เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | เปิดตาใน-อ่านใจตัว

แม้ว่าดวงตาหลับยังรับรู้

ฉันเลือกอยู่กับความจริงอย่างยิ่งใหญ่

ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ

งดงามในโลกใบหนึ่ง…ซึ่งเสรี

“ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” จากวรรคสามของกลอนบทข้างต้น นำมาเป็นชื่อหนังสือรวมกลอนหรือรวมบทกวีเล่มหนึ่ง ซึ่งประพันธ์โดย “รินศรัทธา กาญจนวตี ซึ่งหนังสือนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบทกวีของเซเว่นบุ๊คอะวอร์ดปีนี้ รับเงินรางวัลหนึ่งแสนบาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ รวมบทกวีชื่อ “ขณะเดินทางใน” ประพันธ์โดย “วัฒนา ธรรมกูร”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ รวมบทกวีชื่อ “ฤดูใจ” ประพันธ์โดย “กุ๊ดจี่” พรชัย แสนยะมูล

เล่มชนะเลิศคือ “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” มีความพิเศษนอกจากรูปแบบและเนื้อหา คือ ผู้เขียนพิการทางสายตาหรือตามองไม่เห็นทั้งสองข้าง เธอเล่าไว้ในหนังสือของเธอว่า

“27 ปีที่ฉันมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ทว่า มีเพียงครึ่งหนึ่งของช่วงชีวิตที่ผ่านมาเท่านั้น ที่ฉันสามารถรับรู้การมองเห็นด้วยประสาทสัมผัสทางตา แม้ว่าจะเป็นการมองเห็นด้วยดวงตาเพียงข้างเดียวก็ตาม แม่บุญธรรมของฉันเล่าให้ฟังว่า ฉันเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด การเข้าไปอยู่ในตู้อบทำให้ประสาทตาข้างซ้ายเสียไป แต่ฉันก็ไม่ลำบากอะไรกับการมองโลกด้วยดวงตาข้างเดียว ฉันเรียน วิ่งเล่นอย่างเพลิดเพลินและสดใสในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นฉันเริ่มวาดฝันอนาคต ฉันมักจะสมมุติว่าตัวเองได้ทำอาชีพต่างๆ ฉันจะมีชีวิตอย่างไร เป็นครู เป็นหมอ เป็นพยาบาล กระทั่งจินตนาการไปถึงอาชีพนักบินอวกาศ แต่ฉันก็ถูกความเป็นจริงกระชากให้ตื่นจากฝันงดงาม เมื่อวันหนึ่งฉันลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ตนเองกลายเป็นคนตาบอดสนิทไปเสียแล้ว

“เมื่อโลกภายนอกดับมืดลง ครูสอนวิชาภาษาไทยจูงมือฉันให้ออกเดินทางสำรวจโลกภายใน ผ่านเสียงอ่านหนังสือบทกวีเล่มแล้วเล่มเล่า ฉันค้นพบดวงไฟขาววิสุทธิ์ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในตน ฉันใช้แสงสว่างนี้นำทางพาตนเองก้าวเดินมาจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นิเทศศาสตร์ (ประชาสัมพันธ์) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

“จากนั้น ฉันใช้ชีวิตอยู่กับโลกภายใน กระดาษตรงหน้าคือทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ความรู้สึกนึกคิดคือรายละเอียดของธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่สามารถรองรับและถ่ายทอดภาพความรู้สึกได้ดีที่สุดคือ บทกวี ฉันเขียนสิ่งที่สัมผัสรู้จากโลกภายในเป็นบทกวี”

นี่เป็นข้อเขียนงดงามที่สุด ซึ่งสะท้อนมิติของบทกวีอันยังไม่เคยมีผู้ใดเขียนถึงมาก่อน

รินศรัทธา กาญจนวตี ได้เปิดโลกภายในอันมีอยู่แล้วในเราทุกคน ด้วย “ตาใน” ที่เธอมีแต่เราทุกคนไม่มี

