จัตวา กลิ่นสุนทร : “นโยบายรัฐบาลใหม่” ใส่ใจ-แบ่งเบาภาระประชาชนแค่ไหน?

ไป (เยี่ยมเพื่อน) “โรงพยาบาล” (3)

หลับๆ ตื่นๆ พยายามฟังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล (ผสม 19 พรรค) ในฐานะที่อยู่ในสังคมของผู้สูงอายุย่อมต้องการอยากรู้ว่ารัฐบาลมีนโยบายเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งเป็น “ผู้สูงวัย” อย่างไรบ้าง

แต่ไม่ได้รับรายละเอียดอะไร นอกจากได้ยินนโยบายหลักจำนวน 12 ข้อของข้อที่ 9 ระบุว่า การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคมเท่านั้น

ก่อนนายกรัฐมนตรีผู้ลุกขึ้นอ่านนโยบายจะอ่านย่อหน้าปิดท้ายว่า “รัฐบาลจะให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาและประชาชนว่า จะบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถอย่างซื่อสัตย์ สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลหลายๆ ชุดที่ผ่านมา ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนักนอกจากกล่าวไว้กว้างๆ เช่นเดียวกันกับระยะเวลาที่จะดำเนินการ รวมทั้งเม็ดเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในการปฏิบัติตามนโยบายว่าจะใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน เอามาจากแหล่งใด

เพราะรัฐบาลยังไม่ได้นำ “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563” เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่รู้ว่าจะมีการกู้เงิน หรือหารายได้มาจากแหล่งไหน หรือไม่? เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ารัฐบาล “เผด็จการ” ซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” ได้บริหารประเทศมา 5 ปีเต็มๆ ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณไปมากมายเพียงไร

เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ไม่มี “ฝ่ายค้าน” จึงไม่มีใครไปตรวจสอบอะไรได้

 

ผู้รู้จริง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจของประเทศกล่าวกันว่า จาก 5 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาล “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) บริหารประเทศชาติเรื่อง “เศรษฐกิจ” ล้มเหลว แต่ยังดึงดันเอาทีมเศรษฐกิจหน้าเดิมมาบริหารงานในรัฐบาลที่แปลงร่างมาสืบทอดอำนาจต่อไปอีก คิดว่าคงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ถึงผู้นำรัฐบาลจะบอกว่ามันแตกต่างกันเพราะรัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง

จึงถูกย้อนกลับว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมจึงไม่จัดเลือกตั้งเสียตั้งแต่ปีแรกๆ หลังการยึดอำนาจ

เรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาเป็นอันดับแรกๆ เพราะถ้าหากมีแต่ความเจ็บป่วยจะเอากำลังกายกำลังสติปัญญาที่ไหนมาประกอบกิจการงานต่างๆ เพื่อช่วยกันทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปได้ ในเวลาเดียวกันประเทศจะต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลในการซื้อหานำเข้าเรื่องของยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และเครื่องมือในการทดลอง ตรวจสอบวินิจฉัยทางการแพทย์ ส่วนใหญ่เพราะประเทศของเราผลิตเองไม่ได้

เมื่อเกิดนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนโดยกลุ่มแพทย์หัวก้าวหน้าที่มองเห็นความสำคัญเรื่องการรักษาพยาบาล และมองเห็นการณ์ไกลต่อไปว่าต้นทุนในการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยนั้นสูงมากๆ หากรัฐบาลไม่เป็นเจ้าภาพโดยบรรจุเข้าเป็นนโยบายของรัฐ ประชาชนจะไม่มีทางเข้าถึงได้

รัฐบาลอื่นๆ ซึ่งชิงชังรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญเรื่องการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ยากไร้ในชนบทซึ่งแต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงเรื่องการรักษาพยาบาลได้เหมือนเช่นทุกวันนี้ ซึ่งได้เพิ่มขีดการพัฒนาความสำคัญขึ้นมากมายจนถึงขั้นมีประกันสังคม มีหลักประกันสุขภาพในชนชั้นล่าง และผู้ใช้แรงงาน

