บทวิเคราะห์ | ROUND 1 ‘ประยุทธ์’ กับ การเผชิญหน้าครั้งสำคัญยกแรก!

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อเย็นวันที่ 16 กรกฎาคม

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ประชุม ครม.นัดพิเศษทันที

ด้วยเหตุผลว่า จะได้ไม่เสียเวลาทำงาน หารือถึงระเบียบขั้นตอนการทำงานรัฐบาลให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันทำงานทันที

ถือเป็นการ “สร้างภาพ” ติดเครื่องปุ๊บ เดินหน้าปั๊บ แบบไร้รอยต่อ

จากที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน

พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อำลา

ในวาระที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ครม.คณะเดิม สิ้นสุดภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่ลง

นอกจากขอบคุณประชาชน ครม. เจ้าหน้าที่ของ คสช. ข้าราชการการเมือง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย รวมถึง สนช. สปท. และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ยังได้ย้ำความสำเร็จใน 5 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การเรียกความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาหมักหมมมานานปี การปฏิรูปประเทศและการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ

“ตลอด 5 ปี เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเมื่อเราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะฟื้นฟูชื่อเสียงเกียรติคุณ ความสงบเรียบร้อยและสิ่งดีงามของประเทศให้กลับคืนมาให้จงได้

บัดนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่างๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ อีกต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะย้ำว่า จะไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ หลังจากนี้

แต่หากเราติดตาม “การเปลี่ยนผ่าน” เพื่อการสืบทอดอำนาจอีกต่อไป ดำเนินไปอย่างเข้มข้น

อย่างน้อยที่สุดการที่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง

ก็แจ่มชัดว่า ไม่ต้องการ “เท้าลอย” ยังประสานสัมพันธ์กับเหล่าทัพอย่างแนบแน่น แม้ว่าจะไม่มีกลไก คสช.อีกก็ตาม

แต่ก็ยังคงมีสายบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ รวมถึงความสนิทสนม “ส่วนตัว” ผูกพันเอาไว้

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์วางใจว่าจะไม่มีช่องว่างกับเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก

ส่วนอำนาจพิเศษ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าหมดไปแล้ว

แต่ฝ่ายค้านได้ออกมาแฉว่า คสช.ได้วางกลไกไว้ตามหน่วยงานต่างๆ

โดยเฉพาะการถ่ายโอนอำนาจและภารกิจด้านความมั่นคงให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดูแลแทน

ซึ่งโครงสร้างของ กอ.รมน. มีนายกฯ เป็น ผอ.กอ.รมน. และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นรอง ผอ.กอ.รมน.

และหัวหน้า คสช.เคยออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 แก้ไข พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ปรับโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ให้กับคณะกรรมการใน กอ.รมน.มากขึ้น

ซึ่งเท่ากับไปเพิ่มอำนาจให้กับ กอ.รมน. ทำให้ทหารไปทำหน้าที่ทับซ้อนกับฝ่ายมั่นคงอื่น ทั้งตำรวจและพลเรือนที่มีส่วนรับผิดชอบด้านความมั่นคงโดยตรง

ตัวอย่างอำนาจที่เพิ่มขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ก็คือ การขยายคำจำกัดความของการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้รวมถึงอาชญากรรมปกติที่เคยอยู่ในอำนาจของตำรวจ รวมถึงอำนาจเรียกตัวบุคคลมาควบคุมตัว ในรูปแบบของการมาให้ข้อมูลคล้ายกับอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจทหารสามารถเรียกบุคคลมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำ หากยังสอบถามไม่แล้วเสร็จสามารถควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน

ซึ่งวิธีการนี้ คสช.เคยใช้ควบคุมฝ่ายตรงข้ามตนเอง

ปรากฏว่าอำนาจนี้ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นกลไกของ กอ.รมน.เท่านั้น

ซึ่งแม้ กอ.รมน.จะปฏิเสธว่าไม่จริง อำนาจเดิมของตนเองมีอยู่แล้ว และสามารถนำมาใช้ยามมีเหตุการณ์ไม่สงบ ตามขั้นตอน

แต่เรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ยอมรับถึงข้อสังเกตคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ปรับเปลี่ยนเป็นอำนาจ กอ.รมน. เช่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกปรับทัศนคติ ว่า เดิม คสช.เป็นคนเรียก เมื่อ คสช.หมดไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไรต่อ กอ.รมน.ไม่ใช่ทหาร เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสังกัดสำนักนายกฯ ทำอะไรต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

“การคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นอำนาจดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะประกาศกฎอัยการศึก” คือข้ออ้างแบบหน้าตาเฉยของฝ่ายรัฐบาล

ซึ่งยังไม่รู้ว่า การซ่อนรูปอำนาจ คสช. ฝังตัวอยู่ตรงไหนบ้าง

แต่เชื่อว่าคงจะโผล่ออกมาให้เห็นเรื่อยๆ

ดังนั้น ที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า จะไม่มีการใช้อำนาจพิเศษอีก ก็ไม่น่าจะจริง

นี่จึงทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดูจะวางใจว่า มีกลไกที่จะรับมือวิกฤตการเมือง ที่จะกระแทกเข้าใส่อยู่มากพอสมควร

โดยเฉพาะในจุดอ่อนเรื่องเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ การมีกลไกเหล็กที่ซ่อนรูป หรือมองไม่เห็นมากำกับอยู่

ภาวะปริ่มน้ำก็ไม่น่าจะอันตรายเกินไป

หรือหากปั่นป่วนเกินไป “เส้นเลือดใหญ่” ของรัฐบาล ตามการกล่าวอ้างของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็จะเข้ามาช่วยเสริม

อำนาจทั้งบนดิน ใต้ดิน น่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์รับมือเกมการเมืองได้ตามสมควร

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามแสวงมิตร เช่น การให้เอานโยบายของพรรคฝ่ายค้านมาดูด้วย ว่ามีเรื่องใดที่ตรงกัน และสามารถร่วมกันทำได้บ้าง

พร้อมหยอดว่า ทุกพรรคการเมืองรักชาติและประชาชนเหมือนกัน

แต่ก็ไม่วายดักคอพรรคฝ่ายค้าน ไม่ควรเอาเรื่องนโยบายหรืองบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลมาตีรวน

เพราะคนที่จะเสียผลประโยชน์คือประเทศและประชาชน ซึ่งจะเดือดร้อนไปทั้งหมด

ดังนั้น ใครที่คิดจะตีรวนในเรื่องนี้ ขอให้ใคร่ครวญให้ดี อย่าให้เป็นประเด็นทางการเมืองมากนัก

“ขอร้องว่าอย่าใช้เวทีสภามาเป็นเรื่องด้อยค่า หรือล้มรัฐบาล ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะถือว่าสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ทุกอย่างก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้ การที่รัฐบาลกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ประเทศด้านต่างๆ นั้นไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่สืบทอดการแก้ไขปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วม”

นั่นคือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ชิงดักคอฝ่ายค้านไว้

 

แต่ดูเหมือนฝ่ายค้านจะมองเกมนี้ออก

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้โต้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นอกจากจะไม่เข้าใจปรัชญาประชาธิปไตยแล้ว

ยังไม่รู้เรื่องกลไกของสภาที่แต่ละยุคเขาทำกันมา

การอภิปรายนโยบายของรัฐบาลก็คือการแสดงความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลจะตอบโจทย์ของประเทศและประชาชนหรือไม่

จัดได้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งแผนยุทธศาสตร์หรือไม่

ได้คำนึงถึงสถานะการเงินการคลังของประเทศเพียงใด การบอกชี้ว่าตอบโจทย์ของประเทศหรือไม่

“นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องอธิบาย หลีกเลี่ยงไม่ได้” นายสุทินระบุ

ขณะที่ฝ่ายค้านก็ชี้ว่า มิใช่การปักใจเชื่อว่า นี่คือ การต้องการ “ล้มรัฐบาล” อย่างเดียว

หรือถ้าล้มได้จริง ก็เป็นการล้มตามระบบ ที่รัฐบาลไม่อาจตอบข้อสงสัยได้

มิใช่การล้มด้วยรถถัง อย่างที่บางฝ่ายบางพวกชอบทำ

 

และนี่เอง ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศเดินหน้าลุยรัฐบาลเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ จะใช้เรื่องนโยบายรัฐบาลวัดฝีมือ ซึ่งถ้าเปรียบเป็นมวยก็ถือเป็นมวย “ยกแรก”

โดยจะพิจารณาตามกรอบนโยบายของรัฐบาลทุกกรอบ

และจะให้ความสำคัญกับนโยบายทุกมิติ

นับตั้งแต่ คุณสมบัติของรัฐมนตรี ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ละเรื่อยไปถึงรายละเอียดในแต่ละนโยบาย

โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ 8 กระทรวง มีรัฐมนตรีดูแลถึง 15 คน จาก 4 พรรคการเมือง

ยากยิ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ

ตรงกันข้าม อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกได้โดยง่าย

ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านได้เล็งเป้าไปยังรัฐมนตรีที่อาจถูกอภิปรายพาดพิง ยาวเป็นหางว่าว

ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นต้น

นี้แม้เป็น “มวยยกแรก”

แต่ก็เป็นมวยยกแรกที่คาดว่าจะเข้าแลกหมัดกันเมามัน แบบที่ไม่ต้องออกลีลา หรือดูเชิงกันอีกแล้ว

ด้วย 5 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นแล้วว่าแกนนำมีเชิงมวยอย่างไร

และที่ผ่านมาอาจจะโชว์ลีลาเหมือน “มวยดี” แต่เพราะขาดซึ่งคู่ชก ชกลมโชว์เฉยๆ

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์แทบจะไม่เจอรอยขีดขูดจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลย

แต่คราวนี้ต้องเจอสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านจริงๆ และออกลีลามวยจริงๆ

ก็ต้องติดตามดูว่า ที่โชว์ลีลามาตลอด 5 ปีนั้น เจอชกจริงเข้า

แล้วจะเอาตัวรอดไหม