‘มหากาพย์ไบโอเมตริกซ์’ ยุทธภูมิซอยสวนพลู “เผือกร้อน” ผบช.สตม.?

ความเดิมจากตอนที่แล้ว “บิ๊กอู๊ด” พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง รรท.ผบช.สตม. รับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายน ตกปากรับคำพร้อมสานต่อนโยบายผู้บัญชาการคนก่อนๆ และจะแก้ไขพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

แต่แล้วการรับน้องชนิดที่ว่าต้องกุมขมับ กับเผือกร้อน “ไบโอเมตริกซ์” และรถสายตรวจอัจฉริยะ งบฯ หลักพันล้านบาท

สำหรับไบโอเมตริกซ์หรือข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล คือเทคโนโลยีใช้ยืนยันตัวบุคคลด้วยข้อมูลชีวภาพที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว เชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ด้วยกัน ข้อดีสำหรับผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความจำหรือถือบัตรผ่านใดๆ สร้างความสะดวกรวดเร็ว ป้องกันบัตรผ่านสูญหาย ยากที่จะถูกสวมรอย และลดต้นทุนการจัดการ ซึ่งไบโอเมตริกซ์ช่วยเก็บข้อมูลใบหน้าบุคคล ทำให้ปลอมพาสปอร์ตได้ยากขึ้น

สรุปอย่างเข้าใจง่าย ก็เหมือนฟังก์ชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ที่บันทึกข้อมูลเจ้าของมาใช้ปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์ด้วยลายพิมพ์นิ้วมือ แม้กระทั่งใบหน้า

ในเรื่องการใช้งานนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ระบุว่า ได้รับรายงานจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ทราบว่าได้เริ่มต้นใช้งานระบบกับสนามบินบางส่วนแล้ว พบว่า มีเการเชื่อมต่อสัญญาณที่ยังคงไม่เสถียรนัก อยู่ระหว่างปรับแก้ เพราะเป็นของใหม่ คนใช้งานต้องศึกษา

เช่นเดียวกันกับการใช้โทรศัพท์มือถือ จะให้ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ต้องเรียนรู้การใช้งาน ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ถ่ายรูปหรือส่งไลน์ นอกนั้นยังไม่มีปัญหา

แต่เท่าสดับรับฟัง ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการสับเปลี่ยนตำแหน่งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุกลางคันหลายครั้ง โดยเฉพาะในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็คล้ายจะเข้าเค้า “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง”

กลายเป็นภาคต่อของ “ยุทธภูมิสำนักสวนพลู” กับฝุ่นใต้พรมที่ยังต้องได้รับการปัดเป่า

กรณีนี้เอง นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ทีมงานทนายประชาชน ได้ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ไบโอเมตริกซ์และรถสายตรวจอัจฉริยะ อ้างข้อมูลที่ไม่ทราบไปรับมาจากแหล่งไหนบ้างว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและนายตำรวจระบุว่าไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดข้อสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนกับโครงการนี้คุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะไบโอเมตริกซ์ เพราะทราบว่ามีการต่อสัญญากับบริษัทรับเหมาติดตั้งจากเอกชนหลายครั้ง ทั้งที่ส่งงานไม่ตรงกำหนด

ทนายตั้มอ้างว่าโครงการรถสายตรวจไฟฟ้าอัจฉริยะ สตม. 260 คัน คันละประมาณ 4 ล้านบาท มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท พร้อมติดตั้งระบบไวไฟภายในนั้น พบว่ายังมีสถานที่ชาร์จไฟรถไม่เพียงพอ และในต่างจังหวัดก็ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตมารองรับไวไฟ

เรียกได้ว่าเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ละเอียดยิบ

ในประเด็นนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์บอกว่า

“กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ดำเนินการมาก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งสำนักงานส่งกำลังบำรุงเป็นเจ้าของสัญญา โดยมีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับการตรวจรับ รวมถึงตัวแทนของกระทรวงดีอีเข้ามาให้ความรู้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยี ฉะนั้น สตม.จึงเป็นเพียงหน่วยงานที่ใช้และอยู่ระหว่างการส่งมอบเพื่อที่จะใช้ แต่หากพบปัญหาการใช้ หรือคู่สัญญาทำไม่ถูกก็จะนำเสนอคณะกรรมการ ทุกขั้นตอนมีทีโออาร์ระบุขอบเขตงานไว้อยู่แล้ว แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับคู่สัญญาด้วย ทั้งนี้ ยินดีจะให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. หากต้องการตรวจสอบตามคำร้องขอ”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการขยายสัญญาอาจไม่ได้เป็นความผิดบริษัท แต่อาจเกิดจากการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนไม่ได้ กรณีนี้ไม่ใช่ความผิดคู่สัญญา จึงเป็นเหตุให้ขยายสัญญาได้ ขณะเดียวกันหากไม่มีเหตุแต่ทำไม่เสร็จ คู่สัญญาก็ต้องเสียค่าปรับจนกว่าจะใช้ได้

