อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : เมื่ออินทรีกลับมาใหม่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกามีกำหนดการเข้าร่วมประชุมอาเซียนดังนี้1

31 กรกฎาคม 2562 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจารายประเทศ (อาเซียน+สหรัฐอเมริกา)

2 สิงหาคม 2562 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (เออีเอส) ครั้งที่ 9

2 สิงหาคม 2562 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ครั้งที่ 26

3 สิงหาคม 2562 การประชุมหารือเชิงนโยบายของกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง มีเฉพาะประเทศไทย สหรัฐอเมริกา ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมประชุม

 

หากเป็นไปตามวาระการประชุมและการตั้งข้อสังเกตของสื่อมวลชนดังกล่าว

เราจะพบข้อสังเกตเบื้องต้นอย่างน้อย 2 ประการ

ประการที่ 1 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาส่งสารแสดงความยินดีต่อรัฐบาลใหม่ของไทยหลังถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียว

ประการที่ 2 วาระการประชุมของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ไมก์ ปอมเปโอ ดังกล่าวข้างต้นถูกวางแผนงานเอาไว้นานแล้ว เพราะการประชุมแต่ละครั้งเป็นการประชุมประจำ ทว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมประชุมอย่างถี่หยิบระหว่างกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ น่าจะหมายความว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามามีส่วนร่วมในความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนในสาระสำคัญทุกประเทศทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ เข้าร่วมประชุมทั้งกับกลุ่มประเทศอาเซียนและรายประเทศ ที่สำคัญให้ความสำคัญกับประเด็นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong sub region-GMS) อย่างมาก

สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบทบาทของประเทศมหาอำนาจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศในยุโรปหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส รวมทั้งสหภาพยุโรปด้วย

สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาในภูมิภาคนี้ที่พื้นที่ (space) การเมือง เศรษฐกิจ ตลาด เทคโนโลยีและผู้คนจากทั่วโลกเข้ามาเต็มพื้นที่หมดแล้ว แต่สหรัฐอเมริกาก็ขอพื้นที่ของตนบ้าง และมีความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ของตนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอเมริกันอย่างมาก

 

สารจากสหรัฐอเมริกา

นอกจากการเดินทางเยือนและเข้าร่วมประชุมสำคัญปลายกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคมปีนี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐผู้นี้แล้ว หนังสือพิมพ์ของไทยเราได้เผยแพร่แถลงการณ์ของ ฯพณฯ ที่สำคัญเช่น2

“…สหรัฐเฝ้ารอที่จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น…” แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุต่อไปว่า

“…พันธไมตรีระหว่างสหรัฐและประเทศไทยแข็งแกร่งเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาไม่เปลี่ยนแปลง และเราจะยังคงสนับสนุนประเทศไทยในฐานะผู้นำของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเราจะแนjนแฟ้นมากยิ่งขึ้นเมื่อเราร่วมมือกันขับเคลื่อนเป้าหมายที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน อันได้แก่ ความมั่นคง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และทั่วโลก…”

นายไมก์ ปอมเปโอ มีกำหนดการเยือนไทยระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-3 สิงหาคมนี้ เพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการไทย และร่วมการประชุมอาเซียนหลายรายการที่เป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ

ที่น่าสนใจ เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาคนที่ 2 ในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเยือนไทยต่อจากนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน เมื่อเดือนสิงหาคม 25603

สารจากวอชิงตันเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาและชัดเจน กล่าวคือ วอชิงตันให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ภายใต้กรอบนโยบาย Indo-Pacific ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แต่พยายามเข้าถึงใจกลางของชาติมหามิตรคือ ประเทศไทย มหามิตรของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ชาติปางก่อนเมื่อกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเจาะเข้าถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 คือให้ความสำคัญกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านท่านรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย

ทั้งนี้ เท่ากับว่า ในสายตาวอชิงตัน ประเทศไทยคือประเทศยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในอาเซียน

 

ข้อเสนอทางนโยบาย

ด้วยความเคารพหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง คนนอกนโยบายและนักวิชาการตัวเล็กอย่างผมมีข้อสังเกตทางนโยบายดังต่อไปนี้ครับ

ประการที่ 1 ภูมิภาคนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบฉับพลันทันที อันภาษาปัจจุบันที่นิยมใช้กันคือ Disruption โดยเฉพาะเทคโนโลยีอันทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลผ่านอย่างรวดเร็วและทะลุทะลวงไปทุกพื้นที่

ดังนั้น Platform การเคลื่อนย้ายของผู้คน เช่น นักท่องเที่ยว นักศึกษา พ่อค้าจึงเลื่อนไหลไปมาระหว่างภูมิภาค ข้ามพรมแดนข้ามรัฐกลับไปกลับมา กิจการระหว่างประเทศและภูมิภาคของทุกรัฐบาลในภูมิภาคนี้เผชิญกับสิ่งนี้เหมือนกันหมด รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและเป็นสังคมเปิด (open society) มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนี้ไม่ควรเชื่อวาทกรรม “ความอยู่รอด” แบบสงครามเย็น นอกจากล้าหลังแล้วยังสุดเชย

แต่ควรมียุทธศาสตร์ความมั่งคั่ง ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน ด้วยนวัตกรรม (innovation) สมัยใหม่ให้ด้านภูมิภาคนิยม การบูรณาการทางเศรษฐกิจท่ามกลางการคงอยู่ด้วยความเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้นำนโยบายไทยทุกระดับชั้นควรย้อนพินิจ ทบทวนและมียุทธศาสตร์เชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันอันนี้ แล้วสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ด้านต่างๆ จากการกลับมาอีกครั้งของอินทรี

ประการที่ 2 เมื่ออินทรีกลับมา ไทยกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้าง (construct) โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) ที่สำคัญคือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ Internet gateway เส้นทางเชื่อมต่อเขตนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจระเบียงตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ภาครัฐและเอกชนรายใหญ่จะใช้ประโยชน์สูงสุดอย่างไรต่อ การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพนี้อย่างไร เพราะโครงสร้างทางกายภาพนี้จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองและเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ไปหมด แต่ไปในทิศทางไหนยังไม่มีใครทราบผลลัพธ์ที่แท้จริง

ผู้นำทางนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อสังคมเศรษฐกิจไทยสูงสุดอย่างไร อีกทั้งกระจายความมั่งคั่งนี้สู่ภูมิภาคและคนตัวเล็กตัวน้อยให้มากที่สุดอย่างไร ไทยจะใช้นโยบายภูมิภาคอย่างไรเมื่ออินทรีกำลังกลับมา

ประการที่ 3 อินทรีกลับมาในภูมิภาคคราวนี้ ภูมิภาคนี้มีบริบท (context) ที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก เพราะพญามังกรที่ทรงพลังทางเศรษฐกิจใช้ทั้ง เงินหยวน เทคโนโลยีและผู้คนเรือนล้านทั้งเข้าๆ ออกๆ และตั้งถิ่นฐานถาวรในภูมิภาค

น่าเป็นห่วง อินทรีกับพญามังกรกำลังทำสงครามการค้า (trade war) อันมีผลต่อโลกทั้งหมด ผู้นำทางนโยบายของไทยในระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีแผนงานตั้งรับอย่างไรหากเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) แตกครั้งใหญ่อีกครั้งแม้แต่ในจีนและสหรัฐอเมริกาเอง ฟองสบู่ไทยจะไม่พินาศหรือครับ

ประการสุดท้าย ด้วยอานุภาพของเทคโนโลยีการสื่อสาร เงินตราดิจิตอลที่ริเริ่มกันโดยเจ้าของเทคโลโลยีดิจิตอล อาจทำให้โลกปั่นป่วนไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่ทราบ ผู้นำทางนโยบายของไทยทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมแผนสำรอง เช่น อาจต้องกลับมาใช้ระบบอะนาล็อก ดีดลูกคิด กอดและรักษาโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่อาจ primitive แต่คือของจริงแท้ก็ได้

โปรดเตรียมตัวและขอให้โชคดีครับ