จิตต์สุภา ฉิน : ชีวิตที่ผูกไว้กับไลน์ LINE CONFERENCE “19

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สําหรับผู้ใช้งานชาวไทย LINE น่าจะกลายเป็นส่วนใหญ่ๆ ที่แทบจะแยกออกจากชีวิตเราไม่ได้ไปเสียแล้ว

นอกจากบริการส่งข้อความที่เราใช้ทั้งกับเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ก็ยังมีบริการอื่นๆ อย่าง LINE TODAY ให้เราได้อ่านข่าวสาร

Rabbit LINE Pay ให้ใช้ทำธุรกรรมต่างๆ

LINE MAN บริการเมสเซ็นเจอร์ให้มาส่งของถึงบ้าน

LINE TV ไว้ดูคอนเทนต์ที่ชื่นชอบ ฯลฯ

ซึ่งบริการที่แตกกิ่งก้านสาขาออกมาจากตัวแอพพลิเคชั่นแชตแอพพ์หลักก็ไม่ได้เหมือนกันในทุกประเทศนะคะ 4 ประเทศหลักๆ ที่นิยมใช้ LINE กันมากก็คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไทย

แต่ละที่ก็จะมีบริการของตัวเองที่ประเทศอื่นอาจจะไม่มีก็ได้

LINE เพิ่งจะจัดงานประจำปีนี้ไปในกรุงโตเกียวซึ่งซู่ชิงก็มีโอกาสได้เดินทางมาร่วมงานด้วย

ประเด็นหลักๆ ที่น่าสนใจก็คือ LINE ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่แอพพลิเคชั่นส่งข้อความอีกต่อไป (ซึ่งจริงๆ ก็คงไม่ได้มองแบบนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว)

แต่ในตอนนี้ก็มุ่งหน้าที่จะเน้นคอนเซ็ปต์ใหม่ให้ชัดขึ้น

ซึ่งก็คือ Life on LINE หรือการมุ่งมั่นคิดค้นนวัตกรรมเพื่อไลฟ์สไตล์ออกมาโดยเฉพาะ

มุ่งมั่นขนาดไหน ก็ขนาดที่เขามีตำแหน่งผู้บริหารตำแหน่งใหม่ที่อุทิศให้กับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ตำแหน่งที่ว่าก็คือ CWO ซึ่งย่อมาจาก Chief WOW Officer ซึ่งครองเก้าอี้โดย Jungho Shin ที่เป็น CEO ร่วมอยู่แล้วด้วย

ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ตรงไปตรงมาตามชื่อตำแหน่ง คือการทุ่มเทให้กับการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเรียกเสียง “ว้าว” จากผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด

และนวัตกรรมที่คิดออกมาก็จะต้องมาตอบโจทย์ทุกแง่มุมการใช้ชีวิตของคนให้ได้แบบ 24/7 หรือทุกเวลานาทีนั่นเลย

 

เห็นได้ชัดว่า LINE มีความพยายามที่จะเป็นโซเชียลมีเดียอีกแพลตฟอร์มหนึ่งมากขึ้น

ส่วนหนึ่งก็ด้วยการเปิดตัว LINE Mini app ที่จะบิวต์อินอยู่ในแอพพ์หลักที่ใช้ส่งข้อความนี่แหละค่ะ

ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจและร้านค้าสามารถสร้างสิ่งที่เป็นหน้าเพจของตัวเองขึ้นมาได้ เพื่อให้สะดวกง่ายดายสำหรับการให้บริการลูกค้ามากขึ้น

อย่างเช่น ลูกค้าสามารถเข้ามาเปิดดูเมนูสินค้า ราคา สั่งจอง หรือรับคูปองและบัตรสะสมแต้มทางนี้ได้เลย ในแบบที่เจ้าของร้านเองไม่ต้องเสียเงินจ้างนักพัฒนาขึ้นมาเขียนอะไรเพิ่มเติมอีก

