ประวัติความเป็นมาที่หลายคนอาจไม่เคยทราบของ ‘พระอัฏฐารส’ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “พะอัดถาระสะ” หรือ “พะอัดถารด”

พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

พระอัฏฐารส แปลว่า พระสิบแปด หมายถึงพุทธธรรม 18 ประการ อันเป็นพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธรูป 18 ศอก ที่จริงแล้วองค์พระพุทธปฏิมาอัฏฐารสสูง 16 ศอก 23 ซ.ม. หรือเท่ากับ 8.23 เมตร

แต่ที่ตั้งชื่อเช่นนั้นก็เพื่อเป็นอุบายธรรมสื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพุทธคุณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นศาสดาของมนุษย์และเทพเจ้าทั้งหลาย

ดังพระบาลีในอาฏานาฏิยปริตรว่า : “อุเปตา พุทฺธธมฺเมหิ อฏฺฐารสหิ นายกา … พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนายกคือผู้นำ ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม 18 ประการ”

ผู้สร้างพระอัฏฐารสคือพระนางติโลกจุฑาเทวี ลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีลักษณะงดงามมาก

ดังที่ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ) ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมได้กล่าวถึงว่า

“พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย) หล่อด้วยทองสำริดสูงใหญ่ ปางห้ามญาติ มีพระพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยนงดงามยิ่งนัก เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนหรือพระสิงห์ซึ่งได้วิวัฒนาการงานศิลป์มาจากปาละด้วยเช่นกัน”

พระนางติโลกจุฑาเทวี เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแสนเมืองมา เมื่อครั้งที่พระสวามีสร้างพระเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ.1934 เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่ดวงวิญญาณของพระเจ้ากือนา พระราชบิดา

แต่ยังสร้างไม่เสร็จ พระสวามีก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

พระนางติโลกจุฑาเทวี จึงสร้างต่อโดยทรงรับเป็นแม่กองบัญชาการก่อสร้างพระเจดีย์ด้วยพระองค์เอง

ใช้เวลาในการสร้างนาน 5 ปี จึงแล้วเสร็จ

ต่อมาในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ พ.ศ.1954 พระนางได้ทรงกระทำพิธีปกยอดฉัตรเจดีย์ด้วยทองคำหนัก 8,902 และประดับรัตนมณี 3 ดวง ไว้บนยอดพระเจดีย์นั้น

หลังจากนั้น พระนางได้ทรงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นหลังหนึ่ง ทางทิศตะวันออกของพระเจดีย์ พร้อมทั้งให้หล่อพระประธาน คือ พระอัฏฐารส และพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตรประดิษฐานไว้ในวิหารหลวง

จากนั้นจึงทำการฉลองสมโภชพระธาตุเจดีย์หลวง พระวิหาร พระอัฏฐารสวัดเจดีย์หลวงในคราวเดียวกัน

และยังหล่อพระพุทธรูปปางอื่นๆ ขนาดต่างๆ อีกจำนวนมาก

กล่าวถึงเฉพาะการหล่อพระในครั้งนั้น มีการตั้งโรงหล่อเผาเบ้าหลอมทองในบริเวณที่ตั้งวัดพันเตาปัจจุบัน เพราะต้องเททองพระพุทธรูปเป็นร้อยเป็นพันเบ้า จึงเป็นที่มาของวัดพันเตา

และเมื่อครั้งหล่อพระพุทธรูปอัฏฐารส พระเถระชื่อว่า “นราจาริยะ” ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ใคร่ลองบุญญาภินิหารของท่าน ได้กระทำสัตยาธิษฐาน แล้วอุ้มเบ้าทองอันร้อนด้วยมือยกขึ้นตั้งเหนือศีรษะนำไปหล่อเบ้านั้นก็ไม่ทำให้ร้อนไหม้

คนทั้งหลายเห็นแปลกดังนั้นก็เกิดอัศจรรย์พากันแซ่ซ้องสาธุการกันทั่วทั้งเมือง

พระอัฏฐารสจึงนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของเมืองเชียงใหม่