เมนู “ชาววัง” กับ “เขาวัง” | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้เผลอตัวรับปากว่าจะไปพูดเรื่อง “ชาววังกับเขาวัง” ที่พิพิธภัณฑสถานสถานแห่งชาติพระนครคีรี เนื่องในงานฉลองครบรอบ 160 ปีแห่งการสร้างพระราชวังแห่งนั้นที่จังหวัดเพชรบุรี

ตอนรับปากก็ไม่ได้คิดอะไรมากหรอกครับ เพราะถ้าคิดมากก็จะไม่รับปากใครง่ายๆ แบบนี้อีกแล้ว ฮา!

คืนวันก่อนเดินทางผมเดินวนเวียนอยู่ในบ้านเป็นหนูติดจั่นเลยทีเดียว

พุทโธ่! ผมจะไปรู้ได้อย่างไรครับว่าชาววังครั้งนั้นท่านกินท่านอยู่กันอย่างไร

ทางรอดอย่างเดียวคือการเดินหาหนังสือในบ้านของตัวเองที่สะสมไว้เป็นภูเขาเลากาว่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่พออาศัยอ้างอิงเป็นการตำข้าวสารกรอกหม้อ เผื่อว่าท่านผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านจะจดเรื่องราวร่องรอยอะไรเอาไว้บ้าง จะได้นำไปขยายผล

เมื่ออ่านหนังสือหลายเล่มมาปะติดปะต่อกันเข้าก็พอจะได้ความครับ

ขึ้นต้นทีเดียวต้องมาตกลงกันเสียก่อนว่า เขาวังในยุคสมัยที่ผมจะพูดถึงนี้ คือเขาวังในสมัยรัชกาลที่สี่หรือรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชอัธยาศัยโปรดที่จะเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ไม่ได้ประทับอยู่แต่ในพระนครอย่างพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ

ด้วยเหตุนี้จึงทรงสร้างพระราชวังขึ้นในต่างจังหวัดหลายแห่ง

เช่น พระราชวังปฐมนครที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งบัดนี้ไม่เหลือซากอะไรแล้ว

ทรงบูรณะพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่จังหวัดลพบุรี รวมทั้งทรงสร้างพระราชวังบนภูเขาที่เมืองเพชรบุรีแล้วพระราชทานนามว่าพระนครคีรี ที่เราเรียกกันด้วยความคุ้นเคยว่าเขาวังนั่นเอง

เมื่อทรงสร้างพระนครคีรีขึ้นที่เพชรบุรีแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พระราชวังแห่งนี้อยู่เนืองๆ

บางคราวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แขกเมืองคนสำคัญ

เช่น ทูตจากต่างประเทศออกไปเที่ยวเมืองเพชรบุรีและพักแรมที่พระราชวังแห่งนี้ได้ด้วย

การเดินทางไปเพชรบุรีสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะรถไฟก็ไม่มี

ทางหลวงสายเพชรเกษมก็ยังไม่ได้ตัด

วิธีเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ต้องใช้วิธีนั่งเรือออกปากน้ำเจ้าพระยาแล้วไปเลี้ยวเข้าแม่น้ำเพชรบุรีที่บ้านแหลม เดินเรือขึ้นไปจนถึงบ้านใหม่ซึ่งเป็นชื่อของตำบลหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เป็นท่าเรือสำคัญใกล้กันกับเขาวัง

จากนั้นก็เดินทางบก ด้วยการขี่ม้าและใช้ยานพาหนะอื่นๆ เป็นระยะทางอีกประมาณ 10 กิโลเมตรจึงจะถึงเขาวัง

เมื่อไปถึงเขาวังแล้วเรื่องการอยู่อาศัยเห็นจะพอดูแลกันได้ ไม่หนักใจอะไรนัก เพราะบนพระราชวังแห่งนั้นนอกจากที่ประทับแล้วก็ยังมีอาคารอื่นอีกหลายหลังที่อาจใช้สอยได้

เนื่องจากเวลาเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่นั่น ก็ต้องมีข้าน้ำคนหลวงตามเสด็จไปเป็นจำนวนมาก ที่ทางต่างๆ เห็นจะพออยู่ได้สบายๆ

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องอาหารการกิน เพราะไม่ใช่การพาทูตไปอยู่ที่โรงแรม ตื่นเช้ามาจะได้มีอเมริกันเบรกฟาสต์ ตกเย็นก็มีดินเนอร์เสียเมื่อไหร่

