อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ปฏิวัติฝรั่งเศส ในร้านแพร่พิทยา

ฟังมาเรื่อยๆ ว่าร้านหนังสือเก่าแก่อย่างแพร่พิทยาปิดกิจการไปหลายสาขา กระทั่งสาขาสุทธิสารก็กำลังลดราคาหนังสือและอวลกลิ่นจะปิดตัวอีกไม่ช้าไม่นาน ในฐานะลูกค้าที่เคยเดินดูหนังสือในร้านสาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อหลายปีก่อนบ่อยๆ จึงหมายใจจะแวะไปร้านสาขาสุทธิสารบ้างสักที แต่ก็ยังไม่สบโอกาส

จนได้เห็นทางเฟซบุ๊กของพี่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นภาพเขาอยู่ที่ร้านและถ่ายภาพเคียงคู่หนังสือชื่อวีรบุรุษดอกไม้แดง ฉับพลันทันใดนั้น เสมือนการปฏิวัติฝรั่งเศสโลดแล่นในสองตาของผม

นั่นทำให้อดรนทนไม่ไหวที่จะต้องเดินทางไปเยือนร้านแพร่พิทยาสาขาสุทธิสาร ยามย่ำค่ำวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2562

 

วีรบุรุษดอกไม้แดง เป็นงานที่แปลมาจาก The Scarlet Pimpernel เขียนโดยนักประพันธ์สตรีนามบารอนเนสส์ ออร์กซี หรือชื่อเต็มๆ ว่า Baroness Emmuska Orczy บางทีก็ถูกเรียกสั้นๆ “เอ็มม่า ออร์กซี” (Emma Orczy)

เธอเป็นธิดาท่านบารอนเฟลิกซ์แห่งฮังการี หากมาได้สามีเป็นชาวอังกฤษนามมองตากิว บาร์สโตว์ (Montague Barstow)

ขณะบารอนเนสส์ ออร์กซี อายุประมาณ 30 ปี เธอแต่งเรื่องเพื่อใช้แสดงละครในกรุงลอนดอนเรื่องหนึ่ง จากนั้นปรับปรุงเป็นนวนิยายจัดพิมพ์ออกจำหน่ายชื่อ The Scarlet Pimpernel

ถัดมาได้ทยอยเขียนเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องในลักษณะภาคต่อจนเป็นนวนิยายชุดหรือ “ซีรี่ส์” ที่ล้วนผูกโยงกับดอก “พิมเพอร์เนล” (Pimpernel) จึงนับว่า วีรบุรุษดอกไม้แดง เป็นเรื่องแรกสุดของงานเขียนชุดนี้

“พิมเพอร์เนล” เป็นชื่อพันธุ์ดอกไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่งในอังกฤษ อยู่วงศ์เดียวกับดอกแพงพวยฝรั่ง ชื่อทางพฤกษศาสตร์คือ Anagallisarvensis มีกลีบดอกห้าแฉกและมักออกดอกชุกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน บานเฉพาะเวลากลางวันที่แดดจ้าและมิค่อยแย้มกลีบในอากาศครึ้มๆ มัวซัว

ดอกพิมเพอร์เนลส่วนมากสีแดงเข้ม เลยเรียกว่า “Scarlet Pimpernel”

ซึ่งภาษาไทยเรียก “ดอกไม้แดง”

 

ในนวนิยาย บารอนเนสส์ ออร์กซีนำเอา “พิมเพอร์เนล” มาตั้งเป็นชื่อของกลุ่มพวกผู้ดีชาวอังกฤษ อาศัยสถานการณ์โกลาหลวุ่นวายช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 มาเป็นฉากหลัง

กลุ่มดอกไม้แดงนี้ได้ออกไปปฏิบัติการช่วยเหลือชาวฝรั่งเศสผู้ตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นชนชั้นสูงที่กำลังถูกจับกุมคุมขังในคุกและกำลังรอคอยความตายจากคมมีดกิโยติน

ดอกไม้แดงยังเป็นสัญลักษณ์ของตราประทับบนหัวแหวนที่ตัวละครหัวหน้ากลุ่มคือเซอร์เพอร์ซีย์ เบลคนีย์ (Sir Percy Blakeney) สวม

เขาต้องใช้ไหวพริบสติปัญญา อุบายแยบคาย และการปลอมตัวต่างๆ นานาในการพาพวกเหยื่อของการปฏิวัติหลบหนีจากดินแดนฝรั่งเศสข้ามทะเลข้ามช่องแคบไปยังฝั่งอังกฤษ

แม้ดูเผินๆ จากภายนอกแล้วเขาจะมีภาพลักษณ์หนุ่มสำรวย หมกมุ่นอยู่กับความสำเริงสำราญก็ตามที

เซอร์เพอร์ซีย์ เบลคนีย์ จึงเป็น “วีรบุรุษดอกไม้แดง” สำหรับชนชั้นสูงฝรั่งเศสในห้วงยามการปฏิวัติสุดสะพรึง

