ปริศนาโบราณคดี : ส่งท้าย “777 ปีชาตกาลพระญามังราย” แต่ภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น (4)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 2 3

บทความตอนนี้ยังคงต่อเนื่องกับครั้งที่แล้ว

เป็นส่วนที่ อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นำเอา “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” มา Review Literature เพื่อส่องเหตุการณ์ขณะสร้างเมืองเชียงใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

กว่าราชธานีจะเสร็จสมบูรณ์

 

พระญางำเมือง 2,000 วา มากไปไหม
พระญาร่วงลดสะบั้นเหลือ 500 วา

พระญามังรายมีความตั้งใจที่จะสร้างเมืองใหม่ โดยใช้ศูนย์กลางวัดจากราชมณเฑียร หรือสถานที่ที่เป็นลอมคาเดิมของกวางเผือกสองแม่ลูกผู้กล้าหาญสามารถปราบฝูงสุนัขได้ ขยายออกไปทุกทิศ คือเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ด้านละ 1 พันวา รวมแล้วกำแพงสี่เหลี่ยมแต่ละด้านจะมีขนาดใหญ่กว้างใหญ่มากถึงด้านละ 3,000 วา คิดแบบให้เข้าใจง่ายก็คือ เท่ากับ 6 กิโลเมตร

แต่แล้วพระญามังรายมาใคร่ครวญคิดดูอีกรอบ คงเห็นว่าใหญ่โตมโหฬารเกินไป จึงลองลดลงให้เหลือด้านละ 2,000 วา หรือ 4 กิโลเมตรก็น่าจะพอ เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เชิญสองพระสหายมาขอคำปรึกษาหารือ

อาจารย์เกริกมองว่า พระญามังรายคงไม่ได้ต้องการแค่อยากฟัง “ความเห็น” หรือ “มุมมอง” จากสหายทั้งสองเท่านั้น แต่การเชิญมาครั้งนี้ น่าจะเป็นการ “ขอกำลังให้กษัตริย์ทั้งสองเมืองช่วยขนเอาสมัครพรรคพวกหรือบรรดาลูกน้องของแต่ละองค์มาช่วยกันสร้างบ้านแปรงเมืองด้วยต่างหาก”

การหารือคราวนี้ตำนานเขียนว่า เป็นไปในลักษณะคล้ายระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก นั่นคือการ “ตั้งสภาวินิจฉัยแบบเปิดสนามดีเบต” กันเลยทีเดียว พระญามังรายเริ่มเสนอโปรเจ็กต์ตัวเลขกลมๆ 2,000 วาถ้วนๆ ของกำแพงเมืองแต่ละด้านตามที่ตนวาดฝันไว้

พระญางำเมือง สหายจากเมืองภูกามยาว (พะเยา) ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติสนิทกันด้วยนั้น ได้ขอออกความเห็นก่อน สั้นๆ ง่ายๆ แค่ว่า

“สหายจักตั้งเวียงแลด้านแล 2 พันวา บ่ควรแล ว่าอั้น” คือกล่าวแต่เพียงลอยๆ ว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่นัก แต่ไม่ให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ผิดกับสหายอีกคนหนึ่งที่ชักแม่น้ำทั้งห้ามาสาธยายเสียจนพระญามังรายเริ่มเขว

พระญาร่วงแห่งสุโขทัย หรือที่คนไทยนิยมเรียกพระนามท่านว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ผู้เป็นสหายกับพระญางำเมืองมาก่อนในฐานะศิษย์ร่วมสำนักเขาสมอคอน ละโว้ด้วยกัน และต่อมากลายมาเป็นสหายของพระญามังรายโดยปริยาย ภายหลังจากเกิดกรณี “พระร่วงมีชู้กับชายาของพระญางำเมือง แล้วพระญามังรายต้องเข้าไปช่วยตัดสินความ”

พระญาร่วงกล่าวแบบหนักแน่นว่า

“สหายเจ้าพระญางำเมืองว่านั้นก็หากแม่นแล เท่าว่าเป็นฉันทาคติเสีย” คือรับอ้างว่าพระยางำเมืองก็ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับตน จึงรวบหัวรวบหางให้เห็นว่า นี่คือเสียงส่วนใหญ่ (ฉันทาคติ) ซ้ำพระญาร่วงยังกล่าวสำทับตามว่า

