เจ้าพิธีลัทธิเทวราช อยู่สด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว ชุมทางเครือข่ายอำนาจ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปราสาทสด๊กก๊อกธม (อ.โคกสูง จ.สระแก้ว) น่าจะเป็นศูนย์กลางของหลักแหล่งพราหมณ์ท้องถิ่น ตระกูลเจ้าพิธีลัทธิเทวราช จึงได้รับยกย่องให้ความสำคัญเป็นที่ตั้งจารึกสด๊กก๊อกธม (พบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม และเชื่อว่าตั้งอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก)

เพราะเป็นจารึกหลักเดียวที่บอกความเป็นมาอย่างลึกซึ้งและพิสดารของลัทธิเทวราช ขณะเดียวกันที่ตั้งปราสาทอยู่บริเวณชุมทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูง (ลุ่มน้ำมูล) กับที่ราบลุ่ม (โตนเลสาบ) เครือข่ายอำนาจแท้จริงของอาณาจักรกัมพูชา

 

พราหมณ์ท้องถิ่น เจ้าพิธีลัทธิเทวราช

ศิวไกวัลย์ เป็นพราหมณ์ท้องถิ่นกัมพูชา ผู้ได้รับยกย่องคนแรกเป็นเจ้าพิธีลัทธิเทวราช โดยรับถ่ายทอดวิชา “เทวราชา” จากมหาพราหมณ์ผู้หนึ่ง (ซึ่งหาไม่พบประวัติ)

พระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 สถาปนาครั้งแรกในลัทธิเทวราชบนเขาพนมกุเลน (หรือ มเหนทรบรรพต) ในกัมพูชา โดยพราหมณ์ศิวไกวัลย์เป็นเจ้าพิธี เมื่อ พ.ศ.1345

ลัทธิเทวราชต้องประกอบพิธีบําเรอบูชาโดยพราหมณ์ผู้สืบตระกูลจากพราหมณ์ศิวไกวัลย์เท่านั้น จนสืบทอดถึงพราหมณ์สทาศิวะ (ซึ่งเป็นลูกหลานฝ่ายสตรีของพราหมณ์ศิวไกวัลย์) ได้ปฏิบัติบูชาพระเทวราชถวายพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1593-1609)

ต่อมาพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2 ปฏิสังขรณ์เทวาลัย พระราชทานพราหมณ์สทาศิวะ เป็นสถานทําพิธีกรรมในลัทธิเทวราช (ปัจจุบันเรียกเทวาลัยนี้ว่าปราสาทสด๊กก๊อกธม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว) แล้วทําจารึกพรรณนาเรื่องราวของลัทธิเทวราชและตระกูลพราหมณ์เจ้าพิธีไว้ด้วยเมื่อ พ.ศ.1595 (เก็บความจาก “จารึกสด๊กก๊อกธม 2” ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529 หน้า 180-227)

 

ลัทธิเทวราช หมายถึง ระบบความเชื่อว่าพระราชามนุษย์เมื่อสวรรคต ผีพระขวัญของพระราชาจะเสด็จขึ้นฟ้าไปเสวยสวรรค์สถิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะ แล้วถูกเรียกว่าเทวราช มีพลังอำนาจปกป้องคุ้มครองให้คุณและโทษผู้มีชีวิตในราชอาณาจักร โดยเทวราชสามารถสื่อสารกับคนทั้งปวงผ่านการเข้าทรงของพราหมณ์พิธี (หรือหมอพราหมณ์)

เหล่านี้มีขึ้นจากการประสมประสานความเชื่อท้องถิ่นในศาสนาผีเรื่องขวัญ เข้ากับความเชื่อสากลเรื่องราชาเหนือราชาทั้งหลาย ที่เรียกจักรพรรดิราช หรือจักรวาทิน โดยรับเข้ามาใหม่จากอินเดียพร้อมศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

การประสมประสานกันระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ น่าจะก่อหวอดนานแล้วตั้งแต่ศาสนาจากอินเดียแผ่ถึงอุษาคเนย์ เพื่อยกสถานะคนชั้นนำพื้นเมืองท้องถิ่นจากหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (หรือหมอมด) ขึ้นเป็นราชาหรือมหาราชา หลังจากนั้นเชิดชูให้ฐานะทางสังคมสูงขึ้นเป็นเจ้า ได้แก่ เทพเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า แล้วสืบเนื่องจนสมมุติชื่อเรียกสมัยหลังว่าลัทธิเทวราช เป็นความเชื่อมีในราชสำนักภูมิภาคอุษาคเนย์ (ลัทธิเทวราชไม่พบในอินเดีย) โดยเฉพาะราชสำนักอาณาจักรกัมพูชา ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1500

ราชสำนักรัฐละโว้ (ลพบุรี) พูดภาษาเขมร เป็นขอม รับลัทธิเทวราชจากอาณาจักรกัมพูชา แล้วส่งต่อราชสำนักรัฐอยุธยา (ที่เชื้อวงศ์รามาธิบดีสืบทอดจากรัฐละโว้)

ลัทธิเทวราชในกัมพูชา มีความเป็นมาในจารึกสด๊กก๊อกธม พบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

ความเชื่อท้องถิ่นในศาสนาผี

ความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นเมืองในท้องถิ่นอุษาคเนย์ (ก่อนรู้จักและติดต่ออินเดีย) ได้แก่ เชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี

[หลังติดต่ออินเดีย คนชั้นนําของอุษาคเนย์รับความเชื่อเรื่องวิญญาณในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ไม่ทิ้งความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี เมื่อท้ายสุดขวัญกับวิญญาณประสมกลมกลืนกันจนแยกไม่ออกบอกไม่ถูกว่าตรงไหนวิญญาณตรงไหนขวัญ]