และในทุกขั้นตอน จะมีผู้แทน สตม.เป็นคณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งมีการประชุมรับฟังปัญหาข้อขัดข้องของผู้ปฏิบัติมาแก้ไขเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นของใหม่ จึงอาจเกิดความไม่คุ้นเคยกับผู้ใช้ ต่างจากระบบเดิมที่ดูเพียงหน้าหนังสือเดินทางและใช้ลายนิ้วมือสองนิ้วเท่านั้น ขณะที่ของใหม่ต้องเก็บลายนิ้วมือถึง 10 นิ้ว ในส่วนนี้เองยังได้ประสานบริษัทเอกชนมาสอนวิธีใช้ด้วย

หากไล่ไทม์ไลน์การสับเปลี่ยนเก้าอี้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ

เริ่มเมื่อกองทะเบียน สำนักกำลังพล มีบันทึกข้อความลงวันที่ 19 เมษายน ถึง ผบช.สตม. เรื่องอนุมัติให้ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กอู๊ด นรต.40 ปฏิบัติราชการในสังกัด สตม. ในฐานะรองประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ ระบบตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ลายพิมพ์นิ้วมือและใบหน้า เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ ก่อนครบกำหนดส่งมอบงานตามสัญญางวดที่ 6 งวดสุดท้าย วันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งบริษัทเอกชนที่รับเหมาติดตั้งได้ขอขยายเวลาออกไปอีก 110 วันจากเดิม ภายใต้เงื่อนไขหากพ้นกำหนดกรอบเวลาที่ขอไว้ ต้องถูกปรับวันละ 5 ล้านบาท จนกว่าโครงการจะเสร็จสิ้น

ต่อมาสำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.) มีบันทึกข้อความลงวันที่ 25 เมษายน ถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงกรรมการตรวจรับพัสดุรายการจัดซื้อครุภัณฑ์โครงการดังกล่าว โดยให้ พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 เป็นกรรมการ แทนที่ พ.ต.อ.ภูธร ปริศนานันทกุล รอง ผบก.ตม.2

31 พฤษภาคม พ.ต.อ.เดชา กัลยาวุฒิพงศ์ รอง ผบก.สกพ. ปฏิบัติราชการแทน ผบก.สกพ. ส่งหนังสือถึง ผบก.ทท. และ ผบช.สตม. อ้างถึงคำสั่ง ตร. ให้ พ.ต.อ.ภูธรไปปฏิบัติราชการที่ บช.ทท. ดูแลนักท่องเที่ยวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบช.สตม. ที่ ผบ.ตร.ได้ลงนามในบันทึกข้อความถึง ผบก.สกพ. ให้ พล.ต.ต.กฤษกรไปปฏิบัติราชการที่ บช.ทท. ก่อนหน้านี้

ทราบกันดีว่า พล.ต.ต.กฤษกรเป็นอดีต “คีย์แมน” มือทำงานด้านกฎหมาย ควบคุมหน้างานบริหารและตรวจสอบโครงการดังกล่าวในสมัย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล นั่ง ผบช.สตม.

ถัดมาวันที่ 13 มิถุนายน มีรายงานว่า ผบ.ตร.ได้ลงนาม 31 พฤษภาคม 2562 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนายษิทรายื่นหนังสือ ป.ป.ช. เรื่องนี้ เกี่ยวกับความล่าช้าการดำเนินโครงการและประสิทธิภาพของระบบ รวมถึงโครงการรถสายตรวจไฟฟ้าอัจฉริยะ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบการเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟในบางพื้นที่และความคุ้มค่ากับเงินของรัฐ ตั้งกรอบทำงานแล้วเสร็จใน 30 วัน

เรื่องยังไม่จบแค่นั้น 25 มิถุนายน ผบ.ตร.ลงนามบันทึกข้อความด่วนที่สุด ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจรับพัสดุเพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ราชการกำหนด พร้อมสั่งเร่งรัดให้หลายหน่วยงานในสังกัด ตร.ตรวจรับพัสดุ และติดตั้งตามสถานที่ส่งมอบอย่างเร็วที่สุด

และในวันเดียวกัน สตม.ก็ได้ทำเรื่องขอข้าราชการตำรวจมาช่วยงานที่สังกัดอีก 33 นาย แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลแน่ชัดอีกว่าเอามาทำอะไร

ที่เห็นและเป็นไป เกิดจาก “มหากาพย์ไบโอเมตริกซ์” ทั้งสิ้น