“ควรร่ำเพิง (รำพึง, คำนึง) กาลสัมปัตติแลกาลวิปัตติแล ภายหน้าปุคละผู้มีประหญา (ปัญญา) จักดูแคลน ว่าบ่รู้ร่ำเพิงภายหน้าภายหลัง… ภายหน้าหลอน (หาก) อมิตตะ (อมิตร-ศัตรู) ข้าเสิกมาแวดวังขัง หาปุคละผู้จักเฝ้าแหนบ่ได้ บ่อ้วน บ่เต็ม ก็จักยากแก่อนาคตกาละแล ข้ามักใคร่ตั้ง แต่ไชยภูมิไปวันตก วันออก ใต้ เหนือ พุ่น 500 วา แล”

คำว่า กาลสัมปัตติ อาจารย์เกริกไม่ขอแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาล้านนา แต่ขอแปลเป็นภาษาอังกฤษไปเลยว่าหมายถึง the best scenario ส่วน กาลวิปัตติ ก็หมายถึง the worst scenario ด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ พระญางำเมืองกล่าวแต่เพียงสั้นๆ ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่กว้าง-ยาว 2,000 วา แต่ไม่ได้บอกว่าจะขอปรับลดลงเหลือสักเท่าไหร่

ในขณะที่พระญาร่วง กลับเกทับกึ่งข่มขวัญตัดกำลังใจอย่างไม่ไว้หน้ากันบ้างเลยว่า “เอาให้เหลือแค่ด้านละ 500 วาก็คงพอละมั้ง ขืนดันทุรังสร้างใหญ่เกินตัว เกินสติปัญญา อนุชนภายหน้าจะเยาะหยันดูแคลนเอาได้ เกิดข้าศึกศัตรูมาล้อมกำแพง จะหาไพร่พลหรือทหารที่ไหนไปเฝ้าระวังกำแพงแต่ละด้านให้เต็ม”

พระญามังรายเจอมุขนี้ ก็ยังพอกลั้นใจสงบสติอารมณ์ไว้ได้บ้าง เพราะอยู่ดีๆ ก็ไปเชิญเขามาให้ความเห็นเอง แต่ก็ไม่วายยังขอแอบเหน็บพระญาร่วงเสียหน่อยว่า สิ่งที่พูดมานั้นดูออกจะเจือแฝงไปด้วยแรงโกรธเคียดอะไรหรือเปล่า

“สหายเจ้าพระญาร่วงว่านั้นก็ดีแท้แล เท่าว่าเป็นโทสาคติเสียหน้อย ๑”

จากนั้นพระญามังรายก็เปิดสภาซาวเสียงเสนามาตย์ทุกฝ่ายว่ามีความเห็นโน้มเอียงหนักไปทางใดกันบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้คือ

“เสนามาจจ์ทังหลายเพิงใจคำพระญางำเมืองนั้น 3 ปูน มีปูน 1 เพิงใจคำพระญาร่วงแคลน (ขาด) มาก”

ปูนในที่นี้หมายถึง ส่วน หมายความว่าผู้เข้าประชุมหากนับเป็นเปอร์เซ็น จำนวน 75% เห็นด้วยกับพระญางำเมือง (คือ 2,000 อาจจะยาวไป ขอลดลงมาบ้าง) และอีก 25% ยกมือให้กับพระญาร่วง

 

สองฤๅษีบุคคลในตำนาน
คือคาถาของพระญาร่วง

ในเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจ ก่อนที่พระญาร่วงจะหน้าแตกมากไปกว่านี้ จึงรีบขอยกมืออภิปรายแก้เก้ออีกสักยกหนึ่งว่า

“สุเทวรสีและสุกกทันตรสี ก็ยังได้ฌานสมาปัตติอภิญญาณมีเตชอานุภาวะ แม่นจักหื้อกว้างหมื่นโยชน์แสนโยชน์ก็ได้ดาย เพื่อเล็งหันอนาคตภัย เมื่อภายลูนแล สร้างเวียงละพูนจิ่งเอาหน้าหอยควบเอาเป็นประมาณดายว่าอั้น”

