มองพัฒนาการสื่อ “พม่า-ไทย” กับ “ลิซ่า โบรเทน” การเปลี่ยนผ่านจากเปิดกว้างสู่การแตกขั้วรอบใหม่

พม่านับเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มักถูกหยิบยกเป็นกรณีศึกษาในอยู่หลายเรื่อง

แต่น้อยมากที่จะศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับ “สื่อมวลชน”

ซึ่งพม่าหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2553 เสรีภาพสื่อที่ครั้งหนึ่งถูกปิดกั้นจากรัฐบาลทหารก็กลับมาเปิดกว้างอีกครั้ง

ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่กำลังเป็นประชาธิปไตย (ในแบบพม่า)

แม้พม่าจะตามหลังในเรื่องการเปลี่ยนสู่สังคมดิจิตอลหากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค แต่จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวพม่าที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับความคึกคักของสื่อรูปแบบเดิมหลังถูกควบคุมมานาน ทำให้เห็นความสดใสนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอ่อนไหวภายในพม่าเอง กลับทำให้บรรยากาศหวนมาอึมครึมอีกครั้ง

เป็นความท้าทายที่ปรากฏท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและสังคมของพม่า ตามกระแสโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายในการแตกขั้วทางความคิดและกระแสหันขวาขยายตัวไปทั่ว และสถานการณ์สื่อในไทยก็เผชิญความคล้ายคลึงนี้ด้วย

 

ลมหายใจ การกำเนิด ดำรงอยู่และดำมืดลงของสื่อในพม่า ถูกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบผ่านหนังสือ Myanmar Media in Transition : Legacies, Challenges and Change ด้วยความดูแลของ 3 บรรณาธิการสาวผู้คร่ำวอดด้านสื่อในภูมิภาค

1 ในนั้นคือ ลิซ่า โบรเทน (Lisa Brooten) ซึ่งมีประสบการณ์ทำข่าวตามชายแดนไทย-พม่าหลังการปราบปรามประชาชนในปี 1988 และงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสื่อพม่าพลัดถิ่นที่รายงานสิ่งที่รัฐบาลทหารของพม่าในเวลานั้นไม่ต้องการพูดถึง และเฝ้ามองพัฒนาการของสื่อในพม่าจนถึงยุคเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย ที่ตอนนี้กำลังดำดิ่งสู่การแตกขั้วทางความคิดจากประเด็นชาวโรฮิงญา

ลิซ่ากล่าวถึงพัฒนาการของสื่อในพม่าตลอดหลายทศวรรษว่า หลังพม่าเปิดกว้างสื่อเมื่อปี 2553-2554 หลายคนแปลกใจมาก แต่ก็นั่นแหละที่มีหลายอย่างถอยหลัง นั้นจึงไม่มีอะไรแน่นอนนักว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่อย่างน้อย สิ่งที่ดีคือ การไม่มีเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่

สื่อสิ่งพิมพ์เอกชนขยายตัว มีการปฏิรูปอีกหลายอย่างตามมา เราตื่นเต้นมาก

ตอนแรกเราเชื่อว่าสิ่งนี้คือความหวังในสื่อพม่า

ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลพม่า เราก็เห็นความหวัง สื่อหลายคนดีใจกับเวลานี้ ไม่ใช่แค่นักข่าวแต่ยังรวมถึงผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสื่อด้วย

และเรารู้สึกได้ในการเลือกตั้งที่พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ชนะเป็นรัฐบาล ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง มีความคาดหวังมากมาย รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีเปิดกว้างเรื่องสื่อ ทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา

และอีกสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ สื่อของทางการก็เปลี่ยนไปเป็นสื่อสาธารณะ

 

แต่พอรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีเข้ามาบริหาร สิ่งที่คาดหวังก็ยังไม่เกิด อย่างที่รู้ว่าสถานการณ์พม่านั้นซับซ้อน รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดียังคงระวังตัวมาก เพราะทหารพม่ายังคงกุมอำนาจทางการเมืองอยู่ มีสัดส่วนทหารในรัฐสภาถึง 25%

แน่นอนว่าจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากทหารไม่เอาด้วย ทหารกุมตำแหน่งกระทรวงสำคัญ ซึ่งมีโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉินได้เสมอ

ดังนั้น มีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี ทหารซึ่งมีสถานีโทรทัศน์ครอบครองก็หวังจะเปลี่ยนเป็นสถานีสาธารณะ แต่ดูเหมือนจะติดขัด

จุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลเอ็นแอลดีต้องมีสื่อของรัฐบาลเพื่อตอบโต้ทหาร

สื่อมวลชนในพม่าก็เข้าใจความแปลกนี้ รู้สึกผิดหวังมาก และต้องการเปลี่ยนแปลง แม้อย่างน้อย พื้นที่เสรีภาพเปิดกว้างขึ้นก็จริง แต่ก็มีความลำบากอยู่ สื่อรายวันหลายแห่งถูกปิด เหลือเพียงส่วนน้อย ไม่นับรวมสื่ออิสระภายในประเทศที่กำลังเผชิญความลำบาก เพราะรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีบริหาร สื่อของรัฐบาลกลับมีความชอบธรรมมากขึ้น นั้นทำให้เงินทุน ผู้บริโภคหรือบริษัทโฆษณาก็เข้าหาสื่อรัฐบาลแทนที่จะเป็นสื่ออิสระ