ฟังกลอน “โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา” ของเธอ

๐ ฉันเพียงอยากสบตาดวงอาทิตย์ อยากมีสิทธิ์มองดาราเมื่อฟ้าค่ำ

อยากเห็นมวลแมกไม้ร่ายระบำ หลังจากสายฝนพรำจนฉ่ำฟ้า

เมื่อแสงแรกยามอรุณอบอุ่นอาบ คงมีภาพน้ำค้างแต้มบนแก้มหญ้า

นกเช้าร้องเพลงแผ่วดังแว่วมา ฉันยิ้มพริ้มหลับตา…นาทีนั้น

ฉันจึงได้สบตาดวงอาทิตย์ ได้เพ่งพิศดาวพร่างเหมือนอย่างฝัน

มวลแมกไม้ใหญ่น้อยนับร้อยพันธุ์ พร้อมเพรียงกันบานแย้มอย่างแช่มช้า

ยลแสงแรกยามอรุณอบอุ่นอาบ ปรากฏภาพน้ำค้างหยอกเจ้าดอกหญ้า

น้ำหยดนี้ที่ชุ่มฉ่ำใช่น้ำตา หากเป็นฟ้าหยดพรำหยาดน้ำใจ

โลกความจริงมืดยิ่งกว่า “หลับตาสนิท” ยังมีสิทธิ์เห็นความงามความสดใส

เมื่อตาหลับกลับสว่างกว้างและไกล ฉันมี “โลกดวงใหญ่” อยู่ในนั้น

เธอปิด “ตานอก” แต่เปิด “ตาใน” ได้สัมผัสโลกอีกใบซึ่งเราไม่เคยพบเห็น เป็นโลกแห่งศรัทธาที่มีชีวิตชีวายิ่ง และเธอได้ “รินศรัทธา” นั้นผ่านบทกวีมาสู่เราสมนามสมค่านัก

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งอีกเล่มคือ รวมบทกวีชื่อ “ขณะเดินทางใน” ของวัฒนา ธรรมกูร มีคุณค่าไม่แพ้กัน อาจกล่าวได้ว่า รินศรัทธาเปิดตาใน วัฒนาอ่านใจตัวด้วยการตาดูทุกขณะของใจด้วยดวงตาธรรมตามกำหนด ดังบทนี้

๐ บ้านที่สงบแท้ ร่มเย็นแผ่ไปทั้งผอง

เจริญอยู่รังรอง ต้องวางปล่อยก่อนเข้าไป

ยังจิตพร้อมเห็นแจ้ง เสาะแสวง ทางไสว

แท้จริง บ้านของใจ อยู่ภายในจิตทั้งนั้น ฯ

ข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ ผู้ประพันธ์แต่งเป็นกาพย์ยานีร้อยสัมผัสทั้งเรื่อง และส่วนใหญ่เล่นสัมผัสอักษรตามจังหวะวรรคของกาพย์ยานี คือคำที่สองกับคำที่ห้า (วรรคแรก) และคำที่สามกับคำที่หก (วรรคหลัง)

ดังตัวอย่างที่ยกมาสองวรรคท้ายของบทท้ายคือ

“แท้จริงบ้านของใจ อยู่ภายในจิตทั้งนั้น”

นี้เป็นการใช้ “ศิลปะของรูปแบบ” มารับใช้เนื้อหา ซึ่งเนื้อหาของ “ขณะเดินทางใน” คือการตามดูขณะแห่งใจด้วยสติกำหนดตามแนววิถีพุทธธรรมอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การใช้รูปแบบที่ประณีตมารองรับจึงกลายเป็นเอกภาพระหว่างเนื้อหากับรูปแบบที่ลงตัวยิ่ง เช่นบทนี้

ชีพนี้บ่แน่นอน

พึงสัญจรลมหายใจ

สู่ทางอันเป็นไท

อันวิจิตรห้วงผจง

รองชนะเลิศอีกเล่มคือ “ฤดูใจ” ของกุ๊ดจี่ พรชัย แสนยะมูล แต่งเป็นกลอนร้อยสัมผัสทั้งเรื่องเช่นกัน เล่าประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น

โลกเปลี่ยนไป ไวเหลือเกิน เกินจะหยุด

สิ่งสมมุติ “แอพพลิเคชั่น” กระชั้นกระหน่ำ

เปลี่ยนแอพพ์ไว เร็วไปหมด เกินจดจำ

คนตกยุค ตกซ้ำซ้ำ จนช้ำใน

ทั้งสามเล่มล้วนเป็นเรื่องของ “ใจ” ที่ดูจะซ้ำๆ กัน แต่ล้วนยืนยันว่าแก่นแท้ของสรรพสิ่ง ทั้งปัญหาและการแก้ปัญหา

เริ่มต้นที่ใจจริงจริง