อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : ทะเลสู่ภูเขา

กล่องไปรษณีย์เดินทางมาจากชายทะเล ปลายทางคือบ้านของฉัน จังหวัดชายแดนภาคเหนือซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาใหญ่น้อย

ข้างในมีปลาริวกิวแดดเดียว ผู้ส่งกำชับมาในกล่องข้อความ ว่าเหมาะจะทำแกงเทโพ และข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นบ้านจากพัทลุง ฉันมองเม็ดข้าวสีแดง คิดถึงถ้อยคำเธอ เธอว่า กินข้าวกล้องบ่อยๆ แล้วจะรู้สึกได้เอง ว่าอร่อยกว่าข้าวขาว

ฉันลองมาหลายครั้ง ดูเหมือนยังไม่เข้าใจความอร่อยของมัน เว้นเสียแต่กินกับผัดผัก รู้ทั้งรู้ว่ามีประโยชน์กว่าข้าวขาว แต่ก็นั่นล่ะ ทำอย่างไรได้เล่า หากไม่ชอบ ฉันพูดคำว่าชอบออกมาไม่ได้หรอก กระดากปาก อายตัวเอง

แต่เธอก็ส่งข้าวเม็ดสีแดงมาให้ฉัน 5 กิโลกรัม ข้าวจากพื้นนาของพ่อแม่เธอ ข้าวซึ่งเธอภาคภูมิใจนักหนา และใช่ นี่เป็นข้าวที่เหมาะกับแกงใต้ ฉันไม่เถียง แต่ขอมีดอกจันตัวโตว่า ข้าวขาว

ข้าวเล็บนกเม็ดผอมเพรียวบาง หุงแล้วมัน แต่ไม่แข็ง เหมาะจะกินกับแกงเผ็ดจัด ตอนอยู่ภาคใต้ฉันได้กินอยู่บ้าง หุงกับหม้อดิน โดยใช้ฟืน ได้ข้าวเม็ดสวย มันสู้ฟันจริงๆ

แต่ก็นั่นล่ะ มันเป็นข้าวขาว

 

เขาหัวเราะ เมื่อเห็นข้าว เขาก็เหมือนฉัน ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกข้าวขาว “ไม่ได้บอกเพื่อนเหรอ ว่าเราไม่ค่อยกินข้าวกล้อง แต่เม็ดสีแดงแบบนี้สวยดีนะ” เขาหยิบข้าวเล็บนกขึ้นมาดู

“มันมีกลิ่นเฉพาะตัวด้วยละ สีแดงที่ไม่ได้ขัดออกเนี่ยะ จริงๆ แล้ว ทำให้ข้าวเล็บนกมันขึ้นอีก ติดตรงที่ กลิ่นชวนให้คิดถึงข้าวเหนียวดำที่เอามาทำขนมอ่ะ”

เขาพยักหน้าอย่างเร็ว

ความหวังดีของเธอ บวกความเชื่อมั่น ทำให้เธอส่งข้าวมา ทั้งที่รู้ว่าฉันไม่ชอบข้าวกล้อง ยิ่งไปกว่านั้น เธอรู้ว่าฉันไม่ค่อยแกงเทโพ ฉันเลือกแกงพริก แกงส้ม หรือคั่วกลิ้ง มากกว่าแกงกะทิที่มีรสเปรี้ยว แต่เธอส่งปลาริวกิวมา-สำหรับแกงเทโพ

“เฮ ลองดูตะ” คล้ายได้ยินเสียงเธอดังมาจากทะเล

ประโยคฮิตที่เธอพูดกับฉันคือ “ต้องลอง เชื่อเพื่อนตะ”

 

ฉันรู้จักเธอตอนไปเรียนทำผ้าบาติก ตอนนั้นเธอยังอยู่กับพ่อแม่ที่พัทลุง เธอเป็นสาวใต้ผู้สวยคมขำ และหรอยได้แรงอก เธอทำให้การเรียนสนุกสนานอย่างไม่คาดคิด ดูเหมือนบาติกจะเป็นเรื่องรองลงไป หลังได้รู้จักเธอ

ฉันได้ลองกินแกงไตปลาที่มีน้ำแกงข้นคลั่ก แต่อร่อยมาก ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทะเลน้อย ได้ทำอะไรอีกหลากสิ่ง-เพราะเธอ

“เชื่อเพื่อนตะ” คือคำมั่นสัญญา คือการตอกย้ำมิตรภาพ ฉันอยู่ภาคใต้มาเกือบแปดปี มีเธอเพียงคนเดียว ใช้สรรพนาม เพื่อน กับฉัน