ลิซ่ายังบอกถึงท่าทีของประชาชนที่มองสื่อก็เปลี่ยนไปด้วยว่า มีอีกเรื่องเกี่ยวกับสื่อมวลชนด้วยว่า ในช่วงรัฐบาลทหาร คนพูดถึงสื่อว่าเป็นวีรบุรุษ

แต่พอมาเป็นรัฐบาลเอ็นแอลดี สื่อกลับถูกมองว่าเป็นศัตรู หลายคนพูดเลยว่าไม่ชอบใครวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นหน้าที่สื่อในฐานะหมาเฝ้าบ้านอยู่ นั้นทำให้สื่อมวลชนบางคนที่คุยกับฉันก็บอกตัวเองลำบากว่าตัวเองเป็นใคร และทำให้สื่อมวลชนถดถอยลง ในขณะที่สื่อโซเชียลเติบโตมากขึ้น

“สิ่งที่กลายเป็นแนวโน้มในภูมิภาค อย่างพม่า สื่อมวลชนจากจ้างตลอดชีพก็กลายเป็นสัญญาจ้าง สูญเสียความมั่นคงในการทำงาน นับเป็นสถานการณ์สุดลำบากมาก ถึงมีเสรีภาพมากขึ้น ถกเถียงมากขึ้น แต่พื้นที่ของสื่ออิสระกลับหดตัว” ลิซ่ากล่าว

 

ภาวะถดถอยของสื่อมวลชนทั้งในแง่การทำงานและความสำคัญ และแทนที่ด้วยโซเชียลมีเดียที่ขยายตัวทั้งปริมาณและอิทธิพลซึ่งกำลังเกิดขึ้นในพม่า

หันมาดูที่ไทยก็พบว่าสื่อไทยก็เผชิญความท้าทายของการเปลี่ยนโฉมสู่ดิจิตอล การขยายตัวของโซเชียล และตลอด 5 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช.จนมาถึงรัฐบาลทายาท คสช. ซึ่งได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็ถูกจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว

เมื่อถามลิซ่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศนี้ ก็พบความสัมพันธ์บางอย่างว่า

สิ่งที่ยังเหมือนกันอยู่คือ สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล สื่อสิ่งพิมพ์ก็ลดลงและผลพวงจากโซเชียลมีเดียต่อสื่อก็มหาศาล สื่อมวลชนค่ายสิ่งพิมพ์ก็กำลังจะตาย ส่วนสื่อออนไลน์หลายแห่งที่ไม่ถูกนับว่าเป็นสื่อมวลชนที่ทำแค่ “คัดลอกและวาง” ก็ยังคงอยู่ในสองประเทศนี้ ผู้คนต้องการใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อทำเงิน รวมทั้งเรื่องข่าวปลอม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

เราจะทำยังไง เพราะไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในภูมิภาค แต่เกิดขึ้นทุกที่เลย

 

การเปลี่ยนผ่านของสื่อมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้การเปลี่ยนผ่านสื่อไม่ไปไหนและสื่อถูกใช้ในฐานะอาวุธจัดการฝ่ายตรงข้าม

ลิซ่ามองภาวะนี้ว่า ผู้คนต้องการสื่ออยู่ข้างเดียวกัน ซึ่งสื่อมวลชนก็ทำอย่างนั้น แต่ก็มีคนทำสื่อที่พยายามกำหนดทิศทางให้เป็นกลางระหว่างสองฝ่าย ด้วยการนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย นั้นทำให้ประชาชนมองสื่อเป็นศัตรูอย่างที่เกิดขึ้นในพม่า อย่างการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเอ็นแอลดี เป็นเรื่องยากมาก

ที่สหรัฐเองก็เกิดขึ้นเหมือนกันด้วยในภาวะแตกขั้วทางความคิดช่วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้าจะพูดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งในนั้นคือ โซเชียลมีเดียและอัลกอริธึ่มที่ควบคุมโซเชียลกำลังทำเงินมหาศาลกับเนื้อหาชวนปลุกเร้าอารมณ์ ส่วนรายงานข่าวเชิงสอบสวนของสื่อแทบไม่เห็นบนโซเชียลมีเดีย เพราะด้วยอัลกอริธึ่ม และสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในพม่า อย่างข่าวปลอมและความเห็นปลุกความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา องค์กรประชาสังคมพยายามตอบโต้กับข้อความปลุกความเกลียดชังด้วยข้อความอื่น แต่ผรุสวาจาก็ไหลอย่างต่อเนื่องเพราะการมีส่วนร่วมอย่างรวดเร็ว ยิ่งคนร่วมกับข้อความมากเท่าไหร่ ข้อความยิ่งส่งไปมาก

เราจะรักษาสมดุลเหล่านี้ยังไง

การไหลบ่าของข่าวปลอมและข้อความปลุกความเกลียดชัง ทำให้เกิดคำถามว่าสื่อมวลชนยังคงมีความสำคัญในการรับมือเรื่องนี้หรือไม่

ลิซ่ากล่าวว่า ถูกต้อง ทั้งผู้สื่อข่าวและคนทำสื่อที่ดี จะต้องนำเสียงของทุกฝ่ายให้สาธารณชนร่วมถกเถียง นี่เป็นสิ่งต้องการมากกว่าแต่ก่อน

เรียกว่าสำคัญมากที่ต้องมีพื้นที่มากขึ้นเพื่อสิ่งนั้น