และตามน้ำเสียงเล่าเรื่องของบารอนเนสส์ ออร์กซี ที่ถ่ายทอดผ่านงานเขียนของเธอ พวกก่อการปฏิวัติมิแคล้วผู้โหดร้ายทารุณ

 

กล่าวได้ว่า นี่คือความพยายามบอกเล่าถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกแง่มุมผ่านงานวรรณกรรม เพราะในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ย่อมจะมีงานเขียนเยินยอความยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็มีงานเขียนที่ติติงพร้อมให้ภาพเลวร้ายของการปฏิวัติ

สารภาพว่าตอนผมอ่านวีรบุรุษดอกไม้แดงหนแรกจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในหอสมุดมหาวิทยาลัย ก็ไพล่นึกเล่นๆ ไปถึงงานเขียวแนว “ฮีโร่” จำพวกอินทรีแดงของไทยเหมือนกัน

แต่พออ่านหนหลังๆ พร้อมพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ประกอบ จึงรู้สึกว่านวนิยายเรื่องนี้มีนัยยะและประเด็นเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสให้ศึกษาค้นคว้าต่อได้อย่างลึกซึ้ง

รวมทั้งขยับขยายมายังประเด็นความรับรู้เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสในสังคมไทยได้ด้วย

 

ว่ากันตามจริง ความรับรู้เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 เริ่มแพร่หลายในสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้ว

โดยเฉพาะบนหน้ากระดาษสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มีการกล่าวถึงบทบาทของบุคคลต่างๆ ในการปฏิวัติและการทลายคุกบาสตีย์ ไม่เพียงนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้เขียน แม้แต่นักเรียนทหารหลายคนก็ยังส่งงานเขียนเรื่องจำพวกนี้มาร่วมลงตีพิมพ์เช่นกัน

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ปรากฏงานเขียนที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสออกมาจำนวนมากมายในบรรณพิภพไทย ทางด้านหนังสือเชิงความรู้เชิงสารคดี

แน่นอนว่างานชิ้นสำคัญที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคงมิพ้นไปจากงานเรื่องประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารต ภาคที่ 1 ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จัดพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2477 และกลายเป็นหนังสือสำคัญที่ถูกนำมาใช้สืบค้นอ้างอิงเสมอๆ จวบปัจจุบัน

ส่วนงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งอาจเป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังๆน้อยกว่างานของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แต่นับว่ามีอิทธิพลต่อนักอ่านยุคทศวรรษ 2480 ได้แก่ หัวใจปฏิวัตรในฝรั่งเศส เขียนโดยเตียง ศิริขันธ์ร่วมกับจำรัส สุขุมวัฒนะ (น่าจะเขียนขึ้นหลังปฏิวัติ พ.ศ.2475 ไม่กี่ปี แต่เพิ่งพิมพ์เป็นเล่มช่วงเกือบปลายทศวรรษ 2480 หนังสือเล่มนี้เคยมีให้อ่านในหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อหลายปีก่อน) ข้อสะดุดตาของงานชิ้นนี้คือการเสนอว่าการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นไปเฉกเช่นเดียวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส

มิหนำซ้ำ เตียงและจำรัสพยายามบ่งชี้และเผยแพร่แนวคิดของฌ็อง ฌากส์ รุสโซ ให้กับผู้อ่าน

ทางด้านงานวรรณกรรม งานแปลที่นำเสนอเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสพรั่งพรูไม่แพ้กัน มิเว้นผลงานในชุด “พิมเพอร์เนล” ของบารอนเนสส์ ออร์กซี ซึ่งประจักษ์ พันธุมโพธิ (นักเขียนรุ่นกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา”) ได้ริเริ่มแปล The Triumph of the Scarlet Pimpernel เป็นพากย์ไทยในชื่อ “ชัยแห่งสมาคมดอกไม้แดง” ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ติดต่อกันในวิทยาจารย์ ของสามัคยาจารย์สมาคม

การณ์เหล่านี้ย่อมสะท้อนกระแสความตื่นตัวต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์และสังคมไทยอย่างน่าสนใจ

 

วกย้อนมายัง The Scarlet Pimpernel ที่ อ.สายสุวรรณแปลเรียบเรียงและจัดพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักงานเสริมวิทย์บรรณาคารในปี พ.ศ.2499 มีความหนาถึง 583 หน้า ผู้แปลเองดูเหมือนจะมิได้หลงใหลผลงานวีรบุรุษดอกไม้แดงของตนเท่าไหร่ ดังเขาให้สัมภาษณ์กับภาษาและหนังสือ อันลงตีพิมพ์ในเล่มปีที่ 17 ฉบับที่ 1 เมษายน-กันยายน พ.ศ.2527 ตอนหนึ่งว่า

