รายงานพิเศษ / มองบทบาท ‘บิ๊กแดง’ ผ่านโผทหาร ดัน ‘บิ๊กแก้ว-บิ๊กบี้’ 2 ขุนพลประกบ ‘บิ๊กตู่’ มองเกมลึก ‘บิ๊กลือ’ วางตัวแม่ทัพเรือ ‘เสธ.อุ้ย-รองช่อ-เสธ.แก๋ง’ ชิงดำ

รายงานพิเศษ

 

มองบทบาท ‘บิ๊กแดง’ ผ่านโผทหาร

ดัน ‘บิ๊กแก้ว-บิ๊กบี้’ 2 ขุนพลประกบ ‘บิ๊กตู่’

มองเกมลึก ‘บิ๊กลือ’ วางตัวแม่ทัพเรือ

‘เสธ.อุ้ย-รองช่อ-เสธ.แก๋ง’ ชิงดำ

 

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศเป็นนโยบายไว้แล้วว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ให้คำนึงถึงการทำให้เกิดความเป็นธรรม พิจารณาที่ขีดความสามารถ อาวุโสด้วย รวมทั้งการตรวจสอบประวัติให้ดี

อันถือเป็นโผแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม แม้จะมีบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ช่วยกลั่นกรองมาให้แล้วครั้งหนึ่งก็ตามที

ทั้งนี้เพราะ ผบ.เหล่าทัพยังคงสานต่อประเพณีทานอาหารเช้ากับ พล.อ.ประวิตรทุกวันศุกร์ แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่ได้เป็น รมว.กลาโหมแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงอยู่

อีกทั้งบทบาทในการจัดโผทหารของบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ซึ่งเป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตรด้วยแล้ว ก็ย่อมสะท้อนถึงความสำคัญของ พล.อ.ประวิตรในการจัดโผทหาร ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แม้จะไม่ได้เป็น รมว.กลาโหมก็ตาม

ไม่แค่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังออกตัวไว้ว่า หากมีตำแหน่งที่ไม่ลงตัว ตนเองจะไม่เป็นคนที่ตัดสินใจ แต่จะให้คณะกรรมการของแต่ละเหล่าทัพ

บัญชีรายชื่อโยกย้ายทหารของทั้ง 3 เหล่าทัพ และ บก.กองทัพไทย ถูกส่งให้ พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหม 1 สัปดาห์ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ากลาโหม แล้วนัดประชุมวงเล็กกับ ผบ.เหล่าทัพ ในเรื่องโผโยกย้ายทหาร

โดยให้ยึดตามระเบียบตาม พ.ร.บ.กลาโหมปี 2551 ที่ให้โผโยกย้ายทหารชั้นนายพล ผ่านบอร์ด 7 เสือกลาโหม ที่มี รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ในการพิจารณาร่วมกัน ก่อนที่จะลงนามท้ายคำสั่งส่งให้นายกฯ ที่ก็เป็น รมว.กลาโหมเองด้วย

การจัดโผปีนี้ ไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีการโหวตใดๆ แม้แต่ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ส่งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. ข้ามไปเป็นเสนาธิการทหาร เพื่อเตรียมจ่อคิวขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในโยกย้ายตุลาคม 2563 เมื่อบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ที่จะเกษียณ

แม้อาจจะเกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมาบ้าง สำหรับนายทหารใน บก.กองทัพไทย ที่ได้ขยับกันน้อยลง เพราะต้องเปิดตำแหน่งให้นายทหารจาก ทบ.ข้ามห้วยมาเสียบยอดก็ตาม

ด้วยเพราะรู้กันดีว่า ทุกอย่างได้ถูกจัดวางไว้แล้วว่า พล.อ.เฉลิมพล ซึ่งเป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วยนั้น และเป็นเตรียมทหาร 21 เพื่อนสนิทอีกรุ่นหนึ่งของ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นมาจ่อเตรียมเป็น ผบ.ทหารสูงสุด

(ซ้าย) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ (ขวา) พล.ท.สุนัย ประภูชะเนย์

ขณะที่ในส่วนของ ทบ. พล.อ.อภิรัชต์ได้จัดทัพ 5 เสือ ทบ.ใหม่ เพื่อเคลียร์ทางให้บิ๊กบี้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (ตท.22) แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทบ. เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป

นั่นหมายถึงการวางตัวทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ. ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2566 พร้อมกัน ขึ้นมาอยู่ยาว 3 ปี เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ที่จะเป็นรัฐบาลเทอมแรก 4 ปี

รวมทั้งการดึงบิ๊กนัย พล.ท.สุนัย ประภูชะเนย์ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) ขึ้นมาเป็นพลเอก นั่งใน 5 เสือ ทบ. เป็น ผช.ผบ.ทบ.อีกคน

แม้เดิมจะมีข่าวว่า เตรียมทหาร 20 เสนอชื่อให้บิ๊กป๋อ พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ เพื่อที่จะได้ดันเพื่อน ตท.20 อย่างบิ๊กโม พล.ต.จิระเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 คนใหม่

แต่บรรดาเตรียมทหาร 21 ที่ก็ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นอีกรุ่นของ พล.อ.อภิรัชต์ ก็หนุนบิ๊กหนุ่ย พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 3 เลยก็ตาม

เพราะ พล.ท.ฉลองชัย ยังมีอายุราชการถึงกันยายน 2564 จึงต้องนั่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ต่อไปอีกปี

นั่นจึงทำให้ พล.ท.สุนัย แกนนำ ตท.21 ที่ พล.อ.อภิรัชต์เชื่อมือและไว้วางใจ มอบหมายงานสำคัญให้ทำมาตลอด ได้ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทบ. แม้จะไม่มีโอกาสได้เป็น ผบ.ทบ. เพราะเกษียณกันยายน 2563 พร้อม พล.อ.อภิรัชต์ แต่ก็ถือว่าเป็นศักดิ์ศรีของ ผบ.นสศ. ที่จะต้องได้ขึ้นห้าเสือ ทบ.อีกคน

ถือเป็นการเดินตามรอยบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และอดีต ผบ.ทบ. และบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ล้วนเป็น “พี่เลิฟ” ของ พล.ท.สุนัย ทั้งสิ้น

 

การจัดทัพ ทบ.ใหม่ ทำให้บิ๊กตู่ พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผช.ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องข้ามมาเป็นรองปลัดกลาโหม ทำงานกับ พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหม ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกเลิฟบิ๊กป้อม” เช่นกัน

แต่ที่น่าสังเกตคือ พล.อ.อภิรัชต์ยังคงให้บิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ นั่งรอง ผบ.ทร. ต่อ และบิ๊กเป้ง พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เป็น เสธ.ทบ.ต่อ

ด้วยเพราะ 1 ปีที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ที่มีภารกิจจากการสวมหมวกหลายใบ โดยเฉพาะ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจมหาดมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ด้วยแล้ว ทำให้มอบหมายงานให้ พล.อ.ณัฐพล และ พล.อ.ธีรวัฒน์ ดูแลแทนเสมอ

ดังนั้น หากโผนี้ไม่เปลี่ยน รอง ผบ.ทบ. และ เสธ.ทบ. ก็ถือว่าเป็นการจัดโผที่หาดูได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อรอง ผบ.ทบ. ที่จะนั่งต่อเป็นปีที่ 2 ยังมีอายุราชการถึงปี 2564 คือเป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ ได้เลยในตุลาคม 2563 เพราะอาวุโสสูงมาก ครองอัตราพลเอกพิเศษ เป็นปีที่ 2

แต่ในยุคนี้ทำได้ เพราะรู้กันดีว่า ทุกอย่างถูกวางไว้ให้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในอนาคต ไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนที่จะทำให้เปลี่ยนตัวคนที่จะเป็น ผบ.ทบ. ไปเป็นนายทหารคนอื่น

ดังนั้น ห้าเสือ ทบ.ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ ปีที่ 2 ก็จะมีทั้งเตรียมทหาร 19-20 และ 21

 

ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.อภิรัชต์มีบทบาทในการจัดโผโยกย้ายทหารครั้งนี้ไม่น้อย ทั้งในฐานะที่เป็นน้องรักสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ และมีสถานภาพพิเศษ จึงทำให้ข้อเสนอของเขาได้รับการไฟเขียวจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร

จนมีการมองข้ามช็อตกันไปว่า เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์เกษียณราชการกันยายน 2563 แล้ว เขาจะมีตำแหน่งใดรองรับ

เพราะเมื่อนั้นสถานการณ์จะเป็นตัวตัดสิน ระหว่างการที่ พล.อ.ประยุทธ์ลุกจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม ที่ควบอยู่ แล้วให้ พล.อ.อภิรัชต์มานั่งเป็นสนามไชย 1 ดูแลกองทัพแทน

และนั่นย่อมหมายถึงว่า บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เตรียมทหาร 16 รุ่นพี่ ก็อาจจะต้องไปพักผ่อน เพราะเก้าอี้ รมต.ใน ครม.จะเกิน โดยให้มี รมว.กลาโหม คนเดียว ไม่ต้องมี รมช.กลาโหม

แต่คาดกันว่า พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้อยากจะมาเล่นการเมือง หรือการเป็น รมว.กลาโหม แต่อยากที่จะทำงานในฐานะนายทหารรักษาพระองค์ ในอีกสถานะหนึ่งต่อไปมากกว่า

 

แต่ก็ไม่มีใครหยั่งรู้อนาคตและสถานการณ์ในเวลานั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้ง พล.อ.เฉลิมพล และ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ที่ในตอนนั้นจะเป็นทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ. จะเป็นกำลังหลักของกองทัพ ก็ล้วนเป็น “สายตรง” ของ พล.อ.อภิรัชต์ทั้งสิ้น

ในมุมหนึ่ง การที่ พล.อ.อภิรัชต์วางตัว พล.อ.เฉลิมพล และ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ไว้ก็เพื่อทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สบายใจได้ว่า มีนายทหารที่ไว้วางใจมาคุมกองทัพ จะได้ไม่ต้องพะวงหลัง หรือกลัวการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะทั้งคู่จะนั่งยาวถึง 3 ปี

จน พล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฐบาลครบเทอมแรก 4 ปี

พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน

ขณะที่กองทัพเรือ บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. จัดทัพฉลามอย่างมีกลยุทธ์ ด้วยการมีแคนดิเดตชิง ผบ.ทร.ในปีหน้ากันถึง 3 คน

แม้ เสธ.อุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน (เตรียมทหาร 2) เสนาธิการทหารเรือ จะเคยเป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทร.คนต่อไป เพราะในห้าฉลามทัพเรือ ก็เกษียณราชการกันหมดในกันยายนนี้

แต่ พล.ร.อ.ลือชัยกลับไม่ได้ดัน พล.ร.อ.ชาติชาย ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทร. เพื่อครองอาวุโสในอัตรา “พลเรือเอกพิเศษ” แล้วจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทร.ในตุลาคม 2563

แต่ พล.ร.อ.ลือชัยกลับขยับ พล.ร.อ.ชาติชาย เป็น ผช.ผบ.ทร. เท่านั้น แม้จะยังเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.อยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้กลายเป็นตัวเต็ง

ที่แยบยลกว่านั้นคือ การดันบิ๊กช่อ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ทร. ครองอัตราพลเรือเอกพิเศษ เนื่องจากมีอาวุโสกว่า

ที่ส่งผลให้ พล.ร.อ.ช่อฉัตร ที่เป็นรุ่นพี่เตรียมทหาร 19 นั้น กลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร. เพิ่มขึ้นมาอีกคน แถมทั้งยังได้เปรียบในเรื่องอาวุโส และถือว่าจ่ออยู่ด้วย

พล.ร.ท.สิทธิพร มาศเกษม

แต่ที่น่าจับตามองคือ แคนดิเดตอีกคนที่ พล.ร.อ.ลือชัยดันบิ๊กแก๋ง พล.ร.ท.สิทธิพร มาศเกษม ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3 ขึ้นมาเป็นเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่คุมสายงานสำคัญต่างๆ ของ ทร. และกลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.คนใหม่ ที่มาแรงที่สุด

พล.ร.ท.สิทธิพรเป็นเตรียมทหารรุ่น 20 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีคนเก่ง ที่ขยับขึ้นมาเป็นแผง