ขวัญ คือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วยอยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคนและสัตว์ นอกจากนั้น ยังสิงในเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่

คนตายเพราะขวัญหายออกจากร่าง หมายถึงขวัญไม่ตายไปกับร่าง แต่ขณะนั้นขวัญไม่อยู่กับร่าง ต้องเรียกขวัญคืนร่างแล้วคนจะมีชีวิตเหมือนปกติ เป็นความเชื่อของคนดั้งเดิมในอุษาคเนย์ [ทุกคนมีขวัญกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่สําคัญสุดเรียกจอมขวัญอยู่กลางศีรษะของทุกคนบริเวณที่เรียกกระหม่อม]

ครั้นเรียกขวัญทุกช่องทาง แต่ขวัญไม่คืนร่างเดิม ร่างนั้นถูกเรียกว่าซากหรือผี แล้วเรียกรวมเป็นซากผี ส่วนที่เป็นขวัญถูกเรียกว่าผีขวัญ ดํารงวิถีปกติเหมือนเมื่อมีชีวิต เพียงแต่ต่างมิติ (จึงมองไม่เห็น) จากนั้นมีพิธีกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับซากผีและผีขวัญ

 

พิธีกรรมหลังความตาย มีต่างระดับ

ขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคมที่มีต่างกัน ได้แก่ คนทั่วไปกับคนชั้นนํา ดังนี้

คนทั่วไป เมื่อมีคนตายต้องเรียกขวัญที่ทํากันในหมู่เครือญาติ ซึ่งมีจํากัด เมื่อขวัญไม่คืนร่างก็ทําพิธีส่งผีขวัญให้มีวิถีปกติ ต่อจากนั้นมีการไปมาหาสู่กับเครือญาติผ่านคนเข้าทรง ส่วนซากผีทิ้งไว้ในป่าให้แร้งกากิน

คนชั้นนํา มีพิธีกรรมต่อเนื่องนานหลายวัน ด้วยขั้นตอนที่ถูกกําหนดโดยหมอมดหมอขวัญ

หัวหน้าเผ่าพันธุ์ (คนชั้นนํา) เมื่อตายไปต้องมีพิธีเรียกขวัญหรือสู่ขวัญโดยหมอมดหมอขวัญหมอแคน และคนทั้งชุมชนร่วมกันร้องรําทําเพลงอึกทึกครึกโครม เมื่อขวัญไม่คืนร่างต้องฝังซากผีไว้ลานกลางหมู่บ้านอันเป็นศูนย์กลางของชุมชน

ครั้นฝังไว้ระยะเวลาหนึ่งเนื้อหนังเน่าเปื่อยหมดแล้วต้องร่วมกันขุดกระดูกบรรจุในภาชนะดินเผาหรือแท่งหินที่คว้านเป็นหลุมใหญ่ใส่กระดูก

จากนั้นทําพิธีอีกครั้งหนึ่งโดยสร้างหอผีไว้เหนือหลุมฝังกระดูกในภาชนะ แล้วหมอขวัญกับหมอแคนขับลําคําคล้องจองพรรณนาเรื่องราวความเป็นมาของผีขวัญและบอกกล่าวเล่าการเดินทางสู่โลกหลังความตาย คลอด้วยเสียงเป่าแคนส่งผีขวัญไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีบรรพชนที่ตายไปก่อนแล้วบนฟ้าซึ่งเรียกแถน ซึ่งเป็นผีใหญ่ และมีอำนาจมากกว่าผีอื่นใดทั้งฟ้าและดิน

[ผีขวัญเดินทางขึ้นฟ้าด้วยการนําทางของสัตว์พิเศษ ได้แก่ หมา, นก เป็นต้น สัตว์พิเศษถูกทําให้ตายกลายเป็นผีขวัญนําทาง (พบภาพเขียนรูปหมาบนเพิงผาและผนังถ้ำอันเป็นสถานที่มีพิธีกรรมสําคัญของเผ่าพันธุ์ บางแห่งพบโครงกระดูกหมาฝังรวมกับโครงกระดูกมนุษย์ที่มีเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับทําจากโลหะและวัตถุมีค่าจํานวนมาก ซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลสําคัญ)]

แถน (ผีแถน) เป็นคําเรียกผีบรรพชนในตระกูลภาษาไต-ไท ส่วนตระกูลภาษามอญเรียกเม็ง (ผีเม็ง) และตระกูลภาษาเขมรเรียกมด (ผีมด) หมายถึง พลังอํานาจเหนือธรรมชาติ เป็นผีใหญ่เหนือผีทั้งปวง ซึ่งเชื่อกันว่ามีที่สิงสู่อยู่บนฟ้า จึงเรียกอีกว่าผีฟ้า

พลังเหล่านี้มีขึ้นจากการรวมพลังผีขวัญของคนชั้นนําที่ตายไปนานแล้ว เมื่อมีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตายอีก (เป็นคนถัดไป) ผีขวัญของหัวหน้าเผ่าพันธุ์นั้นก็จะถูกเชิญขึ้นฟ้าอีก ด้วยพิธีส่งผีขวัญขึ้นไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับแถน (และจะมีต่อไปไม่จบสิ้น) พลังของแถนคอยปกป้องคุ้มครองผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในชุมชนให้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ผีฟ้ากับคนสื่อสารกันได้ไม่ขาด ผีฟ้ามีคําทํานายฝนปีต่อไปว่าจะตกต้องตามฤดูกาลมากน้อยเท่าใด เพื่อคนในชุมชนเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้า ทั้งนี้โดยผ่านหมอเข้าทรง (ซึ่งมาจากการสืบตระกูลและด้วยการยอมรับของชุมชน)