อาจารย์เกริกอธิบายว่า พระญามังรายเล่นใช้วิธีนับคะแนน ข้อเสนอของพระญาร่วงก็อาจเป็นหมัน จำเป็นต้องงัดไม้เด็ด ในเมื่อตนสู้แบบซึ่งหน้าไม่ได้ ก็ต้องกล่าวอ้างเอาบุคคลในตำนาน หรือ Mythical Figure มาเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์แทน ในทำนองว่า

ขนาดระดับสุเทวฤษี และสุกกทันตฤษี ผู้มีฤทธิ์อำนาจเข้าถึงฌานสมาบัติ จะสามารถนฤมิตเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ให้ใหญ่กว่านี้อีกกี่เท่าก็ได้ ท่านทั้งสองยังยับยั้งความโอ้อวดนั้นไว้เลย ทำแค่ใช้ไม้เท้าขีดๆ เขี่ยๆ ตามรอยขอบเปลือกหอยสังข์เท่านั้น เหตุเพราะทั้งสองท่านนี้เล็งเห็นการณ์ไกล ว่าหากปัจจามิตรล่วงล้ำมา ชาวหริภุญไชยจะมีกองกำลังรักษาบ้านเมืองไว้ได้แค่ไหน

แล้วก็ได้ผลตามที่พระญาร่วงอุตส่าห์ออกแรงดีเบต พระญามังรายแม้จะขุ่นเคืองพระญาร่วงอยู่ลึกๆ ที่ชอบมาเบรกอยู่เรื่อย แต่ก็ยังเห็นแก่สุเทวฤษีและสุกกทันตฤษีอยู่บ้าง จึงตัดสินใจคำนวณบวกลบคูณหาร ตัวเลขระหว่าง 2,000 กับ 500 ได้ผลต่าง เป็นตัวเลขแปลกๆ คือ 900 วา กับ 1,000 วา (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าท่านใช้สูตรใด)

พระญามังรายจึงกล่าวสรุปปิดประชุมสภาแบบรวดรัดว่า ถ้าเช่นนั้น

“เราจักตั้งลวงแปพันวา ลวงขื่อ 9 ร้อยวา” คำว่า “แป” กับ “ขื่อ” ก็คือด้านกว้างกับด้านยาว

หากเป็นตามนี้หมายความว่าผังเมืองเชียงใหม่ในยุคเริ่มแรกนั้น ย่อมไม่ใช่สี่เหลี่ยมจัตุรัสเป๊ะเท่ากันสี่ด้าน แต่เหลื่อมกันอยู่ 100 วา คือเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ดูเผินๆ แล้วคล้ายจัตุรัส

 

หนองใหญ่ ไม้เสื้อเมือง แม่ระมิงค์

เมื่อตกลงเรื่องความกว้างยาวของกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่มีผัง (เกือบ) จัตุรัสลงตัวแล้ว พระญามังรายและสองสหายก็ลงมือสร้างเมืองตามคติความเชื่อของคนล้านนา

กล่าวคือ หันขื่อและแป ในแนวแกนเหนือ-ใต้ ไม่ใช่แกนตะวันออก-ตะวันตก

หัวเวียงอยู่ทางเหนือคือประตูช้างเผือก และใต้เวียงอยู่ที่ประตูเชียงใหม่ ไม่ได้หันหน้าเมืองสู่ทิศตะวันออก เพราะเป็นการขวางตะวัน

ต่อมา ได้มีการสร้าง “ไม้เสื้อเมือง” ตามนิมิตที่จู่ๆ พระญามังรายและพระสหายทั้งสองก็เห็น หนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียนพร้อมบริวาร 4 ตัว วิ่งออกมาจากไชยภูมิทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กระโดดเข้าสู่โพรงไม้ที่ภาษาถิ่นเหนือเรียก “ผักเฮือด” ภาษาบาลีเรียก ไม้นิโครธ ภาษาพม่าเรียก ไม้พิงยอง กษัตริย์สามสหายจึงนำเอาข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาต้นไม้ดังกล่าว และยึดถือเป็น ไม้เสื้อเมือง