รัฐบาลต่อๆ มาจะเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่วางรากฐานนี้หรือไม่ ไม่ชัดเจน เพียงแต่ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดไหน กระทั่งรัฐบาลมาจากการ “ยึดอำนาจ” กล้าไปยกเลิกนโยบายที่ดีนี้

ส่วนจะดำเนินการต่อยอดไปได้ดีมากน้อยแค่ไหนก็เห็นๆ กันอยู่

ผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบรัฐบาลปัจจุบันว่าให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้มากน้อยgพียงไร ด้วยการเริ่มต้นตั้งแต่การเขียนนโยบาย แถลงนโยบาย และการอนุมัติงบประมาณในการสนับสนุนเรื่องสุขภาพ การรักษาพยาบาลจำนวนมากน้อยเพียงใด

ให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุหรือไม่?

 

ผมเองใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐตลอดมาโดยได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากรัฐบาลเป็นสวัสดิการผ่านหุ้นส่วนชีวิตที่รับราชการ ซึ่งย่อมได้ลดหย่อนผ่อนปรนไปบ้าง อย่างน้อยค่ายา แม้จะไม่ได้รับการยกเว้นค่าบริการทางการแพทย์ ก็ยังดีกว่าบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไปมากอยู่

เช่นเดียวกับเพื่อนผู้สูงวัยที่ต้องผ่าตัดกระดูกสันหลังใกล้ๆ เอว ซึ่งจะว่าไปเท่ากับต้องทำการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง แต่เขายังมีสวัสดิการสามารถเบิกจ่ายได้บ้าง

ที่ต้องผ่าตัด 3 ครั้งเนื่องจากการผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งห่างจากครั้งแรกเป็นเวลานานกว่า 10 ปีนั้นผ่านไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ด้วยความใจร้อนไม่เชื่อฟังแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดบอกว่าให้นอนนิ่งๆ พักรักษาระยะเวลาหนึ่ง แต่กลับอวดเก่งอวดดีพยายามขยับร่างกายก่อนเวลา แผลจึงปริแตกมีเลือดออกมาอีก คุณหมอต้องผ่าตัดซ้ำเสียเงินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ต้องนอนรักษายาวนานขึ้น

ยังโชคดีที่หายลุกขึ้นมาเดินได้สำหรับคนวัยเกินเลข 7 ไปแล้ว แต่ต้องใช้ไม้ค้ำยันบ้าง

 

กับจำนวนรถวีลแชร์ (Wheel Chair) ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดใจ และน่าห่วงกังวลสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะไม่ค่อยได้ไปโรงพยาบาลรัฐในเวลาราชการ ซึ่งหลังจากได้ไปเยี่ยมเพื่อนแล้วได้พบวีลแชร์จำนวนมาก ต่อมาจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพียงแต่ว่าสำหรับผู้สูงวัยเหล่านั้นไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จำเป็นต้องมีญาติ ลูกหลาน คนพา หรือเข็นรถไปโรงพยาบาล มันจึงเป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ สำหรับคนปกติการเดินทางทุกวันนี้ยังยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง

และระหว่างรอแพทย์ตรวจตามขั้นตอนของโรงพยาบาลมันจะต้องเพิ่มพื้นที่สำหรับคนไข้วีลแชร์จอดรอมากกว่าเดิมหลายเท่า

ภาพอันคุ้นตาในโรงพยาบาลเหล่านี้แตกต่างกันมากกับคนสูงวัยที่เดินทางไปโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกอะไร เพราะท่านเหล่านั้นอยู่ในสภาพฐานะจะซื้อหาบริการเรื่องสุขภาพในราคาสูงได้ เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมเสรีประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงยากดีมีจน ซึ่งประชาชนทั่วไปยอมรับกันได้