“…แปลเชอร์ลอคโฮล์มส์ก่อน Scarlet Pimpernel นี่แปลทีหลัง ท่านผู้หนึ่งศรัทธาในงานแปลของผมบอกว่า Scarlet Pimpernel สนุก มีแยะ หลายตอน และมีคนแปลไว้บ้างแล้ว เช่น ชัยชนะของสมาคมดอกไม้แดง แล้วอยากให้ผมแปล เขาก็หาต้นฉบับมาให้ผมแปลออกมาสองหรือสามเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่ผมไม่ติดใจ”

ครั้นถูกถามต่อทำนองจะไม่นำเอามาพิมพ์ซ้ำอีกทีหรือ? เขาก็ตอบ “แหม ต้นฉบับสูญหายครับ ผมย้ายบ้านบ่อย บางปีย้ายตั้งสองสามหน แล้วที่มีอยู่ก็อีฉุยอีแฉก หายไปแยะ”

 

อย่างไรก็ดี ราวๆ ปี พ.ศ.2532 วงการหนังสือไทยได้ยลโฉมวีรบุรุษดอกไม้แดง ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง มีความหนา 271 หน้า ซึ่ง อ.สายสุวรรณชี้แจงผ่าน “คำนำ” พร้อมลงท้ายว่าเขียนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2531

“ข้าพเจ้าได้จับแปลเรื่องแรกของนวนิยายชุดนี้ออกสู่พากย์ภาษาไทยในชื่อว่า “วีรบุรษดอกไม้แดง” และต่อมาก็ได้แปลอีกเรื่องหนึ่งจากเรื่อง I Will Repay ในชื่อภาษาไทยว่า “หนี้พยาบาท” ทั้งสองเรื่องได้จำหน่ายหมดลงภายในเวลาอันรวดเร็วเกินความคาดหมายจนไม่มีเหลือเลยสักเล่มเดียวทั้งสองเรื่อง แม้เล่มที่อยู่ในความครอบครองของข้าพเจ้าก็หายสูญไปด้วยการหยิบยืมกันอ่านเป็นทอดๆ หนังสือชุดนี้จึงขาดคราวพิมพ์ไปเป็นเวลานานเพราะหาต้นฉบับไม่ได้ ยังอีกสองเรื่องที่ตั้งใจว่าจะแปลให้ครบชุดก็มีอันต้องหยุดชะงักไป ครั้นล่วงมาจนถึงบัดนี้มีท่านผู้ปรารถนาดีท่านหนึ่งนำหนังสือทั้งสองเรื่องมามอบให้ข้าพเจ้าเพื่อที่จะได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยที่ข้าพเจ้าเองก็มิได้คาดหวัง เป็นที่ปีติยินดีของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ในการพิมพ์ครั้งนี้ข้าพเจ้าหวังว่านวนิยายที่น่าอ่านชุดนี้คงจะได้ประดับตู้สมุดของท่านนักอ่านอีกชุดหนึ่งเป็นแน่”

อีกสองเรื่องที่ อ.สายสุวรรณตั้งใจจะแปลให้ครบชุด ผมคิดว่าน่าจะเป็น ชัยชนะของวีรบุรุษดอกไม้แดง แปลจาก The Triumph of the Scarlet Pimpernel (แปลขึ้นใหม่อีกสำนวนหลังสำนวนแปลเดิมของประจักษ์ พันธุมโพธิ) และ เดชวีรบุรุษดอกไม้แดง แปลจาก The Way of the Scarlet Pimpernel เพราะทางสำนักงานเสริมวิทย์บรรณาคารโปรยคำโฆษณาในหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกถึงเรื่องอื่นๆ ในชุดเดียวกัน แปลโดยผู้แปลคนเดียวกัน จะออกต่อไปในโอกาสสมควร แต่สุดท้ายกลับมีเหตุให้มิได้ออกตามถ้อยคำของ อ.สายสุวรรณข้างต้น

ก็ The Scarlet Pimpernel พากย์ไทยพิมพ์ครั้งที่สองนั่นละครับ ที่ผมไปพบตัวเล่มเข้าในร้านแพร่พิทยาและได้หนังสือมาครอบครองช่วงปลายเดือนมิถุนายน

พอล่วงกลางเดือนกรกฎาคมมักแว่วยินใครๆ เอ่ยขานถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสเนืองๆ จึงเห็นว่าคงเหมาะสมและชวนสนุกสนานอยู่ไม่เบากระมัง ถ้าผมลองเขียนแนะนำนวนิยายของบารอนเนสส์ ออร์กซี เรื่องนี้สู่สายตาคุณผู้อ่าน เผื่อทีจะได้ไปลองหาหนังสือมาสัมผัสเนื้อเรื่องและอรรถรสด้วยตัวท่านเอง

อ้อ! ป้องปากกระซิบเสียงดังๆ หน่อยเถอะครับ ผมซื้อ “วีรบุรุษดอกไม้แดง” มาจากร้านหนังสือสาขาสุทธิสารในราคาแค่ 20 บาทเท่านั้นแหละ!