คุยกับทูตเยอรมนี งานฉลอง30 ปีการล่มสลายกำแพงเบอร์ลิน พร้อมเปิดตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยบินไปเยือน

คุยกับทูต เกออร์ก ชมิดท์ นักการทูตจากเยอรมนีชูประเด็นสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (จบ)

เยอรมนีมีความร่วมมือด้านวิชาการและการศึกษากับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน

การสนับสนุนด้านการศึกษาที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี คือ การสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือเมื่อปี ค.ศ.1959 ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการพัฒนาความร่วมมือกับเยอรมนีในสาขาการศึกษาทวิภาคี (dual system) ซึ่งเป็นระบบอาชีวศึกษาที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี

หน่วยงานของเยอรมนีในประเทศไทยที่ดูแลการจัดหลักสูตรทวิภาคี คือ หอการค้าไทย-เยอรมัน ภายใต้ชื่อโครงการ German – Thai Dual Excellence Education

นายเกออร์ก ชมิดท์ (His Excellency Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เล่าถึงโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับเยอรมนีว่า

“เรามีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเรียน นักศึกษาปริญญาเอก และนักวิจัยรุ่นใหม่จากประเทศไทยราว 300 คน ได้รับทุน DAAD เพื่อไปศึกษาที่ประเทศเยอรมนี และนักเรียน นักศึกษาชาวเยอรมันราว 200 คนที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาหรือทำวิจัยด้วยทุนเดียวกัน”

“ส่วนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีมายาวนาน ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTB) กับมหาวิทยาลัยอาเค่น (Aachen University : RWTH) และระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัยเบรเมิน (University of Bremen) นอกจากนั้น ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยที่มีประโยชน์ในสาขาต่างๆ เช่น ด้านวิศวกรรม การแพทย์ เทคโนโลยีรถไฟ หรือเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เป็นต้น”

“ตัวอย่างโครงการความร่วมมือทางวิชาการที่น่าสนใจคือ โครงการ ECOPLATE ของสถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานในกระบวนการทางไฟฟ้าเคมีในการผลิตโลหะ หรือโครงการเวชสารสนเทศระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัยเบรเมิน”

“รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ J?lich Research Center ในเรื่องการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น”

ด้านการท่องเที่ยว คนไทยจำนวนมากนิยมเดินทางไปประเทศเยอรมนี เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสถานที่มากมายที่ถูกกำหนดให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก

อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงนิทรรศการ และการแสดงอุปรากร ละครเพลงและคอนเสิร์ต มีสวนสัตว์มากกว่า 800 แห่ง และอีกหลายสถานที่ที่น่าสนใจ

ส่วนจำนวนของการพักค้างคืนของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตั้งแต่มีการรวมประเทศในปี ค.ศ.1989 และในปี ค.ศ.2016 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเยอรมนี ได้ถูกบันทึกสถิติเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ว่ามีนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาพักอาศัยมากกว่า 80 ล้านคืน

ในปีหน้าจะมีแคมเปญการฉลองครบรอบ 250 ปีของผู้ประพันธ์เพลงลุดวิก ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) ซึ่งเป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมนี

พร้อมการกลับมาของละครเวที Passiahergau Passion Plays ที่มีทีมงานกว่า 2,000 คน ซึ่งรวมถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรของ Oberammergau ที่มีส่วนร่วมในการผลิตภาพยนตร์ ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ชั่วโมงในโรงละครกลางแจ้งอันน่าประทับใจ มีกำหนดตารางการแสดง 102 รอบ และคาดว่าจะดึงดูดผู้เข้าชมประมาณ 450,000 คนจากทั่วทุกมุมโลก

“การขอวีซ่าเชงเกนนั้น สถานทูตใช้เวลาประมาณ 4 วันทำการ แต่เราแนะนำให้ยื่นขอวีซ่าเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วันก่อนวันเดินทาง”

ท่านทูตชี้แจง

“สําหรับคนไทยที่เดินทางไปเยอรมนี สถานทูตเยอรมนีที่กรุงเทพฯ ได้ออกวีซ่าเชงเกน 57,000 ฉบับ เมื่อปี ค.ศ.2018”

“และในปีเดียวกันนั้น มีชาวเยอรมัน 890,000 คนเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันนับเป็นกลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศตะวันตก รองจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดย 65% มามากกว่าหนึ่งครั้ง เหตุผลหนึ่งคือ อาหารไทย และเมื่อปี ค.ศ.2017 มิชลินได้จัดทำคู่มือร้านอาหารฉบับกรุงเทพฯ โดยหนึ่งในสี่ร้านอาหารชั้นนำในกรุงเทพฯ คือ เชฟสองพี่น้องคู่แฝด Mathias และ Thomas ตระกูล S?hring จากเบอร์ลินที่ได้รับดาวมิชลินสองดวงเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ.2018”

“ชาวเยอรมันที่มาพำนักอย่างถาวรในประเทศไทยและลงทะเบียนกับสถานทูต 35,000 คน แต่ชาวเยอรมันก็ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน ดังนั้น ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ ส่วนนักการทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 100 คน”

“สำหรับตัวอาคารทำเนียบแห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทยางบอร์เนียว และรัฐบาลเยอรมนีได้ซื้อต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1960”

“เรามีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่พัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยกงสุลกิตติมศักดิ์มีอำนาจหน้าที่รับรองลายมือชื่อ รับรองสำเนาเอกสาร ออกหนังสือรับรองต่างๆ อาทิ หนังสือรับรองการมีชีวิตสำหรับผู้รับบำนาญ หนังสือรับรองรายได้เพื่อยื่นกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศไทย หนังสือรับรองถิ่นที่อยู่เพื่อนำไปยื่นที่ประเทศเยอรมนี ให้คำแนะนำเรื่องการรับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง ให้ความช่วยเหลือด้านกงสุล เช่น การยื่นคำร้องแจ้งการเกิดและขอสูติบัตรเยอรมันและแจ้งการจดทะเบียนสมรสเพื่อขอใบสำคัญการสมรสเยอรมัน รับคำร้องขอหนังสือเดินทางเยอรมัน รับคำร้องขอตรวจลงตราวีซ่าเข้าประเทศเยอรมนี”

“และการให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น หนังสือเดินทางหรือทรัพย์สินสูญหาย รวมถึงกรณีการเสียชีวิตของบุคคลสัญชาติเยอรมัน”

“กิจกรรมที่สำคัญในปีนี้ที่เราต้องการจะทำร่วมกับหลายๆ ฝ่าย คือ งานครบรอบ 30 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เรามีชิ้นส่วนกำแพงเบอร์ลินสองชิ้นตั้งอยู่กลางสนามหญ้าในสถานทูต ซึ่งเป็นกำแพงเพียงสองชิ้นที่มีอยู่ในประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1961 กองกำลังทหารในเยอรมนีตะวันออกได้ปิดพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางหลบหนีของผู้อพยพนับพันคนที่ต้องการข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของเมือง รั้วลวดหนามสูงราว 6 ฟุต (1.83 เมตร) ถูกติดตั้งขึ้นในชั่วข้ามคืน ขณะที่ชาวเบอร์ลินกำลังหลับใหล ก่อนจะตื่นมาพบว่าเมืองของพวกเขาได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่ง และในที่สุดจากรั้วลวดหนามมาสู่ผนังอิฐ กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทำลายลงในอีก 30 ปีต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1991

“อีกงานหนึ่งคือ งานเฉลิมฉลอง 70 ปีของกฎหมายพื้นฐานหรือรัฐธรรมนูญของเรา (The 70th anniversary of Germany”s Basic Law, or constitution) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้าง แต่รูปแบบพื้นฐานนั้นยังคงอยู่”

“วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1949 เป็นวันที่กฎหมายพื้นฐานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The Basic Law) ถูกประกาศและมีผลบังคับใช้ ในวันเดียวกันนี้สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ การใช้คำว่ากฎหมายพื้นฐานมีที่มาจากความตั้งใจ ณ เวลานั้น ที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้เพียงชั่วคราวในการกําหนดโครงสร้างการบริหารประเทศสำหรับอาณาเขตบางส่วนของเยอรมนี คือเขตปกครองฝั่งตะวันตกซึ่งเกิดจากการแบ่งแยกหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง”

“โดยมีความคิดว่า เมื่อเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกสามารถกลับมารวมเป็นประเทศเดียวกันได้แล้ว จึงจะให้มีการบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการเพื่อใช้สำหรับประเทศเยอรมนีที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่ตั้งใจที่จะให้เป็นเพียงกฎหมายพื้นฐานชั่วคราว กฎหมายฉบับนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันสามารถเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่ดีสำหรับการนำพาประเทศเยอรมนีไปสู่การเป็นประเทศนิติรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ ดังนั้น เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (ประเทศเยอรมนีตะวันออก) ได้รวมเข้ากับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ประเทศเยอรมนีตะวันตก) ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1990 กฎหมายพื้นฐานฉบับนี้จึงได้ถูกนำมาบังคับใช้สำหรับประเทศเยอรมนีที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งประเทศจากนั้นเป็นต้นมา ดังนั้น เราจึงไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

“เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เพราะในปี ค.ศ.1949 เยอรมนีถูกทำลายทั้งหมด ผู้คนต้องต่อสู้กับความหิวโหย ประเทศถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไร้ซึ่งอำนาจอธิปไตย อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่รอดชีวิตมาได้ แต่คนเหล่านี้กลับแข็งแกร่งขึ้นมาได้อีกครั้งและร่วมกันร่างกฎหมายพื้นฐานขึ้นมา ชาวเยอรมันจึงภาคภูมิใจในกฎหมายพื้นฐานหรือรัฐธรรมนูญที่มี 146 มาตรา ฉบับนี้ของตนมาก”

เนื่องจากประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานนับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 160 ปี และนับได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดในอาเซียน

ท่านทูตเกออร์ก ชมิดท์ ได้ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและโอกาสของความสัมพันธ์เยอรมนี-ไทยในอนาคตอันใกล้ โดยกล่าวว่า

“ประเทศเยอรมนีร่วมกับพันธมิตรสหภาพยุโรปชาติอื่นๆ กำลังกำหนดแนวทางในการฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม เราหวังว่าจะได้กลับมาเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันดังก่อนที่จะมีรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.2014 อีกครั้ง”

“แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของเราครอบคลุมมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เป็นความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในหลายๆ มิติ เมื่อผู้คนให้ความไว้วางใจและมีความชอบพอซึ่งกันและกัน นั่นย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ที่ดีโดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

“ประเทศไทยและเยอรมนีต่างก็เป็นประเทศอุตสาหกรรม หากเราแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถดำเนินควบคู่ไปด้วยกันได้ เราก็จะสามารถสร้างความแตกต่างในภูมิภาคของเราและภูมิภาคอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเรา ซึ่งเราไม่สามารถต่อสู้กับภัยอันตรายนี้ได้ด้วยรถถังและปืน”

“ประเทศไทยและประเทศเยอรมนีต่างก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจตลาดเสรี และกฎกติกาการค้าที่เชื่อถือได้ เราสามารถมีบทบาทร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับภูมิภาคของเรา ในการส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคี แม้สหภาพยุโรปและอาเซียนจะไม่ใช่มหาอำนาจทางทหาร แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อเสียงของพวกเขาได้”