“นิ่วท่อน้ำดี” สำคัญกว่าที่คุณคิด กินล้น-กินดึก มองข้ามไม่ได้!

AFP PHOTO / Nicolas ASFOURI

ธรรมชาติบำบัด
น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

 

ตัวเลขที่น่าตกใจมีว่า คนในสังคมสมัยใหม่มีนิ่วท่อน้ำดีในตับอยู่ถึงร้อยละ 95% ของประชากร เป็นการมีนิ่วสะสมขึ้นโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว โดยปัจจัยเรื่องอาหารเป็นสาเหตุหลัก และการกินอาหารล้นเกินคือตัวนำมาซึ่งปัญหา

อาหารเก่าเก็บถูกแบคทีเรียย่อยสลาย แล้วเกิดสารพิษหลุดเข้ากระแสเลือดและน้ำเหลืองไประคายเคืองตับ นั่นประการหนึ่ง อาหารที่ไม่ย่อยเหล่านี้ที่บูดเน่าจากการย่อยสลายของแบคทีเรียยังระคายเคืองลำไส้อยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า ภาวะลำไส้ระคายเคือง มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย หรือภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง กระทั่งการเกิดตุ่มเนื้องอก (polyp) ในลำไส้ใหญ่

น้ำเลือดที่เป็นกรดมากขึ้นและข้นขึ้นทำให้การหมุนเวียนเลือดที่ตับไม่สะดวก กระทบกระเทือนต่อการสร้างน้ำดีของตับ และสัดส่วนของน้ำดีก็ผิดเพี้ยนไป ยิ่งก่อให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดีตับได้ง่ายขึ้น

จึงอธิบายได้ว่า ทำไมการกินล้นเกิน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่ว

พึงระลึกไว้ด้วยว่า การกินล้นเกินเป็นความเสี่ยงให้เกิดนิ่ว และการเกิดนิ่วเป็นอุปสรรคต่อการย่อย ร่างกายจึงได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ผลก็คือ ยิ่งเรากินล้นเกินมากเท่าไหร่ เซลล์ร่างกายก็กลับจะได้รับสารอาหารไม่ครบส่วนมากเท่านั้น และเชื่อไหมว่า เซลล์ยิ่งได้รับสารอาหารไม่ครบ เซลล์ก็จะยิ่งหิว ก็ยิ่งกระตุ้นให้เจ้าตัวกินเป็นพายุบุแคม เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ :

กินล้นเกิน → เกิดนิ่ว → ย่อยไม่ดี → ขาดสารอาหาร → หิว → กินล้นเกิน

แท้ที่จริง กระเพาะของเราทำงานได้อย่างพอดิบพอดีต่อเมื่อมีอาหารบรรจุอยู่ประมาณ 3/4 ของกระเพาะ การกินจนกระทั่งรู้สึกว่า กินเข้าไปไม่ไหวอีกแล้ว อย่างที่เราเรียกกันว่า กระเพาะคราก สภาพนั้นกระเพาะทำงานไม่ไหวแล้ว

ในทางปฏิบัติ ปริมาณความจุ 3/4 ของกระเพาะคือเท่ากับ 2 ฝ่ามือของเจ้าของ เพราะฉะนั้น ก็ลองเอามือกอบอาหารใส่ฝ่ามือทั้งสองขึ้นมาดู นั่นแหละคือปริมาณที่เราควรกินประมาณเท่านั้น ด้วยเหตุฉะนี้พึงระลึกว่า ลุกก่อนอิ่ม นี่เป็นคำขวัญของชาวธรรมชาติบำบัด ส่วนชาวแม็กโครไบโอติกส์เสนอด้วยนัยเดียวกันว่า พึงกินอาหารเพียง 7 ส่วน จึงจะเป็นภาวะที่นำสุขมาให้

friends-1283173_960_720

การกินอาหารระหว่างมื้อ วิชาอายุรเวทย์กล่าวว่า การกินอาหารลงท้องก่อนที่อาหารมื้อก่อนจะทันย่อยได้หมด ถือเป็นอันตรายอย่างใหญ่ของการเกิดโรค คนเราทุกวันนี้มักกินจุบกินจิบระหว่างมื้อด้วยสาเหตุความเป็นมาต่างๆ กันดังนี้คือ :

1. มีชีวิตที่เร่งรัดเคร่งเครียด อาหารมื้อหลักก็รีบๆ กิน แล้วไปหยอดอาหารแถมโน่นแถมนี้ระหว่างในที่ทำงาน

2. ความยั่วยวนของอาหารบรรจุซองหรือขนมจุบจิบประเภทต่างๆ ที่นิยมการออกแบบ บรรจุภัณฑ์ สี กลิ่นชวนให้ใหลหลง

3. ความสะดวกซื้อของอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้คนนิยมคว้าติดไม้ติดมื้อไว้กินเล่น ทั้งๆ ที่อาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านั้นมักจะขาดคุณค่าอาหาร หรือมีสารอาหารไม่ครบส่วน แถมได้สารเคมีแต่งสี แต่งกลิ่น ผงชูรสเป็นของแถม

4. ร่างกายเรียกร้องให้แสวงหาการกินไปเรื่อยๆ เหตุเพราะอาหารในแต่ละมื้อมีสารอาหารไม่ครบส่วน ก็เลยก่อเกิดเป็นความอยากอาหารอยู่เรื่อยๆ

5. กินด้วยอารมณ์ คนจำนวนไม่น้อยกินเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์เครียด หรือหลีกเลี่ยงจากความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย หรือความเศร้า ความกลัวที่อยู่ลึกๆ ในจิตใต้สำนึก

ต้องรู้อีกอย่างหนึ่งว่า อาหารระหว่างมื้อของชาวนาครเร่งรัด มักจะเป็นอาหารแปรรูปซะเป็นส่วนใหญ่ เช่น เป็นขนมที่ทำจากแป้งขัดขาว ใส่กลิ่นรสทางเคมีเพื่อยั่วน้ำลาย ต้องรู้ไว้ว่าอาหารแปรรูปแบบนี้ในทางธรรมชาติบำบัดถือว่า ไร้ซึ่งพลังแห่งชีวิต ทั้งขาดวิตามิน และเส้นใยที่ควรจะมี ผลก็คือคนที่กินอาหารดัดแปลงจะขาดสารอาหาร ซึ่งทำให้ร่างกายยิ่งเกิดความอยากกินมากขึ้นๆ เกิดภาวะกินล้นเกิน แต่พร่องสารที่เป็นประโยชน์

สมัยนี้ยังเป็นสมัยของสุขภาพ จึงมีอาหารอีกบางอย่างที่ชวนให้คิดว่าเป็นอาหารธรรมชาติ แถมบรรจุให้หน้าตาดูดี สีเอิร์ทโทน ซึ่งในทางเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น กล้วยตากซึ่งควรจะเป็นอาหารธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ด้วยความไม่รู้ ผู้ผลิตก็เอากล้วยนั้นไปชุบน้ำผึ้ง เพราะใจคิดว่า น้ำผึ้งก็เป็นของธรรมชาติ

หารู้ไม่ว่า แม้จะเป็นธรรมชาติบวกธรรมชาติ แต่รวมความแล้วแทนที่จะเป็นประโยชน์ กลับจะเกิดโทษได้ เพราะเท่ากับเพิ่มทวีความหวานเข้าไปชนิดยกกำลังสอง ก็ทำให้เสี่ยงต่อความอ้วน ไตรกลีเซอไรด์สูง หรือเบาหวาน ขณะเดียวกันก็พลอยทำให้การย่อยไม่สมบูรณ์อีกต่างหาก