แต่ไปๆ มาๆ เขากลายเป็นคนที่ถูกจับตามองมากที่สุด หลังมีข่าวสะพัดว่า พล.ร.อ.ลือชัยพอใจในแนวทางการทำงานและอุปนิสัยใจคอ ที่สำคัญคือ อาจเรียกได้ว่า ชะตาต้องกัน ถูกโฉลกกัน

โดยทั้ง พล.ร.อ.ชาติชาย พล.ร.อ.ช่อฉัตร และ พล.ร.ท.สิทธิพร ที่กำลังจะขึ้นมาเป็นพลเรือเอกในโผนี้ ล้วนมีอายุราชการถึงกันยายน 2564 เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 คนก็ยังต้องทำงานแข่งกันเพื่อสร้างผลงานในการชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. แต่ พล.ร.ท.สิทธิพรในฐานะ เสธ.ทร.ที่เป็นตำแหน่งสำคัญ จะได้แสดงฝีมือมากกว่า

เพราะ เสธ.ทร. จะต้องเป็น เสธ.ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นแม่บ้านในการดูแลงานของ ทร. ที่จะกว้างมากขึ้น และเป็นไปตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงทางทะเล 2562 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศรชล.

แต่ก็ไม่อาจมองข้าม พล.ร.อ.ชาติชาย ที่ได้รับการยอมรับในรุ่นว่าเป็นคนเก่ง และมีความสามารถ และถือว่า ยังมีความชอบธรรมที่จะเป็น ผบ.ทร. เพราะก็เติบโตมาตามไลน์

พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ

ขณะที่ พล.ร.อ.ลือชัยยังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับฐานทัพเรือสัตหีบ ด้วยการดัน พล.ร.ท.ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้ขึ้นมาเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ที่ถือว่าเป็น 1 ใน 5 ฉลามทัพเรือ และเป็นตำแหน่งคุมกำลังรบทางเรือ

ทั้งๆ ที่จับตามองกันว่า บิ๊กเคี่ยม พล.ร.ท.สุรชา เคี่ยมทองคำ (เตรียมทหาร 19) ผบ.รร.นายเรือ ซึ่งเคยเป็น เสธ.กร. จะได้กลับมาเป็น ผบ.กร. ในโผนี้

แต่ก็กลายเป็นชื่อของ พล.ร.ท.ชุมศักดิ์ เตรียมทหารรุ่น 21 ที่เข้าป้าย เพราะในโผที่แล้ว บิ๊กเต้ย พล.ร.อ.สุกิตติ์ เสงี่ยมพงศ์ ผช.ผบ.ทร. ก็ขยับเป็น 5 ฉลาม ขึ้นมาจาก ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบมาแล้ว

แต่ พล.ร.ท.ชุมศักดิ์ก็ไม่ได้เป็นแคนดิเดตชิง ผบ.ทร. เพราะเกษียณกันยายน 2563

 

ทั้งนี้ ให้จับตามองการวางตัว ผบ.ทร.คนต่อไป แบบข้ามช็อต ที่จะได้เห็นหน้าค่าตากันในโผโยกย้ายนี้

เพราะในเตรียมทหารรุ่น 20 ยังคงมีคนเก่งและอายุน้อยอยู่อีก 2 คน ทั้งบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. และบิ๊กโต้ง พล.ร.ท.ไกรศรี เกสร รอง เสธ.ทร. ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2565

โดยมีเตรียมทหารรุ่น 21 ที่น่าจับตามอง และขยับขึ้นมาจ่อเตรียมต่อ ทั้งบิ๊กหน่อย พล.ร.ท.ภราดร พวงแก้ว เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ที่เกษียณกันยายน 2565 และ พล.ร.ต.ธีรกุล กาญจนะ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ที่เกษียณกันยายน 2566

ล้วนเป็นการเตรียมวางตัวแม่ทัพนายกองของแต่ละเหล่าทัพ เพื่อให้กองทัพไม่สะดุด และไม่ส่งผลต่อรัฐบาลด้วย

    และที่แน่ๆ คือ จะต้องทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจได้ด้วยว่า จะนำกองทัพเคียงข้างดูแลรัฐบาล และนายกฯ ทหาร อดีตหัวหน้า คสช.คนนี้ไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง