อีกสูตร “การเมือง” ก่อนสิ้นสุด “โรดแม็ป” “ปรองดอง” ก่อนเลือกตั้ง

กระแสข่าว “ปรองดอง” ขึ้นมาปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ อีกครั้ง

หลังจากมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้มีการพักโทษในคดีการเมือง เพื่อสร้างความปรองดอง

คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยกร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …

พล.อ.ประยุทธฺ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยในช่วงเข้าสู่ปีใหม่ 2560 ว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ประกอบด้วยกรรมการ 4 คณะ ได้แก่

1. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ

3. คณะกรรมการปรองดอง

และ 4. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

จากนั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในปี 2560 นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับแผนยุทธศาสตร์ด้านปฏิรูปและการปรองดอง จะจัดตั้งสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองเพื่อติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าและปัญหาข้อติดขัดและรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี

และมีข่าวจาก นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการบริหารราชการเเผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยมีกรรมการชุดย่อย 4 ชุด

ในจำนวนนี้มีคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบดูแลเพื่อสร้างความปรองดอง ว่าล่าสุดเท่าที่ได้พบและพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกฯ ให้มาดูแลเรื่องการปรองดอง ทราบว่ารองนายกฯ มีความตั้งใจสูงทุ่มเทสุดตัวเรื่องนี้

“ทราบว่าท่านมีเเนวคิดเบื้องต้นว่า ในเร็ววันนี้จะเชิญทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมืองคู่ขัดแย้งเข้ามาพูดคุยเพื่อคิดอ่านหาทางออกขจัดความขัดแย้ง หลังจากนั้นจะทำเป็นข้อตกลงเอ็มโอยู เพื่อยุติและเดินหน้าไปสู่ความปรองดองก่อนการเลือกตั้งให้ได้ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย แต่จะกระทำให้สังคมได้รับรู้อย่างเปิดเผย” รองประธาน สนช.คนที่ 2 ระบุ

 

ที่น่าสนใจได้แก่ประเด็น “ปรองดองก่อนเลือกตั้ง” ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มกราคม

ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “โพลปรองดองก่อนเลือกตั้งตามโรดแม็ป”

ระหว่างวันที่ 9-14 มกราคม ที่ผ่านมา โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.2 ระบุ รัฐบาลและทุกฝ่าย ควรช่วยกันทำให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ก่อนเลือกตั้งตามโรดแม็ป

และประชาชนร้อยละ 90.1 ระบุ ควรมีกฎหมายห้ามหาเสียงโจมตี ก่อความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน

มีเพียงร้อยละ 9.9 เท่านั้นที่ระบุ ไม่ควรห้าม ควรปล่อยให้เป็นเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 กังวลว่า ถ้ามีการเลือกตั้งปีนี้ ความขัดแย้งรุนแรงแบบเดิมๆ จะกลับมา

ทั้งนี้ ประชาชนเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.3 ให้โอกาสรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ทำงานแก้ปัญหาบ้านเมือง มากกว่า 3 ปีขึ้นไป

ในขณะที่ร้อยละ 27.2 ให้เวลา 1-2 ปี ร้อยละ 12.7 ให้เวลา 2-3 ปี และร้อยละ 26.8 ให้เวลาไม่เกิน 1 ปี

 

การปรากฏของแผนการปรองดอง ทำให้เกิดเสียงถามว่า เวลาของ คสช. ผ่านมาเกือบ 3 ปี ทำไมเพิ่งมาเริ่มต้นเรื่องปรองดอง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์มุ่งไปที่ความพยายามสร้างผลงานของรัฐบาล

และจับตาว่า จะเป็นการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองอย่างไรหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงจากหลายๆ ฝ่ายว่า หากมีการเลือกตั้งในปี 2560 หรือ 2561 และ คสช. พ้นหน้าที่ จะทำให้ความขัดแย้งแตกแยกกลับมาอีกหรือไม่

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า การสร้างความปรองดองมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลา จุดยืนของ นปช. คือ พร้อมให้ความร่วมมือ และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการนี้

เพียงแต่มีข้อสังเกตบางประการที่อยากให้ผู้มีอำนาจและประชาชนพิจารณาเพื่อประกอบความเข้าใจว่า ตัวแบบความปรองดองที่เกิดขึ้นในหลายประเทศและได้รับการยอมรับในระดับสากลเขาเดินกันอย่างไร

ที่เอลซัลวาดอร์ อิทธิพลของสงครามเย็นทำให้เกิดสงครามกลางเมืองต่อเนื่องกว่า 12 ปี ขณะที่กัวเตมาลามีการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านราว 30 ปี

เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่าต้องปรองดองจึงให้สหประชาชาติเข้าดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการซึ่งมีชาวต่างประเทศอยู่ด้วยมาทำหน้าที่

ประเทศที่ไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง เช่น ชิลี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ แม้ไม่ใช้สหประชาชาติและไม่มีต่างชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการ แต่มีกระบวนการสรรหาที่ส่วนต่างๆ ทั้งสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา ภาคประชาสังคม คู่ขัดแย้ง เป็นต้น คัดเลือกและให้การรับรอง

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ไม่มีประเทศไหนสร้างความปรองดองสำเร็จโดยอำนาจของคู่กรณีในความขัดแย้ง ส่วนของไทยกำลังจะตั้งคณะกรรมการโดยอำนาจนายกฯ

จึงต้องพิจารณาว่า คณะผู้มีอำนาจชุดนี้มีบทบาทเป็นคู่กรณีหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือไม่ ขณะที่การดำเนินการ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่ยอมรับร่วมกันได้

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าตัวอย่างที่ตนยกมาคือสูตรสำเร็จ หรือผิดจากนี้คือล้มเหลว สิ่งสำคัญคือ ความจริงใจในการทำเรื่องนี้ ถ้าเริ่มด้วยความจริงใจโดยเฉพาะจากฝ่ายผู้มีอำนาจ เชื่อว่าน่าจะให้ผลเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง

ซึ่งอาจจะดีกว่าย่ำอยู่ที่เดิมมาแล้วหลายปี และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะประคับประคองให้เดินหน้าต่อไป

นั่นคือความเห็นจากแกนนำ นปช.

ถึงขั้นนี้ ต้องยอมรับว่า หากเห็นว่า สภาพความแตกร้าว แบ่งแยกในสังคม ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย และจะเป็นอุปสรรคต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าของการเมืองไทย

การปรองดองก็เป็นเรื่องจำเป็น และจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

ปัญหาคือ ผู้นำการปรองดอง ควรจะเป็น “คนกลาง” หรือให้ “คู่กรณี-คู่ขัดแย้ง” มาเป็นผู้นำการดำเนินการ

ถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะ “ผล” ที่จะปรากฏออกมา จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง