จรัญ มะลูลีม : ปมร้าว “สหรัฐ-อิหร่าน” จากวิกฤตข้อตกลงนิวเคลียร์

จรัญ มะลูลีม

ในที่สุดทรัมป์ก็เป็นผู้ยกเลิกข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีมาก่อนในสมัยของโอบามาที่ได้ลงนามข้อตกลงกับอิหร่าน

วุฒิสมาชิกเอลิซาเบ็ธ วาร์เร็น (Elizabeth Warren) ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อเสนอตัวเป็นตัวแทนของพรรคคองเกรสเพื่อลงชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 วิพากษ์ทรัมป์ที่ถอนตัวออกมาจากข้อตกลงกับอิหร่านและทหารของสหรัฐจะปลุกเร้าความขัดแย้งขึ้นมาอีกในภูมิภาค

เธอทวีตว่า

ไม่มีการหาเหตุผลใดมาทำให้วิกฤตขยายตัว เราต้องถอยออกมาจากปากเหวของสงคราม

ภายใต้กฎบัตรของสหประชาชาติจะถือเป็นปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายหากว่าสหรัฐโจมตีอิหร่าน ทั้งนี้ กฎบัตรสหประชาชาติอนุญาตให้มีการใช้กำลังทางทหารในการป้องกันตัวหลังจากมีการโจมตีด้วยอาวุธ หรือหลังจากได้รับการรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงเท่านั้น

การโจมตีทางทหารจะไม่สามารถกระทำได้ฝ่ายเดียว ซึ่งแน่ละย่อมได้รับการตอบโต้อย่างในกรณีของซีเรียและประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐเข้าไปติดหล่มโคลนอยู่ในอดีต มันจะนำไปสู่สงครามอ่าวครั้งใหม่และจะเกิดการสูญเสียอย่างมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ตามรายงานของสื่อสหรัฐ ฝ่ายกลาโหมได้เตือนทรัมป์ว่าการโจมตีอิหร่านจะขยายไปเป็นการเผชิญหน้าทางทหารที่จะทำให้กองกำลังของสหรัฐซึ่งกระจายออกไปในภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างยิ่ง

ในการกล่าวกับสื่อในเบื้องต้น ทรัมป์เลือกที่จะประณามตัวบุคคลบางคนที่ทำผิดครั้งใหญ่ในการยิงโดรนตกแทนที่จะให้รัฐบาลอิหร่านมาเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์

ถึงเวลานี้เขาอาจรับรู้แล้วว่าเป็นความผิดของเขาที่ได้ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์แห่งปี 2015 ที่เขาคำนวณว่าอิหร่านจะยอมจำนนหลังจากสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง

 

ทรัมป์และที่ปรึกษาของเขามิได้สนใจที่จะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่าอิหร่านไม่เคยเข้าสู่สงครามจนกว่าจะถูกบังคับ ก่อนหน้านี้สหรัฐได้พยายามยื่นมือเข้าไปในอิหร่านเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้ทำสงครามตัวแทนให้

ชาวอิหร่านมากกว่าครึ่งล้านเสียชีวิตไปในสงครามนี้ซึ่งใช้เวลา 8 ปีนับจากปี 1980 ถึงปี 1988

สำหรับเรื่องนี้ทรัมป์ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ต้องการสงครามในช่วงนี้ ทรัมป์เข้ามาสู่อำนาจด้วยการประกาศว่าจะผลักดันทหารสหรัฐออกไปจากภูมิภาคและยุติสงครามที่ “โง่เขลา” ที่เป็นฝีมือของประธานาธิบดีคนก่อนๆ ลงเสีย

ในการพูดของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการหาเสียงเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขา ทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลของเขาจะเดินไปตามเส้นทางที่มั่นคงและสันติในเอเชียตะวันตกเพราะว่าชาติที่ยิ่งใหญ่ไม่ต้องการทำสงครามที่ไม่สิ้นสุด

เขาอ้างว่าฝ่ายบริหารของเขาได้เริ่มถอนทหารออกมาจากตะวันออกกลางแล้ว แต่ความจริงกลับเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง

เขาคงไม่ชอบที่ต้องมาเผชิญกับการเลือกตั้งท่ามกลางสงครามสองปีนับจากนี้ไป เขาพยายามอย่างมากที่จะเอาอิหร่านกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งด้วยการบีบอิหร่านในทางเศรษฐกิจ

 

ปัจจุบันทรัมป์ลังเลที่จะบอกว่าเขามิได้วางแผนให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลอิหร่านด้วยการใช้กำลังและต้องการเจรจากับอิหร่านตอนนี้ เขากำลังยุ่งอยู่กับความพยายามที่จะโน้มน้าวอิหร่านให้เข้ามาสู่การเจรจาหรือก็ข่มขู่ด้วยการกล่าวถึง “การพังทลาย” ของอิหร่าน

