วิรัตน์ แสงทองคำ : บทบาทและความเคลื่อนไหวของ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเคลื่อนไหวล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลมีความสำคัญไม่น้อย ด้วยเฉพาะการปรากฏตัวประธานคนใหม่

หลังจากนั้นไม่กี่วัน กลุ่มเซ็นทรัลผู้นำธุรกิจค้าปลีก ผู้นำธุรกิจไทยได้เปิดโฉมหน้าสำคัญที่น่าสนใจมากขึ้นๆ

หลังจากมีถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (26 กรกฎาคม 2562 ซึ่งผมบอกว่า “ในวันซึ่งผู้คนพุ่งกระแสสนใจทางการเมือง (อภิปรายนโยบายรัฐบาลใหม่) สะท้อนยุทธศาสตร์ใหม่ ธุรกิจใหญ่ไทย ว่าด้วยแผนการปรับตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่” ทั้งนี้ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อมูลของ Central Retail ความยาวกว่า 60 หน้า “ถือเป็นครั้งแรกเลยทีเดียวก็ว่าได้ กลุ่มเซ็นทรัลนำเสนอข้อมูลกลุ่มธุรกิจซึ่งเป็นแกนกลางและตำนาน” (ดังข้อมูลบางช่วงบางตอน ซึ่งยกมาอรรถาธิบายไว้ตอนที่แล้ว)

และแล้วกลุ่มเซ็นทรัลได้เปิดงานแถลงข่าวครั้งใหญ่ (31 กรกฎาคม 2562) ท่ามกลางกระแสข่าวสื่อต่างๆ นำเสนอกันอย่างครึกโครม ก็มีถ้อยแถลงทางการบันทึก อ้างอิงไว้

“เซ็นทรัล รีเทลสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ค้าปลีกไทยสู่ระดับโลก เคลื่อนทัพใหญ่มุ่งสู่ New Central New Retail” (อ้างจาก www.centralgroup.com)

 

สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษอีกเช่นกัน คือการปรากฏตัว ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

“จากการที่ได้ร่วมทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างใกล้ชิด ผมเชื่อมั่นว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมและพร้อมที่สุดสำหรับเซ็นทรัล รีเทล ที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป จากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการเติบโตของ GDP พร้อมด้วยกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ขยายตัว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการเป็น 1 ใน 20 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก” ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานกรรมการ เซ็นทรัล รีเทล กล่าวไว้ (อ้างจากถ้อยแถลงทางการข้างต้น)

คำกล่าวอย่างกว้างๆ ของเขาดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา กับวัย 66 ปี ในฐานะผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีบทบาทเชิงเศรษฐกิจ สังคมไทยอย่างสำคัญมาตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะอีกด้านหนึ่งสะท้อนแผนการอันแยบยล กลุ่มเซ็นทรัลในกระบวนการนำกิจการสำคัญที่สุดเข้าสู่ตลาดหุ้นในช่วงเวลานี้ พร้อมกับก้าวสู่บทบาทใหม่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ สู่ขั้นใหม่ซึ่งพรมแดนธุรกิจทั้งเปิดกว้างและคลุมเครือมากขึ้น

ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กับความรู้ ประสบการณ์และสายสัมพันธ์แห่งยุคสมัย ได้เข้ามาอยู่ท่ามกลางบทบาทใหม่ ท้าทาย และเร้าใจ

 

จาก “ผู้กำกับ” สู่ “ผู้เล่น”

เรื่องราวของเขาเปิดฉากสำคัญมากับกระแสคลื่นผู้จบการศึกษาจากสหรัฐ กำลังมีบทบาทในสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการเงิน ในยุคต่อเนื่องจากอิทธิพลยุคสงครามเวียดนาม ช่วงเศรษฐกิจไทยเติบโต อ้างอิงดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากนักลงทุนต่างประเทศเป็นสำคัญ (2525-2540)

ในเวลานั้นธนาคารไทยซึ่งพัฒนามาจากธุรกิจครอบครัว มาถึงจุดสูงสุดในฐานะแกนกลางเครือข่ายธุรกิจครอบครัวแห่งสังคมธุรกิจไทยก็ว่าได้ ว่าไปแล้วด้วยความพร้อมและโอกาสมากกว่าธุรกิจอื่นใดในเวลานั้น เป็นจังหวะก้าวสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งครั้งใหญ่

กระแสนักบริหารรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญในแกนกลางสังคมธุรกิจไทย รวมทั้งองค์กรเก่าแก่ของไทยซึ่งกำลังพลิกโฉมพลิกโอกาสครั้งใหญ่อย่าง ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (MBA Stanford) เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (ตั้งแต่ปี 2517) หรือ ชุมพล ณ ลำเลียง (MBA Harvard) เข้ามามีบทบาทในเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ตั้งแต่ปี 2515)

อีกฟากหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานรัฐ มีบทบาทบริหารระบบเศรษฐกิจและการเงิน คนรุ่นใหม่รุ่นนั้นมีบทบาทเช่นเดียวกัน เช่น โอฬาร ไชยประวัติ (Economics MIT) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินในปี 2523 ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (Economics MI) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในปี 2529 และฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ปี 2531 หรือ เอกกมล คีรีวัฒน์ (MBA Harvard) ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ในช่วงปี 2528

