เกาะข่าวฝุ่นตลบ โรดแม็ปชัดเจน แต่เลือกตั้งยังไม่ชัด

เข้าสู่ปีใหม่ 2560 อันเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญรออยู่ ได้แก่ พระราชพิธีพระบรมศพ ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไป ตามโรดแม็ปของ คสช. ก็รออยู่

ข่าวใหญ่ต้อนรับศักราชใหม่ในหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ ได้แก่ กรณี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นประมาณกลางปี 2560

และเปิดเผยว่า ใน สนช. เอง มีกฎหมายต่างๆ รวมถึง กม.ลูก รอการพิจารณาจำนวนมาก มีเป็นร้อยฉบับ ทำให้การเลือกตั้ง ที่เดิมกำหนดในปี 2560 จะมีขึ้นในกลางปี 2561

ยังมี สนช. ออกมากล่าวในทำนองเดียวกัน กลายเป็นประเด็นว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้ง ทำให้เกิดความเห็นแย้งตามมาอย่างรุนแรง

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้ง ระบุว่า การเลือกตั้งปี 2560 เป็น “สัญญาประชาคม” ที่นายกฯ และหัวหน้า คสช. ไปประกาศมาแล้วทั่วโลก ถ้าเลื่อน จะไม่เป็นผลดีต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ

ส่วนที่ สนช. อ้างกฎหมายล้นมือ จนต้องเลื่อนเลือกตั้ง ก็มีผู้ออกมาโต้แย้งว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีแค่ 4 ฉบับ

สนช. พิจารณาให้เสร็จโดยเร็วได้ เพราะเคยผ่าน กม.อื่นๆ อย่างพร้อมเพรียงกันมาแล้ว

สำรวจกระแสในสื่อ พบว่า มีความเห็นเป็นสองทางเป็นอย่างน้อย

สายนิยมลุงตู่ ซึ่งมีส่วนในการเรียกร้องให้ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์พิเศษนั้น จุดยืนชัดเจนว่า ไม่นิยมเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะไม่มั่นใจว่าผลจะออกมาอย่างไร และเกรงว่า พรรคเพื่อไทยจะกลับมาอีก

กลุ่มนี้เห็นว่า “ลุงตู่” กำลังมีคะแนนนิยมดี เนื่องจากการสำรวจจากโพลต่างๆ ระบุว่าประชาชนนิยมนายกฯ และตัวเลขนิยมรัฐบาลรัฐประหาร สูงกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ก็ออกมายืนยันตลอดว่า ต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย

เลยเกิดรายการเชียร์ให้ “อยู่ยาว” ไปเลย เลือกตั้งรอไว้ก่อน

อีกส่วนเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไม่เอื้ออำนวยอีกต่อไป

โดยเฉพาะการเจรจาความร่วมมือกับต่างประเทศ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

กลุ่มความเห็นนี้ ชี้ว่าน่าจะต้องเร่งนำประเทศคืนสู่สภาพปกติ ยิ่งนานไป ปัญหาจะยิ่งบานปลายและแก้ไขได้ยาก

 

กระแสหนุนให้นายกฯ บิ๊กตู่ อยู่ยาว ด้วยการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก ส่วนหนึ่งเพราะรับรู้กันภายในว่า หากเกิดการเลือกตั้ง พรรคที่ได้เปรียบยังเป็นพรรคเพื่อไทย

เท่ากับว่า สถานการณ์ “เสียของ” ที่หวั่นเกรงกันมาก จากเมื่อรัฐประหาร 2549 ยังยืนตะคุ่มๆ รออยู่

สื่อบางกลุ่ม จับเอาจุดยืนค้านเลื่อนเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยมาขยายว่า พรรคนี้ต้องการเลือกตั้ง เพราะเป็นทางรอดเดียวที่จะเข้ามามีอำนาจ

เปิดประเด็นให้กลุ่มคนที่เกลียดทักษิณ เห็นพ้องกับการเลื่อนเลือกตั้งออกไป

บางคอลัมน์วิเคราะห์ว่า การเสนอเลื่อนเลือกตั้ง แท้จริงแล้วเป็นเกมโยนหินถามทางอันลึกล้ำแยบยล

และได้ผลเป็นอย่างดี เพราะพรรคขั้วทักษิณหลงกล ตกหลุ่มพราง ออกมาเต้นแสดงความไม่พอใจ