เพียงแต่ว่าช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมดังกล่าวควรจะค่อยๆ แคบลงมากกว่าจะขยายเพิ่มขึ้นๆ ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศนี้

 

เพื่อนผู้สูงวัยคนหนึ่งเมื่อมีอาการเจ็บป่วยต้องผ่าตัดที่ภาษาแพทย์เรียกว่าทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Bypass หัวใจ) อย่างรวดเร็วให้ทันเวลา ผมไม่เคยรู้มาก่อนถึงอาการเจ็บป่วย ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาปรึกษาหารือ เพราะถ้าหากเพื่อนมาบอกว่าจะเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวจะได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงไปโรงพยาบาลของรัฐ ทั้งๆ ที่แพทย์เก่ง และเชี่ยวชาPเรื่องโรคหัวใจ

ผมมีประสบการณ์จากเพื่อนพ้องญาติมิตรท่านอื่นๆ ที่ได้ผ่านเข้าทำการรักษาโรงพยาบาลดังกล่าวนี้ ทั้งๆ ที่มีสิทธิพิเศษสามารถลดราคาค่ารักษาพยาบาล เพราะเป็นผู้ถือหุ้นของโรงพยาบาลซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัท “มหาชน” ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่สุดท้ายยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก เพียงแต่ท่านเหล่านั้นมีกำลังพอ

สำหรับเพื่อนอาจคิดว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ในระดับเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนเคยเป็นทำตัวเป็นมิตรรุ่นอาวุโสกว่า คบหาช่วยเหลือกันมาในยามที่ยังอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน จึงได้รบกวนพวกพ้องอีกคนหนึ่งซึ่งน่าจะมีวาจาลีลาการเจรจาเป็นที่ยอมรับ และมีความสัมพันธ์ มีอิทธิพลทางด้านความรู้สึกนึกคิดช่วยเจรจาต่อรองเรื่องราคาค่ารักษาให้

ต่อจากนั้นผมไม่ทราบรายละเอียดอะไรอีกหลังเขาออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักฟื้นยังบ้านพัก กระทั่งอีก 2-3 เดือนต่อมาได้พบกันในสภาพปกติเรียบร้อย และได้พบกันเป็นระยะๆ กระทั่งเวลาเดินทางผ่านไปนานเท่าไรจำไม่ได้ คิดว่าเป็นแรมปี

ได้ทราบข่าวว่าเขาถูกโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลให้เขาจ่ายค่ารักษาพยาบาล

 

เคยพยายามสอบถามเรื่องจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสำหรับการทำบายพาสหัวใจ ได้รับคำตอบว่าในรายของเพื่อนเป็นตัวเลขใกล้ 7 หลัก ซึ่งไม่ได้ติดตามว่าในที่สุดเรื่องราวมันจบลงตรงไหน เพื่อนกู้ยืมเงินจากที่ไหนมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล กลายเป็นหัวข้อเรื่องในวงสนทนาเสมอๆ เพราะว่าเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงพยาบาลเป็นคนไม่ห่างไกลกัน

ไม่มีคำวิพากษ์วิจารณ์อะไร นอกจากอยากให้หลีกเลี่ยงโรงพยาบาลเอกชนระดับนี้เสีย ปล่อยให้เป็นที่แบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลของรัฐสำหรับท่านผู้มีอันจะกินอยู่ในสภาพฐานะจ่ายได้เข้าใช้บริการการรักษาพยาบาล หรือให้บริการทางการแพทย์กับชาวต่างชาติที่มีกำลังฐานะสูงมากพอ

สำหรับปุถุชนธรรมดาทั่วไป สภาพฐานะอย่างเราๆ “โรงพยาบาลรัฐ” ให้การรักษาพยาบาลได้พออยู่แล้ว

ขอเพียงช่วยกันหาทางดูแล “ผู้เจ็บป่วยสูงวัย” เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าที่เป็นอยู่อีกสักหน่อย