หนุ่มเมืองจันท์ | มูลค่า “เรื่องเล่า”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ตอนที่เตรียมไปบรรยายหลักสูตร The Story

ผมนั่งค้นข้อมูลที่เก็บไว้

อาจจะเป็นเพราะเขียนคอลัมน์ประจำทุกสัปดาห์

การเก็บสะสม “วัตถุดิบ” จึงเป็นเรื่องจำเป็น

เวลาที่เจอเรื่องอะไรที่น่าสนใจ ผมจะรีบบันทึกไว้ทันที

สมัยก่อนจะเขียนในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ

เดี๋ยวนี้ก็เซฟเก็บในคอมพิวเตอร์เลย

ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้เรื่องอะไร

แต่รู้ว่าได้ใช้แน่นอน

The Story เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปะการเล่าเรื่อง หรือ Story Telling ซึ่งถ้านำมาใช้กับธุรกิจ

ภาพจาก The STORY by SPU

จะสามารถสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ได้มากมาย

จริงๆ “อาจารย์บอย” เขาอยากให้ผมเล่าเรื่อง “การเขียน”

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมหลีกเลี่ยงที่สุด

เพราะรู้ว่าสอนยาก

แต่เมื่อ “อาจารย์บอย” ที่มีน้ำใจช่วยเหลือหลักสูตร ABC มาโดยตลอดเอ่ยปาก

การปฏิเสธจึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก

แต่ด้วย “ความคัน” ผมอยากเติมเรื่องอื่นๆ เข้าไป

โดยเฉพาะวิธีการเล่าเรื่องที่สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้ธุรกิจ

ลองค้นข้อมูลที่บันทึกไว้

มีหลายเรื่องเลยครับที่น่าเล่าต่อ

เรื่องแรก เป็นเรื่องสุขภัณฑ์ COTTO รุ่น OVAL

COTTO ดึง “นาโอโตะ ฟูกาซาวา” นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชื่อดังของญี่ปุ่นมาช่วยออกแบบ

“ฟูกาซาวา” คือ คนที่ออกแบบเครื่องเล่นซีดีของ “MUJI” ที่ติดผนังแล้วมีเชือกดึง

เขาได้แรงบันดาลใจจากพัดลมระบายอากาศ

นาฬิการุ่น Twelve ของ Issey Miyake ที่มีเข็มสั้นและเข็มยาวยาวเท่ากันก็ฝีมือของเขา

คนนี้ดังมาก

อ่างล้างหน้า COTTO รุ่น OVAL จะเป็นรูปวงรี

สวยดีครับ

แต่คนไร้รสนิยมทางศิลปะอย่างผมก็มองว่าแค่วงรี

COTTO คงรู้ เขาเลยทำคลิปเรื่องราวของ OVAL ขึ้นมา

เป็นการเล่าเรื่องวิธีคิดของ “ฟูกาซาวา”

“ผมว่ารูปร่างของมนุษย์ที่เป็นอยู่ มันไม่ใช่ทรงกระบอก แต่เป็นรูปทรง OVAL”

เวลาที่ “ฟูกาซาวา” จินตนาการภาพมนุษย์ในมุมมองจากด้านบน เขาจะเห็นเป็นภาพแบบนั้น

รวมทั้งการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์ที่โคจรไปตามแนวโค้งของรูปทรงรี

จึงทำให้เขาพบสัญลักษณ์สำคัญ

นั่นคือ OVAL

เขาบอกว่าเส้นของ “วงรี” อ่อนโยนและอบอุ่นกว่า “วงกลม”

ฟังจบ ผมมองอ่างล้างหน้า OVAL อีกครั้ง

โห สวยขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย

รู้สึกว่าถ้าเราใช้สุขภัณฑ์รุ่นนี้

เราจะ “ติสต์” ขึ้นกว่าเดิม

เพราะมันเป็นงานศิลปะ

ไม่ใช่อ่างล้างหน้า

นี่คือ อิทธิพลของ “เรื่องเล่า” ครับ

เมนูใหม่ของร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ ก็เช่นกัน

ผมเห็นครั้งแรกก็รีบเอามือถือมาถ่ายรูปเลย

“ครีเอทีฟ” จริงๆ

เป็นโครงการร่วมของร้านเกรฮาวด์ฯ บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ และมูลนิธิโครงการหลวงครับ