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้ามาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2526 ถือเป็นช่วงต่อเนื่องดังกล่าว แม้ว่าจะมาทีหลัง แต่บทบาทก็โดดเด่นขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เคยกล่าวว่า การทำงานใน กลต.ถือเป็นไฮไลต์ในชีวิตของเขา อาจจะหมายถึงการก้าวกระโดดจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่าย ซึ่งมีประสบการณ์ในธนาคารแห่งประเทศไทยเพียง 9 ปี ได้ก้าวขึ้นเป็นรองเลขาธิการ กลต.คนแรก” ผมเคยเสนอไว้ (ตั้งแต่ปี 2553) นับเป็นจังหวะชีวิตการทำงานใหม่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงเวลาพัฒนาตลาดทุนไทยให้สอดรับกระแสนักลงทุนระดับโลก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) หน่วยงานกำกับอันทรงอิทธิพล มีบทบาทอย่างโดดเด่นหลายกรณี โดยเฉพาะการจัดการกรณีปั่นหุ้น รวมทั้งมีประสบการณ์ เผชิญความผันแปรจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง

ในที่สุดประสารได้ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการ กลต. ด้วยวัยเพียง 47 ปี และสามารถทำงานภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างที่ควร เป็นช่วงเวลาสำคัญสะสมบารมีและประสบการณ์อันเข้มข้นอย่างแท้จริง

จากประสบการณ์ผู้กำกับเศรษฐกิจ ผู้ดูแลตลาดทุน สู่ธนาคารพาณิชย์ เป็นโมเดลคลาสสิคเสมอ สำหรับสังคมธุรกิจไทย

จากประสบการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (9 ปี) และ กลต. (11 ปี) ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ก้าวมาสู่ตำแหน่งผู้บริหารธนาคารใหญ่-ธนาคารกสิกรไทย ในช่วงเวลาขัดจังหวะและดูราบเรียบช่วงหนึ่ง ด้วยเขาเข้ามาในช่วงเวลาธนาคารกสิกรไทยผ่านพ้นช่วงเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์ระบบธนาคารไทย

ขณะสะท้อนสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง “ผู้กำกับ” กับ “ผู้เล่น” ระหว่าง Harvard connection แล้ว นับเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจในภาคธุรกิจซึ่งเขาไม่เคยมีมาก่อน

 

จาก “ภาพใหญ่” สู่ “ชิ้นส่วนสำคัญ”

และแล้ว ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้กลับสู่เส้นเดิมอีกครั้ง ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเวลานั้นถือว่าไม่มีใครมีโปรไฟล์เหมาะสมเช่นเขา เช่นเดียวกับประสบการณ์อันเชี่ยวกรำจาก กลต. ย่อมทำให้ผ่านช่วงเวลาเผชิญสถานการณ์และแรงกดดันต่างๆ ไปได้อีกครั้งอย่างดี

ภาพอีกมิติปรากฏ จากปูมหลังชีวิตผู้คนธรรมดาซึ่งไต่เต้า ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบ” และ “สายสัมพันธ์” อันมั่นคง (Old establishment) ของสังคมไทย ว่ากันว่าภาพนั้นจะปรากฏยังปัจเจก เมื่อถึงเวลาอันควร ซึ่งผ่านพ้นช่วงชีวิตทำงานประจำ

มีประวัติบางชิ้นอ้างว่า ในเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้น ประสารเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เจรจากับรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (รัฐบาลซึ่งมาจากรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514) ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คนเป็นผลสำเร็จ ทว่าอีก 4 ทศวรรษต่อมาเขามีบทบาทที่แตกต่างไป

หลังจากรัฐประหารปี 2557 กับการมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี 2557-2562) ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มีบทบาทเชิงนโยบายระดับสูง โดยเฉพาะได้รับการแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (26 มิถุนายน 2557) และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ (23 กุมภาพันธ์ 2560)

อีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจ เขาเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2560) กลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลดั้งเดิมของสังคมไทย ในจังหวะเวลาสำคัญ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีได้เปลี่ยนสู่ยุคที่แตกต่าง ด้วยการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการชุดเดิม ซึ่งหลายคนดำรงตำแหน่งอย่างยาวนาน

ขณะในโปรไฟล์ซึ่งปรากฏในข้อมูลเอสซีจี (www.scg.com) ระบุว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ตั้งแต่ปี 2558) และเป็นกรรมการในบริษัทเกี่ยวข้องด้วย (ตั้งแต่ปี 2561) ได้แก่ บริษัททุนลดาวัลย์ และบริษัทสยามสินธร

ความเชื่อมโยงกับกลุ่มเซ็นทรัล ปรากฏว่าเขาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสตั้งแต่ปี 2559 สอดคล้องกับช่วงเวลาซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลระบุว่า “ปี 2560 เริ่มการปรับโครงสร้างธุรกิจ”

กลุ่มเซ็นทรัล กับประสาร ไตรรัตน์วรกุล อาจมีความหมายหลายมิติ เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่น และความเป็นไป โดยเฉพาะฐานอันมั่นคงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นมิติสถานการณ์และอำนาจรัฐ กลุ่มเซ็นทรัลมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในฐานะองค์กรธุรกิจ ซึ่งปักหลักอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ ดำรงอยู่อย่างมั่นคงท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ

ได้เวลาเปิดตัวให้กว้างขึ้นอย่างจริงจัง

 

ประวัติ–ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

การศึกษา
DBA. Harvard University, U.S.A. 2524
MBA. Harvard University, U.S.A. 2521
Master of Engineering in Industrial Engineering and Management, Asian Institute of Technology 2519
วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2517

ประสบการณ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
–ผู้ว่าการ (2553-2558)

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
–กรรมการผู้จัดการ (2548-2553)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
–เลขาธิการ (2542-2546)
–รองเลขาธิการ (2535-2542)

ธนาคารแห่งประเทศไทย
–ตำแหน่งสุดท้าย–รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน (2526-2535)