อิหร่านเองก็มองไม่เห็นความมีเหตุผลใดที่จะต้องมาพูดคุยกับสหรัฐเพื่อทำความตกลงในข้อตกลงเดิมอีกครั้ง

ทรัมป์กำลังพยายามบีบให้ผู้นำอิหร่านเริ่มพูดคุยกับสหรัฐใหม่ ในเวลาเดียวกันฝ่ายบริหารของทรัมป์ก็พยายามทำให้ประชาชนอิหร่านที่กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำยอมจำนน หลังจากโดรนของสหรัฐถูกยิงตก สหรัฐก็ยิ่งเพิ่มการแซงก์ชั่นอิหร่านให้หนักเข้าไปอีก

อิหร่านจึงถูกบังคับให้เผชิญกับการกดดันด้วยการแซงก์ชั่นหนักหน่วงฝ่ายเดียวของสหรัฐและการข่มขู่ทางทหาร

แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศจะมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าสหรัฐเป็นผู้ผิดก็ตาม แต่ก็มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยื่นมือมาช่วยอิหร่านอย่างเปิดเผยเพื่อต่อสู้กับมหาอำนาจผู้มีอำนาจอย่างสหรัฐ

จนถึงเวลานี้ไม่มีประเทศใดในยุโรปและประชาคมระหว่างประเทศอื่นใดเข้ามาช่วยอิหร่าน นอกไปจากการสนับสนุนทางคำพูดสำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015

 

ในเวลาเดียวกันประเทศยุโรปและประชาคมระหว่างประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้สนับสนุนก้าวเดินของสหรัฐที่จะทำสงครามกับอิหร่านแต่อย่างใด

จะมีก็แต่ซาอุดีอาระเบีย UAE และอิสราเอลเท่านั้นที่ออกมาสนับสนุนฝ่ายบริหารของทรัมป์อย่างออกหน้าออกตา

ความจริงที่ 3 ประเทศนี้ต้องการมานานแล้วก็คือการหนุนให้สหรัฐทำสงครามกับอิหร่าน พวกเขาต้องการให้ทหารสหรัฐสู้กับอิหร่านเพื่อพวกเขา

วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้เตือนสหรัฐสำหรับการที่จะทำสงครามอีกครั้งว่า “อย่างน้อยการทำสงครามกับอิหร่านจะนำไปสู่การสูญเสียขนานใหญ่ในภูมิภาค”

โดยกล่าวว่า อิหร่านได้ยอมทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างเต็มที่ โดยได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency) หรือ IAEA โดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนีเป็นผู้ลงนามข้อตกลงนี้พร้อมกับรัสเซียและจีน

ยกเว้นจีน ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านรวมทั้งอินเดียต่างก็ทำตามการแซงก์ชั่นของสหรัฐ เจ้าหน้าที่อาวุโสของอิหร่านเตือนว่า หากประเทศของพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกน้ำมัน คู่แข่งอื่นๆ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีทางผ่านออกไปได้เช่นกัน

จนถึงเวลานี้การผลิตน้ำมันของอิหร่านได้ตกลงมาที่ 400,000 บาร์เรลต่อวันจากเดิมที่เคยผลิต 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

นํ้ามันและก๊าซส่วนใหญ่นั้นผลิตโดยซาอุดีอาระเบียคู่ต่อกรของอิหร่านและ UAE โดยผ่านเข้ามาทางช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ทั้งนี้ ร้อยละ 30 ของน้ำมันโลกจะต้องผ่านช่องแคบนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในเวลานี้ อย่างเช่นการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันและโดรนของสหรัฐก็ล้วนเกิดขึ้นรอบๆ ช่องแคบฮอร์มูซทั้งสิ้น

อิหร่านมีเครื่องมือและความสามารถที่จะหยุดยั้งการเดินทางในอ่าวเปอร์เซียและสามารถทำลายสาธารณูปโภคในบริเวณนี้ได้

นายพลบาเกรี (Mohammad Bageri) กล่าวว่า ทหารอิหร่านมีความสามารถที่จะใช้พลังของพวกเขาในช่วงแคบฮอร์ม6ซ

สงครามกับอิหร่านจะทำให้น้ำมันราคาพุ่งสูงและทำให้เศรษฐกิจของโลกปั่นป่วน และจะไม่กระทบเฉพาะกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ชัยค์ ฮัซซัน นัสรุลลอฮ์ ผู้นำกองกำลังฮิซบุลลอฮ์กล่าวว่า หากอิหร่านถูกโจมตี กองกำลังของเขาก็จะตอบโต้ไปที่อิสราเอล