชันสูตรศพ แต่ครอบครัวโดยพี่สาวนายอับดุลเลาะ ตัดสินใจแล้วว่าจะให้ชันสูตรพลิกศพเพียงภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถให้ผ่าภายในได้แล้ว เพราะครอบครัวเห็นว่า เวลา 35 วันที่ผ่านมา มีกระบวนการมากมายที่จะพิสูจน์ความจริงให้กับอับดุลเลาะ แต่กลับไม่สามารถหาความจริงหรือความยุติธรรมให้ได้ จึงไม่เชื่อมั่นในการผ่าพิสูจน์ศพ ที่ทำให้ครอบครัวยิ่งเสียใจ”

“จะผ่าเพื่ออะไร เราอยู่ที่นี่มาเป็นเดือน ไม่ทำอะไร พี่สาวอับดุลเลาะบอกกับผม และภรรยาเขาโทร.มาหาผม ไม่อยากเจอหมอ คิดว่าเป็นพวกเดียวกับทหาร เข้าใจว่าหมอมีจรรยาแพทย์ แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวหมดหวัง เช่น ขอผลเลือดก็ไม่ให้ และหมอบอกตลอดว่า ให้ทำใจ และตั้งแต่วันแรกที่มาเฝ้าก็มีทหารมาควบคุม ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัว ทุกอย่างอยู่ในสายตาทหาร ทั้งๆ ที่อับดุลเลาะหมดสติก็อยู่ในความดูแลของทหาร จะให้เราไว้ใจได้อย่างไรอีก และที่ผ่านมาผลตรวจสอบต่างๆ ไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับครอบครัวได้”

ในขณะที่โฆษก กอ.รมน.ภาคสี่กล่าวว่า “อย่าใช้ความรู้สึกเล่นประเด็นนี้ เพราะแพทย์ยืนยันมาตลอดว่าไม่พบร่องรอยการซ้อมทรมาน” (โปรดดู

https://mgronline.com/politics/detail/9620000081374)

คําถามที่ยังก้องหูชาวบ้านว่า “จริงอยู่เหตุการตายหลักคือภาวะสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด ส่วนการติดเชื้อในปอดทำให้ปอดบวมแล้วลามเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดคือภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิต ตามที่แพทย์โรงพยาบาลกล่าว แต่สิ่งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้คือ อะไรคือต้นเหตุให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด …อันนี้อาจเกินภาระของแพทย์ แต่ต้องการให้คณะกรรมการสอบสวนที่เป็นกลางอย่างยิ่งในการหาสาเหตุเพื่อดำรงความรู้สึกไม่ยุติธรรมกลับคืนมา”

โจทย์ใหญ่ที่คอยสุมไฟใต้กองใหม่ตลอดคือความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเชิงประจักษ์ ที่ชาวบ้านสัมผัสได้

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล โปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้คือความท้าทายของทุกคนโดยเฉพาะคนทำงานการเมือง

และการจับผู้ต้องสงสัยไปซักถามน่าจะต้องทบทวนหรือหยุดไว้ก่อน หากเรื่องของอับดุลเลาะยังตอบตสังคมไม่ได้มากกว่าบอกว่า “กล้องวงจรปิดในค่ายไม่ทำงาน”

โดยไม่มีใครสักคนกล้าออกมารับผิดชอบ