ปัญหาใหม่สำหรับนาครเร่งรัดคือ การกินอาหารกลางดึก นักทำนายอนาคตศาสตร์อย่าง อัลวิน ทอร์ฟเลอร์ เสนอให้พิจารณาว่า ปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ยุคสว่างไสวยี่สิบสี่ชั่วโมง คนที่ทำงานอยู่ภาคกลางคืนเริ่มมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างน่าสังเกต คนเหล่านี้นอนกลางวัน ทำงานกลางคืน และกินอาหารหลายๆ มื้อกลางดึก ในทางสรีระแล้ว การตื่นกลางคืนร่างกายยังคงมีอัตราเผาผลาญน้อยกว่ากลางวัน ดังนั้น กินกลางคืนมาก มักจะมีภาวะกินล้นเกิน และน้ำย่อยไม่เพียงพอ ตามมาซึ่งแนวโน้มการเกิดนิ่วท่อน้ำดี

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ นาฬิกาชีวภาพในตัวคนเรา คนเราเป็นสัตว์กลางวัน นอนกลางคืน การกลับตารปัตรแบบนี้ สรีระร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะระบบย่อย

12630329784_47a058cb9c_b

กินมื้อเย็นเป็นมื้อหนัก นี่เป็นแนวโน้มที่ปฏิบัติกันในสังคมเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อเย็นได้กลายเป็นฉากสำคัญในการเจรจาธุรกิจ รวมถึงการเฉลิมฉลอง ซึ่งผิดกับการใช้ชีวิตในชนบทสมัยก่อน อันงานมงคลมักจะจับที่เวลาเที่ยง เพราะงานมงคลในชนบทมักจะคู่ไปกับศาสนกิจ งานตรุษงานแต่งในชนบทจึงนำด้วยการทำบุญตักบาตร ตามด้วยการเลี้ยงพระเพล แล้วแขกเหรื่อก็ร่วมกินอาหารเที่ยงกัน

แต่ปัจจุบันสังคมเมืองถือเอาฤกษ์เลี้ยงแขกตรงอาหารเย็น ส่วนในชนบทสมัยนี้ แขกจะมากินเลี้ยงตั้งแต่เที่ยงแล้วลากต่อไปจนถึงบ่าย เย็น และดึกดื่น พร้อมสุรายาเมา

ต้องรู้ไว้ว่า น้ำย่อยคนเรานั้นจะลดการหลั่งอย่างชัดเจนภายหลังเที่ยง ดังนั้น มื้อเย็นที่กินหนัก มักจะเผชิญปัญหาอาหารไม่ย่อย แล้วแนวโน้มของการเกิดนิ่วท่อน้ำดีก็ตามมา

 

กินโปรตีนล้นเกิน การกินโปรตีนล้นเกินมักจะทำให้เยื่อบุหลอดเลือดหนาตัวขึ้น รวมทั้งผนังของท่อน้ำดีในตับด้วย โปรตีนที่พอกหน้าตามผนังหลอดเลือด ท่อน้ำเหลืองและท่อน้ำดีนี้จะเป็นอุปสรรคกีดกั้นไม่ให้คอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดซึมซ่านไปสู่เซลล์ร่างกาย (คอเลสเตอรอลในปริมาณเหมาะสม เป็นวัตถุดิบเพื่อการซ่อมสร้างเซลล์ร่างกาย)

ผลก็คือเซลล์ตับเกิดความเข้าใจผิดว่า ร่างกายคงจะพร่องคอเลสเตอรอล เซลล์ตับจึงดิ้นรนผลิตคอเลสเตอรอลมากขึ้นไปอีกโดยหวังจะส่งไขมันจำนวนนี้ผ่านท่อน้ำดี ลงสู่ลำไส้เล็กแล้วดูดซึมกลับไปเลี้ยงทั่วร่างกาย คอเลสเตอรอลที่ผลิตเพิ่มนี้ก็ขับไม่ออกจากท่อน้ำดีเนื่องจากการหนาขึ้นของผนังท่อน้ำดี จึงกลายเป็นการจราจรที่แออัดคับคั่งอยู่ในท่อน้ำดีของตับนั่นเอง เกิดการจับนิ่วขึ้น

นี่เป็นคำอธิบายว่า การกินโปรตีนล้นเกิด เสี่ยงต่อนิ่วท่อน้ำดีได้อย่างไร