ตามปกติผัก ผลไม้ จะมีการคัดเกรด

ถ้าผิวไม่สวย หรือรูปร่างไม่งามก็จะถูกคัดทิ้ง

คนซื้อจะเลือกเฉพาะที่สวยๆ เท่านั้น

ทั้งที่รสชาติของผลที่ไม่สวยก็อร่อย หรือบางทีอาจจะอร่อยกว่าลูกที่สวยๆ อีก

เรื่องนี้ในฐานะลูกชาวสวนผลไม้จะรู้ดี

“เกรฮาวด์ฯ” เอาผักและวัตถุดิบที่โดนคัดทิ้งของโครงการหลวงมาทำเป็นอาหาร

ฟังดูแล้วเฉยๆ ใช่ไหมครับ

งั้นลองอ่านคำบรรยายในเมนูของเขา

“1 ใน 5 ของวัตถุดิบที่ถูกคัดออก เป็นเพราะมันไม่สมบูรณ์แบบ ผิวไม่สวย เล็กไป อ้วนไป

และคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าแครอตเบี้ยวๆ คงอร่อยสู้พวกรูปร่างเรียวไม่ได้

สุดท้ายพวกมันก็ลงเอยด้วยการเป็นขยะ ทั้งที่คุณค่าของมันยังคงอยู่ครบ

นั่นทำให้เรามองผักเหล่านี้ใหม่

หาวิธีการใช้วัตถุดิบอย่างรู้คุณค่า

เปลี่ยนพวกมันเป็นอาหารอร่อยที่เหนือความคาดหมาย

ไม่ได้แค่อร่อยอย่างเดียว

แต่ยังช่วยโลกลดขยะอาหาร

ลดภาวะโลกร้อน

ช่วยเกษตรกรให้ยิ้มได้

และนี่คือ เมนูทั้งหมดจาก Special Menu : Perfectly Imperfect

ที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ผักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ให้กลายเป็นจานอร่อยสุดพิเศษสำหรับคุณโดยเฉพาะ”

ครับ เขาเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องใหม่

ทำให้วัตถุดิบที่ถูกคัดออกมี “คุณค่า” เท่ากับวัตถุดิบเกรดดีๆ

และทำให้คนที่สั่งเมนูนี้เป็น “คนดี” ช่วยโลก

สั่งแล้วหล่อขึ้น สวยขึ้นทันที

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบ

เป็นเรื่อง “คบเพลิง” กีฬาโอลิมปิกที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เขาจะให้นักกีฬาเริ่มวิ่งคบเพลิงทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม-24 กรกฎาคม 2020

ญี่ปุ่นไม่ได้มอง “คบเพลิง” เป็นแค่ “คบเพลิง”

แต่เขาตีโจทย์เป็นเรื่อง “ความหวัง”

เริ่มจากการออกแบบจาก “ซากุระ” ที่มี 5 กลีบ

มีคนเคยบอกว่า “ซากุระ” หลังฤดูหนาวที่หนาวเหน็บจะงดงามที่สุด

ใช้เทคนิคการผลิตที่ทันสมัยของรถไฟหัวกระสุนชินกันเซน

“ชินกันเซน” คือ รถไฟแห่งความหวังของชาวญี่ปุ่น

เป็นความภาคภูมิใจของคนญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สร้างเสร็จเพื่อรองรับกีฬาโอลิมปิก 1964

และที่สำคัญที่สุดคือ วัสดุที่ใช้

30% ของวัสดุมาจากอะลูมิเนียมที่ถูกทิ้งจากซากของบ้านพักชั่วคราวผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011

บ้านพักนี้เคยสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้ที่ประสบภัยชาวญี่ปุ่น

วันนี้วัสดุเหลือทิ้งนี้ได้นำมาหลอมใหม่

ใช้เป็น “คบเพลิง” ของกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

ถ้า “ไฟ” เปรียบเสมือน “ความหวัง”

“คบเพลิง” นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการจุดไฟแห่ง “ความหวัง” ให้กับทุกคน

เส้นทางที่วิ่งผ่าน คือ เส้นทางแห่งความหวัง

และ “ความหวัง” นี้ไม่ใช่เพื่อเราเพียงคนเดียว

“อะลูมิเนียม” ที่หลอมเป็น “คบเพลิง” มาจากวัสดุที่ช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน

“ความหวัง” จึงไม่ใช่เพื่อเรา

แต่เพื่อคนทั้งโลก

ภาพจาก The STORY by SPU

อ่านจบแล้วลองมองไปที่ “คบเพลิง” นั้นอีกครั้ง

เห็น “ความหวัง” เรืองรองอยู่เหนือ “คบเพลิง” ไหมครับ

ถ้าไม่เห็นให้ไปล้างหน้าที่อ่าง OVAL

เส้นวงรีจะทำให้สายตาคุณอ่อนโยนและอบอุ่นขึ้น

ถ้ายังไม่ดีขึ้น

ให้ไปร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่

รู้ใช่ไหมครับว่าต้องสั่งเมนูไหน