นี่ก็จะเป็นการทำให้ LINE เข้าใกล้การเป็นห้างสรรพสินค้าดิจิตอลมากขึ้นไปอีก

ไม่ใช่แค่การเปิดหน้าร้านไว้ต้อนรับลูกค้าได้มากขึ้น

แต่อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เปิดตัวไปในปีนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า LINE LIVE ซึ่งก็ตรงๆ ตามชื่อนั่นแหละค่ะ ผู้ใช้ LINE สามารถผันตัวเองเป็น LINE LIVER (แบรนด์ยืนยันว่าอ่านว่า ไลฟ์ เวอร์ เพื่อสื่อถึงความหมายว่าเป็นคนที่ถ่ายทอดสดนะคะ ไม่ใช่ตับไตเครื่องในอะไร) ใช้แพลตฟอร์ม LINE สำหรับการไลฟ์ตัวเอง จะไลฟ์ฟรีก็ได้ ไลฟ์แบบเก็บเงินคนดูก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ใช้ไลฟ์ขายของได้

ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลดีว่าหลังจากไลฟ์เสร็จก็ปิดการขายกันผ่านแชตบน LINE นั่นแหละ จบกันภายในแอพพ์ไปเลย

 

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือการเปิด OpenChat ฟีเจอร์นี้มีศักยภาพที่จะทำให้เราติด LINE เพิ่มมากขึ้นอีกเยอะ

เพราะนี่คือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถสร้างห้องแชตขึ้นมาตามความสนใจ

สมมุติว่าเราสนใจเรื่องการปลูกต้นไม้ เราก็เปิดห้องแชตขนาดใหญ่ขึ้นมาให้สาธารณชนคนรักต้นไม้คนไหนก็ได้เข้ามาร่วมกันแชต

คนทั่วไปก็สามารถเสิร์ชหาห้องแชตห้องนี้เจอได้

และเมื่อเข้ามาในห้องแล้วก็สามารถไล่อ่านประวัติการแชตย้อนหลัง (ได้ในระดับหนึ่ง)

หรือจะเปลี่ยนชื่อเล่นตัวเองเป็นชื่ออะไรก็ได้ แต่ละห้องจะใช้ชื่อไม่เหมือนกันก็ยังได้ ทำให้มีความนิรนามค่อนข้างสูง หรือถ้ากลุ่มไหนไม่อยากเปิดกว้างขนาดนั้น ก็อาจจะใช้วิธีสร้างห้องแบบติดรหัสขึ้นมา อยากให้ใครเข้าร่วมก็ส่งรหัสไปให้ ก็ทำตัวเป็นชุมชนลับสุดยอดได้แล้ว

ที่บอกว่าเราจะใช้เวลาบน LINE เพิ่มขึ้นเยอะ ก็ลองคิดดูสิคะว่าเมื่อไหร่ที่เราไม่มีใครชวนแชตด้วย เราก็ยังไม่จำเป็นต้องวางมือถือ เพราะมีห้องแชตอีกนับไม่ถ้วนให้เราเข้าๆ ออกๆ ได้ตามใจชอบ ไม่มีคำว่าเหงาอีกต่อไป มีแต่คำว่าเวลาไม่พอให้ใช้แล้วละคราวนี้

สำหรับคนรักสติ๊กเกอร์ ก็คงไม่มีอะไรน่ายินดีไปกว่าการมาถึงของ LINE Stickers Premium บริการสมัครสมาชิกสติ๊กเกอร์รายเดือน คล้ายๆ กับที่ทุกวันนี้เราสมัครสมาชิกบริการฟังเพลงหรือดูหนังแบบจ่ายทุกเดือนเพื่อดูและฟังได้ไม่อั้นนั่นแหละค่ะ

อันนี้ก็คือผู้ใช้งานจ่ายเดือนละ 240 เยนหรือประมาณ 70 บาทไทย โหลดสติ๊กเกอร์มาใช้เท่าไหร่ก็ได้ไม่อั้น

แต่ถ้าหยุดสมัครสมาชิกเมื่อไหร่ สติ๊กเกอร์ที่ดาวน์โหลดไปในช่วงที่ยังจ่ายรายเดือนอยู่ก็จะไม่สามารถใช้ได้แล้วนะคะ

 