เป็นการอธิบายแทนว่า ข่าวเลื่อนเลือกตั้ง เป็นแค่เกมหยั่งเสียงเท่านั้น

โดยระบุด้วยว่า โรดแม็ปโดนล็อกไว้แล้ว เลื่อนไม่ได้

แต่กำหนดเวลาตามโรดแม็ป ต้องเลือกตั้ง ตุลาคม 2560 ดังนั้น ถ้าจะเลือกต้นปี 2561 ก็ไม่แปลก

อันเป็นวิธีอธิบาย ทำให้การเลื่อนเลือกตั้ง เป็นเรื่องยอมรับหรือเข้าใจได้

แนวการวิเคราะห์ของกลุ่มนี้ ยังยึดเอาพรรคทักษิณเป็นเป้าสำคัญ

โดยชี้ว่า มีพรรคเดียวที่จะต้องเลือกตั้งให้ได้ ขณะที่พรรคอื่นไม่ได้มีปัญหา

และสรุปเองว่า ที่ต้องเลือกให้ได้ เพราะต้องการอำนาจ เข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

เปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ย้อนกลับไปเอาข้อหาเดิมๆ ที่ใช้ถล่มพรรคนี้ มาเล่นกันใหม่อีกรอบ

ความพยายามอธิบาย และ “แก้ต่าง” ในลักษณะนี้ ทำให้น่าติดตามว่า การเลื่อนเลือกตั้งนี้ เป็นเกมที่มีการผลักดันกันอย่างจริงจัง แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ยังขึ้นกับอีกหลายเงื่อนไข

 

ที่น่าสนใจ ยังได้แก่ การเปิดเผยผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา

คำถามบางข้อ อาทิ คิดว่าสถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนี้ พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหรือไม่?

อันดับ 1 ยังไม่พร้อม 51.23% เพราะยังมีความขัดแย้ง กังวลว่าบ้านเมืองจะไม่สงบ อาจเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหว ปัญหาการเมืองไทยแก้ไขได้ยาก สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยังไม่พร้อม จะมีพระราชพิธีสำคัญ ฯลฯ

อันดับ 2 พร้อมแล้ว 48.77% เพราะเป็นไปตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ อยากให้บ้านเมืองเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งที่มาจากความต้องการของประชาชน ประชาชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ฯลฯ

และ ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร? ถ้าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2561

อันดับ 1 เห็นด้วย 36.99% เพราะปี 2560 จะมีพระราชพิธีสำคัญ ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ นักการเมือง พรรคการเมือง และ กกต. ได้มีเวลาเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 32.21% เพราะอยากให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ หากเลื่อนออกไปอาจมีปัญหาต่างๆ ตามมาอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ

อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 30.80% เพราะสถานการณ์บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับการบริหารประเทศของรัฐบาล กังวลว่าบ้านเมืองจะไม่สงบสุข สนใจเรื่องปากท้องชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า

ผลสำรวจที่ออกมา เท่ากับสนับสนุนการเลื่อนเลือกตั้งออกไปในปี 2561 ด้วยเหตุผลต่างๆ อย่างที่ระบุ อย่างไรก็ตาม คะแนนสนับสนุน กับคะแนนไม่เห็นด้วย มีช่วงห่างกันไม่มากนัก

ก่อนหน้านี้ โพลสวนดุสิต เคยสำรวจว่า ประชาชนนิยมรัฐบาลจากรัฐประหารมากกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ที่มีการนำเอาไปขยายผลมาแล้ว

เชื่อว่าผลสำรวจรอบนี้ก็คงจะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

 

สื่อต่างๆ เสนอข่าว ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ล่าสุด ยืนยันว่า โรดแม็ปก็คือโรดแม็ป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แต่การเลือกตั้ง ขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะต้องประกาศใช้ และกฎหมายลูก จะต้องยกร่างเสร็จ และประกาศใช้

เท่ากับระบุว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ขึ้นกับ กรธ. และ สนช. ซึ่งทำหน้าที่ยกร่างกฎหมาย พิจารณากฎหมาย

อนาคตการเมืองไทย แม้มีคำยืนยันว่า โรดแม็ปคือโรดแม็ป แต่จะเลือกตั้งกันตอนไหนอย่างไร ฝุ่นยังตลบอยู่

ข่าวสารการเมืองในระยะนี้ จะยังคงวนเวียนอยู่กับการหาคำตอบในเรื่องนี้