สมหมาย ปาริจฉัตต์ : สอนให้เข้าใจว่าดีแล้ว สอนให้รู้จักถามสำคัญกว่า (10)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายการสุดท้ายของการประชุมวิชาการ เวทีนวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพเพื่อโรงเรียน เป็นการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิถึงผลการดำเนินงานของสองโครงการ คือ โครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องกับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าจะเดินหน้า ต่อยอดไปอย่างไร ทั้งทำให้สิ่งที่ทำมามีความยั่งยืนและขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ

ตอบโจทก์องค์ปาฐก ที่ฝากแง่คิดไว้เมื่อวันแรก “ทำอย่างไรจะขยายผลโมเดลพัฒนาการศึกษาทั้งสองนี้เข้าสู่ระบบโรงเรียน ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้กว้างขวาง” ซึ่งยังเป็นคำถาม หนามตำใจอยู่ในวันนี้

ผู้ทรงคุณวุฒิท่านแรก ดร.ผ่องศรี พรรณราย ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดประเด็นก่อน

“มาสัมผัสโครงการครั้งนี้โชคดี ได้พบบรรยากาศของความสุข ภายใต้แนวทาง 4 กระบวนการ 5 มาตรการที่นำมาใช้ประโยชน์ในการยกระดับพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขึ้น และแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง สามารถประสานสิ่งที่ทำกับภารกิจการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างดี”

“แค่ 2 ปี 4 รอบ เห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนทำงานอย่างมีความสุขกับการได้ทำงานร่วมกัน เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นคุณภาพ มีผู้ใหญ่ใจดีคอยช่วยแนะให้เดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการติดตั้งระบบงานที่สอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพที่สถานศึกษาต้องจัดทำตามมาตรฐานที่วางไว้ สอดคล้องตามนโยบายและการจัดงบประมาณของ สพฐ. ข้อ 1 และข้อ 5 จัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน”

“ตอนขออนุมัติงบประมาณที่โครงการขอมา 2 ล้านให้ผู้บริหารและครูแกนนำมาประชุมร่วมกัน อยากให้ทำต่อ ขอให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมประกันคุณภาพส่งงบประมาณปี 2563 มาให้ดู มีงบฯ ประกันคุณภาพถึงระดับห้องเรียน พบว่าทั้งโครงการ SQip และเพาะพันธุ์ปัญญาไปด้วยกันได้”

ที่ประชุมปรบมือรอรับข่าวดีที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 

คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานกรรมการกำกับติดตามโครงการ รับไมค์ต่อ “สุขใจมากที่มาเป็นสักขีพยานในการสู่ขอระหว่างโครงการสควิปกับเพาะพันุธ์ปัญญา เท่าที่ติดตามพบว่าสิ่งที่เราพูดกันในคณะกรรมการกำกับเกิดขึ้นจริง ในเวทีประชุมที่ห้องนี้ก็พบว่า นักเรียนนอกน้อยกว่าคนฟังอยู่ภายใน และคนเข้าประชุมเข้าก่อนวิทยากร”

“Growth Mindset เป็นแนวคิดที่ดีมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนกับครูแกนนำเปลี่ยนแปลงไป โรงเรียนให้ร้ายต่อ สพฐ.น้อยลงกว่าสมัยดิฉันมาก สมัยโน้นไปเยี่ยมบ้านให้นักเรียนสะท้อน ครูดีเป็นอย่างไร ได้ฟังเด็กพูดประโยคหนึ่ง ครูไม่เคยสิ้นศรัทธาในตัวผม แต่ครูก็ยังให้โอกาสผม”

สิ่งแรก Mindset 2 กระบวนการ 3 ทีมงาน ถ้าเปลี่ยน 3 สิ่งนี้ได้ โดยทำ 5 มาตรการหรือ 5Q ภายใต้ 4 กระบวนการไปพร้อมกันได้ ทั้งๆ ที่เป็นความยาก ขอชื่นชม ท่านจะเป็นโรงเรียนติดตลาด คนจะมาหาท่าน เพราะเป็นพื้นดินดีเพาะปลูกง่าย หลักการของ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ โครงการอะไรก็แล้วแต่ที่ถูกสั่งลงไปโดยไม่ถูกต้อง โรงเรียนไม่ทำก็ได้

อย่างไรก็ตาม สำคัญว่าเราต้องรู้ โฟกัสของเราคืออะไร ภายใต้โครงการต่างๆ เยอะมาก จุดอ่อน ปัญหาอยู่ไหน จึงต้องจัดลำดับความสำคัญ ไม่ต้องเป็นสาวกของใคร เป็นสาวกของพื้นที่ของตัวเอง