เราจะเห็นได้ว่าช่วงหลังๆ มานี้ โมเดลการสมัครสมาชิกรายเดือนเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมมาก

และทำให้หลายบริษัทประสบความสำเร็จสามารถทำกำไรมหาศาลกันมาแล้ว

น่าทึ่งที่ LINE คิดออกว่าสินทรัพย์ชั้นดีที่บริษัทมีอยู่ในมืออย่างสติ๊กเกอร์มากกว่า 3 ล้านชุดเป็นสินค้าที่สามารถนำมาผูกปิ่นโตให้ผู้ใช้ได้

ขณะเดียวกันในตอนนี้ยอดดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ก็มีแนวโน้มที่จะลดน้อยลง ทำอย่างไรล่ะให้ LINE ยังสามารถรักษารายได้ส่วนนี้เอาไว้ได้?

วิธีนี้ดูจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด นอกจากจะเป็นการให้ความมั่นใจว่าจะมีเงินเข้ามาวางอุ่นๆ อยู่ในกระเป๋าทุกเดือนแล้ว LINE ก็ยังมองว่านี่เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใช้งานด้วย

ไม่ใช่ซื้อสติ๊กเกอร์หนึ่งชุดแล้วก็แยกทางห่างหายกันไป

แต่วิธีนี้จะทำให้ LINE และผู้ใช้มีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกันได้

จึงตั้งราคาไว้ในระดับที่ไม่แพงเกินไป

และมีส่วนลดให้กับนักเรียนในญี่ปุ่นมากถึง 50%

 

ปิดท้ายด้วย Line Score ซึ่งจะนำเอากิจกรรมต่างๆ ที่เราทำบน LINE มาตีค่าออกเป็นคะแนนเครดิต ตั้งแต่ 100 ถึง 1,000 คะแนน

ใครคะแนนความน่าเชื่อถือเยอะก็จะมีสิทธิได้รับดีลพิเศษๆ หรือการขอสินเชื่อเงินกู้ ซึ่งก็สามารถนำมารวมกับคะแนนเครดิตแบบดั้งเดิมที่ธนาคารใช้อยู่ด้วย

อันนี้น่าสนใจตรงที่พฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของเรามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเข้ามาช่วยตัดสินว่าใครมีมูลค่าและความน่าเชื่อถือทางการเงินมากกว่ากัน

บริการที่เล่าให้ฟังมาทั้งหมดยังไม่มีอะไรบอกแน่ชัดว่าจะเข้ามาเมืองไทยหรือไม่ หรือจะเข้ามาเมื่อไหร่นะคะ ต้องรอติดตามข่าวสารจาก LINE ประเทศไทยกันต่อไป

เมื่อมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารและสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์การปล่อยข่าวลวงทาง LINE ซึ่งนับวันดูจะเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อกันทางแชตส่วนตัว ไปจนถึงการแชร์บนไทม์ไลน์

ผู้บริหารบอกว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่ LINE ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังลงมือใช้มาตรการมารับมืออย่างเร่งด่วน

ยกตัวอย่างในไต้หวันก็เริ่มมีการให้รีพอร์ตว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอมแล้ว เทคโนโลยี AI จะถูกนำมาใช้ในการเฝ้าตรวจหาข่าวปลอมและส่งต่อให้เป็นวิจารณญาณของมนุษย์ในการจัดการดำเนินการท้ายที่สุด

แต่สิ่งที่ LINE เป็นห่วงก็คือการต้องหาสมดุลระหว่างการตรวจสอบปราบปรามข่าวปลอมกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้ ต้องให้อย่างหนึ่งไม่ไปรบกวนอีกอย่างหนึ่งด้วย

LINE ย้ำอย่างหนักแน่นว่าเป้าหมายในปีนี้และปีต่อๆ ไปคือการจะทำให้โลกออฟไลน์และออนไลน์กลมกลืนเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียว

ซึ่งเมื่อลองพิจารณาแนวคิดและของใหม่ที่ได้แถลงไปก็น่าจะพอทำให้สรุปใจความได้ว่า

ทั้งหมดก็คือความพยายามที่จะดึงให้เราอยู่กับ LINE ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง