บทวิเคราะห์ | ผ่า12 นโยบายเร่งด่วน “บิ๊กตู่ 2” ชี้วัดอายุ ครม.จอดป้าย-ไปต่อ ?

ศึกแรกต้อนรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 กับการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้ กับเวลา 34 ชั่วโมงเต็ม ท่ามกลาง 7 พรรคฝ่ายค้านจะหยิบยกข้อมูล ข้อเท็จจริงมาชำแหละการดำเนินนโยบายของรัฐบาลบิ๊กตู่ 2

นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา มีเนื้อหาทั้งหมด 66 หน้า

แต่ที่หลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายค้านล็อกเป้า จับตามอง คือนโยบายเร่งด่วน 12 ด้านของรัฐบาล

ที่ผู้นำรัฐบาลตั้งเป้าประกาศต่อสาธารณชนว่าจะต้องดำเนินการให้ได้ภายใน 1 ปี

นโยบายที่ 1 คือ แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน นโยบายนี้เหมือนจะทำง่าย แต่ทว่ากลับยาก เช่น ทำให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย เหมือนจะทำได้ง่ายแต่ในขณะที่เมืองไทยเป็นศูนย์กลางแห่งความฟรีด้อม ขาดระเบียบ แม้จะทำให้สะอาดในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างจะกลับมาไม่เรียบร้อยเหมือนเช่นเคย

นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับปรุงระบบภาษี เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดมาโดยตลอดว่าต้องการให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี เพื่อที่รัฐจะได้เก็บภาษีอย่างทั่วถึง แต่เป็นสิ่งที่คนหาเช้ากินค่ำไม่ต้องการ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หาเสียงด้วยการจะลดภาษีบุคคลธรรมดา 10 เปอร์เซ็นต์

กระทั่งเมื่อนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับแจ้งว่า ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เพราะจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบ

2. ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นหนึ่งในนโยบายชูโรงหาเสียงของพรรค พปชร. คือการต่อยอดโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการมารดาประชารัฐ สนับสนุนให้เงิน 2,000 บาท ให้ผู้ที่มีบุตรตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องไปจนถึง 6 ขวบ

เป็นการคิดนโยบายประชานิยมแบบฉบับของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกวิจารณ์ว่าจะสร้างหนี้ให้ประเทศมหาศาล

โดยเฉพาะการแจกเงินคนจน ที่รัฐบาล คสช.แจกมาอย่างต่อเนื่อง

3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับการผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประเด็นหลักคือการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจโลก พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วยการท่องเที่ยว ไม่ต่างอะไรกับนโยบายรัฐบาล คสช.ที่รณรงค์ให้เที่ยวเมืองรอง เมืองหลัก เที่ยวชุมชน เป็นต้น

4. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยจะกำหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ด้วยการชดเชย การประกัน รายได้

ทั้งนี้ หากใช้นโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งครองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าวจะได้ไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท, ยางพารา ไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม, ปาล์ม 10 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงทำประกันภัยพืชผลคุ้มครองต้นทุนการผลิต ฯลฯ

5. ยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงาน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี

แม้เจ้ากระทรวงแรงงานคือ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะยังไม่มีท่าทีรับลูกเรื่องการขึ้นค่าแรงรายวัน

แต่นโยบายแรงงานนั้นเป็นนโยบายเด่นของพรรค พปชร. โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่พรรค พปชร.หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องจะทำตามที่หาเสียงเอาไว้

แต่ปัญหาคือการขึ้นค่าแรงสูงถึง 425 บาทนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่พรรค พปชร.หาทางออกด้วยการแจ้งว่า จะต้องยกระดับฝีมือแรงงานเสียก่อน จึงจะขึ้นค่าแรงได้

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น แรงงานที่มีฝีมือ ต่างมีรายได้อยู่ที่ 400-600 บาทอยู่แล้ว

หากมองในมุมนี้จะไม่ถือว่าเป็นการขึ้นค่าแรงแต่อย่างใด

6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต เป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่

แต่นโยบายดังกล่าวนี้ย่อมจะนำมาสู่การลงทุนสูงตามมา สิ่งที่ต้องวิเคราะห์คือความคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นนโยบายที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หมายมั่นตั้งแต่เข้ามาร่วม ครม.ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เมื่อหลายปีก่อน

จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใหม่ ให้รองรับการพัฒนาในโลกอนาคต จะมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ

8. การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจํา เป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน แต่กระนั้นที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ไร้ซึ่งการตรวจสอบ ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่นั้น เป็นส่วนผสมของหลายพรรคการเมือง โดยทุกพรรคการเมืองต่างหิวกระหาย เนื่องจากเว้นการเลือกตั้งมาช้านาน

ฉะนั้น การปราบโกงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดีร้ายอาจจะไปสะดุดตอพวกเดียวกันเอง

9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นนโยบายเร่งด่วนได้ แต่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จอย่างเร่งด่วนนั้นคงไม่มีทาง เพราะปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนและเรื้อรังมานาน

10. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐบาล คสช.ดำเนินการมาอยู่แล้ว โดยได้ออกกฎหมาย “อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ” แต่ก็ใช่ว่าจะนำมาซึ่งการปฏิบัติของหน่วยราชการ เพราะรัฐบาล คสช.ตั้งเป้าเพื่อมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิตอล ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของทางราชการที่สําคัญให้เป็นระบบดิจิตอลทั้งบุคคลและนิติบุคคล เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ

11. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย คาดว่ารัฐบาลจะหันหน้าพึ่งพากลไกของกองทัพเป็นหลัก เหมือนที่ในหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดภัย กองทัพจะเป็นเบอร์หนึ่งที่รัฐบาลเรียกใช้งาน ส่วนหน่วยงานอื่น แม้จะมีส่วนสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ แต่จะเป็นแค่หน่วยเสริมเท่านั้น

12. การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้กว้างๆ ไม่ระบุประเด็นว่าจะมีการแก้ไขอะไรอย่างไร

ทั้งนี้ หลายพรรคการเมืองสนับสนุนให้มีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.กองหนุนสำคัญของ “บิ๊กตู่” ต้องดูว่าพรรค พปชร.จะยอมหรือไม่ เพราะนั่นเท่ากับตัดทางการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ไปโดยปริยาย

สุดท้ายแล้วนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล “ประยุทธ์” จะเป็นที่พอใจต่อประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการแปลงนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติว่าจะทำได้จริง จับต้องได้แค่ไหน จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง หรือโบดำ

โดยเฉพาะใน 3-6 เดือนนี้ หากแก้ปัญหาของประชาชนได้ คะแนนนิยมย่อมจะตามมา หากในทางตรงกันข้าม รัฐบาลคงจะรอดยาก ที่จะอยู่ครบเทอม 4 ปี

การเลือกตั้งครั้งใหม่ย่อมจะมีขึ้นในไม่ช้า