 

คุณครูคุณหญิงเล่าต่อ “มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเยี่ยมโรงเรียน ผอ.โรงเรียนพาไปดูกรงนกใหญ่มาก เลยถามว่าทำไมถึงทำขนาดนี้ ได้รับคำตอบว่า เป็นแหล่งเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนของผมครับ”

“กรงนกนี่นะ” ครูทำเสียงอุทาน ก่อนย้ำ “คิดนอกกรอบได้ แต่ต้องคิดเสมอว่า สุดท้ายแล้ว เด็กได้อะไร”

“โรงเรียนของเราทำได้ไหม ศิษย์เก่าออกไป อะไรที่เราสอนไม่ได้ ไปหาคนอื่นมาสอนได้ไหม ขยายการเรียนรู้ไปสู่ระบบการเรียนรู้นอกโรงเรียน”

“อีกประการ การถอดบทเรียน อยากขอร้องให้บันทึกความรู้สึกดีๆ ที่มีมาจนถึงวันนี้ ด้วยรูปแบบอะไรก็ได้บันทึกไว้ เขตนวัตกรรมการศึกษาเกิดแล้ว กรรมการนโยบายการศึกษาที่จะมีตาม พ.ร.บ.ใหม่ ตามหลังพวกท่าน 2 ปีที่ผ่านมา มีบทเรียนในมือของท่าน ถ้าระบบข้างบนได้รับทราบ แต่หากไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ ภายใน 2 เดือนถึง สพฐ.เพื่อนำบทเรียนที่ได้รับเหล่านี้ไปดำเนินการต่อ หากไม่เช่นนั้น สพฐ.อาจไม่ช่วยเราอีก

ครูเน้นก่อนปิดท้าย “ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการเรียนรู้ การสอนให้เด็กเข้าใจเป็นสิ่งดี แต่การสอนให้เด็กรู้จักถาม ทำไม why How เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ยิ่งกว่าคือ ถามว่า Why not ตรงนี้แหละ ทำไมเราไม่ทำเพิ่ม ไม่เกิด ครูจะจัดการอย่างไรให้เกิดการเรียนการสอนแบบนี้

 

ถึงคิวผู้ทรงคุณวุฒิคนสุดท้าย นพ.วิจารณ์ พานิช ครูขอสะท้อนคิดเป็นคำถาม 5 ข้อ

1. ถามว่า อ.ผ่องศรีไม่ค่อยมีสตางค์ รองเลขาฯ ก็ไม่ค่อยมี ถ้าต้องการการสนับสนุนเพียงหนึ่งอย่าง แต่ละโหนดจะเลือกอะไร

2. ถ้ามีโรงเรียนใกล้เคียงมาขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำ อยากทำบ้าง แต่ไม่มีพื้นฐาน ยังไม่เข้าใจ จะแนะนำอย่างไร

3. อยากให้แต่ละโหนดกลับไปทบทวนมาตรการที่ให้เด็กมีงานทำ โรงเรียนขนาดกลางเด็กจบ ม.3 ที่จำเป็นต้องทำงาน โรงเรียนเตรียมไว้อย่างไร

4. ที่ศึกษานิเทศก์พูด ดีทั้งสองโครงการ ควรให้เขตพื้นที่เอาไปจัดการ จะริเริ่ม ชักชวนหลายๆ เขตให้ทำ เสนอต่อ สพฐ.ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องมารอกองทุนเพื่อความเสมอภาค เขาทำโครงการนำร่อง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างพลเมืองเข้มแข็งแก่บ้านเมืองเรา

5. ถ้าอีกสองปีมีเวทีอย่างนี้อีก จะเอาผลงานอะไรมาแลกเปลี่ยน จะให้โรงเรียนอื่นเอาอะไรมาแชร์

ครูของครูจบคำถามข้อที่ 5 การเสวนาจบลง ครูเดินลงจากเวทีมายื่นหนังสือเล่มล่าสุด ” วิจัยชั้นเรียน เปลี่ยนครู ฉันจะเป็นครูที่ดีได้อย่างไร” เหมือนเช่นทุกครั้งที่พบกัน ครูมีหนังสือเล่มใหม่มาให้เสมอ ผมยกมือไหว้ด้วยความอิ่มเอมใจ

เสียงพิธีกรย้ำ “พัฒนาตัวเราเองได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง” ก่อนเชิญเจ้าภาพงานคนสำคัญอีกท่านขึ้นบนเวที