แมลงวันในไร่ส้ม /เช็กข่าว 3 มรสุม เขย่า ‘เรือเหล็ก’ ท้าทาย ‘กัปตันตู่’

แมลงวันในไร่ส้ม

เช็กข่าว 3 มรสุม

เขย่า ‘เรือเหล็ก’

ท้าทาย ‘กัปตันตู่’

 

พลิกหน้าหนังสือพิมพ์ คลิกอ่านข่าวออนไลน์ จะพบทันทีว่า การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบนี้ เส้นทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ตรงกันข้าม กลับระเกะระกะด้วยอุปสรรคต่างๆ ที่มากมาย ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ เป็นปัญหาอันมาจากขั้นตอนกฎหมายและกฎกติกาที่ร่างขึ้นมาและเห็นชอบโดยองค์กรในแม่น้ำ 5 สาย

ไม่กี่วันหลังจากเข้ารับหน้าที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตกเป็นข่าวว่า กระทำผิดรัฐธรรมนูญหลายเรื่องด้วยกัน

ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอชื่อและลงมติรับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 159 และบทเฉพาะกาล มาตรา 272

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อพิจารณาเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ซึ่งผลคือ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างการประชุม นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ต้องให้ ส.ส.ประชุม อภิปรายก่อนและคัดเลือกบุคคลก่อน แล้วจึงให้ ส.ว.มาร่วมลงมติรับรองนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272

แต่ประธานในที่ประชุมในวันนั้นคือ นายชวน หลีกภัย ดำเนินการทั้งหมดในที่ประชุมรัฐสภา

จากนั้น คือการถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันที่ 16 กรกฎาคม ที่เกิดเหตุนายกรัฐมนตรีกล่าวข้อความไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 161

เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก และเกิดข้อสงสัยไปถึงความสมบูรณ์ตามกฎหมายของรัฐบาล

ในการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อ 25-27 กรกฎาคม ยังมีกรณี นพ.เรวัต วิศรุตเวช ตั้งคำถามว่า ในคำแถลงนโยบาย ไม่ระบุถึงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 162 กำหนดให้ ครม.ระบุไว้ด้วย

กระแสสังคมมีปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อเรื่องการถวายสัตย์

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ติดต่อกัน 2-3 วันว่าจะกำลังหาทางแก้ไข จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และกล่าวขอโทษคณะรัฐมนตรีที่มีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้น

ทำให้แวดวงต่างๆ จับตามองว่า นายกรัฐมนตรีจะ “รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” อย่างไร

และจะแก้ไขปัญหาการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญในกรณีอื่นๆ อย่างไร

 

เรื่องขั้นตอนเลือกนายกฯ ไม่ถูกต้อง การถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน และแถลงนโยบายไม่แจ้งแหล่งที่มารายได้ ขณะนี้มีการร้องเรียนต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายองค์กร

อาทิ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ให้พิจารณายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 161

และไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ในวันที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 162

นายเรืองไกรชี้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม กล่าวคำปฏิญาณตกไปในท่อนสุดท้าย แถมยังกล่าวคำว่า “ตลอดไป” เติมเข้ามาอีก

และการแสดงที่มาของงบฯ ที่จะนำมาใช้จ่าย แต่ก็เกิดปัญหาว่าคำแถลงนโยบาย 37 หน้านั้น ไม่มีตัวเลขงบประมาณ การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา น่าจะเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน

การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อาจโดนดำเนินคดีอาญาได้ด้วย ซึ่งได้ไปยื่นคำร้องที่ ป.ป.ช.มาแล้ว

นายเรืองไกรกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากข้อผิดพลาดจริงๆ จึงต้องมาหาทางออกร่วมกันว่าหากมีการบริหารราชการแผ่นดินในการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ถัดจากนี้การประชุมการใช้จ่ายงบประมาณและพันธกรณีกับต่างประเทศ จะสมบูรณ์หรือไม่

ซึ่งตนเสนอว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเริ่มกระบวนการขึ้นใหม่ เลือกผู้ที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วถ้าที่ประชุมรัฐสภาเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ อีก ก็จะต้องนำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วน และทำคำแถลงนโยบายใหม่

 

ส่วนกรณีขั้นตอนการเลือกนายกฯ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า นายชวน หลีกภัย กระทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายเรืองไกรชี้ว่า ในการสรรหานายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน ในการให้ความเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2559 ระบุไว้ชัดว่า ขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯ ต้องทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และขั้นตอนการให้ความเห็นชอบต้องทำในที่ประชุมรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานไว้แล้ว ไม่น่าจะมีการทำผิดพลาดขึ้นมาได้ แต่ก็มีจนได้

ในการประชุมวันที่ 5 มิถุนายน 2562 มีผู้ทักท้วงนายชวนแล้ว แต่ก็ยังรวบขั้นตอนไปทำในที่ประชุมรัฐสภา

นายเรืองไกรกล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เป็นการข้ามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และไม่ทำตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นประเด็นใหม่

เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักรู้ได้ทันทีว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดความผิดพลาดแล้วอย่างจัง ทำให้การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เรื่องถวายสัตย์ไม่ครบ เรื่องนโยบายไม่ใส่ตัวเลข จึงเป็นประเด็นรอง

นายเรืองไกรกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้อาจเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เรือเหล็กจมลงก็ได้

 

นอกจากนายเรืองไกร ยังมีการร้องเรียนจากนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมโลกร้อน ซึ่งยื่นเรื่องการถวายสัตย์ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรือส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นกระทู้ถามนายกฯ โดยเฉพาะในเรื่องการถวายสัตย์ รอให้นายกฯ มาตอบด้วยตนเอง

ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังรอว่านายกฯ จะไปชี้แจงต่อสภาหรือไม่ และถ้าไปชี้แจง นายกฯ จะตอบอย่างไร

เรียกว่าเป็นศึกหนักที่ดาหน้าถาโถมเข้าใส่นายกฯ แบบไม่ยอมให้หายใจหายคอ ตั้งแต่ยังไม่ทันสิ้นเสียงระฆังยกแรกด้วยซ้ำ