ครั้นจะปล่อยให้ทูตอดอยากปากแห้งก็ผิดวิสัยบ้านเมืองของเรา จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ขายหน้าเขาตายเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าเวลามีคณะทูตออกไปเมืองเพชรบุรีก็ต้องมีการสั่งการมอบหมายให้มีการตั้งโรงครัวขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ ของสด เช่น ผักหญ้าหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ ก็ไปจัดหาจากท้องถิ่นละแวกนั้น แต่เสบียงกรังบางอย่างก็ต้องเตรียมออกไปจากกรุงเทพฯ ให้พร้อมและให้พอ เพราะเวลาไปภารกิจอย่างนี้ ไปเป็นขบวนใหญ่ครับ

ผมว่ามีคนร่วมเดินทางเป็นร้อยคนเลยทีเดียว

ในเอกสารจดหมายเหตุฉบับหนึ่งซึ่งเป็นหมายรับสั่งเมื่อครั้งที่ทูตฝรั่งออกไปเที่ยวเมืองเพชรบุรี เมื่อพุทธศักราช 2406 ซึ่งเป็นเวลาเพียงสองสามปีหลังจากสร้างพระราชวังแห่งนั้น มีหมายรับสั่งให้นำเสบียงบรรทุกลงเรือพระที่นั่งเสพสหายไมตรีไปพร้อมกับคณะทูต มีรายการดังนี้ครับ

“ให้เจ้าพนักงานกรมนาจัดข้าวสารขาวสำหรับเลี้ยงทูต 40 ถัง ข้าวสารแดงสำหรับกะลาสี 40 ถัง ให้กรมสรรพากรในจัดปลาแห้ง 200 หาง ปลาใบไม้ใหญ่ 500 ตัว เนื้อเค็ม 200 แผ่น ปลาย่าง 200 ไม้ ฟองเป็ดสด 500 ฟอง เป็ดเค็ม 1,000 (รวม) 1500 ปลากุเลา 50 ตัว ส้มมะขาม 40 ปั้น กะปิดี 2 กะปิแกง 2 (รวม) 4 ถัง หอม 20 หมวด กระเทียม 20 หมวด พริก 5 ถัง มันเทศ 2 หาบ ฟักเขียว 2 หาบ ฟักเหลือง 2 หาบ เกลือ 2 ถัง คลังราชการจัดไต้เหนือ 1000 น้ำมันมะพร้าว 300 ทะนาน น้ำมันยางใส 100 ทะนาน กระสอบ 100 ใบ ให้เร่งไปส่งที่เรือพระที่นั่งเสพสหายไมตรี…”

เด็กสมัยนี้หลายคนคงงงกับคำว่า ปลาแห้ง 200 หาง กับปลาใบไม้ 500 ตัว ว่าปลาสองชื่อนี้คือปลาชนิดใด

ขอเฉลยว่าทั้งสองคำเป็นคำสุภาพหรือราชาศัพท์สำหรับเรียกปลาแห้งที่ทำจากปลาช่อน จะเรียกว่าปลาหาง ส่วนปลาใบไม้นั้นคือปลาสลิดครับ

เสบียงกรังคือของแห้งเหล่านี้ เมื่อนำไปสมทบเข้ากับของสดที่หาได้จากเมืองเพชรบุรี พ่อครัวเห็นจะทำกับข้าวกับปลาได้หลายอย่าง ส่วนจะถูกปากฝรั่งหรือไม่นั้น เห็นจะต้องเดินผีถ้วยแก้วถามเอาแล้วล่ะครับ

เพราะทูตที่กินกับข้าวสำรับนี้แกตายไปนานนักหนาแล้ว

ทีนี้พอนึกสงสัยต่อไปว่าคนสมัยโบราณท่านเอาข้าวของต่างๆ มาปรุงเป็นกับข้าวอะไรกันบ้าง

วิธีแก้สงสัยของผมก็ต้องย้อนกลับไปดูเอกสารที่เก่ากว่าเอกสารข้างต้นซึ่งเป็นเอกสารรัชกาลที่สี่ ถอยขึ้นไปจนถึงรัชกาลที่หนึ่งเลยครับ

ในหนังสือเรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรายละเอียดสำรับคาวหวานที่ใส่กระทงเพื่อเลี้ยงพระ ในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อพุทธศักราช 2328 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

