สงครามต่างรุ่น เจเนอเรชั่นต่างกัน / ฉบับประจำวันที่ 16-22 สิงหาคม 2562

Clash of generations
หรือ การปะทะกันของคนต่างรุ่น
ได้รับความสนใจ และการกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวางทันที
เมื่อรอยเตอร์ได้เสนอบทสัมภาษณ์ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก
ว่าไทยกำลังต่อสู้กับสงครามลูกผสมซึ่งเป็นฝีมือของศัตรูที่ใช้ข่าวปลอมเพื่อทำให้วัยรุ่นไทยหันมาต่อต้านกองทัพและสถาบัน
การโฆษณาชวนเชื่อทางอินเตอร์เน็ตในยุคนี้ไม่ต่างจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในยุค 1970-1980
ภัยคุกคามในขณะนี้ก็คือข่าวปลอม มันเป็นเหมือนสงครามไซเบอร์
แต่มีพรรคการเมืองบางพรรคที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้
มีแนวนโยบายที่จะโฆษณาชวนเชื่อตรงไปยังคนที่มีอายุตั้งแต่ 16-17 ปี
และให้ความรู้คนกลุ่มนี้ด้วยข่าวปลอม
ขณะนี้กองทัพทำหน้าที่ตรวจสอบการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถาบันเบื้องสูง”

จากคําให้สัมภาษณ์ดังกล่าว
นำมาสู่ การตอบโต้จากนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ทันที
ว่าแม้ พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้ระบุชื่อพรรค แต่อ่านแล้วปฏิเสธยากว่าไม่ได้หมายถึงพรรคอนาคตใหม่
ซึ่งก็ขอยืนยันว่าตั้งแต่ก่อตั้งพรรคขึ้นมาได้ทำงานทางความคิดกับผู้คนในสังคม กับเยาวชน ไม่ใช่เรื่องข่าวเท็จข่าวลวงใดๆ ทั้งสิ้น
เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็มีวิจารณญาณในการประเมินในการตัดสินใจอยู่
จึงอยากให้ พล.อ.อภิรัชต์เข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ อย่าประเมินว่าเขาถูกปลุกปั่นยุยง
ตรงกันข้าม พรรคอนาคตใหม่ต่างหากที่ถูก fake news แต่ก็พยายามอดทนไม่ดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะเชื่อว่าต่อให้มี fake news มากขนาดไหน สุดท้ายประชาชนคนไทยมีวิจารณญาณที่จะตัดสินได้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม
อย่างไรก็ตาม ทัศนคติจากสิ่งที่ผบทบ.ให้สัมภาษณ์มานั้นสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า Clash of Generations มากเกินไป
ขอยืนยันว่าการตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมานั้น เพราะต้องการรวบรวมคนทุกกลุ่มทุกพลังเพื่อออกจากความขัดแย้งเดิมๆ ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา แล้วเดินหน้าไปสู่อนาคต
อย่ากังวลใจไปกับความคิดของคนรุ่นใหม่
ผู้บัญชาการทหารบกเองก็ต้องรับฟังคนรุ่นใหม่บ้าง ความคิดของคนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่ากีดกันเขาออกไป
อย่าผลักไสเขาออกไปเพียงเพราะว่าเขามาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่

อะไร คือ Clash of Generations
Karl Mannheim นักวิชาการที่สนใจเเรื่อง Generation
ชี้ว่า คนที่เกิดในรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญๆ ร่วมกัน จะมีค่านิยม แนวคิด และพฤติกรรม คล้ายๆ กัน
เป็นลักษณะเฉพาะตัว หรือรุ่น
ทำให้แต่ละเจเนอเรชั่น มีลักษณะต่างกัน
จะมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แต่ละเจเนอเรชั่นผจญกับเหตุการณ์สำคัญๆ มา
หากแตกต่างกันไม่มากก็ไม่มีปัญหา
แต่หากต่างกันมาก ที่เรียกว่า”ช่องว่างระหว่างวัย”
อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรุ่นได้
ตั้งแต่เห็นต่าง หรือรุนแรงไปถึง”ขบถ” หรือขยายใหญ่โตเป็นการปะทะกันของคนต่างรุ่นได้

การปะทะกันของคนต่างรุ่น แม้จะเกิดขึ้นได้เสมอ
แต่ก็ควรควบคุมให้ดี ไม่ควรสร้างเงื่อนไขหรือไปขยายให้เป็นความขัดแย้งใหญ่
เพราะอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคมได้
ซึ่งคำพูด ของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ว่าคนรุ่นใหม่ล้วนเป็นเหยื่อการล้างสมอง จากพรรคบางพรรคจำต้องขจัดออกไป นั้น
อาจจะเป็นการรวบรัด กล่าวหา คนรุ่นใหม่เกินไป
และนำไปสู่ Clash of generations ได้
ที่รุนแรงไม่ต่างหรือมากกว่า ความขัดแย้ง”สี”ที่เกิดกับสังคมไทยในช่วงนับทศวรรษที่ผ่านมา
และได้บั่นทอนสังคมลงในทุกด้าน อย่างที่เราเห็น
แล้วเรายังจะปล่อยให้เกิด สงคราม”รุ่น” ขึ้นอีกหรือ
—————