หลังแกะห่อพัสดุไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เธอ inbox มาบอก เครื่องแกงเทโพของแม่เธอ คือเครื่องแกงกะทิ ที่เติมข่า และหัวหอม

พริกแห้ง ตะไคร้ กระเทียม หัวหอม ข่า พริกไทยดำ เกลือ ขมิ้น ตำเอง แล้วละลายในกะทิ ทำเหมือนแกงกะทิ แต่ใส่ส้มแขกนิดหนึ่ง ลองแกงนะเพื่อนนะ

ฉันอ่านทวน inbox เธอ แล้วออกไปหาซื้อส้มแขก กะทิ และผักบุ้งไทย สองอย่างแรกหาง่าย แต่ส้มแขกนี่สิ เดินทั่วตลาดก็ยังไม่ได้ ไปเจอในร้านขายยาจีน เป็นส้มแขกแผ่นใหญ่ผ่านการรมควัน ไม่ใช่ส้มแขกชิ้นเล็กๆ มีกลิ่นเฉพาะเหมือนที่เคยเจอในภาคใต้

แต่ชั่วโมงนี้ ถ้าอยากแกงเทโพตามคำเพื่อน ฉันต้องลอง

 

ตําน้ำพริกแกง ใส่ทุกอย่างตามเพื่อนบอก โดยเน้นพริกแห้ง ตำกระทั่งเนียน ค่อยใส่กะปิหนึ่งช้อนโต๊ะ แกงเทโพใส่ผักบุ้งเยอะ ถ้าอยากได้รสจัด คงต้องใช้เครื่องแกงมากหน่อย และต้องใช้กะทิอย่างพอดี ถ้าใช้หางกะทิมากไป แกงอาจใสไม่น่ากิน

ซื้อกะทิมาแบบแยกหัวหาง แต่กับแกงใต้ เราไม่เคี่ยวหัวกะทิแตกมัน เรานิยมใช้กะทิแบบกลางๆ คือหัวกะทิปนหางกะทิเล็กน้อย ตั้งไฟพอให้ร้อน แล้วใส่เครื่องแกงลงไปได้เลย คนให้เครื่องแกงละลาย จึงใส่ส้มแขก

ส้มแขกกับปลาริวกิวนั้น ก่อนลงหม้อ ฉันแช่น้ำไว้ 15 นาที ให้ส้มแขกคลายตัว และเอากลิ่นตุๆ กับความเค็มของปลาริวกิวออกบ้าง

ใส่ปลากับผักบุ้งลงไปพร้อมกันเลยก็ได้ ผักบุ้งควรเป็นผักบุ้งไทย ฉันชอบหั่นเฉียงๆ และใส่เยอะหน่อย เพราะชอบกินน้ำแกงกับผักบุ้งมากกว่าเนื้อปลา

รอทุกอย่างสุกค่อยชิม เติมน้ำตาลนิดหน่อย และน้ำปลา ให้รสเค็มกับเผ็ดนำมา เปรี้ยวนิดหน่อย และหวานน้อยมาก บางคนชอบหวาน ก็ปรุงน้ำตาลเพิ่มได้

ก่อนปิดเตา ฉีกใบมะกรูดลงหม้อสี่ห้าใบ เป็นอันเรียบร้อย

 

ฉันกดโทรศัพท์ “แกงหรอยโด้”

“เพื่อนบอกแล้ว ต้องลอง แกงส้มได้ แกงเท่ได้ ก็ต้องแกงเทโพได้แล”

“เดี๋ยวคราวหน้าใส่สามชั้นด้วย แล้วใช้มะกรูด กลิ่นน่าจะเปลี่ยน”

“เพื่อนส่งส้มแขกไปให้ ตอเช้านะ”

“ไม่เป็นไร เราหาแถวนี้ได้”

“พรือล้าว ส้มแขกงั้น ใส่แกงส้มก็หรอยนะ มีติดบ้านไว้ตะ”

ลองเธอพูดแบบนี้ ก็ไม่ต้องคัดค้านให้เสียเวลา อย่างไรเธอต้องส่งมา ฉันปล่อยให้เธอคุยต่อ เพราะอยากได้ยินเสียง ชอบสำเนียงภาคกลางปนใต้ของเธอ

ได้ยินเสียงลมและคลื่น อยู่ข้างหลังเสียงเธอ

“ไว้จะไปหานะ ลงเรือไดหมึกกัน” ฉันบอกเธอ

เธอหัวเราะเสียงใส “มาตะ มาตะ แขบหิด”

พูดซ้ำๆ อยู่นั่น กระทั่งฉันวางหู อย่างกับว่าฉันจะข้ามภูเขาไปได้เดี๋ยวนี้เลย