นอกจากนิมิตเรื่องกวางเผือก หนูเผือกแล้ว พระญามังรายยังชวนชี้ให้สหายทั้งสองเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นอัศจรรย์ในไชยภูมิที่พระองค์ตัดสินใจจะสร้างเมืองเชียงใหม่นี้อีก คล้ายเป็นการตอกย้ำแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ว่า

“อยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุจฉุปัพพตะดอยสุเทพ ไหลลงมาเป็นแม่น้ำ”

น้ำตกที่ว่านั้นก็คือ น้ำตกห้วยแก้วและน้ำตกสาขาย่อยอื่นๆ อีกหลายสาย ที่ไหลลงมาจากดอยสุเทพไปทางทิศเหนือ อ้อมไปตะวันออก วกลงใต้ แล้วไหลไปตะวันตกอีกรอบ เกี่ยวกระหวัดยังเวียงกุมกาม มีแม่ข่า แม่โท เป็นสาขาย่อย

ประการต่อมา แผ่นดินนี้ยังมี “หนองใหญ่” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนาหนองเขียว ซึ่งก่อน พ.ศ.2500 ชาวเชียงใหม่ยังคงเคยเห็นกันอยู่ แต่ปัจจุบันถูกถมขายเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจารย์เกริกบอกว่านี่คืออัจฉริยภาพของพระญามังราย ที่กำหนดให้หนองใหญ่หรือหนองเขียวแห่งนี้เป็นสถานีการค้าหรือ Parking Area สามารถรองรับจุดพักวัวต่างม้าต่างของพ่อค้าวาณิชได้จำนวนมหาศาล

จุดเด่นประการสุดท้ายคือ การที่ไชยภูมิแห่งนี้มีสายน้ำแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) ไหลมาจากอ่างสรงเชียงดาว โดยตำนานอ้างว่า อ่างสรงนี้เป็นมหาสระที่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาลได้มาอาบสรงในสระนี้ ดังนั้นแม่ระมิงค์จึงเป็นดั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลผ่านยังทิศตะวันออกของเมือง

ว่าแล้วพระสหายทั้งสาม ก็นั่งเอนหลังพิงกันร่ำสุราแถวหน้าประตูเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เฉกเดียวกับฉากเดิมที่สามสหายก็เคยหันหลังอิงกันที่น้ำแม่อิง (แม่น้ำขุนภู) เมืองพะเยา เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่พระญามังรายได้รับการประสานจากพระญางำเมืองให้มาตัดสินคดีชู้พระร่วงกับนางอั้วเชียงแสน

ตำนานระบุว่าเชียงใหม่มีประตูเมือง 5 ประตูมาตั้งแต่แรกสร้าง แต่ไม่ได้ระบุชื่อประตูแต่ละทิศ ทำให้ไม่ทราบว่าในปัจจุบันจะใช่ชื่อดั้งเดิมหรือไม่ ทิศตะวันออก ปัจจุบันชื่อประตูท่าแพ ทิศตะวันตกมีประตูสวนดอก ทิศเหนือมีประตูช้างเผือก ส่วนทิศใต้นั้นมีความพิเศษคือ มีถึง 2 ประตู ได้แก่ ประตูสวนปรุง กับประตูเชียงใหม่

เห็นได้ว่าพระญามังรายพกกำลังใจและความเชื่อมั่นในการสร้างราชธานีมาเกินร้อย เมืองเชียงใหม่สร้างเสร็จในวันพฤหัสบดี เดือน 8 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 658 หรือตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.1839 (หากคำนวณตามปฏิทินระบบจูเลียน) หรือ 19 เมษายน พ.ศ.1839 (หากคำนวณตามปฏิทินระบบเกรโกเรียน)

สร้างเมืองเสร็จ ให้มีการแสดงมหรสพ 3 วัน 3 คืน พร้อมเฉลิมนามนคราว่า “นพบุรีสรีนครพิงค์เชียงใหม่” จำเนียรกาลผ่านถึงปรัตุยุบัน เมืองเชียงใหม่จึงมีอายุครบ 720 ปีในปี 2559 และพระญามังรายก็ครบรอบชาตกาล 777 ปีในศักราชนี้