อ่านมาถึงตรงนี้คงมีคำถามเบื้องต้นว่าทำไมต้องเอาอาหารไปใส่กระทง เรื่องคือว่างานคราวนั้นเป็นการใหญ่ของบ้านเมือง มีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาจำนวนมากถึงสองพัน ภาชนะที่เป็นของถาวรเห็นจะมีไม่มากพอที่จะใช้งานได้ ทรงแผ่พระราชกุศลคือบอกบุญไปยังข้าราชการที่มีกำลังพอจะโดยเสด็จพระราชกุศลได้ ให้ทำอาหารเมนูเดียวกันจากทุกบ้าน ใส่ลงกระทง กระทงนั้นวางบนกระจาดที่หลวงทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนถึงวัน

เพื่อจะได้มีรูปร่างหน้าตาและขนาดเหมือนกันทุกสำรับ

รายการอาหารครั้งนั้นมีดังนี้

ของคาวก็มีไส้กรอก ไข่เป็ดห้าใบ (รายการนี้น่าจะเป็นไข่ต้ม) ไก่พะแนง หมูผัดกุ้ง มะเขือชุบไข่ ไข่เจียว ลูกชิ้น กุ้งต้ม หน่อไม้ น้ำพริก ปลาแห้งผัดแตงโม อาหารเหล่านี้รับประทานกับข้าวสารที่หุงสุก

ส่วนของหวานก็มีขนมฝอย ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง ขนมไส้ไก่ กล้วยฉาบ หน้าเตียง (น่าจะหมายถึงล่าเตียง) หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล

นอกจากอาหารคาวหวานมาตรฐานข้างต้นแล้ว ยังมีของสมทบอีกสองสามอย่างคือ แกงร้อน (เป็นแกงจืดอย่างหนึ่งใส่วุ้นเส้น) ข้าวอย่างเทศ (เห็นจะหมายถึงข้าวหมกที่เป็นอาหารแขก)

และน้ำยาขนมจีน

กินข้าวกินปลาแล้วก็ต้องคอแห้ง พระท่านกระหายน้ำขึ้นมา ก็มี “น้ำชุบาล” ถวายพระสงฆ์เวลาบ่าย น้ำชุบาลนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น คือน้ำที่เรียกกันทุกวันนี้ว่าน้ำอัฐบาน ได้แก่ น้ำที่คั้นจากผลไม้แปดอย่าง มีน้ำมะม่วง น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า น้ำกล้วยมีเม็ด น้ำกล้วยไม่มีเม็ด น้ำมะซาง น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น น้ำเหง้าอุบล และน้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่ ที่พระสามารถฉันได้แม้เป็นเวลาวิกาลแล้วนั่นเอง

ดูรายการอาหารแล้วจะเห็นว่า อาหารหวานคาวที่ถวายพระในงานคราวนั้น หลายอย่างก็ยังเป็นของที่เรารู้จักคุ้นเคยกันอยู่ แม้บางรายการอาจจะหากินยากสักหน่อย

แต่ถ้าอยากจะกินกันจริงๆ แล้วก็ไม่เกินความพยายาม เช่น ปลาแห้งแตงโม พะแนงไก่ หรือน้ำพริกรับประทานกับมะเขือชุบไข่ ถ้าขัดสนจนปัญญาจริงๆ แวะมาที่บ้านผมซึ่งอยู่แถวลาดพร้าวนี่เองก็เห็นจะพอจัดหาอาหารสามสี่รายการนี้ให้รับประทานได้ ไม่เหลือกำลัง

ถ้าบอกกันล่วงหน้าสักหน่อย จะได้หาปลาทูมาทอด แกะก้างออกเสียให้เรียบร้อย ไม่ระคายคอ ไม่มีหัวหูมาให้รำคาญตา รับประทานกับน้ำพริกกะปิและผักต้มผักทอดทั้งหลาย ผักต้มราดกะทิเสียหน่อยก็ไม่เลวเลยทีเดียว แบบนี้ก็จะอิ่มอร่อยยิ่งไปกว่าครั้งต้นกรุงเสียอีก

ส่วนน้ำชุบาลนั้น บ้านผมทำไม่เป็นครับ เดี๋ยวไปซื้อน้ำผลไม้ดอยคำมาให้ดื่มดีกว่า ของเขามีหลายอย่าง อร่อยดีนักแล

ไม่ใช่โฆษณาแฝง แต่ว่ากันตรงๆ เลยทีเดียว

ไม่เชียร์แฟนแล้วจะไปเชียร์ใครล่ะคู้ณ